เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ /เนื้องอกในพุทธศาสนา

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

เนื้องอกในพุทธศาสนา

 

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวถึงลัทธิงมงายทั้งหลายอันเกิดจากความไม่รู้ในหลักธรรมที่ไม่ใช่หัวใจพุทธนั้นแหละคือ “เนื้องอกในพุทธศาสนา”

ถ้าเปรียบพุทธศาสนาเป็นต้นโพธิ์ เวลานี้โพธิ์ต้นนี้ก็กำลังรกรุงรังด้วยกาฝากเต็มไปหมดจนแทบจะบดบังต้นโพธิ์ ไม่เห็นความเป็น “โพธิ์” กันแล้ว

ขนมอาลัวรูปพระเครื่องดังเป็นข่าวอยู่เวลานี้ก็เป็นหนึ่งใน “เนื้องอกใหม่” ที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนา

คำว่า “เนื้องอก” นั้นมีความหมายในทางลบ คือเป็นพิษเป็นภัย

ขนมพระเครื่องเป็นการลบหลู่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชัดเจน ด้วยองค์คุณของพระเครื่องคือสิ่งสักการบูชา หาใช่ของกินของเล่นไม่

ถึงหากจะอ้างว่าเป็น “ขนมมงคล” ก็เถิด ความเป็นมงคลนั้นมิอาจเกิดขึ้นได้จากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในมงคลของพระเครื่องที่แท้แล้วพานนำมาฉวยใช้ตามใจ

คุณกำลังล้อเล่นกับสิ่งสักการบูชาของคน ถือเป็นการกระทำอันมิบังควรยิ่ง

นี้คือติ่งหนึ่งของเนื้องอกในพุทธศาสนา

 

ที่จริง “เนื้องอก” กับ “เนื้อดี” นั้นล้วนเป็น “เนื้อ” เหมือนกัน ต่างตรงร้ายกับดีเท่านั้น

เช่นกันกับวัฒนธรรมความเชื่อของคนล้วนเป็นความเชื่อเหมือนกัน ต่างตรงผิดกับถูกเท่านั้น

ความเชื่อคือศรัทธามีอยู่เป็นพื้นในทุกศาสนา พุทธศาสนามีหลักว่าศรัทธาต้องคู่กับปัญญา ท่านพุทธทาสเปรียบเหมือนคู่วัวเทียมเกวียนที่ต้องเดินเสมอกัน

ถ้าตัวศรัทธานำปัญญา ก็จะพาเกวียนดิ่งลงเหว

ถ้าตัวปัญญานำ ก็จะพาเกวียนเตลิดเข้าดงพงรก

พระพุทธเจ้านั้นตรัสรู้หลักธรรมเรื่องความดับทุกข์ท่ามกลางศรัทธาของลัทธิเทวนิยม มีองค์เทพเทวดาเป็นอุดมคติ เช่น มีพระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ ดังองค์ตรีมูรติ กระทั่งสูงสุดคือ “อาตมัน” ที่เป็นดัง GOD ในคติตะวันตก ซึ่งล้วนเป็นศรัทธาที่มีตัวตน

หลักธรรมในพุทธศาสนาไปพ้นจากศรัทธาในลักษณะตัวตนขึ้นสู่ปัญญา ที่ไปพ้นตนคือ “อนัตตา” หมายถึงตนอัน “ไม่ใช่ตน”

หลักพุทธธรรมล้วนเป็นนามธรรมทั้งสิ้น การเผยแผ่จึงจำเป็นต้องใช้รูปธรรมประกอบ ซึ่งสังคมสมัยพุทธกาลก็คือเทพเทวาทั้งหลาย

 

ดังนั้น ศรัทธาในรูปเคารพที่เป็นรูปธรรมจึงเป็นดั่งพาหะที่นำสู่ปัญญาที่เป็นนามธรรม

พุทธะกับพราหมณ์จึงใกล้ชิดจนดูจะเป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่แท้จริงก็ล้วนเป็นสัจธรรมนั่นเอง

สัจธรรมนั้นคือสัจจภาวะ ที่ว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปด้วยกันสิ้น

ขณะพราหมณ์สมมุติเทพแห่งการเกิดขึ้นคือพรหม สมมุติเทพแห่งการตั้งอยู่คือวิษณุหรือนารายณ์ สมมุติเทพแห่งการดับไปคือศิวะ

ส่วนพุทธะชี้ให้เห็นสัจจภาวะของการเกิดขึ้นคือความเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย โดยเรียกภาวะนี้ว่าอนิจจัง ภาวะการตั้งอยู่อันทนอยู่ได้ยากเรียกว่าทุกขัง ภาวะการดับไปของสรรพสิ่งอันมีลักษณะเป็นสูญญะนี้เรียกอนัตตา หมายถึงไม่ใช่ตน

ศรัทธาในรูปเคารพจึงเป็นวัฒนธรรมความเชื่อที่มีอยู่ในทุกศาสนา ยกเว้นอิสลามที่ระบุชัดเจนถึงการไม่มีรูปเคารพว่าเป็นหัวใจของอัลเลาะห์ ดังคำสวดภาวนาว่า “ลาอิลลา อิลลอลอหะ” นั้น

ซึ่งคำสวดของมุสลิมนี้ ท่านหะยีประยูร วทานยกุล ปราชญ์มุสลิมกล่าวไว้หลังจากสนทนาเรื่องหัวใจของหลักธรรมระหว่างศาสนากับท่านพุทธทาสว่า โดยความแล้วก็คือ “ความไม่ยึดมั่นถือมั่น” นั่นเอง

 

ความเข้าใจหัวใจของสัจจภาวะในสรรพสิ่งนี้เป็น “ปัญญา” โดยผ่านรูปเคารพหรือรูปธรรมใดก็ตามนี้เป็น “ศรัทธา”

วัฒนธรรมการสร้างรูปเคารพในพุทธศาสนานั้นไม่มีในครั้งพุทธกาล สันนิษฐานว่าพระพุทธองค์ทรงประสงค์ให้หลักพุทธธรรมที่เป็น “นามธรรม” ได้ปรากฏเป็นสำคัญก่อน “รูปธรรม” อันคนศรัทธายึดถือกันอยู่เป็นหลักในยุคสมัยนั้น

ดังนั้น จึงมีเพียงรูปสัญลักษณ์เป็นสำคัญ เช่น ต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ เป็นต้น

รูปเคารพในพุทธศาสนามามีในสมัยตะวันตกครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทำสงครามกับอินเดียแล้วนำวัฒนธรรมสร้างรูปเคารพเข้ามามีอิทธิพล พระพุทธรูปจึงมีขึ้นเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระทั่งลามถึงรูปเกจิอาจารย์ทั้งหลายบรรดามีที่สร้างขึ้นในรูปของ “พระเครื่อง” ในบ้านเรา

วัฒนธรรมที่พัฒนาขึ้นเป็นอารยธรรมสำคัญของพุทธศาสนาด้านรูปเคารพคือ องค์พระปฏิมา ดังมีพระพุทธชินราช เป็นต้น

นี้คือวัฒนธรรมความเชื่อที่สร้างขึ้นเป็น “รูปธรรม” อันเป็นที่ตั้งของการมีสติรำลึกถึงหลักธรรม ซึ่งเป็น “นามธรรม”

นี่คือศรัทธาคู่กับปัญญา

ศรัทธาที่ไร้ปัญญาอันชอบกำกับจึงเป็น “เนื้องอก” โดยแท้

ศาสนาเป็นหนึ่งในสามสถาบันหลักคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อันมีองค์คุณคือ อารยธรรม (ชาติ) ศานติธรรม (ศาสนา) สามัคคีธรรม (พระมหากษัตริย์)

สิ่งที่ทั้งสามสถาบันพึงระวังคือ

เนื้องอกร้ายในวันนี้

 

ผีพราหมณ์พุทธ

 

๏ เราเชื่อผีจึงรับนับถือผี

มีผีดีผีร้ายผีหลายเหล่า

ทั้งผีสางคางแดงผีแฝงเงา

พร้อมผีเรือนผีเหย้าเฝ้าอารักษ์

 

ผีดงผีหมื่นถ้ำล้ำหมื่นผา

ผีปู่ย่าตายายได้ปกปัก

ทั้งผีดินผีฟ้าสามิภักดิ์

ผีรู้จักไม่รู้จักอีกมากมาย

 

ครั้นพราหมณ์เข้าเป่าสังข์ประดังศัพท์

จัดลำดับชั้นผีมีความหมาย

มีนรกมีสวรรค์พรรณราย

อธิบายให้เห็นเป็นตัวตน

 

เทวดานางฟ้าสารพัน

ฝูงคนธรรพ์วิทยานารีผล

ใครทำดีก็จะดั้นวิมานบน

ใครทำชั่วก็จะด้นอเวจี

 

เราเชื่อผีจึงรับนับถือพราหมณ์

เพราะนิยามความหมายให้กับผี

ผีกับพราหมณ์สัมพันธ์เป็นอันดี

เพิ่มน้ำหนักไปที่มีอัตตา

 

สงสารพุธดุจดังพระสังข์น้อย

อาศัยหอยสังข์พราหมณ์เที่ยวตามหา

สาธุชนคนที่มีปัญญา

ต่อยเปลือกหอยเห็นค่าพระสัจธรรม

 

ผีกับพราหมณ์ดำรงคงความเชื่อ

เป็นเปลือกรักษาเนื้ออยู่นานฉนำ

คนเห็นเปลือกติดเปลือกแบกเปลือกนำ

ไม่เห็นเนื้อเห็นน้ำที่ภายใน

 

นับถือพุทธแบบพราหมณ์ตามด้วยผี

จนกาลีผีบ้าเข้าอาศัย

ตื่นเสียทีตื่นตนเถิดคนไทย

ช่วยกันไล่ผีปอบที่ครอบพุทธ ฯ