วิเคราะห์ด้านบวก-ลบ ‘โทนี่’ เจ้าพ่อการตลาด หนึ่งคือ ‘ตำนาน’ ที่ยังมีลมหายใจ อีกหนึ่งสะท้อนภาพ ‘เพื่อไทยเฒ่าทารก’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

วิเคราะห์ด้านบวก-ลบ

‘โทนี่’ เจ้าพ่อการตลาด

หนึ่งคือ ‘ตำนาน’ ที่ยังมีลมหายใจ

อีกหนึ่งสะท้อนภาพ ‘เพื่อไทยเฒ่าทารก’

 

กระแส ‘ทักษิณฟีเวอร์’ กำลังถูกพูดถึงท่ามกลาง ‘วิกฤตศรัทธาผู้นำ’ จากผลพวงการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ที่ครั้งนี้ถือว่าหนักกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก

ทำให้ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกฯ ที่ถือเป็น ‘นักการตลาด’ เห็นช่องทางที่สามารถกระทุ้งรัฐบาลได้ จึงใช้โอกาสนี้กลับมาจัดคลับเฮาส์ ถึงการบริหารจัดการสถานการณ์เช่นนี้

เปรียบเป็นการ ‘สอนมวย’ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกอาการ ‘เมาหมัด’ ไปไม่น้อย

ทว่ากระแส ‘ทักษิณฟีเวอร์’ เจาะมาถึง ‘คนรุ่นใหม่’ ด้วย ซึ่งมีทั้งคนที่เติบโตทันยุครัฐบาลทักษิณเมื่อราว 15-20 ปีก่อน ทว่าบางส่วนก็ยังอยู่ในวัยเด็กมากในยุคที่ ‘ทักษิณ’ เป็นนายกฯ

จึงเกิดคำถามว่า ‘คนรุ่นใหม่’ เหล่านี้เหตุใดจึงอยู่ในกระแสฟีเวอร์ที่เกิดขึ้นด้วย

 

ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตยสถาบันพระปกเกล้า มองปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า

“เรื่องนี้สะท้อนถึงความหดหู่และหมดหวัง ทำให้คนก็แสวงหาความหวัง เรื่องที่เขาหดหู่และหมดหวังอย่างหนึ่งก็คือในตัวผู้นำประเทศ ที่เขามองว่าผู้นำประเทศที่เป็นอยู่นั้นไม่โอเค เขาต้องการผู้นำประเทศที่ดีกว่านี้ และเข้าใจพวกเขามากกว่านี้ รวมทั้งตอบโจทย์ปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนในโลกยุคปัจจุบันได้ดีกว่านี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงสนใจคนที่เสนอตัวหรือมีภาวะความเป็นผู้นำในระดับผู้นำประเทศเป็นทุนเดิม

“เราจะสังเกตได้ว่าก่อนหน้านี้มีผู้นำคนใดบ้างที่ออกมาการแสดงความเห็นต่างๆ เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยเป็นหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ลงมาสู่สนามการเมือง และเมื่อถูกตัดสิทธิ์และพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ก็ยังคงออกมาขับเคลื่อนทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาคนก็เงี่ยหูฟังนายธนาธรในการออกมาพูดถึงสถานการณ์โควิดตั้งแต่ปีที่แล้ว และคนก็รู้สึกว่าผู้นำต้องมีลักษณะแบบนี้

“นอกจากนายธนาธรแล้วก็ยังมีนายทักษิณ ซึ่งเป็นบุคคลระดับตำนาน แม้ในมุมของคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทัน ก็จะเห็นว่ามีการพูดถึงนายกฯ คนนี้ สมัยที่เป็นนายกฯ ได้ฝากผลงานอะไรไว้บ้าง มีการเล่าจากคนรู้จักหรือคนในครอบครัว เช่น คุณพ่อ คุณแม่ คุณครู รวมทั้งคนที่อายุมากกว่า ว่านายทักษิณมีความสามารถและมีภาวะผู้นำอย่างไรบ้าง เขาจึงสนใจว่ามีความสามารถและมีความเป็นผู้นำในระดับสูงจริงหรือไม่ จึงเกิดความสนใจในลักษณะท้าทายว่าจะซะขนาดไหน”

ดร.สติธรกล่าว

 

ดร.สติธรกล่าวอีกว่า “ช่องทางที่นายทักษิณใช้ก็คือคลับเฮาส์ ถือเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการส่วนร่วมระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง ในการเข้าไปตั้งคำถามและพูดคุย ทำให้คนที่อยากพิสูจน์ฝีมือหรือวิสัยทัศน์นายทักษิณ มีโอกาสพิสูจน์”

“ในขณะเดียวกันนายทักษิณยังคงความฉกาจฉกรรจ์ ความเป็นนักการตลาดทางการเมือง คือแทนที่จะมาในนามว่าทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับมาในนามว่า ‘พี่โทนี่’ ที่แปลว่ามีความเป็นกันเองกับคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น ด้วยยุทธวิธีแบบนี้ โดยการใช้แพลตฟอร์มที่คนเข้าถึงได้ง่ายและการสร้างตัวตนใหม่ ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นตำนานเล่าขานจากคนรุ่นเก่าๆ ให้คนรุ่นใหม่อยากท้าทาย เข้าไปพิสูจน์ เช่น ไปตั้งคำถามเพื่อวัดกึ๋นในการบริหารประเทศ”

“จึงทำให้เกิดกระแสความสนใจเพราะคนที่เข้าไปฟังไม่ได้ฟังนายทักษิณพูดอย่างเดียว เราจะเห็นว่านายทักษิณเปิดให้คนถาม จะถามอะไรก็ได้ ซึ่งนายทักษิณก็พยายามจะตอบ ซึ่งในช่วงแรกๆ เราจะเห็นคำตอบของนายทักษิณได้หลายๆ เรื่อง ทุกคนรู้สึกว่าว้าวและใช่ แต่บางเรื่องคนก็รู้สึกว่าตอบไม่ตรงไปตรงมาเช่นกัน”

ดร.สติธรกล่าวเพิ่มเติมว่า “เพราะรัฐบาลกำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธาและผู้นำของประเทศถูกตั้งคำถาม จึงเกิดความรู้สึกว่าเราน่าจะมีคนที่ดีกว่านี้มาเป็นผู้นำประเทศ บทบาทท่าทีแล้วก็วิสัยทัศน์ที่นายทักษิณแสดงออกมาผ่านคลับเฮาส์ จึงยิ่งเฉิดฉายขึ้นและทำให้คนสนใจ”

“และเมื่อเจอกับคำถามบางคำถามที่ถูกโยนเข้าไป และนายทักษิณตอบกลับมา กลับเป็นคำตอบที่เขาไม่เคยได้ยินจากผู้นำคนปัจจุบัน เขาก็ยิ่งรู้สึกว่าทำไมรัฐบาลปัจจุบัน ทำไมผู้นำที่ทำงานอยู่ตอนนี้ จึงไม่คิดแบบนี้บ้าง จึงตอบโจทย์สถานการณ์และโดนใจ รวมทั้งการมีวิสัยทัศน์ของผู้นำและเป็นนักบริหาร แม้ว่าจะไม่เพอร์เฟ็กต์ แต่เมื่อฟังแล้ว ก็น่าจะมีความหวังมากกว่า”

“จึงทำให้คนสนใจนายทักษิณมากขึ้น”

 

ด้าน รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต อาจารย์คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ชี้ว่านายทักษิณยังไม่ปล่อยมือทางการเมือง และพยายามเข้ามามีอิทธิพลในทางความคิดและทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งพรรคเพื่อไทยยังต้องผูกติดกับนายทักษิณไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะในการชี้นำทางความคิด เพราะว่านายทักษิณก็ยังคงมีคนนิยมอยู่ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะคนที่ประทับใจกับนโยบายบางอย่างของนายทักษิณ

และการที่พรรคเพื่อไทยมีนายทักษิณมาเสริมแรงทั้งด้านความคิดและคอยวิพากษ์วิจารณ์ ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยมีเวทีในทางการเมืองมากขึ้น และกลายมาเป็นพรรคที่เสนอทางเลือกหรือทางออกในการแก้ปัญหาที่ประเทศกำลังประเผชิญอยู่ นอกเหนือจากรัฐบาลได้

ทั้งนี้ รศ.ดร.พิชายมองอีกว่า “ในด้านหนึ่งเองก็สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของพรรคเพื่อไทยด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยไม่สามารถผลิตผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความเก่งหรือมีความคิดที่แหลมคมในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้และสังคมจะต้องเงี่ยหูฟัง จึงยังต้องพึ่งพานายทักษิณ”

“บทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหากเทียบระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคก้าวไกลแสดงบทบาทได้ดีกว่า แม้ว่านายธนาธรจะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ตาม แต่สมาชิกของพรรคเขาหลายคน ก็สามารถแสดงบทบาทออกมาได้อย่างแหลมคม”

“ซึ่งแตกต่างจากพรรคเพื่อไทย แม้พรรคเพื่อไทยจะมีบุคคลที่สามารถออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ แต่ยังไม่เฉียบคมหรือแหลมคมพอที่จะเขย่ารัฐบาลได้เหมือนกับที่นายทักษิณทำได้”

 

ทั้งหมดนี้จึงต้องจับตาก้าวย่าง ‘ทักษิณ’ ให้ดี

ย้อนกลับไปนับตั้งแต่ยุค คสช.ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา หากจับช่วงจังหวะจะพบว่า ‘ทักษิณ’ จะออกมาเคลื่อนไหวตามวงรอบและไม่ถี่มากนัก

ช่วงปี 2562 ที่มีการเลือกตั้งใหญ่ ถือเป็นการกลับมาอีกครั้งของ ‘ทักษิณ’ ในการขยับใหญ่ที่เรียกได้ว่า ‘สั่นสะเทือน’ โดยเฉพาะกรณีการเสนอชื่อ ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ของอดีตพรรคไทยรักษาชาติ ที่นำมาสู่เหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ทางการเมือง และมี ‘อาฟเตอร์ช็อก’ ตามมาอีกหลายลูก ทำให้ ‘ทักษิณ’ ต้องโลว์โปร์ไฟล์ยาว เปรียบเป็น ‘เสือซุ่ม’

จนเริ่มกลับมาขยับถี่อีกครั้ง นับจากปี่กลองเลือกตั้งท้องถิ่นเริ่มดังขึ้น ควบคู่การเปิดโครงการปั้นคนรุ่นใหม่เข้าพรรคเพื่อไทย ผ่านโครงการ The Change Maker และดึงคีย์แมนตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยเข้ามาร่วม พร้อมกับฉายภาพอดีตความสำเร็จยุคพรรคไทยรักไทยออกมาเป็นระยะๆ

ต่อมายิ่งออกมาขับเคี่ยวรัฐบาลผ่านช่องทางคลับเฮาส์ ในช่วงที่รัฐบาลกำลังเผชิญทั้งศึกโควิดและศึกทางการเมือง จนกลายเป็น ‘วิกฤตศรัทธา’ เกิดกระแส ‘ย้ายประเทศ’ ขึ้นตามมา ทำให้ ‘ทักษิณ’ เล็งเห็นลู่ทางของตัวเอง

อีกทั้งเพื่อวางรากฐานเรตติ้งพรรคเพื่อไทยในอนาคต ที่เชื่อกันว่าเลือกตั้งใหญ่จะเริ่มขยับนับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป หลังเริ่มมีการตั้งพรรคใหม่ๆ ขึ้นมา และการขยับของฝั่งผู้มีอำนาจที่ตั้งพรรคสำรองและวางขุนพลชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ดังนั้น การขยับของ ‘ทักษิณ’ ด้านบวกเปรียบเป็น ‘ตำนานที่ยังมีลมหายใจ’

พร้อมเป็นการดึงเรตติ้งและกระชับฐานเสียงให้กับพรรคเพื่อไทยเองด้วย

เพราะบนฐานความเชื่อที่ว่า ‘แบรนด์ทักษิณ’ ยังขายได้

แต่ในอีกมุมก็กลับเป็นจุดอ่อนและเป็นภาพด้านลบที่พรรคกลับไม่สามารถสร้างผู้นำคนใหม่ๆ ขึ้นมาแทน

กลายเป็น ‘เฒ่าทารก’ ที่ไม่พ้นเงาคนแดนไกล

ซึ่งจุดนี้เองจึงต่างจากพรรคก้าวไกลที่ผลิตคนรุ่นใหม่ขึ้นมาได้ ทว่าอีกมุมพรรคเพื่อไทยก็ได้เปรียบพรรคก้าวไกล โดยมีผลงานในอดีตที่สามารถนำเสนอได้เพราะเคยเป็นรัฐบาลมาก่อน

ชื่อ ‘ทักษิณ-โทนี่’ จะตามหลอกหลอน ‘ผู้มีอำนาจ’ ไปอีกนาน!!