มุมหนึ่งของ CPTTP/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

(L-R) Singapore's Minister for Trade and Industry Lim Hng Kiang, New Zealand's Minister for Trade and Export Growth David Parker, Malaysia's Minister for Trade and Industry Datuk J. Jayasiri, Canada's International Trade Minister Francois-Phillippe Champagne, Australia's Trade Minister Steven Ciobo, Chile's Foreign Minister Heraldo Munoz, Brunei's Acting Minister for Foreign Affairs Erywan Dato Pehin, Japan's Minister of Economic Revitalization Toshimitsu Motegi, Mexico's Secretary of Economy Ildefonso Guajardo Villarreal, Peru's Minister of Foreign Trade and Tourism Eduardo Ferreyros Kuppers and Vietnam's Industry and Trade Minister Tran Tuan Anh pose for an official picture after signing the rebranded 11-nation Pacific trade pact Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership (CPTPP) in Santiago, on March 8, 2018. A slimmed-down trade pact signed on Thursday will allow eleven Asia-Pacific nations to push forward with economic integration in the face of greater US protectionism, even if the new deal will offer less benefits than originally hoped. / AFP PHOTO / CLAUDIO REYES

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

มุมหนึ่งของ CPTTP

 

องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ Trans Pacific Partnership-TPP ก่อตั้งปี พ.ศ.2559 เกิดสะดุดอย่างไม่คาดฝัน

ผู้ริเริ่มคือ สหรัฐอเมริกา แต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนตัวออก

ต่อมาแกนนำหลักขององค์กรเปลี่ยนเป็นญี่ปุ่นและออสเตรเลีย แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น Comprehensive and Progressive Agreement for Trans Pacific Partnership-CPTTP โดยที่ไทยยังไม่ได้เป็นสมาชิก ตอนนี้ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่

ข้อถกเถียงซับซ้อนเล็กน้อย เนื่องจากเกี่ยวพันกับวัตถุดิบ การผลิต เทคโนโลยี ลิขสิทธิ์ของพืช อาหารสัตว์ และปศุสัตว์

ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันกันทั้งอาหารสัตว์และอาหารมนุษย์ อุตสาหกรรมที่ก่อความมั่งคั่งและความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

ผมรู้น้อยในทุกมิติ แต่อาศัยข้อมูลและความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิจึงทดลองเรียบเรียงบางส่วนดู

ผมว่าที่ขาดไม่ได้คือ มุมมองของจุดยืน ที่แตกต่างกันของฝ่ายต่างๆ สำคัญและไม่อาจปฏิเสธได้เลย

 

ข้อถกเถียง : ใครได้ ใครเสีย

โดยย่อ ด้วย CPTPP มีหลากหลายมิติที่ซ้อนทับกันอยู่ แต่อาจจะประมวลประเด็นที่ถกเถียงระหว่างกันดังนี้

การขยายอำนาจให้แก่บริษัทพืชพันธุ์ ข้อมูลนี้มาจากองค์กรเคลื่อนไหวภาคเอกชน1 เห็นว่า การเป็นสมาชิก มีเงื่อนไขสำคัญอันหนึ่งที่ประเทศสมาชิกต้องยอมรับ UPOV1991 ในกรณีของไทย เท่ากับเราต้องแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ให้เป็นไปตาม

องค์กรเคลื่อนไหวฯ มองว่า หากทำเช่นนั้น นับเป็นการเปิดทางและสร้างแรงจูงใจให้บริษัทขนาดใหญ่ด้านเมล็ดพันธุ์เข้าครอบครองธุรกิจเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพืชอื่นๆ เช่น ข้าวและผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ อีก

ตรงนี้เขามองว่าจะกระทบกระเทือนอย่างสำคัญต่อเกษตรกรรายย่อยและกิจการขนาดเล็กที่ทำมาค้าขายพืชไร่ดังกล่าว

วัตถุดิบอาหารสัตว์ ข้อมูลแสดงว่า บริษัทซีพีเป็นยักษ์ใหญ่ด้านอาหารสัตว์อันดับ 1 ของโลกเมื่อ พ.ศ.2562 ข้อมูลของบริษัทซีพีเอฟเองระบุว่า บริษัทซีพีมีโรงงานอาหารสัตว์ทั่วโลกมากกว่า 144 แห่ง โดยมีกิจการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์ เป็นสมาชิก CPTPP ทั้งแคนาดา เวียดนาม และมาเลเซีย

องค์กรเคลื่อนไหวฯ นี้วิเคราะห์ว่า2 การเปิดเสรีวัตถุดิบอาหารสัตว์ ย่อมเป็นประโยชน์กับยักษ์ใหญ่อาหารสัตว์โดยตรง แต่ไม่ใช่เกษตรกรรายย่อยในประเทศไทยที่ปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง

เขาอ้างรายงานกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งระบุว่า หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP คณะกรรมาธิการมีความกังวลว่า จะมีการนำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลือง อาจกระทบชาวไร่ข้าวโพด 525,281 ครัวเรือน และเกษตรกรปลูกถั่วเหลือง 2.7 หมื่นครอบครัว

รวมทั้งกระทบต่อผู้ผลิตปลาป่น เพราะจะมีการเปิดตลาดให้ประเทศเปรูเพิ่มภายใต้ CPTPP

เนื้อสัตว์ บริษัทซีพีเป็นยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของการเลี้ยงหมู และอันดับ 6 การเลี้ยงไก่ของโลก ผู้ส่งออกกุ้งรายใหญ่ ตามรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า จะเปิดโอกาสให้กลุ่มอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่และกุ้ง สามารถส่งออกสินค้าเพิ่มไปยังตลาดใหม่อย่างแคนาดา รวมทั้งส่งออกเพิ่มหรือรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศญี่ปุ่นพร้อมกัน

ผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่ เป็นไปไม่ได้ที่การเข้าเป็นสมาชิก ระเบียบการค้าระหว่างประเทศอันกว้างใหญ่เช่นนี้ไม่กระทบหรือมีผลเสียต่อบริษัทขนาดใหญ่ด้านการเกษตรเลย

ข้อมูลจากองค์การเคลื่อนไหวภาคเอกชนดังกล่าวเสนอว่า การเปิดตลาดหมูให้แคนาดา ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทยถึง 40% จะส่งผลกระทบต่อหมูในประเทศที่บริษัทซีพีครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่กว่า 30% ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องในสัตว์ ตลาดเนื้อหมูของบริษัทซีพีน่าจะได้รับผลกระทบ

แต่ส่วนหนึ่งได้รับการชดเชยจากการได้วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาถูกจากแคนาดาและเปรู

อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือผู้เลี้ยงหมูที่อยู่ในระบบ “พันธสัญญา” ที่อาจถูกกดราคารับซื้อหมูลง เพื่อให้รายใหญ่สามารถเผชิญหน้ากับหมูนำเข้าจากแคนาดา

น่าสนใจมาก บริษัทซีพีสามารถปรับตัวและต่อสู้กับเนื้อหมูแคนาดาได้มากกว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อย แน่นอนเพราะกลุ่มเครือบริษัทซีพีเป็นเจ้าของอาหารสัตว์เอง มีโรงชำแหละ มีโรงงานแปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่หลากหลาย

อีกทั้งยังเป็นเจ้าของค้าปลีกที่ครองตลาดกว่าครึ่งหนึ่งในปัจจุบัน

 

จุดยืน โครงสร้างและมุมมอง

ขณะที่เขียนบทความนี้ รายงานข่าวจากวิทยุช่องหนึ่งรายงานว่า ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศไทยรายงานว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศแม่งานการประชุม CPTPP ยังไม่ได้สรุปว่าไทยสมควรเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ ถ้าจะเป็น เป็นเมื่อไร อีกทั้งต้องรอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย

ช่วงนี้เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิด วงประชุม CPPTT ย่อมร้อนและฝุ่นตลบ เรื่องระเบียบเศรษฐกิจใหม่ระดับโลกเช่นนี้ ด้วยรู้น้อยมาก

ผมเสนอว่าเราจะต้องศึกษาที่จุดยืนของแต่ละฝ่าย และโครงสร้างอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ในสายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันถึงปลายน้ำ

ในแง่โครงสร้าง น่าจะประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์พืช อาหารสัตว์ วัคซีนและยารักษาโรคสัตว์ พันธุ์สัตว์ โรงชำแหละ อุตสาหกรรมแปรรูป การจัดจำหน่าย

เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า ใครยืนอยู่ที่ตรงไหนในสายการผลิตและบริการนี้

เราจะพบว่า คนที่ยืนอยู่ในสายการผลิตและบริการนี้จากต้นน้ำถึงปลายน้ำมีอยู่น้อยราย แต่ครองตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก ครอบคลุมทั่วโลก

นี่จึงเป็นทั้งเหตุและผลซึ่งกันและกันคือ ผู้ผลิตต้องควบคุมการผลิตจนสุดสายการผลิต ซึ่งทำให้มีผู้ผลิตได้ไม่กี่ราย

ในเวลาเดียวกัน เราจะต้องมองชาติ ที่ไม่ใช่รัฐประชาชาติ ไม่ใช่เรื่องของชนชาติ แต่เป็นชาติของบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งใช้ชาติในความหมายเดิม ในขั้นตอนที่บรรษัทข้ามชาติได้เปรียบ เช่น ด้านกฎระเบียบ ได้แก่ อัตราภาษี ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ ความตกลงทางการค้าและการลงทุน

เพื่อความชัดเจนเรื่องซับซ้อนหลายชั้นเรื่อง ชาติในแง่พื้นที่ของห่วงโซ่การผลิตและบริการค้าสัตว์ หลายคนยกตัวอย่างเวียดนาม ซึ่งมักจะตัดสินใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกในระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลายอันมาตลอด

ชนชั้นนำทางนโยบายเวียดนาม ไม่ได้คิดถึงฐานทรัพยากรต่างๆ ของเขา เพราะจริงๆ เขาเองก็มีไม่มาก อีกทั้งไม่มากพอกับจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคนของเขาด้วย

เขาไม่ได้มีบรรดาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับการผลิตอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่ไหลบ่าเข้ามาเวียดนามจำนวนมากเลย กลับขาดแคลนเสียด้วยซ้ำ และเชิญชวนต่างชาติมาลงทุนอีกด้วย

ชนชั้นนำทางนโยบายเวียดนามรู้ดีถึงจุดอ่อนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะต่ออุตสาหกรรมการผลิตสมัยใหม่ เช่น โทรคมนาคม อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขามองชาติของพวกเขาแบบเดิมที่เชยๆ คือชาติของคนหลายชนชาติที่อาศัยในดินแดนชื่อเวียดนาม ไม่ใช่ชาติของบรรษัทข้ามชาติ ที่ตอแหลจนไม่รู้ว่าเป็นของชาติไหนกันแน่

ความจริงและโครงสร้างของไข่ไก่ที่ตลาดชาวบ้านในเมืองเมืองหนึ่งในเวียดนามเมื่อเร็วๆ นี้ ข้าราชการท้องถิ่นไปโวยวายในตลาดของชาวบ้านว่า ทำไมราคาไข่ไก่ของบริษัทจึงขายแพงกว่าไข่ไก่ของชาวบ้าน แล้วชาวบ้านจะอยู่ได้อย่างไร ไข่ไก่ชาติไหนกันแน่ แล้วเรื่องนี้ก็เข้าสู่ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์

ผมไม่สามารถรู้ได้ว่า ที่ประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ระดับไหน แต่ไข่ไก่ชาวบ้านราคาถูกกว่าก็ได้รับอนุญาตให้ขายในตลาดชาวบ้านต่อไป

ด้วยมุมมองเรื่องชาติแบบเดิมที่แสนเชย นี่เองที่การตัดสินนโยบายอันซับซ้อนและยิ่งใหญ่ของระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เทคโนโลยีด้านปศุสัตว์ทั้งอาหารสัตว์และอาหารคน กติกาด้านบัญชี ภาษีศุลกากรของเวียดนามจึงทะลุและสอดคล้องต่อโครงสร้างและความจริง

ไม่ควรลืมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชนชาติเวียดนามมีมากกว่าไทยมากนัก คนไทยและหลายชาติชอบยกตัวอย่างเวียดนาม แต่มองไม่เห็นความจริงแห่งประวัติศาสตร์เวียดนาม เลยมองไม่เคยเห็นอนาคตของเวียดนาม

นอกจากระเบียบใหม่ CPTPP เรายังเห็นดราม่าชื่อวัคซีน ในบ้านเราด้วยครับ

1″อาหารจะแพง เกษตรกรจะลำบาก” สัมภาษณ์วิทูรย์ เลี่ยมจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี The Matter 9 พฤษภาคม 2021.

2เพิ่งอ้าง.,