บทวิเคราะห์การเมือง : เมื่อ แสง ทะลุ กำแพง

1 วันหลังคืนสู่อิสรภาพ 12 พฤษภาคม 2564 เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก สรุปใจความสำคัญ ดังนี้

การคุมขังผม 93 วัน และการอดอาหารประท้วงความอยุติธรรมเป็นเวลา 57 วันของผมสิ้นสุดลงแล้ว โดยที่เมื่อวานนี้ศาลได้คืนสิทธิประกันตัวให้ผมและพี่แอมมี่แล้ว

แม้จะเป็นการประกันตัวโดยที่ศาลกำหนดเงื่อนไขมาบางประการ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นเงื่อนไขที่ตั้งขึ้นเพื่อสกัดกั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

อย่างไรก็ดี นี่คือการวางบรรทัดฐานว่าคดีมาตรา 112 ก็มีสิทธิได้รับการประกันตัว จากเดิมที่ในอดีตแทบไม่มีการได้ประกันตัวเลย และผมเชื่อว่ากฎหมายมาตรานี้จะถูกยกเลิกไปในไม่ช้า

ในส่วนของเงื่อนไขนั้น ผมเห็นว่าไม่ได้ขัดข้องอะไรต่อการเคลื่อนไหว—สำหรับผม การต่อสู้เพื่อปฏิรูปสถาบันจะดำเนินต่อไป

สำหรับเงื่อนไขเรื่องห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ยืนยันว่าตลอดการต่อสู้ที่ผ่านมา ผมยึดมั่นในหลักการไม่ใช้ความรุนแรง

การชุมนุมที่ผมเข้าร่วมหรือมีส่วนร่วมจัดนั้น ล้วนแต่เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติและปราศจากอาวุธทั้งสิ้น เท่าที่เห็นก็มีแต่จะไม่สงบบ้างเพราะถูกเจ้าหน้าที่ ผู้ชุมนุมฝ่ายรัฐและผู้ไม่ประสงค์ดีมาใช้กำลังเพียงเท่านั้น

ดังนั้น เงื่อนไขข้อนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในการต่อสู้ของผมเช่นกัน และผมพร้อมที่จะเข้าร่วมทุกกิจกรรมหลังจากที่วิกฤตการณ์โรคระบาดระลอกนี้ (ซึ่งเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล) ผ่านพ้นไปแล้ว

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะยังดำเนินต่อไปด้วยความเข้มข้นและเข้มแข็ง อยู่บนสัจธรรมความจริง เพราะไม่มีพลังใดยิ่งใหญ่เท่าพลังแห่งความจริง

และความจริงย่อมเป็นสิ่งนิรันดร์ประดุจดวงดาว เพราะไม่ว่าอยู่ที่มุมใดของฟ้า ดวงดาวก็จรัสแสง เช่นเดียวกับความจริง ไม่ว่าจะอยู่ในกรงขัง ในเครื่องทรมาน หรือหลักประหาร ความจริงก็ยังคงเป็นความจริงที่ทรงพลังและไม่มีวันตาย

ก้าวต่อไปเฉพาะหน้า เราจะต้องช่วยกันปลดปล่อยผู้พูดความจริงอีกหลายคนที่ยังถูกจองจำอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทนายอานนท์ พี่ไมค์ ระยอง แฟรงค์ ณัฐชนน และอีกหลายๆ ท่าน

เราผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายยังจะต้องต่อสู้เพื่อพิสูจน์ให้เห็นอย่างสมบูรณ์ว่าการพูดความจริงไม่ผิด

ความเท็จไม่อาจคุมขังปิดบังความจริงได้ตลอดไป

ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน กับนายไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ เดอะบอตทอมบลูส์

ภายใต้ข้อกำหนด 4 เงื่อนไข ห้ามกระทำการเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ห้ามออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ให้มาศาลตามกำหนดนัด

พร้อมแต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลยให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยเพนกวิน-แอมมี่ ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำช่วงค่ำวันที่ 11 พฤษภาคม

ในส่วนของนายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง จำเลยที่ 6 ศาลสั่งเลื่อนการไต่สวนคำร้องออกไป

เนื่องจากศาลได้รับแจ้งจากเรือนจำเกี่ยวการตรวจหาเชื้อโควิดของจำเลยว่า ไม่พบเชื้อ ซึ่งเป็นผลตรวจตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม มิใช่ผลการตรวจในระยะอันใกล้

ประกอบกับจำเลยที่ 6 มีประวัติการสัมผัสกับนายอานนท์ นำภา ซึ่งได้รับการยืนยันติดเชื้อโควิด เพื่อความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้อง จึงเห็นควรให้เรือนจำดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิดให้แก่จำเลยที่ 6 และรายงานผลให้ศาลทราบ

หากศาลได้รับแจ้งผลตรวจเมื่อใด จึงจะกำหนดนัดไต่สวนคำร้องต่อไป

 

ย้อนกลับไปยังห้วงเวลาก่อนได้คืนอิสรภาพของเพนกวิน แอมมี่ และแกนนำราษฎรอีกจำนวนหนึ่ง ที่ตกเป็นจำเลยคดีมาตรา 112

การปรากฏกิจกรรมทางการเมืองหลากหลายรูปแบบ ภายใต้จุดหมายเดียวคือเรียกร้องปล่อยตัวแกนนำราษฎรและแนวร่วมจากเรือนจำ ออกมาสู้คดีตามกฎหมาย อันถือเป็นสิทธิพื้นฐานจำเลยคดีอาญาในการได้รับการประกันตัว ขณะที่ได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาศาลถึงที่สุด

ไม่ว่า “ยืน หยุด ขัง” 112 นาทีของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ต้นแบบการเคลื่อนไหวสันติวิธี ที่ต่อมาได้ขยายวงไปในหลายจังหวัดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

ไม่ว่า “อยู่ หยุด ขัง” ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หรือกิจกรรมยืน หยุด ขัง เวอร์ชั่น “คณะราษมัม”

กระแสความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวขึ้นหลายทิศทาง ส่งผลให้แกนนำราษฎรและแนวร่วมเริ่มได้รับการทยอยปล่อยตัวออกมา

เริ่มจากนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงก์ เมื่อ 9 เมษายน, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข วันที่ 23 เมษายน และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง วันที่ 6 พฤษภาคม ยังมีโตโต้-ปิยรัฐ จงเทพ และฟ้า-พรหมศร วีระธรรมจารี

เป็นอิสรภาพภายใต้ถ้อยแถลงยอมรับเงื่อนไขต่อศาล หากได้รับการปล่อยตัวจะไม่ออกไปกระทำการใดๆ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

ไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัด

การปล่อยตัวครั้งนั้น มีการวิเคราะห์ว่าฝ่ายอำนาจต้องการลดกระแสกดดันที่ถาโถมเข้าใส่กระบวนการยุติธรรมอย่างหนัก ลดการเผชิญหน้าเสียงเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่เริ่มดังกระหึ่มประชิดหน้าศาล

โดยเฉพาะสถานการณ์ของเพนกวิน ในตอนนั้นที่ยกระดับประกาศกลางศาล ขอ “อดข้าว” จนกว่าจะได้รับการประกันตัว

ตลอดระยะเวลาการอดข้าว ร่างกายเพนกวินทรุดโทรมเข้าขั้นวิกฤต ถูกนำส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์หลายรอบ แถมยังเจอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ และมีแกนนำติดเชื้อ 2 คน คือนายชูเกียรติ แสงวงค์ หรือนุ๊ก จัสติน และทนายอานนท์ นำภา

ระหว่างนั้น นางสุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ ผู้เป็นแม่ยื่นขอประกันลูกชายหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ศาลระบุ “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” จนนำมาสู่เหตุการณ์สะเทือนใจ นางสุรีย์รัตน์ตัดสินใจโกนหัว

ทวงคืนความยุติธรรมให้ลูกชาย

 

10 พฤษภาคม เครือข่าย People Go Network นัดรวมตัวสกายวอล์ก แยกปทุมวัน จัดกิจกรรม “เปิดไฟให้ดาว” (LightUp Justice)

เป็นการรวมตัวของประชาชนที่ต้องการเห็นอิสรภาพตามสิทธิในกฎหมาย และสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง

มีนักวิชาการ อาทิ อ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ อ.ชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ อ.ยุกติ มุกดาวิจิต อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

รวมทั้ง น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ กลุ่ม ROOT และ น.ส.พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์ น้องสาวของเพนกวิน เข้าร่วมกิจกรรมด้วย

“เปิดไฟให้ดาว” เป็นการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ เปิดไฟแฟลชโทรศัพท์มือถือ ส่องไปยังดาวกระดาษหลากสี เกิดเป็นความสว่างไสว

สื่อความหมายถึงการส่องแสงสว่างจากภายนอก ข้ามกำแพงกระบวนการยุติธรรมที่กั้นขวาง ส่งผ่านไปถึงแกนนำราษฎรในเรือนจำ ให้รู้ว่าคนภายนอกส่งใจช่วยให้ได้รับอิสรภาพคืนมา

อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร ปราศรัยหัวข้อ “ส่องสว่างสังคมไทย เราจะไปทางไหนกัน?” ตอนหนึ่งว่า คณะราษฎร 2563 ส่องแสงทะลุ 5 กำแพงด้วยกัน คือ ส่องแสงทะลุกำแพงชนชั้นที่ร่วมกันต่อสู้ของคนทุกระดับในสังคม

ส่องแสงทะลุกำแพงพื้นที่การเมืองที่ทุกฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวทั้งประเทศ ส่องแสงทะลุกำแพงเพศสภาวะ ส่องแสงทะลุกำแพงการมองคนไม่เท่ากัน

และส่องแสงทะลุกำแพงสถาบันศักดิ์สิทธิ์

“ดวงดาวหลายดวงยังรอการปลดปล่อยจากการกระทำที่ไร้มนุษยธรรม มั่นใจแสงดาวจะไม่ถูกกักขัง การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้พวกเขาได้อิสรภาพและสานการต่อสู้แบบสันติ” อ.ยุกติระบุ

 

11 พฤษภาคม ศาลเปิดไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพนกวิน แอมมี่ และไมค์

เพนกวินแถลงต่อศาลว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจะไม่ไปกระทำการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

รวมถึงการกระทำใดๆ ในพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์เฉพาะที่ตนดูแลด้วย และไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล รวมทั้งจะมาตามกำหนดนัดศาลและเข้าร่วมกระบวนพิจารณาคดีของศาล

เช่นเดียวกับแอมมี่แถลงต่อศาลยอมรับเงื่อนไขเดียวกัน

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานชั้นไต่สวนเห็นว่า “พฤติการณ์แห่งคดีได้เปลี่ยนแปลงไป” จึงอนุญาตปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง ตีราคาหลักประกันคดีละ 200,000 บาท

ส่วนไมค์ ภาณุพงศ์ ต้องรอศาลกำหนดนัดไต่สวนอีกครั้งหลังได้รับรายงานผลตรวจโควิดจากราชทัณฑ์

การอดข้าวของเพนกวิน 57 วัน และเวลาแห่งการถูกจองจำในคุก 93 วัน เป็นอันยุติลง

 

อิสรภาพที่แกนนำราษฎรได้รับ เป็นอีกก้าวสำคัญในบันทึกการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรม

กระนั้นก็ตาม แม้จะได้รับการปลดปล่อยจากเรือนจำ แต่ก็ยังถูกพันธนาการไว้ด้วย 4 เงื่อนไขการประกันตัวที่แถลงไว้ต่อศาล

การเคลื่อนไหวต่อสู้ก้าวต่อไป หลังจากนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใด สังคมเฝ้ารอดู

รวมถึงการต่อสู้คดี 112 ขั้นต่อไปในชั้นกระบวนการยุติธรรมที่ต้องติดตามกันยาวๆ

“ผมยังคงเป็นผมและยังคงศรัทธาในความจริงที่ว่าไม่มีใครหมุนเข็มนาฬิกากลับได้ และสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังพัดโบก จะพาเราไปสู่อีกด้านหนึ่งของขอบฟ้าในไม่ช้านี้—”

“—ผมยังคงเป็นคนเดิม สู้เพื่ออุดมการณ์ดังเดิม และจะมุ่งมั่นต่อการต่อสู้มากกว่าเดิม” เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ กล่าวยืนยัน

หลังคืนสู่อิสรภาพ