ค้นหาทางออกสังคมไทย กลาง ‘สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว’ กับ ‘กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’/เปลี่ยนผ่าน

เปลี่ยนผ่าน

เอกภัทร์ เชิดธรรมธร

 

ค้นหาทางออกสังคมไทย

กลาง ‘สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว’

กับ ‘กนกรัตน์ เลิศชูสกุล’

 

จากปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปี 2563-2564 จุดเริ่มต้นจาก “แฟลชม็อบคนรุ่นใหม่” มาสู่ “ม็อบราษฎร” ท่ามกลางการปรับกระบวนการรับมือของรัฐไทย การตอบโต้ของคนต่างความคิด ต่อเนื่องถึงคำถามถึงกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบัน

นี่กลายเป็นสิ่งที่สังคมพยายามทำความเข้าใจ ตั้งคำถาม และหาคำตอบ ว่าเราทั้งหมดจะต้องอยู่ร่วมกันอย่างไร?

หนึ่งในบุคคลที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าว ผ่านการลงพื้นที่-พูดคุยกับผู้ร่วมชุมนุม รวมถึงคนในกลุ่มความคิดต่างๆ ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับ “คณะราษฎร 2563” ก็คือ “ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล” แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ซึ่งเพิ่งถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นลงในหนังสือ “สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน

 

อาจารย์กนกรัตน์ให้สัมภาษณ์กับมติชนทีวีถึงหนังสือเล่มใหม่นี้โดยระบุว่า เป็นหนังสือที่อยากจะชวนทุกคนมาคุยกันถึงสถานการณ์การเมืองในปีที่แล้ว ว่าเราจะเข้าใจความขัดแย้งและการลุกขึ้นมาของคนรุ่นใหม่ได้อย่างไร?

ส่วนชื่อหนังสือประกอบด้วยคำสามคำ คือ หนึ่ง “สงครามเย็น” สอง “(ใน)ระหว่าง” สาม “โบว์ขาว” ซึ่งทั้งสามคำนี้คือการอธิบายถึงการอยู่ร่วมกันของ “คนสามรุ่น” ในสังคม ได้แก่ “คนรุ่นสงครามเย็น” “คนรุ่นในระหว่าง” หรือ “รุ่น in-between” และ “คนรุ่นโบว์ขาว” หรือ “คนรุ่นใหม่”

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายเพิ่มว่า ถ้าจำได้จะมีคำอธิบายเยอะมากว่าการเมืองเมื่อปีที่แล้วคือความขัดแย้งระหว่าง “คนรุ่นเก่า” กับ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งตนเองพยายามทำความเข้าใจว่าที่จริงมันคืออะไร? เพราะตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยและประวัติศาสตร์โลก “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” มักเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ

ภาพที่อาจารย์กนกรัตน์มองเห็นคือ “คนสามรุ่น” ในสังคมการเมืองไทยยุคปัจจุบัน นั้นไม่สอดคล้องกับ “รุ่น” ในแบบที่สังคมตะวันตกกำหนด

“ฝรั่งเขาจะกำหนด ‘เบบี้บูมเมอร์-เจนเอ็กซ์-เจนวาย’ แต่กรอบแบบนี้ไม่ช่วยให้เราทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทย โดยเฉพาะปรากฏการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา”

 

หลังจากได้ตระเวนรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมชุมนุมหลายร้อยราย นักรัฐศาสตร์ผู้นี้คิดว่าการพูดคุยเฉพาะกับกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” นั้นไม่เพียงพอจะทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น จึงเริ่มหันไปสนทนากับคนกลุ่มอื่นๆ มากขึ้น คือ ไปคุยกับคนรุ่นคุณปู่ คุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ “คนรุ่นใหม่”

จนทำให้เห็นภาพของ “คนสามรุ่น” คือ “คนรุ่นสงครามเย็น” ที่เติบโตมาในช่วงสงครามเย็นและกำลังเป็นคนที่มีบทบาททางการเมือง มีบทบาททางเศรษฐกิจและสังคม ในทุกพื้นที่ของสังคมไทย แต่เป็นกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการลุกขึ้นมาของ “คนรุ่นใหม่” มากที่สุด

ส่วนรุ่นที่สอง คือ “รุ่นระหว่างกลาง” หรือ รุ่น “in-between” ซึ่งเป็นรุ่นคุณพ่อคุณแม่ของ “คนรุ่นใหม่” พวกเขาเป็นคนที่ถูกเลี้ยงดูโดย “คนรุ่นสงครามเย็น” เข้าใจ “คนรุ่นเก่า” และเข้าใจ “คนรุ่นใหม่” ด้วย จึงอยากให้ “คนรุ่นใหม่” มีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างจากตัวเอง

และสุดท้าย คือ “รุ่นโบว์ขาว” หมายถึงบรรดา “คนรุ่นใหม่” ที่ลุกขึ้นมาแสดงพลังเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในช่วงปีที่แล้ว

 

อาจารย์กนกรัตน์ฉายภาพปัจจัยที่ส่งผลต่อความคิดของคนแต่ละรุ่น ที่อาจช่วยให้เราเข้าใจเงื่อนปมของ “ความขัดแย้ง” ในสังคมไทย ไว้อย่างน่าสนใจ

กรณี “คนรุ่นสงครามเย็น” นักวิชาการรายนี้ระบุว่า เราต้องทำความเข้าใจคนรุ่นนี้ให้มาก เพราะอย่างไรเสีย พวกเขาก็เป็นคนที่มีบทบาทและกุมอำนาจในปัจจุบัน ฉะนั้น หากอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย เราจะไม่เข้าใจคนรุ่นนี้ไม่ได้

“จุดที่น่าสนใจ คือ ‘คนรุ่นสงครามเย็น’ เติบโตมาท่ามกลางการเมืองแบบสงครามเย็น ที่เขาเชื่อจริงๆ ว่าการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทุกอย่างเกิดขึ้นผ่านการแทรกแซงของมหาอำนาจ ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ในยุคเขา เพราะฉะนั้น การที่คนรุ่นนี้สรุปว่าพลังในปีที่แล้วเป็นพลังที่ต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลัง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้

“เรื่องที่สองก็คือ คนรุ่นนี้กังวลและไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลง คนในยุคสงครามเย็นเติบโตมาในโลกที่เปลี่ยนแปลงช้ามาก เพราะฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่พวกเขากลัวและกังวล

“ในทางตรงกันข้าม ‘คนรุ่นใหม่’ หรือ ‘คนรุ่นโบว์ขาว’ และ ‘คนรุ่นในระหว่าง’ รู้ว่าโลกมันเปลี่ยนเร็ว เพราะฉะนั้น การยอมรับการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ มันจะต้องเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงไม่อยู่ในวิธีคิดของคนรุ่นสงครามเย็น

“นอกจากนั้น การตั้งคำถามกับประชาธิปไตย ก็เป็นเรื่องที่ ‘คนรุ่นสงครามเย็น’ ตั้งคำถามกับประชาธิปไตยภายใต้การเมืองที่ประเทศมหาอำนาจเข้ามาแทรกแซง

“ซึ่งมันตรงกันข้ามกับ ‘คนรุ่นโบว์ขาว’ ที่ไม่เชื่อว่าตัวเองจะถูกครอบงำ (พวกเขา) มีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นตัวของตัวเอง ที่ไม่ผูกติดตัวเองอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรคการเมือง ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง

“และที่สำคัญเชื่อว่าประชาธิปไตยจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เขาในฐานะคนตัวเล็กๆ และเป็นคนที่อยู่ในโครงสร้างที่อยู่ล่างสุดในพีระมิดทางอำนาจของสังคม ลุกขึ้นมาพูดอะไรได้ มีกระบอกเสียง สร้างองค์กรทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ”

 

อาจารย์กนกรัตน์ยังหยิบยกกรณีการอดอาหารประท้วงของ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์” และเพื่อนๆ ร่วมอุดมการณ์ มาอธิบายว่าเป็นภาพที่น่าสนใจในการสะท้อนมุมมองของคนสองคนรุ่นที่แตกต่างกันมาก

“วิธีการมองเรื่องการอดอาหาร มันเป็นเครื่องมือในเชิงสัญลักษณ์ เรายังไม่เคยเห็นการอดอาหารจริงๆ ที่ยาวนานขนาดนี้มาก่อน การอดอาหารใน 40 วันนี้ของคุณเพนกวิน ถ้ามองจาก ‘คนรุ่นสงครามเย็น’ ทุกคนจะพูดเหมือนกันหมดว่า ‘โอ๊ย อดไม่นาน เดี๋ยวมันก็เลิกแล้ว’ เพราะคนรุ่นนี้มองว่าการอดอาหารเป็นเพียงแค่เครื่องมือการขู่-ต่อรอง

“ขณะเดียวกัน สำหรับคนอีกรุ่นหนึ่ง การเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงมันไม่ใช่เพียงแค่การต่อรองอำนาจทางการเมือง แต่เขากำลังพูดถึงอนาคตของเขา

“เพราะฉะนั้น เราจะเห็นความจริงจังในการอดอาหารครั้งนี้ของคุณพริษฐ์แบบเราไม่เคยได้เห็นมาก่อน เพื่อบอกจริงๆ ว่า ในฐานะของคนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีอาวุธ นี่เป็นเครื่องมือเดียวจริงๆ คือการเอาชีวิตของตัวเองเป็นเดิมพัน ต่อการที่จะบอกว่าเขาไม่มีอาวุธอื่นเหลืออยู่แล้ว”

สำหรับคำถามสำคัญสุดที่ว่า “ความขัดแย้งระหว่างรุ่น” รอบนี้จะมีทางออกอย่างไร? อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ตอบว่า “คนสองรุ่น” คือ “คนรุ่นสงครามเย็น” กับ “คนรุ่นโบว์ขาว” นั้นมีจุดยืนที่แตกต่างกันมาก สังคมจึงอาจต้องฝากความหวังไว้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง

“‘คนรุ่นสงครามเย็น’ กับ ‘คนรุ่นโบว์ขาว’ จะหันหน้ามาเจอกันได้ไหม? ข้อสรุปของหนังสือเล่มนี้คือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

“แต่สิ่งที่น่าสนใจและเป็นหนึ่งในเรื่องเซอร์ไพรส์มาก จากการพูดคุยกับคนสามร้อยกว่าคน คือ ‘คนรุ่นตรงกลาง’ หรือ ‘คนรุ่น in-between’ คนรุ่นนี้คือจุดเริ่มต้นและจะเป็นพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองรุ่น”

ส่วนรายละเอียดที่ว่า “คนรุ่นระหว่างกลาง” จะสามารถแก้ไขคลี่คลายปัญหาทางการเมืองได้อย่างไรนั้น? สามารถอ่านข้อเสนอของอาจารย์กนกรัตน์ได้ในหนังสือ “สงครามเย็น(ใน)ระหว่างโบว์ขาว”