หมอพร้อม วัคซีนไม่พร้อม เข็มแรกวืดเป้า เศรษฐกิจอึมครึมข้ามปี/บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยา ประชาชาติ

 

หมอพร้อม

วัคซีนไม่พร้อม

เข็มแรกวืดเป้า

เศรษฐกิจอึมครึมข้ามปี

 

หลังจากมีบทพิสูจน์ให้เห็นในหลายๆ ประเทศแล้วว่า “วัคซีน” เป็นความหวังเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ โดยไม่ต้องตกอยู่ในวงจรอุบาทว์ การระบาด “ระลอกใหม่” ของไวรัสโควิด-19 แบบซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนที่ผ่านมา

รัฐบาลจึงประกาศเร่งจัดหาวัคซีนมากขึ้น พร้อมเปิดแอพพลิเคชั่น และไลน์ “หมอพร้อม” ให้คนไทยลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 “ระยะที่ 2” ที่รัฐบาลจะจัดหามาให้ โดยเริ่มต้นที่ประชาชน 2 กลุ่ม คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค เริ่มจองคิวตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม ผ่านไปกว่า 10 วัน ยอดผู้จองคิวเพื่อฉีดวัคซีน “เข็มแรก” ยังกระเตื้องไปอย่างล่าช้า เกือบทุกจังหวัดยอดจองออกมาค่อนข้างต่ำ

 

ส่งผลให้เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องออกมาประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหา การกระจาย ไปจนถึงการฉีดด้วย เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทย

“สิ่งที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็นจริงไปไม่ได้เลย หากพี่น้องประชาชนไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผมจึงอยากขอเชิญชวนให้ทุกคนมาเข้ารับการฉีดวัคซีนกัน ให้มากที่สุด ประเทศไทยจึงจะไปต่อได้ ผมขอยืนยันว่า วัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าทุกชนิด มีประสิทธิภาพ ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข และใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก มีคนฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคน รวมทั้งผู้นำประเทศทั่วโลก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในวันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 เพื่อปรับแผนการฉีดวัคซีนใหม่

โดยนายอนุทินกล่าวว่า ประชากรทั้งคนไทยและต่างชาติในประเทศไทยมีประมาณ 70 ล้านคน การรับวัคซีนครอบคลุมให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ คือร้อยละ 70 ของประชากร เท่ากับประมาณ 50 ล้านคน โดยใช้วัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส ตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564

ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดในขณะนี้ยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก ดังนั้น คณะอนุกรรมการจึงมีมติเห็นชอบการปรับแผนการกระจายวัคซีน ด้วยกลยุทธ์ “ฉีดปูพรม” (Mass Vaccination) ในพื้นที่ระบาด

นอกจากนี้ ยังเร่งรัดให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการฉีดเชิงรุกนอกโรงพยาบาล ล่าสุด รมว.คมนาคมได้เสนอให้ใช้พื้นที่สถานีรถไฟกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ซึ่งมีความกว้างขวางและรองรับคนได้จำนวนมาก รวมถึงการให้ประชาชนสามารถเดินทางมารับวัคซีนได้

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด-19 กล่าวเสริมว่า ในเดือนพฤษภาคมจะมีวัคซีนซิโนแวคเข้ามาอีก 2.5 ล้านโดส และวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่คาดว่าจะส่งมอบช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้อีก 1.7 ล้านโดส

โดยในส่วนของ กทม.ตั้งเป้าจะฉีดให้ได้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากร คือ 5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน โดยฉีดให้แก่ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีข้อห้ามทางการแพทย์ เร่งรัดการฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดโดยเพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม หรือศูนย์การค้า

เป้าหมายฉีดให้ได้ 1 แสนโดสต่อวัน

 

ขณะที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) เสนอแนะว่า รัฐควรกระจายวัคซีนเชิงรุก โดยอาศัยเกณฑ์การเคลื่อนไหว (Mobility) ซึ่งควรเน้นฉีดวัคซีนเชิงรุก “กลุ่ม High Mobility” ที่มีราว 20.2 ล้านคน

ประกอบไปด้วยบุคลากรทางการแพทย์ พนักงานขาย พนักงานขนส่ง พนักงานบริการ และพนักงานโรงงาน ที่มีความเสี่ยงและโอกาสที่จะติดเชื้อหรือแพร่เชื้อสูง เนื่องจากมีความจำเป็นต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก

และเป็นกลุ่มที่มีส่วนในกิจกรรมเศรษฐกิจ ซึ่งหลักๆ เป็นภาคการค้าและบริการ คิดเป็นสัดส่วนกว่า 62% ของ GDP ควบคู่ไปกับ “กลุ่มเสี่ยงสูงและผู้สูงอายุ”

จะส่งผลให้ปลดล็อกเศรษฐกิจเร็วขึ้น

และหากเร่งฉีดวัคซีนเร็วขึ้น 5 แสนโดสต่อวันในกลุ่มเชิงรุก จะช่วยลดความสูญเสียได้เพิ่มขึ้นถึง 5.7 หมื่นล้านบาท และเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564

การฉีดวัคซีนที่ล่าช้า จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก

โดยนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

โดยครัวเรือนและธุรกิจที่มีสายป่านจำกัด จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้าลง ทั้งนี้ “พระเอก” ที่จะมาฟื้นเศรษฐกิจ เป็นเรื่องการจัดหา-กระจายวัคซีน และประชาชนพร้อมใจกันฉีดวัคซีน ส่วนนโยบายการเงินจะตามมาทีหลัง

ทั้งนี้ ธปท.ได้มีการประมาณการเศรษฐกิจภายใต้สมมุติฐานต่างๆ แบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1. สามารถจัดหาและกระจายวัคซีนเพิ่มเติมราว 100 ล้านโดสภายในปี 2564 และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) จะเห็นเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ถูกกระทบ และหลังจากนั้นจะปรับตัวดีขึ้น

2. การจัดหาและกระจายวัคซีนเลื่อนออกไปกระทบการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ สามารถฉีดได้ 64.6 ล้านโดส จะทำให้มีภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจราว 4.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการหดตัว -3.0% ของ GDP

และ 3. การจัดหาและกระจายวัคซีนได้ช้ากว่าแผนเดิม หรือน้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปี 2564 จะทำให้มีภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจราว 8.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น -5.7% ของ GDP

“แต่หากสามารถฉีดวัคซีนได้เร็ว จะสามารถช่วย GDP ได้ถึง 3.0-5.7% ในช่วงปี 2564-2565 เช่นกัน ดังนั้น การจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จะต้องฉีดวัคซีนได้เร็ว เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเร็วขึ้น จะช่วยอุปสงค์หรือการบริโภคภายในดีขึ้นด้วย”

นายทิตนันทิ์กล่าว

 

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนเมษายน 2564 ต่ำสุดในรอบ 39 เดือน นับตั้งแต่มีการสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2562 โดยความเชื่อมั่นต่ำในทุกรายการ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งคาดการณ์ว่าความเชื่อมั่นในเดือนพฤษภาคม 2564 ก็จะยังไม่ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หอการค้ายังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 2.5-3% ต่อปี โดยอยู่ภายใต้ปัจจัยที่รัฐบาลควบคุมโควิดไม่ให้กระจายมากขึ้น เร่งกระจายฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย การฟื้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงเพิ่มเม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ให้เร็ว อย่างน้อย 2 แสนล้านบาท และไตรมาส 3 ก็เพิ่มเม็ดเงินเข้าไปอีก

ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาผลงานการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลถูกตั้งคำถามอย่างมาก ขณะเดียวกันวัคซีนที่รัฐบาลเลือกมาฉีดให้คนไทยก็มีข้อมูลเชิงเปรียบเทียบว่าอาจจะด้อยกว่ายี่ห้ออื่นๆ ที่รัฐบาลไม่เลือก รัฐบาลจึงต้องเร่งฟื้นศรัทธาความเชื่อมั่น พร้อมๆ กับแสดงฝีมือความสามารถในการบริหารจัดการ

และหวังว่าเมื่อความเชื่อมั่นกลับมา มีการฉีดวัคซีนมากขึ้น กระบวนการเปิดล็อกด้านเศรษฐกิจก็จะเกิดขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวจึงจะกลับมาอีกครั้งหนึ่ง