จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ฟันดีสีอะไร? / ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

 

ฟันดีสีอะไร?

 

ความนิยม ‘ฟันงาม’ ของแต่ละยุคสมัยต่างกัน ‘งาม’ ของสมัยก่อนอาจเป็น ‘ขี้ริ้วขี้เหร่’ หรือ ‘อัปลักษณ์’ ของสมัยนี้ ความนิยมหรือแฟชั่นนั้นไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงได้ตามกาลเวลา หนึ่งในหลักฐานชั้นดีที่บอกให้รู้ว่าคนสมัยไหนนิยมฟันสีอะไร คือวรรณคดี

‘สามเรื่อง สามสาว สามสี’ คือวรรณคดี 3 เรื่องสมัยอยุธยาสะท้อนภาพสามนางกับฟันสามสี เริ่มจาก “สมุทรโฆษคำฉันท์” ชมโฉมนางพินทุมดีว่าฟันขาววาววับราวกับเพชร

“พระทนตเพี้ยงวชิรรัตน์                           และระเบียบระเบียมสม”

(ทนต์ คือฟัน วชิร หรือวิเชียร คือเพชร)

ส่วนนางจันทรใน “เสือโคคำฉันท์” ฟันเป็นประกายดังมณีสีแดงฉาน

“พระโอษฐเมื่อแย้มยิ้ม                             ใครเห็นปิ้มจะงวยงง

แสงทันตยับยง                                     คือแสงไพรุแดงฉัน”

ในขณะที่ “กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก” วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนปลายถ่ายทอดภาพนางในราชสำนักมีฟันดำวาววามเหมือนแสงนิล

“พิศฟันรันเรียงเรียบ                              เปนระเบียบเปรียบแสงนิล

พาทีพี่ได้ยิน                                       ลิ้นบกระด้างช่างเจรจาฯ”

 

น่าสังเกตว่า แฟชั่น ฟ ฟัน สมัยอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นิยมฟันดำทั่วถึงทั้งนอกวังในวัง ดังจะเห็นได้จากงานเขียนของชาวฝรั่งเศส 2 คนที่เดินทางเข้ามาในเวลาต่อเนื่องกัน นิโกลาส์ แชร์แวส บันทึกไว้ว่าสีฟันของพวกเขาไม่เป็นที่ต้องตาของสาวสยามฟันดำเลยแม้แต่น้อย ดังตอนหนึ่งของหนังสือ “ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล)

“…สิ่งที่ผู้หญิงสยามไม่อาจทนดูพวกเราได้ก็คือ ตรงที่พวกเรามีฟันขาว และพวกนางเชื่อกันว่าพวกภูตผีปีศาจเท่านั้นที่มีฟันขาว และเป็นที่น่าอับอายที่มนุษย์เราจะมีฟันขาวเหมือนอย่างสัตว์เดียรัจฉาน…”

ซึ่งกลายเป็นคำกล่าวขานกันต่อมาว่า ‘ฟันดำคือฟันคน ฟันขาวคือฟันสุนัข’

มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ บรรยายถึงหน้าตาของชาวสยามสมัยนั้นไว้ใน “จดหมายเหตุ ลาลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม” (ฉบับสันต์ ท.โกมลบุตร แปล) ดังนี้

“ปากนั้นกว้าง ริมฝีปากหนาซีดๆ และฟันดำ”

ข้อความที่แชร์แวสและลาลูแบร์บันทึกไว้ บอกถึงมุมมองเกี่ยวกับสีของฟันที่แตกต่างกัน ทั้งเจ้าของบ้านและผู้มาเยือนล้วนเอาตนเองเป็นมาตรฐานวัด อะไรที่ผิดแผกไปไม่ถือว่าดี

ความนิยมฟันดำยังดำเนินต่อมาในสมัยธนบุรี หลวงสรวิชิต (หน) กวีมีชื่อ (ต่อมาคือเจ้าพระยาพระคลัง (หน) สมัยรัตนโกสินทร์) ได้วาดภาพพระเอกในวรรณคดีเรื่อง “ลิลิตเพชรมงกุฎ” ไว้ว่า

“ริมโอษฐ์เรียบไรทนต์                              ทันต์ดำกลแมลงภู่”

การเปรียบฟันของพระเพชรมงกุฎกับแมลงภู่ หรือแมลงดำขลับ รูปร่างคล้ายผึ้งแต่ตัวโตกว่า เท่ากับยืนยันว่าฟันดำมิได้จำกัดเฉพาะหญิง ชายก็นิยมเช่นกัน

 

มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ภาพของนางสีดาจากบทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 มีข้อความว่า

“พิศเนตรดั่งเนตรมฤคิน                            พิศทนต์ดั่งนิลอันเรียบราย”

ลักษณะนี้ไม่ต่างกับที่รัชกาลที่ 3 ทรงพรรณนาชมฟันสตรีด้วย ‘กลบทบัวบานกลีบขยาย’ ใน “เพลงยาวพระราชนิพนธ์” ตอนหนึ่งว่า

“เจ้างามทนต์กลนิลช่างเจียระไน                เจ้างามเกศดำประไพเพียงภุมริน”

รัชกาลที่ 3 ทรงเปรียบสีของฟันกับสีดำของนิลที่เจียระไนแล้ว ภาพของฟันจากตัวอย่างข้างต้น จึงมิใช่แค่ ‘ดำ’ แต่ ‘ดำเป็นมันวาว’

นอกจากนี้ ภาพของนางผู้เป็นที่รักใน “นิราศเมืองนครศรีธรรมราชคำฉันท์” ที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญทรงพระนิพนธ์ไว้สมัยรัชกาลที่ 4 (เมื่อครั้งตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายทะเลตะวันตกทางชลมารค) สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมฟันดำอย่างชัดเจน

“งามทันตกาฬกลระดับ                            และคละคลับคละคล้ายนิล”

(กาฬ = ดำ)

ล่วงมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 สีฟันของนางในวรรณคดีก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากสียอดนิยม ดังที่ “กาพย์เห่ชมโฉม” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 พรรณนาว่า

“พิศโอฐโอฐแฉล้ม                                   ยามยิ้มแย้มเห็นรายฟัน

ดำขลับยับเป็นมัน                                 ผันพักตร์เยื้อนเอื้อนอายองค์” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

อย่างไรก็ดี ความนิยมดังกล่าวเปลี่ยนไปในรัชกาลต่อมา ดังจะเห็นได้จากตอนหนึ่งของ “บทเห่ครวญ” รัชกาลที่ 6 ทรงรำพันว่า

“ตาดำขำแก้วพี่                                      พอสมดีกับสีผม

ฟันขาวดูราวชม                                     แก้วมุกดาน่ายินดี”

ความนิยมนี้น่าจะอยู่ในหมู่หนุ่ม-สาวทุกระดับชั้น ดังที่ ‘กาญจนาคพันธุ์’ บันทึกไว้ในหนังสือเรื่อง “80 ปีในชีวิตข้าพเจ้า” ว่า

“…ฟันดำหายไป หนุ่ม-สาวนิยมฟันขาวหมด แต่คนอายุกลางคนหรือคนแก่ยังฟันดำเพราะยังกินหมากอยู่…”

ฟันดำเพราะกินหมากเท่านั้นหรือ?

ฉบับหน้ามีคำตอบ