‘ย้ายถิ่น’ มองให้ยาว มองให้ไกล | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

ธงทอง จันทรางศุ

 

‘ย้ายถิ่น’

มองให้ยาว มองให้ไกล

 

คนที่อายุเกิน 60 ปีอย่างผมถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่หลายอย่าง เช่น สุขภาพที่ทรุดโทรมลงไปตามวันเวลา

แต่ก็มีข้อดีอีกหลายข้อไม่แพ้กัน หนึ่งในจำนวนนั้นคือประสบการณ์ที่ผ่านพบอะไรมามากมายกว่าผู้ที่อ่อนอายุ

ไม่ต้องดูอื่นไกล ในชีวิตของผม ผมได้เคยเห็นค่ายผู้อพยพมาแล้วหลายคราว

ที่ว่าเห็นนี่เห็นด้วยตาของตัวเองนะครับ ไม่ใช่เห็นจากภาพถ่ายหรือภาพยนตร์

ครั้งแรกเป็นเหตุการณ์เมื่อประมาณพุทธศักราช 2523 ผมเพิ่งกลับจากเรียนหนังสือที่นิวยอร์กมาสอนหนังสือที่จุฬาฯ ได้ไม่นาน เวลานั้นสงครามสู้รบกันเองภายในประเทศเขมรทำให้มีคนหนีตายเข้ามาอยู่ในบ้านเราจำนวนมาก มีการตั้งค่ายดูแลผู้อพยพตามจังหวัดชายแดนหลายแห่ง

ที่ผมได้ไปพบเห็นเป็นประสบการณ์ที่จำได้ไม่มีวันลืมคือค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชาที่บริเวณเขาอีด่าง จังหวัดปราจีนบุรี คนเป็นหมื่นเป็นแสนต้องมาอยู่ในพื้นที่จำกัด เพื่อรอวันเวลากลับไปบ้านของตัวเอง หรือไปอยู่ในประเทศที่สาม สุดแท้แต่โอกาสและความสามารถของแต่ละคน

ชีวิตความเป็นอยู่น่าสงสารเต็มทีครับ

ประสบการณ์อีกครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผมรับราชการเป็นผู้ใหญ่แล้วทั้งในกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงศึกษาธิการ ตามตะเข็บชายแดนด้านตะวันตกมีผู้หนีภัยจากการสงครามเข้ามาอยู่ในค่ายผู้อพยพที่มีเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พื้นที่พักพิงผู้หนีภัยจากการสู้รบ” จำนวนหลายค่ายนับรวมกันก็เป็นแสนคนเหมือนกันครับ

ความเป็นอยู่ก็น่าสังเวชสลดใจไม่แพ้กัน

 

ประสบการณ์ทั้งสองคราวนี้เป็นการหลบหนีลี้ภัยชั่วคราว ถ้าเมื่อไหร่บ้านเมืองของเขาสงบเรียบร้อย คนส่วนใหญ่ก็คงคิดจะกลับไปอยู่ในถิ่นฐานบ้านเดิมของตัวเอง

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ยังมีการย้ายถิ่นฐานอีกแบบหนึ่ง นั่นคือการย้ายถิ่นฐานแบบชนิดยอมไปตายเอาดาบหน้า เพราะถิ่นฐานที่มีมาแต่เดิมมีปัญหาอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความข้องคับใจจนกระทั่งอดรนทนไม่ไหว

หรือบางทีก็ไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่เขม็งเกลียวขนาดนั้นหรอกนะครับ เป็นแต่เพียงว่าถิ่นฐานบ้านเดิมนั้นไม่เปิดโอกาสให้เขาได้ลืมตาอ้าปากได้สมตามความฝัน

ขณะที่บ้านเมืองอื่นมีลู่ทางของความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้สมตามความตั้งใจที่คิดไว้ ถ้าเป็นไปได้เขาก็คิดย้ายถิ่นฐานเหมือนกัน

ยกตัวอย่างที่เราเคยเห็นมาสักสองสามเรื่องไหมครับ

 

เรื่องแรก คือการย้ายถิ่นฐานจากหลายประเทศในทวีปยุโรปไปตั้งบ้านเมืองในอเมริกาเหนือ

นักเรียนโบราณรุ่นผมต้องจำเนื้อหาจากวิชาประวัติศาสตร์ได้ว่า สาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง คือเรื่องของเสรีภาพในการนับถือศาสนา

หลายประเทศในยุโรปยุคนั้นเคร่งครัดมากในเรื่องความเชื่อทางศาสนาว่าต้องเป็นหนึ่งเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ ใครคิดใครเชื่ออย่างอื่นถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง เห็นเป็นคนนอกศาสนา

โทษฐานถึงต้องเผาไฟทั้งเป็นกันเลยทีเดียว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วใครเลยจะยอมอยู่ให้เผากันเล่นง่ายๆ ไม่ใช่ไก่ย่างห้าดาวนี่นา สู้ยอมข้ามน้ำข้ามทะเลไปสร้างบ้านเมืองใหม่เห็นจะดีกว่า

 

เรื่องที่สอง เป็นเรื่องใกล้ตัวเรานิดเดียวครับ

ใช่ครับ ผมหมายถึงการอพยพถิ่นฐานที่อยู่ของคนจีนจำนวนมากในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงประมาณต้นรัชกาลที่เก้า นับจำนวนรวมกันแล้วเห็นจะได้หลายแสนคน และทุกวันนี้ก็ได้มีผู้สืบสายโลหิตหลายล้านคนอยู่ทั่วบ้านทั่วเมืองไทยไปหมด

รวมทั้งคนที่นั่งเขียนบทความนี้ด้วยคนหนึ่ง

ผมเข้าใจว่าสาเหตุของการย้ายถิ่นฐานของคนจีนจำนวนนี้น่าจะมีหลายเรื่อง ที่นึกได้ชัดเจนก็คือเรื่องของความอดอยากยากจนและดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้อต่อการทำมาหากินของแผ่นดินจีน

ทำให้ชาวจีนจำนวนไม่น้อยตั้งใจที่จะแสวงหาโอกาสและทางรอดในแผ่นดินอื่น

ซึ่งไม่ได้หมายความแต่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น หากแต่เขาได้เดินทางไปในนานาประเทศ

จนเวลานี้อาจกล่าวได้ว่ามีชาวจีนโพ้นทะเลอาศัยอยู่ในทุกทวีปก็ว่าได้

ลูกหลานชาวจีนอพยพนั่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีไทยวันนี้ก็หลายคน อย่าเอ็ดอึงไป

 

เรื่องที่สามอีกสักเรื่องไหมครับ

เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ผมเรียนอยู่ชั้นประถมมัธยมและแรกเข้าเรียนอุดมศึกษา มีคนไทยจำนวนไม่น้อยอพยพไปตั้งถิ่นฐานมีครอบครัวอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองลอสแองเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย “จำนวนไม่น้อย” จนถึงขนาดสามารถมี “ไทยทาวน์” เกิดขึ้นในเมืองนั้นได้เลยทีเดียว มีวัด มีตลาด มีชุมชน มีสมาคมชาวปักษ์ใต้ ชาวเหนือ ชาวอีสาน ชาวแปดริ้ว และอีกสารพัดชาวเกิดขึ้น

เกาเหลาลูกชิ้นเนื้อวัวอร่อยสุดๆ ก็มีขาย อร่อยมากเสียจนผมอยากจะให้ป้าย “ธงทองชวนชิม” กันเลยล่ะคุณ

คนไทยอพยพยุคบุกเบิกครั้งนั้น หลายคนยึดอเมริกาเป็นเรือนตาย ขณะที่อีกหลายคนเมื่อเก็บหอมรอมริบมีฐานะมั่นคงแล้วก็ย้ายกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่เมืองไทย ด้วยเหตุผลที่ต่างคนต่างคิด ไม่มีผิดมีถูกมากกว่ากันหรอกครับ

ผู้ที่มีเชื้อสายไทยหลายคนวันนี้เติบโตขึ้นมีตำแหน่งหน้าที่ในสังคมอเมริกัน เป็นถึงระดับสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารประเทศก็มีอยู่

 

สามเรื่องที่ผมยกมากล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนยุโรปไปอยู่อเมริกา คนจีนมาอยู่เมืองไทยและอีกหลายประเทศ รวมทั้งเรื่องคนไทยไปอยู่ที่ลอสแองเจลิส เป็นปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้วจริง และเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ครั้งหนึ่งเมื่อตอนผมเป็นเด็กนักเรียนชั้นมัธยม ผมได้มีโอกาสไปชมละครของคณะละครอาสาสมัครในพระบรมราชินูปถัมภ์ เล่นเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่โรงละครแห่งชาติ เจ้าของบทประพันธ์เรื่องนั้นคือ อาจารย์สมภพ จันทรประภา มีคำกลอนบทหนึ่งจากละครเรื่องดังกล่าวที่ผมยังจำติดสมองได้แม้จนทุกวันนี้ ท่านเขียนไว้ว่า

“…น้ำไหลยังฝั่งไหนเย็นเป็นที่พึ่ง ยอมดูดดึงมัจฉามาอาศัย วิหคพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทร เมื่อรำไพส่องแสงแรงร้อน…”

กล่าวโดยรวมแล้วจะเห็นว่า การตัดสินใจทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปขึ้นต้นชีวิตใหม่ในบ้านอื่นเมืองอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องคิดหน้าคิดหลังเป็นอันมาก

แต่เรื่องราวในอดีตก็บอกให้เรารู้ว่า หลายคนเมื่อถึงที่สุดของการตัดสินใจแล้ว มนุษย์ก็มีธรรมชาติที่จะขวนขวายเอาชีวิตรอด ถ้าการอยู่ในถิ่นฐานใดก็ตามเราสามารถอยู่ได้อย่างดีมีสุข ไม่ถูกบังคับรีดนาทาเร้น ไม่มีใครมาเอารัดเอาเปรียบ มีโอกาสในการทำมาหากินและสามารถเติมเต็มความฝันของตัวเองได้โดยไม่ยากเกินไปนัก

ใครเลยจะอยากทิ้งบ้านทิ้งรากไปอยู่ที่อื่น

ก็รู้อยู่แก่ใจด้วยกันทั้งนั้นว่า การไปขึ้นต้นใหม่ในที่ใดก็ตามไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

ขอให้ดูแม้กระทั่งเรื่องของการย้ายถิ่นฐานของประชากรจากชนบทเข้ามาอยู่ในเมืองใหญ่หรือเมืองกรุงด้วย เพราะผมคิดว่ามีแง่มุมอะไรบางอย่างที่อาจเทียบเคียงกันได้บ้าง

สามัญสำนึกบอกผมว่า ทรัพยากรอะไรก็ตามในทุกประเทศไม่มีอะไรมีค่ามากไปกว่าทรัพยากรมนุษย์

สมัยหนึ่งเมืองไทยของเรา มีไม้สัก ดีบุก และข้าวเป็นสินค้าขาออกสำคัญของประเทศ แล้วทุกวันนี้เหลืออะไรที่ติดอันดับหนึ่งสองสามบ้างเล่าครับ

ในอดีต การได้คนมาเป็นกำลังของบ้านเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ดังจะเห็นได้จากคำว่า พลเมือง ซึ่งหมายถึงพละกำลังของบ้านเมือง

คำนี้ก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่าเรื่องของประชาชนพลเมืองนั้นเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกประเทศ

การได้มาเพิ่มหรือสูญเสียไปซึ่งกำลังคนคุณภาพจึงมีนัยยะสำคัญที่ต้องพิจารณาด้วยความใส่ใจเป็นพิเศษ

 

การพินิจดูเรื่องราวของการย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ จึงเป็นศาสตร์ที่มีทั้งความลึกซึ้งและกว้างขวางครอบคลุมหลายมิติ เป็นทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ ประชากรศาสตร์ สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ จิตวิทยา และอีกมหาศาลศาสตร์

เมื่อไรก็ตามที่ปรากฏวี่แววร่องรอยของความดำริที่จะย้ายถิ่นฐานของมนุษย์เป็นจำนวนมากจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่ง (ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วจะมีคนทำได้ในภาคปฏิบัติกี่คนก็ยังไม่รู้) ผมอยากจะวิงวอนผู้รับข้อมูลข่าวสารได้ใช้ทั้งสติและปัญญา ตรวจสอบทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองเป็นเบื้องต้นว่า เกิดอะไรขึ้น และสังคมโดยรวมควรมีท่าทีกับเรื่องเช่นว่านี้อย่างไร

มองให้ยาว มองให้ไกล มองให้เห็นปัจจุบัน และมองย้อนไปในอดีตถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งปู่-ย่า ตา-ทวดของเราด้วย

ถ้ายังนึกอะไรไม่ออก กลับไปอ่านกลอนของอาจารย์สมภพอีกสักครั้งหนึ่งก็ได้ครับ

เผื่อจะเห็นสัจธรรมอะไรบ้าง