ศก.อาเซียนซบเกินคาด เพราะโควิดยังระบาดไม่จบ/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ศก.อาเซียนซบเกินคาด

เพราะโควิดยังระบาดไม่จบ

 

ภาพรวมเศรษฐกิจของโลกปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นำหน้าโดยประเทศยักษ์ใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกากับจีน ที่มีแนวโน้มพุ่งแรงให้อิจฉากันเล่น

ในเอเชียโดยรวมยังไม่ดีเท่า เหตุเพราะประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญไม่เพียงยังไม่ดีขึ้นเท่านั้น บางประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอินเดีย กำลังวิกฤตหนักกับสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่ร้ายแรงกว่าเดิมหลายเท่าตัว

ส่วนญี่ปุ่นเองก็ยังจำเป็นต้องประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินอยู่ต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่กำหนดการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ไล่กระชั้นเข้ามาอยู่รอมร่อ

 

จํากัดวงให้แคบลงมาโฟกัสกันเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศที่กะเก็งกันว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจจะลืมตาอ้าปากได้เสียที ก็ไม่ยักเป็นอย่างที่คิด

หลายประเทศที่เป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญของภูมิภาค ไม่ใช่แค่ไม่ขยายตัวเท่านั้น แต่ยังติดลบต่อเนื่องมาจนถึง 3 เดือนแรกของปีกันเลยทีเดียว

เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กับมาเลเซีย ยังคงหดตัวอยู่ในแดนลบอย่างต่อเนื่อง ตามรายงานของสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ทางการแถลงว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วง 3 เดือนแรกของปีจนถึงเดือนมีนาคม หดตัวลงมากถึง 4.2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นับเป็นการหดตัวลงมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันไว้ที่ 3 เปอร์เซ็นต์เอามาก

ที่สำคัญก็คือ ยังเป็นการติดลบต่อเนื่องกับ 8 ไตรมาส แล้วไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ก็ติดลบหนักทีเดียวคือหดตัวลงถึง 8.3 เปอร์เซ็นต์

เศรษฐกิจของมาเลเซียยังหดตัวอยู่ก็จริง แต่ไม่มากมายนักแค่ติดลบ 0.5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในไตรมาสแรกของปีนี้ รัฐบาลและแบงก์ชาติยังคงไม่ปรับลดเป้าการขยายตัว เพราะเชื่อว่าจะสามารถใช้เวลาที่เหลือทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ที่ 6 เปอร์เซ็นต์ถึง 7.5 เปอร์เซ็นต์ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้

อินโดนีเซียเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาแถลงตัวเลขไตรมาสแรกติดลบ 0.74 เปอร์เซ็นต์ สูงกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

ส่วนไทยกำหนดจะแถลงในสัปดาห์หน้า แต่สถานการณ์ไม่ดีเท่าใดนัก เพราะรัฐบาลชิงปรับลดจีดีพีทั้งปีไปก่อนแล้ว เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังคงอยู่ในสภาพย่ำแย่

 

4ประเทศนี้ ถือเป็นชาติใหญ่ในระดับหัวแถวของอาเซียน เมื่อส่งสัญญาณออกมาอย่างนี้ก็ชวนให้คิดได้ว่าเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอาเซียนยังคงอ่อนแอต่อไปอีกไม่น้อย

รอยเตอร์สยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ ซึ่งกำลังส่อเค้าว่าจะเป็นประเทศที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนด้วยกัน บอกว่าถ้ายังฟื้นตัวอยู่ที่ระดับความเร็วเท่านี้ กว่าจะกลับคืนสู่ระดับก่อนหน้าเกิดการแพร่ระบาด (ในปี 2019) ได้ อย่างเร็วที่สุดก็คงต้องรอจนถึงครึ่งหลังของปี 2022 โน่น

แดน โรเซส หัวหน้าทีมนักเศรษฐศาสตร์ของซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ป. ในมะนิลา เตือนว่า รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นทั้งของภาคธุรกิจและของผู้บริโภคให้ได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อเลี่ยงสถานการณ์ที่ว่านั้น

ปัญหาก็คือ บลูมเบิร์กตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า 4 ชาติที่ส่งสัญญาณ “อ่อนแอ” ออกมาในเวลานี้นั้น ล้วนกำลังเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 อยู่ทั้งสิ้น

ในไทยก็อย่างที่รับรู้กันจากการเผชิญหน้ากันอยู่ในเวลานี้

ที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องกลับมาใช้มาตรการเข้มงวดอีกครั้งแล้วทั้งในมะนิลาและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญๆ ทั้งหลาย

ที่อินโดนีเซียนั้นนักวิเคราะห์วิจารณ์ปาก (กา) คมบางคนเตือนว่า อินโดนีเซียมีโอกาสที่จะกลายเป็นอินเดียแห่งที่ 2 ได้ไม่ยาก ถ้ายังย่ามใจกันเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้

 

ชาติที่จัดการกับการระบาดโควิดได้ดีที่สุดอย่างสิงคโปร์กับเวียดนาม คือชาติที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ดีที่สุดในเวลานี้ครับ

ที่น่าสนใจก็คือ อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ แล้วก็มาเลเซีย นั้นเป็นชาติที่มีการแพร่ระบาดของโควิดหนักหนาสาหัสที่สุดของอาเซียนเรียงตามลำดับ 1, 2 และ 3 ครับ

ส่วนไทยเราทำได้ดีในระลอกสองระลอกแรก แต่มาพลาดเอาอย่างจังเมื่อเจอกับระลอกที่ 3 นี่เอง

เลยต้องมานั่งหั่นเป้าการขยายตัวของจีดีพีเป็นชาติแรกในกลุ่มอาเซียน

แล้วก็เป็นการปรับเป้าเป็นครั้งที่ 2 แล้วเพียงแค่ในปีนี้เท่านั้นเอง