หลังเลนส์ในดงลึก : ตูกะสู

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

กว่า 20 ปีก่อน ผมลาออกจากงานประจำหลังจาก “เอาจริง” กับการดูนกมาหลายปีเป็นช่วงเวลาที่ได้เริ่มทำความรู้จักกับป่า และดอยสูงต่างๆ รวมทั้งเกาะแก่งกลางทะเล ในขณะได้เดินทางแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ งานประจำที่ผมทำมีเพียงวันหยุดเพียงวันอาทิตย์วันเดียว มีเวลาชื่นชมกับนกและผืนป่าที่ “ชอบๆ” ไม่บ่อยนัก เช่น ขับรถออกจากโรงงานเย็นวันเสาร์ ถึงดอยอินทนนท์เช้าวันอาทิตย์ดูนกทั้งวัน เย็นๆ ขับรถกลับ เช้าวันจันทร์เข้าทำงาน กรณีเช่นนี้ก็ทำอยู่บ่อยๆ

มีหลายๆ ที่ซึ่งผมชอบและอยากอยู่นานๆ มีบางที่ซึ่งผมอยากอยู่แบบถาวร

ดังนั้น เมื่อผมเริ่มเปลี่ยน “งานอดิเรก” ให้เป็นอาชีพ วันแรกที่ลาออกจากงาน ผมเดินทางมาอยู่ ณ เมืองอุ้มผาง

 

อุ้มผางในขณะนั้นดูคล้ายจะเป็นเมืองในอุดมคติ เมืองซึ่งมีเพียงที่ราบเล็กๆ ล้อมรอบด้วยภูเขา ห่างไกลจนแทบนึกไม่ออกว่าอยู่ส่วนใหนของประเทศไทย การเดินทางไปยากลำบากไม่เฉพาะต้องข้ามเทือกเขาสลับซับซ้อน เส้นทางบางช่วงต้องเข้าไปในดินแดนเพื่อนบ้านและย้อนกลับเข้ามา

เมืองอุ้มผางเป็นที่กล่าวถึงในหมู่นักเดินทางยุคนั้นอยู่เสมอๆ แต่เมืองนี้เริ่ม “มีชื่อเสียง” ขึ้น เมื่อชายหนุ่มนักเขียนสารคดีท่องเที่ยวจากหนังสือแคมปิ้งท่องเที่ยว ชื่อ วินิจ รังผึ้ง ซึ่งทุกวันนี้ก็คือ “ผู้ใหญ่” คนหนึ่งในองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เขาดั้นด้นเดินทางอันยากลำบากเข้าไปถึงน้ำตก ซึ่งคนอุ้มผางพูดกันว่าเป็นน้ำตกขนาดใหญ่และสูง ในฤดูฝนบางครั้งได้ยินเสียงน้ำแว่วมาถึง น้ำตกแห่งนั้นมีชื่อเรียกในภาษาถิ่นว่า “ทีลอซู”

วินิจ บันทึกความยิ่งใหญ่ของน้ำตกทีลอซูออกมาให้คนได้เห็น แต่น้ำตกแห่งนี้กลายเป็นคล้ายสิ่งมหัศจรรย์เมื่อได้เป็นปกของหนังสือ อ.ส.ท. โดย คุณดวงดาว สุวรรณรังษี

ความยิ่งใหญ่ของน้ำตกแห่งนี้พูดได้ว่าคือจุดเริ่มต้นของการประกาศให้พื้นที่ป่าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง

อุ้มผางกลายเป็นเมืองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินทางเข้าสู่ทีลอซู การเดินทางซึ่งหากจะเริ่มต้นด้วยพาหนะแพไม้ไผ่ ล่องไปตามลำน้ำแม่กลอง หรือไปทางรถยนต์ซึ่งทุรกันดาร

เมืองเล็กๆ เริ่มเปลี่ยนแปลง นักเดินทางหลายคนมุ่งหน้าเข้ามา หลายคนเดินทางมาถึง ชื่นชมความงดงามของวิถีอันเรียบง่ายของผู้คน ในเมืองซึ่งหนาวเหน็บในฤดูหนาว หมอกหนาทึบเกือบตลอดวันในฤดูฝน ผู้คนที่ดูเหมือนจะทำทุกอย่าง เช่น เช้าไปขายหมูในตลาด สายๆ กลับมาขายก๋วยเตี๋ยว เที่ยงๆ ไปทุ่งนา เสาร์-อาทิตย์ไปรับจ้างถ่อแพ

หลายคนมาและกลับ มีหลายคนเช่นกันที่มาถึงและปักหลักอยู่ หนึ่งในนั้นคือชายหนุ่มนักเดินทางจากเมืองย่าโม ชื่อ สุชาติ จันทร์หอมหวน

สุชาติ นับได้ว่าเป็น “คนนอก” ยุคแรกๆ ที่เข้ามาอยู่อุ้มผาง หลังจากร่วมงานกับผู้อื่นสักพัก เขาเริ่มต้นสร้างความฝันเล็กๆ

“ชื่อ ตูกะสู นี่ก็คิดได้ตอนนั่งสังสรรค์กับหัวหน้านั่นแหละครับ” สุชาติหรือที่คนอุ้มผางรู้จักเขาในนาม อู๊ดดี้ เคยเล่าให้ฟัง

หัวหน้าที่เขาพูดถึงคือ สมโภชน์ มณีรัตน์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกยุคเริ่มต้นหลังจากอพยพคนออกจากป่า

“ตูกะสู” ที่พักเล็กๆ ของสุชาติคล้ายเป็นสถานีย่อยของคนในป่าทุ่งใหญ่

สภาพรถ “ป่าไม้” โตโยต้าแอลเอ็น 106 เปรอะเปื้อนโคลน ตัวถังบุบบี้จอดอยู่ คือสภาพที่คนอุ้มผางเห็นเสมอๆ

 

เวลาผ่านไป อุ้มผางคือเมืองท่องเที่ยวในฤดูหนาวที่มีผู้คนขวักไขว่ จากปั๊มหลอดเล็กๆ มีเพิ่มขึ้นเป็นปั๊มน้ำมันมาตรฐานหลายปั๊ม สภาพบ้านไม้ทรงดั้งเดิมเปลี่ยนเป็นตึกแถว

กระนั้นก็เถอะ หนทางจากอำเภอแม่สอดแม้จะมีระยะทางเพียง 164 กิโลเมตร แต่ความคดโค้งของเส้นทางกว่าหนึ่งพันโค้งช่วยให้ “ความเจริญ” ไม่รุกล้ำเมืองแห่งนี้จนกระทั่งจำภาพเดิมไม่ได้

คงพูดไม่ผิดนักว่าอุ้มผางคือ “เมืองหลวง” ของแพยาง หลังจากหมดยุคแพไม้ไผ่ กิจการล่องแพในลำน้ำแม่กลองคือกิจกรรมที่คนอยากมาสัมผัสโดยมีปลายทางอยู่ที่น้ำตกทีลอซู ชายหนุ่มหลายคนกลายเป็นเจ้าของกิจการทัวร์ที่ประสบความสำเร็จ

“ตูกะสู” เติบโตมาพร้อมๆ กับความเป็นไปของเมือง สิ่งหนึ่งที่ตูกะสูไม่เปลี่ยนคือยังคงสภาพเป็นจุดศูนย์กลางของคนทำงานในป่า


โอกาสดีของ สุชาติ จันทร์หอมหวล คือ เขาอยู่ในบริเวณที่หลายสิ่งเป็นความพิเศษ ดอยหัวหมดซึ่งเป็นภูเขาหินโล่งไม่ไกลจากเมืองนั่นคือสถานที่วิเศษสุดของกล้วยไม้ สุชาติและนักวิชาการหลายคนพบกล้วยไม้ชนิดใหม่ที่นี่

ทักษะการถ่ายรูปที่ดีของสุชาติทำให้เขามีภาพกล้วยไม้เหล่านั้นมากมาย ผมพบกับเขาตั้งแต่ยุคแรกที่เข้ามาอยู่ในเมืองอุ้มผาง

ถึงวันนี้เมื่อกลับมาทำงานในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ตูกะสู จึงเป็นคล้าย “ปากทาง” เข้าป่า เป็นที่พักและแหล่งอาหาร เมืองอุ้มผางยังคงความเงียบสงบ หลังหนึ่งทุ่มก็หาอะไรกินไม่ได้แล้ว นอกจากอาศัยร้านสะดวกซื้อที่มีอยู่หนึ่งแห่ง

ไม่ว่าเราจะเดินทางถึงอุ้มผางเวลาใด ดึกดื่นเพียงไหน “ครัวสุชาติ” มีอาหารอร่อยๆ ให้เราเสมอ

 

“อุ้มผางมีที่พักแห่งเดียวนะครับ” ผมถามแบบขำๆ กับสุชาติ เมื่อเห็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อ รถเก๋ง จอดอยู่เรียงราย เจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศซึ่งเข้ามาทำงานในศูนย์ผู้อพยพ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ และบริษัทที่มาอุ้มผาง ต่างล้วนพักที่ตูกะสู

“ที่พักแห่งเดียว” ในความหมายของผมคือ เป็นที่พักที่มีมาตรฐานในระดับโรงแรม 4-5 ดาว

โดยปกติเราใช้เวลาบนเส้นทางคดโค้ง 164 กิโลเมตร จากอำเภอแม่สอดถึงอุ้มผางราวๆ 3 ชั่วโมงกว่า แต่จาก “ตูกะสู” ถึงเขตทุ่งใหญ่ระยะทางราวๆ 60 กิโลเมตร หลายครั้งเราใช้เวลา 2-3 วันอยู่ที่ตูกะสู คือความสบาย

ตูกะสู ในความหมายของการเป็น “เพื่อน” เราใช้เวลาอยู่ที่นี่นาน ก่อนมุ่งหน้าสู่จุดหมายจุดหมายอันเป็นบ้านของสัตว์ป่า

“สัตว์ป่า” ชีวิตที่เรากำลังพยายามขอเป็น “เพื่อน” กับพวกมัน