อ่าน ‘สมุดของอุมา’ ในวาระ 160 ปี รพินทรนาถ ฐากูร/บทความพิเศษ ชาคริต แก้วทันคำ

บทความพิเศษ

ชาคริต แก้วทันคำ

 

อ่าน ‘สมุดของอุมา’

ในวาระ 160 ปี รพินทรนาถ ฐากูร

 

รูปี กอร์ (Rupi Kaur) ศิลปิน กวีสาวชาวอินเดียสัญชาติแคนาดา เขียนบทกวีผสมความเรียงน่าสนใจชิ้นหนึ่งใน milk and honey หรือ “ปานหยาดน้ำผึ้ง” ไว้ว่า

“ใจฉันเต้นเร็วรี่ เมื่อครุ่นคิดขีดเขียนบทกวี ฉันจึงเปิดหูเปิดตาและเปิดใจ เพื่อให้มีเรื่องเขียนเรื่อยไป การเริงรักกับถ้อยคำ ช่างเร่าร้อนเกินห้ามใจ จนไม่รู้ว่าฉันหลงรัก หรือกระสันรัญจวนใจ ในการประพันธ์ หรือทั้งสองอย่างกันแน่” (น.208)

จะเห็นได้ว่า การเขียนบทกวีของฉันหรือรูปี กอร์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ไม่ถูกปิดกั้นบนหน้ากระดาษ หนังสือเล่มและโลกออนไลน์

ทั้งนี้ การที่ผู้หญิงอินเดียคนหนึ่งลุกขึ้นมา “ครุ่นคิดขีดเขียนบทกวี” โดยใช้คำกริยา “เริงรัก” และ “หลงรัก” ที่เกิดขึ้นในการประพันธ์

เป็นการเปรียบเทียบที่ก่อจินตภาพและสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึกของผู้หญิง

ต่างจากอุมา ตัวละครของรพินทรนาถ ฐากูร ทันทีที่เธอเริ่มฝึกหัดคัดเขียน ก็สร้างปัญหาน่าปวดหัวให้กับคนในบ้าน เธอจะถือเศษถ่านเที่ยวเขียนวลีด้วยตัวอักษรโตๆ โย้เย้แบบลายมือเด็กไว้บนผนัง ปกหนังสือพี่สะใภ้ ปฏิทินโหราศาสตร์ สมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายประจำวันของบิดา

บ่ายวันหนึ่ง อุมาหยิบปากกาและขวดน้ำหมึกของพี่ชายมาเขียนอักษรหนาๆ ลงบนหน้าบทความ จนพี่ชายโมโห ตบหน้า ริบอุปกรณ์การเขียนของเธอทั้งหมด

เมื่ออารมณ์พี่ชายเย็นลง เขาจึงเอาสิ่งของที่ยึดคืนให้เธอ และมอบสมุดแบบฝึกหัดชนิดมีเส้นเพื่อปลอบขวัญ

เมื่ออุมาอายุเก้าขวบ ได้แต่งงานกับปิยะริโมหัน เพื่อนนักเขียนของพี่ชาย ญาศิหญิงรับใช้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ส่งตัวอุมาไปอยู่บ้านพ่อสามี หล่อนหยิบสมุดของอุมาติดมือไปด้วย และอุมามักปิดประตูอยู่ในห้อง คัดเขียนอะไรเรื่อยเปื่อย แต่ไม่พ้นสายตาสอดรู้ของน้องสาวสามี เกิดเหตุการณ์แย่งสมุด จนเรื่องมาถึงหูสามี เขาตะคอกและขู่จะเอาสมุด เธอขว้างมันทิ้ง เขาจึงเก็บสมุดขึ้นมา และเปิดอ่านข้อเขียนแบบเด็กๆ เสียงดัง จนอุมาแทบจะแทรกแผ่นดินหนี

เห็นได้ว่า ครอบครัวของอุมาไม่ได้ห้ามปรามความวิริยะอุตสาหะด้านอักษรศาสตร์ คงไม่เกิดเรื่องร้ายแรง หากเธอไม่ได้เขียนอักษรตัวหนาๆ หน้าบทความของพี่ชาย

การเขียนวลีในที่ต่างๆ ของอุมาจึงถูกจำกัดลงในสมุดที่เขามอบให้ และมันเสมือนความคิด ความรู้สึกและตัวตนที่เธอเก็บงำไว้ เพราะมักจะแอบเขียนในห้อง แสดงถึงพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงออกของผู้หญิงอินเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ยังถูกจำกัด ปิดกั้น

สื่อให้เห็นถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงยังถูกกดทับบทบาทและสถานภาพทางเพศ อุมาต้องแต่งงานและไปอยู่บ้านสามีขณะอายุแค่เก้าขวบ อำนาจสิทธิขาดจึงตกอยู่ที่สามี เมื่อน้องสาวสามีเห็นเธอเขียนหนังสือจึงไปฟ้องพี่ชายตนและพากันหัวเราะเธอ หลังจากฟังพี่ชายอ่านข้อเขียนที่ถูกตีค่าว่าเป็นถ้อยคำแบบเด็กๆ สะท้อนว่า ในสังคมอินเดียนอกจากผู้ชายจะกดขี่ผู้หญิงแล้ว ผู้หญิงเพศเดียวกันยังกดทับ ขาดความเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งเป็นผลจากขาดการศึกษาและปัญหาเรื่องสิทธิสตรียังถูกมองข้าม

บทความนี้จะศึกษาเรื่องสั้น “สมุดของอุมา” (Exercise-book) ของรพินทรนาถ ฐากูร (Rabindharanath Tagore, 1861-1941) ชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1913 ซึ่งผลงานดังกล่าวพิมพ์อยู่ในรวมเรื่องสั้นรางวัลโนเบลชุดที่ 30 “ขุมทรัพย์ลับเร้น”

โดยจะวิเคราะห์เรื่องสั้นนี้ว่า ทำไมอุมาต้องภาวนาให้ธรณีกลืนร่างของตนจมหายไป และพื้นที่ของอุมาในสังคมจารีตอินเดียมีเพียงไหน รวมทั้งนักเขียนต้องการสะท้อนอะไร

พื้นที่ของ “อุมา” ในสังคมจารีตอินเดีย

 

คงไม่เป็นการกล่าวเกินจริง ประเทศอินเดียเป็นสังคมจารีตและให้ความสำคัญกับระบบชายเป็นใหญ่ เห็นได้จากเนื้อหาเรื่องสั้นนี้ที่อุมาถูกแต่งงานตั้งแต่เด็ก ก่อนไปสู่เคหสถานบ้านพ่อสามี แม่ของเธอกล่าวสอนว่า “จงทำทุกอย่างตามที่แม่ผัวบอกนะจ๊ะลูกจ๋า ตั้งหน้าตั้งตาทำงานบ้าน อย่ามัวเสียเวลากับการอ่านและขีดเขียนนะลูก” (น.33)

ข้อความข้างต้น สะท้อนความเชื่อว่าผู้หญิงต้องเป็นภรรยาที่ดี เชื่อฟังแม่ผัวและมีหน้าที่รับผิดชอบงานบ้าน พื้นที่ของผู้หญิงอินเดียจึงถูกจำกัดบทบาทอยู่ในบ้านเท่านั้น

และ “อย่ามัวเสียเวลาไปกับการอ่านและขีดเขียน” ยังเป็นคำสอนที่กีดกั้นความคิด ความสามารถของอุมา

เป็นทัศนคติที่ถูกส่งต่อของคนที่ไม่เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ดี จึงเห็นว่าเรื่องอ่านเขียนไม่สำคัญ มันไม่ใช่สิ่งที่ผู้หญิงควรทำ แสดงว่า “สิทธิและเสียงของผู้หญิง” ถูกจำกัดและส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

นอกจากแม่จะกล่าวสอนเธอแล้ว พี่ชายของอุมายังเตือนอีกว่า “ระวังอย่าขีดเขียนบนผนังบ้านของพวกเขา จะไปทำอะไรแบบนั้นกับบ้านของพวกเขาไม่ได้นะ และอย่าไปเขียนอะไรลงบนงานเขียนของปิยะริโมหันเขาล่ะ” (น.33-34)

ข้อความข้างต้น เป็นคำเตือนด้วยความหวังดีจากพี่ชาย เขาไม่อยากให้เธอแสดงความสามารถของตนบนพื้นที่สาธารณะ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อเธอ

และการย้ำว่า “อย่าเขียนอะไรลงไปในงานเขียนของปิยะริโมหัน” เพราะกลัวจะเกิดเหตุร้ายแรงเหมือนที่เขาเคยทำกับน้องสาว นอกจากนี้ คำเตือนดังกล่าวยังแฝงอีกว่า เรื่องขีดเขียนถูกจำกัดแต่ผู้ชาย และการทำเช่นนั้นจะเป็นการท้าทายสามี

แม้ปิยะริโมหัน สามีของอุมาจะเป็นเพื่อนนักเขียนคนหนึ่งของพี่ชายที่เขาถือเอาเป็นแบบอย่าง เพราะได้รับการศึกษามาพอสมควร

แต่ความคิดสมัยใหม่หาได้แทรกซึมเข้าสู่จิตใจ แสดงว่าเขาเป็นคนใจแคบ หัวไม่ก้าวหน้า สังเกตจากเหตุการณ์ที่บิดาของอุมาจะเชิญเธอกลับมาเยี่ยมบ้านเดิมบ้าง แต่สามีและเพื่อนกลับรวมหัวไม่ให้เธอกลับไป

อีกทั้งสามียังเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ “อุมาจะได้เรียนรู้หน้าที่ที่ต้องปฏิบัติต่อสามี การพาเธอกลับมาสู่บรรยากาศแห่งความรักความผูกพันเก่าๆ จะทำให้เธอว้าวุ่นใจเสียเปล่าๆ” (น.35)

 

เมื่ออุมาได้ข่าวเรื่องนี้ เธอจึงเขียนระบายลงในสมุด วันหนึ่งเธอปิดประตูอยู่ในห้องและเขียนอะไรเรื่อยเปื่อย น้องสาวสามีชอบสอดรู้สอดเห็นต้องการสืบให้รู้ว่าอุมาทำอะไรอยู่ นอกจากจะเป็นการจับผิด ยังไม่เหลือพื้นที่และความเป็นส่วนตัวให้กับอุมาอีกด้วย

พอสามีได้ฟังเรื่องราวที่น้องสาวพบเห็นและเก็บมาเล่า เขาเกิดความวิตกกังวลใจและคิดออกมาเป็นทฤษฎีว่า “การแต่งงานที่สมบูรณ์เกิดจากพลังบุรุษและพลังสตรีผสานรวมกัน แต่ถ้าหากผู้หญิงมีความรู้และการศึกษา พลังของสตรีก็จะอ่อนแอลง…” (น.36)

จะเห็นได้ว่า สามีของอุมามีความคิดไม่สมัยใหม่ ไม่อยากให้บทบาทของผู้หญิงเปลี่ยนแปลง อาจกล่าวได้ว่าเขากลัวผู้หญิงมีความรู้แล้วจะต่อต้านขัดขืนหรือปกครองยาก

ดังนั้น การศึกษาจะทำให้ผู้หญิงฉลาดขึ้น การเขียนหรือความรู้ไม่จำเป็นสำหรับผู้หญิง พลังของพวกเธอควรทุ่มเทให้กับการปรนนิบัติสามีและคนในครอบครัว รวมทั้งการทำงานบ้านด้วย ผู้หญิงจะต้องอยู่ตามแบบแผนเดิมที่ถูกสั่งสมต่อไป

ดังนั้น การที่สามีไปที่ห้องของอุมาและดุด่า คือการไม่ให้เกียรติ เขาพยายามรักษาอำนาจที่ต้องการเป็นผู้ควบคุม ไม่อยากให้อุมายุ่งเกี่ยวกับงานเขียนซึ่งหน้ากระดาษเป็นพื้นที่ของผู้ชาย “แล้วคนเป็นเมียก็ต้องการจะไปทำงานออฟฟิศโดยมีปากกาทัดหูงั้นรึ? เราคงต้องหาผ้าโพกหัวให้หล่อนด้วยกระมัง!” (น.37)

สะท้อนให้เห็นว่าสามีของอุมาไม่เห็นด้วยที่ผู้หญิงจะไปทำงานนอกบ้านหรือมีบทบาทในพื้นที่สาธารณะ

 

เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ร่วง อุมาได้ยินเสียงวณิพกร้องเพลง “อัคมณี” เธอร้องเพลงไม่เป็นจึงจดเนื้อเพลงที่หญิงขอทานร้อง “เธอแอบร้องเรียกหญิงขอทานเข้ามาร้องเพลงใกล้ๆ ที่ข้างล่างหน้าต่าง และจัดแจงปิดประตูห้อง แล้วลงมือจดเนื้อเพลง… ลงในสมุดแบบฝึกหัดของเธอ” (น.38-39)

ข้อความข้างต้น สมุดของอุมาเป็นได้แค่สมุดแบบฝึกหัด และการกระทำของเธอต้องแอบทำคนเดียว ชีวิตของเธอในบ้านสามีจึงโดดเดี่ยว การที่เธอปิดประตูอยู่ในห้องไม่ต่างจากนักโทษที่ถูกสามีกักขังเอาไว้ เมื่อเธอได้ยินหญิงขอทานร้องเพลง ทำให้เธอคิดถึงและอยากกลับบ้าน ผู้เขียนใช้สัมพันธบทจากเนื้อหาเพลง “อัคมณี” เพื่อเปรียบเทียบผ่านเทศกาลบูชา

และการที่ “เธอแอบร้องเรียกหญิงขอทานเข้ามาร้องเพลง” ยังสะท้อนว่าเธอเป็น “ผู้ไร้เสียง” จึงต้องการอิสรภาพเช่นเดียวกับเสียงและตัวหญิงขอทานที่อยู่นอกหน้าต่าง เป็นการโหยหาสิ่งที่ถูกปิดกั้น นั่นคือเสียงของเธอที่ไม่เคยตอบโต้ ถกเถียง และแม้แต่คำร้องขอเห็นใจของเธอก็ไม่มีใครรับฟัง

ดังนั้น เธอจึงอยากกลับบ้าน กลับไปที่ที่ไม่เคยถูกขัดขวางหรือห้ามปรามในการแสดงความวิริยะอุตสาหะด้านอักษรศาสตร์ หรือต้องการออกจากพื้นที่จำกัดไปสู่พื้นที่เสรี

 

ทำไม “อุมา” ต้องภาวนา

ให้ธรณีกลืนร่างของตนให้จมหายไป

อุมาไม่เข้าใจความคิดของสามี เธอไม่เคยอ่านบทความจึงไม่ตระหนักรู้ถึงสติปัญญาของเขา แต่การถูกสามีเย้ยหยันเรื่องขีดเขียน “แม่หนูรู้สึกอับอายสุดชีวิต เธอภาวนาขอให้ธรณีกลืนร่างของตนจมหายไป” (น.37)

ข้อความนี้สอดคล้องกับอีกเหตุการณ์ที่น้องสาวสามีแอบดูเธอจดเนื้อหาเพลงลงสมุดและพากันไปฟ้องพี่ชาย เขารีบรุดมาที่เกิดเหตุ ตะคอกและขู่ให้เอาสมุดมาให้เขา เธอตัดสินใจขว้างสมุด เขาจึงเก็บมันขึ้นมาอ่านออกเสียง “ขณะที่ฟัง อุมาเอามือเกาะจิกพื้นห้องแน่น ประหนึ่งพยายามจะแทรกแผ่นดินหนีลงไปให้ลึกที่สุด” (น.39-40)

จะเห็นได้ว่า การขอให้ธรณีกลืนร่างและพยายามจะแทรกแผ่นดินหนี แสดงถึงความอับอายสุดขีด เมื่อความไร้เดียงสาถูกเปิดโปง ข้อเขียนของเธอถูกพวกน้องสาวสามีหัวเราะ สะท้อนให้เห็นว่า สิทธิส่วนตัวถูกละเมิด บ้านหลังนี้และมาตุภูมิแห่งนี้ไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้ผู้หญิงที่กระทำสิ่งนอกคอกในสายตาของสังคม

ดังนั้น หากจะพรากสมุดอันเป็นตัวแทนอิสรภาพสุดหวงแหน อันเป็นสิทธิที่เด็กหญิงควรได้รับไป เธอจึงยอมให้ธรณีกลืนร่างหรือแทรกแผ่นดินหนีดีกว่า

 

“อุมาไม่ได้รับสมุดของเธอคืนมาอีกเลย ปิยะริโมหันเองก็มีสมุดเล่มหนึ่งด้วยเช่นกัน เป็นสมุดที่เต็มไปด้วยบทความหลากหลายซึ่งเฉียบคมและเผ็ดร้อนอยู่มากมาย แต่ไม่มีใครเลยสักคนที่มีจิตใจรักเมตตาเพื่อนมนุษย์มากพอที่จะฉวยกระชากสมุดของเขาไปและทำลายมัน” (น.40)

ข้อความข้างต้น เป็นย่อหน้าตอนจบเรื่องสั้น “สมุดของอุมา” ของรพินทรนาถ ฐากูร ที่คล้ายจะสรุปเรื่องราวเกี่ยวกับสมุดในเชิงเปรียบเทียบ ที่ตัวละครชายหญิงต่างก็มีสมุดข้อเขียนของตน แต่ถูกประเมินค่าต่างกัน

พื้นที่บนหน้ากระดาษเป็นของผู้ชายที่จะแสดงความคิดเห็นใดก็ได้ตามความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่

การที่ “ไม่มีใคร… ฉวยกระชากสมุดของเขาไปและทำลายมัน” หมายความว่าผู้หญิงมักถูกข่มเหงจิตใจจากคำพูดและการกระทำ เพราะในสังคมอินเดียผู้หญิงไม่มีอำนาจที่จะต่อกรหรือโต้กลับได้เลย

นอกจากนี้ “เสียงบนหน้ากระดาษ” ในฐานะผู้เล่าเรื่อง ยังสะท้อนให้เห็นมโนธรรมสำนึกที่ผู้เขียนต้องการเรียกร้องความรักความเมตตาจากเพื่อนมนุษย์ให้หันกลับมาใส่ใจคุณค่า ความหมายและความเท่าเทียมผ่านการกระทำระหว่างชายหญิงในสังคมอินเดียด้วย

ขณะที่เรื่องสั้นของรพินทรนาถ ฐากูร สะท้อนภาพบทบาทและสิทธิสตรีในวัฒนธรรมอินเดียเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่บทกวีผสมความเรียงของรูปี กอร์ ก็สะท้อนเสรีภาพจากการขีดเขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 21

จึงเป็นการปะทะกันทางความเชื่อแบบเดิมกับความเชื่อใหม่ ให้ผู้อ่านหันไปมองความจริงผ่านโครงสร้างทางสังคมของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น “ประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดในโลก” ที่การยอมรับเรื่องสิทธิสตรีได้ถูกเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผ่านไปแล้วมากน้อยเพียงใด

บรรณานุกรม

รพินทรนาถ ฐากูร. (2562). “สมุดของอุมา”. ใน ขุมทรัพย์ลับเร้น. แปลโดยวิมล กุณราชา. ปทุมธานี : นาคร, 29-40.

รูปี กอร์. (2561). ปานหยาดน้ำผึ้ง. แปลโดยพลากร เจียมธีระนาถ. กรุงเทพฯ : Her Publishing.