แนนโน๊ะ | สู่สังคมแห่งการต่อต้านที่ยังไม่รู้อนาคต : ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์www.facebook.com/sirote.klampaiboon

สังคมไทยตลอดปี 2563 จนปัจจุบันคือสังคมที่คนรุ่นใหม่แสดงออกว่ามองโลกไม่เหมือนกับคนรุ่นเก่าที่ครอบงำประเทศนี้มานาน ยิ่งกว่านั้นคือความมุ่งมั่นในการแสดงออกนี้มีมากถึงขั้นคนเป็นล้านกล้าพูดเรื่องที่คนรุ่นก่อนไม่กล้าพูด ต่อให้จะรู้ว่าการพูดจะทำให้มีจุดจบที่เรือนจำ

แน่นอนว่า “คนรุ่นใหม่” เป็นคำที่ลื่นไหลจนไม่สามารถบอกได้ชัดๆ ว่าหมายถึงใคร สำหรับคนวัยที่ฝาโลงสำคัญกว่าอนาคตอย่างคุณประยุทธ์และคุณประวิตร “คนรุ่นใหม่” อาจหมายถึงคนรุ่นธนาธรที่อายุ 35 ถึง 40 เศษๆ ซึ่งก็คือคนที่เกิดหลังจากปี 2520 ลงมา

อย่างไรก็ดี สำหรับคนรุ่นที่อนาคตยังมีหวังอย่างธนาธร คำว่า “คนรุ่นใหม่” อาจหมายถึงคนรุ่นเพนกวินหรือหลังจากนั้น ขณะที่สำหรับคนรุ่นเพนกวิน คนรุ่นใหม่คงหมายถึงคนรุ่น “นักเรียนเลว” และอื่นๆ ทั้งที่มีบทบาทและไม่มีในการผูกโบขาวชูสามนิ้วในช่วงที่ผ่านมา

คำว่า “คนรุ่นใหม่” ชวนให้เห็นภาพว่า “อายุ” ทำให้เกิดความแตกต่างทางความคิดของคน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีใครใช้คำว่า “คนรุ่นใหม่” กับคนรุ่นธนาธรหรือเพนกวินที่คิดแบบเดียวกับคุณประยุทธ์และพวก

คนแบบคุณเขตรัฐหรือ “หลวงพี่กาโตะ” จึงไม่เคยมีใครมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่เลย

เมื่อใดที่พูดถึง “คนรุ่นใหม่” สังคมกำลังพูดถึงคนที่กล้าพูดเรื่องความเปลี่ยนแปลง กล้าบอกโลกให้รู้ถึงการดำรงอยู่ของตนบนโลกใบนี้ รวมทั้งกล้าประกาศว่าตัวเองมองโลกและมีวิธีอยู่ในโลกที่ต่างจากคนโง่ที่อายุมากกว่า ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นนายกฯ, เป็นอาจารย์, เป็นพ่อ-แม่ หรือเป็นใคร

“แนนโน๊ะ” เป็นซีรีส์ที่โด่งดังในหมู่ “คนรุ่นใหม่” เพราะความกล้าพูดถึงปัญหาต่างๆ ที่เน่าเฟะในสังคมไทย

แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ “แนนโน๊ะ” เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครหญิงที่ตอบโต้ทุกความเลวร้ายด้วยความรุนแรงที่สะใจใกล้วิกลจริต ต่อให้จะไม่ใช่ความรุนแรงทางกายภาพก็ตาม

แน่นอนว่าการตอบโต้ความรุนแรงด้วยวิธีตาต่อตา ฟันต่อฟันเป็นความคิดพื้นฐานของมนุษย์ตั้งแต่ยุคก่อนอารยธรรม และความสะใจที่ได้เห็นคนชั่วถูกล้างแค้นหรือไล่ล่าคือหนึ่งในโครงเรื่องที่แพร่หลายในหนังหรือละครที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกฎแห่งกรรม, ล่า, ฟ้ามีตา หรือกระจกสะท้อนกรรม

อย่างไรก็ดี “แนนโน๊ะ” ไปไกลกว่างานแบบนั้น เพราะโลกในละครคือโลกที่เต็มไปด้วยคนเหี้ยจนชีวิตเป็นเรื่องของการแข่งกันทำเหี้ยขั้นสูงสุด ส่วน “แนนโน๊ะ” คือตัวละครที่จุดชนวนให้คนแสดงความเหี้ยถึงจุดที่ “แนนโน๊ะ” จะลงโทษด้วยความคลั่งระดับที่ใครเจอแล้วไม่บ้าก็เก่งเหลือเกิน

ถ้าตัวละครฝ่ายร้ายในหนังหรือละครได้แก่คนชั่วที่ทำความชั่วต่อตัวละครอื่นหรือสังคม แนนโน๊ะคืองานที่บอกว่าสังคมเต็มไปด้วยคนชั่วที่เข้าขั้น “เหี้ย” เพราะทำชั่วต่อเนื่อง ทำซ้ำซาก ทำอย่างเป็นระบบ ทำแบบสมรู้ร่วมคิด ทำเป็นหมู่คณะ และทำแบบไม่มีสำนึกว่าทำผิดแม้แต่นิดเดียว

ขณะที่สังคมไทยมีคนแบบกาโตะหรือกระทรวงวัฒนธรรมที่บอกว่าคนรุ่นใหม่ควรรู้จักหมอบคลาน “แนนโน๊ะ” คือละครที่บอกว่าผู้หญิงในสังคมไทยอยู่ในโลกเหี้ยๆ ที่มีแต่ความเหี้ยจากครู,เพื่อน, พ่อ-แม่, เด็กผู้ชาย, แฟน, รุ่นพี่ ฯลฯ

จนคนดีเป็นได้แค่คนอ่อนแอที่ต้องแพ้ไปตลอดเวลา

แนนโน๊ะภาคแรกโด่งดังจากการพูดถึงครูคลั่งศีลธรรม ส่วนครูที่ทำท่าไม่คลั่งศีลธรรมก็เป็นครูรุ่นใหม่หน้าตาดีที่หลอกฟันนักเรียน นักเรียนหญิงอ้วนที่อิจฉาเพื่อนจนหลอกให้เพื่อนโดนเพื่อนมอมเหล้าและข่มขืนหมู่ เด็กเก่งที่อยากเป็นอัจฉริยะจนขโมยผลงานคนอื่นเป็นของตัวเอง ฯลฯ

โลกของคนรุ่นใหม่ที่สะท้อนในซีรีส์แนนโน๊ะคือโลกที่ความเหี้ยและคนเหี้ยอยู่รอบตัวเรา ที่มาของความเหี้ยมาจากความอิจฉา, ความบ้าอำนาจ, ความบ้ากาม, ความดัดจริต และอะไรต่อมิอะไรที่ยิ่งทำยิ่งถลำลงไปไม่มีสิ้นสุดจนแนนโน๊ะตอบโต้ด้วยอะไรก็ได้ขั้นใครโดนก็อยากตาย

ผู้สร้างแนนโน๊ะบอกว่าแนนโน๊ะคือลูกสาวของซาตาน และถ้าถือว่าซาตานยั่วให้อีฟกับอาดัมกินผลไม้ต้องห้ามของพระเจ้าจนตกจากสวรรค์มาเป็นมนุษย์ ตัวละครแบบแนนโน๊ะก็คือตัวละครที่เชื่อว่าคนในสังคมมีแต่เรื่องเหี้ยๆ ซุกซ่อนจนแค่กระตุ้นนิดเดียวก็พร้อมจะระเบิดความชั่วออกมา

โลกในซีรีส์เรื่องนี้คือโลกที่ความปกติเป็นเพียงผิวนอกที่ห่อหุ้มความไม่ปกติ ระเบียบและกติกาต่างๆ คือเครื่องมือปกปิดความเลวทรามของระบอบ ส่วนคนดูได้ความสะใจที่เห็น “ระบอบ” ถูกกระตุ้นจนระเบียบและเปลือกนอกที่ดูปกติทุกอย่างถูกทำลาย หรืออย่างน้อยก็ถูกเปิดโปง

น่าสังเกตว่าแนนโน๊ะเป็นซีรีส์ที่ไม่มีรัฐหรืออะไรที่เป็นตัวแทนของรัฐในการยุติความชั่วของมนุษย์เลย

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือสถาบันที่เป็นตัวแทนของ “อำนาจ” ไม่ว่าจะเป็นครู, ผู้อำนวยการโรงเรียน, รุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ฯลฯ ล้วนเป็นคนที่มีส่วนในการทำเรื่องเหี้ยๆ ตลอดเวลา

คำถามคือการที่รัฐไม่มีบทบาทอะไรในการยุติความชั่วเป็นเพราะรัฐถูกปกครองโดยระบอบชั่วๆ ที่ผู้นำชั่วเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายคนชั่วทั้งหมด, รัฐรู้แต่เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ หรือเป็นเพราะรัฐแค่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ถึงความชั่วที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม?

แนนโน๊ะตอนใหม่พูดถึงนักเรียนที่เปิดโปงครูว่าสอนผิดกลับถูกโรงเรียนลงโทษโดยจับยัดเข้าห้องสำนึกตน วิธีลงโทษคือเปิดลำโพงอัดหูจนกว่าเด็กจะยอมทำตาม, อัดแสงแฟลชเข้าตาจนมองไม่เห็น รวมทั้งดึงลิ้นให้ไม่สามารถพูดอะไรได้ จนกว่าจะยอมสยบในนามของการ “สำนึกตน”

แม้ซีรีส์จะไม่ได้พูดตรงๆ ว่าโรงเรียนเป็นตัวแทนของรัฐหรือรัฐบาล แต่วิธีที่โรงเรียนควบคุมนักเรียนก็สะท้อนการใช้อำนาจซึ่งผู้ชมโยงถึงรัฐอย่างช่วยไม่ได้ การลงโทษที่คล้ายกับรัฐเผด็จการแบบนิยาย 1984 ชวนให้คิดถึงระบอบประยุทธ์โดยปริยายในแง่ปิดหู-ปิดตา-ปิดปากประชาชน

แนนโน๊ะคือซีรีส์เพื่อความบันเทิงที่มีเป้าหมายเพื่อหาเงินให้เจ้าสัวในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม

แต่วิธีที่ซีรีส์ทำงานคือการหยิบความเฮงซวยในสังคมมาตรึงคนดูให้สะใจไปกับศาลเตี้ยที่ลงโทษคนเฮงซวยโดยอาจไม่ต้องฆ่า แต่มีชีวิตด้วยความอัปยศอดสูจนตายอาจดีกว่ามีชีวิตอยู่ต่อไปจริงๆ

แนนโน๊ะเพิ่มอำนาจผู้หญิงโดยวิธีบอกว่าเหยื่อควรลดความเป็นเหยื่อให้น้อยลง สารนี้ไม่ได้ใช้ได้แค่กับผู้หญิง แต่ยังรวมถึง “เหยื่อ” ในกรณีอื่นๆ ที่ควรจะปลดแอกและลุกขึ้นมาโต้กลับผู้มีอำนาจด้วยวิธีต่างๆ ไม่ใช่ยอมจำนนเป็นเบี้ยล่างต่อไปทั้งในแง่รัฐบาล, โรงเรียน, ครู , รุ่นพี่ ฯลฯ

การใช้ความรุนแรงจูงใจคนดูจนคนสร้างรวยนั้นเป็นเรื่องธรรมดา นิตยสารที่ขายดีที่สุดในสังคมไทยยุคหนึ่งได้แก่ 191 ที่ทั้งเล่มคือรูปอุบัติเหตุ แต่แนนโน๊ะรอบแรกพยายามพูดว่าความรุนแรงเชื่อมโยงกับอำนาจ ขณะแนนโน๊ะรอบสองมากไปเรื่องความรุนแรงที่ไม่เชื่อมโยงอะไรเลย

แนนโน๊ะเป็นงานวัฒนธรรมร่วมสมัยในสังคมไทยที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวและกล้าแสดงออกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ความเคลื่อนไหวทางความคิดที่ไปเร็วมากทำให้แนนโน๊ะรอบสองที่เน้นความสะใจจากความรุนแรงล้วนๆ ถูกวิจารณ์ว่าไม่ต่างจากฟ้ามีตาที่ทันสมัยขึ้นเท่านั้นเอง

ในซีรีส์เรื่องนี้ ความน่าสนใจที่สุดไม่ได้อยู่ที่คนสร้างเชื่อมโยงความรุนแรงกับ “ระบอบ” หรือไม่ แต่คือการสะท้อนระดับความเข้าใจเรื่องความจอมปลอมในสังคม, ความตระหนักว่าสังคมไทยไม่ได้สวยงามอย่างที่โม้ และคนดูที่ฉลาดขึ้นจนคนสร้างไม่กล้าทำงานที่ฉลาดเท่าคนดู

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่งานแบบนี้เกิดในสังคมไทยยุคที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามกับคนรุ่นเก่าจนโดนยัดคดี 112 มากขนาดนี้

แต่น่าเสียดายที่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมไทยยังไม่กล้าพอจะตอบรับความคิดใหม่ๆ ทั้งที่เห็นแล้วว่างานอย่าง Parasite ประสบความสำเร็จทั้งรางวัลและรายได้อย่างไร

สวรรค์ของความเชื่อเรื่องสังคมไทยดีหรือวิเศษกว่าสังคมอื่นได้จบลงแล้ว โอกาสในการกล่อมประสาทที่ผู้มีอำนาจจะล้างสมองคนรุ่นใหม่ด้วยเรื่องเล่าโง่ๆ กำลังปิดฉากลง เพียงแต่ยังไม่มีใครรู้ว่าโลกทัศน์ใหม่ของคนรุ่นใหม่จะมีผลแค่ไหนในการสร้างโลกใหม่ให้เกิดขึ้นจริงๆ