ดับฝัน-บั่นอนาคต/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ดับฝัน-บั่นอนาคต

 

ในยุคสมัยที่ภาวะเศรษฐกิจเป็นคำตอบของชีวิต

มีการแบ่งประเทศในโลกออกแบบ 3 แบบ ประเทศแห่งอนาคต ประเทศแห่งปัจจุบัน และประเทศแห่งอดีต

เป็นการแบ่งตามความหวังความฝันของคนในชาติต่อความเจริญรุ่งเรือง โอกาสในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจให้เกิดความมั่นคงได้ง่าย ได้ยาก

วัดกันในการสร้างความรุ่งเรืองในอนาคตได้มาก และง่ายกว่า เนื่องจากมีเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย เช่น การเมืองที่ให้สิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียม ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ถูกกลุ่มผูกขาดยึดครอง และสังคมที่เอื้อต่อการพัฒนาปัญญามากกว่าที่จะเกื้อหนุนครอบงำไว้ด้วยความงมงาย

ประเทศที่พัฒนาให้มีเงื่อนไขเช่นนั้นมากกว่าจะเป็น “ประเทศแห่งอนาคต”

ขณะที่ประเทศซึ่งมีเงื่อนไขในทางต่อต้านสิทธิที่เท่าเทียม ปล่อยให้เกิดการผูกขาดเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสนับสนุนกลไกที่ส่งเสริมความงมงาย ปราบปรามผู้ที่ต่อสู้เพื่อสังคมอุดมปัญญา จะถูกตั้งค่าในทางกลับกันเป็น “ประเทศแห่งอดีต”

บางดินแดนเป็นประเทศแห่งอนาคต แล้วหมุนคว้างสู่ประเทศแห่งอดีต

บ้างเคยเป็นประเทศแห่งอดีต แต่พลิกฟื้นสร้างเงื่อนไขการพัฒนาเป็นประเทศแห่งอนาคต

 

สําหรับประเทศไทยเรา มีอยู่บ้างเหมือนกันที่การพัฒนาส่อให้เห็นวี่แววว่ามีโอกาสเป็นประเทศแห่งอนาคต แต่ชะรอยกรรมเก่ามีวิบากรุนแรง ดูท่าจะเป็นประเทศที่สิ้นหวัง ต้องจมดิ่งสู่ประเทศที่มองไม่เห็นอนาคต เป็นประเทศที่จมอยู่กับอดีตแบบมองไม่เป็นความหวังที่จะได้ผลุดได้เกิด

อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ที่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะระดับ “หัวกะทิ” หรือที่สามารถประเมินความเป็นไปในอนาคตของประเทศได้ จึงไม่มีทางเลือกอื่น จนต้องมาตั้งกลุ่มแลกเปลี่ยนรู้ความคิด ชัดชวนกัน “ย้ายประเทศกันเถอะ”

ชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่โอกาสอยู่ที่การเป็นลูกจ้างในยุคสมัยเช่นนี้ ยากที่จะมองเห็นอนาคตจริงๆ

ผลสำรวจล่าสุดของ “กรุงเทพโพลล์” ที่ว่าด้วยเรื่อง “หัวอกแรงงานไทยวันนี้”

ในคำถามที่ว่า “ในปัจจุบันรายรับจากค่าจ้างแรงงานกับรายจ่ายเป็นอย่างไร” ร้อยละ 15.1 เท่านั้นที่ตอบว่ารายรับเพียงพอกับค่าใช้จ่าย และมีเงินเก็บออม, ร้อยละ 44.7 ตอบว่ารายรับพอดีกับค่าใช้จ่าย ไม่มีเงินเก็บออม, ร้อยละ 40.2 รายรับไม่เพีบงพอกับค่าใช้จ่าย ต้องกู้ ต้องหยิบยืม

และเมื่อถามว่า “ตั้งเป้าหมายหรือวางแผนชีวิตไว้อย่างไร” ร้อยละ 25.8 ตอบว่าอยากเป็นพนักงานบริษัทที่มีเงืนเดือนมั่นคง, ร้อยละ 23.0 อยากเป็นเจ้าของกิจการ, ร้อยละ 20.5 อยากกลับบ้านเกิดไปอยู่กับครอบครัว, ร้อยละ 9.7 อยากทำสวน ทำเกษตร อยู่อย่างพอเพียง, ร้อยละ 3.5 อยากเป็นแรงงานเฉพาะที่มีการอบรมพัฒนาทักษะการทำงาน

ร้อยละ 14.0 ไม่มีเป้าหมายอะไร จะเป็นแรงงานแบบนี้ต่อไป

 

ฟังดูแล้วในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนยุคสมัยเช่นนี้ แทบไม่มีแรงกระตุ้นให้กล้าหวัง มุ่งฝัน พยายามฟันฝ่าอะไรเลย

เหมือนว่าความหวัง ความฝันดับดายไปจากแผ่นดินนี้แล้ว

แผ่นดินที่นับวันจะเร่งสร้างกลไกส่งเสริม และเร่งสร้างความเหลื่อมล้ำ คาดหวังความเท่าเทียมไม่ได้ในทุกมิติ ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อย หรือเห็นดีเห็นงามให้เกิดการผูกขาด มีความเชื่อว่าการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่ให้เกิดความรุ่งเรือง จะทำให้สามารถหล่อเลี้ยงคนส่วนใหญ่ให้อยู่ได้จากการจ้างงาน ขณะที่สังคมกระตุ้นให้งมงายในสารพัดความเชื่อที่ไม่ยืนอยู่กับความเป็นจริง

และถึงที่สุดแล้ว “จริยธรรม” อันเครื่องหล่อหลอมจิตใจให้อยู่ร่วมกันด้วยปกติสุข ยังถูกมองเมินไม่เห็นค่า ยึดถือเอาบารมีส่วนบุคคลเป็นเครื่องชี้นำพฤติกรรมของผู้คน

ใครไม่เห็นด้วย ออกมาต่อต้านสภาพของดินแดนแบบนี้ กลับถูกชี้หน้าว่า “ชังชาติ”

ใครที่ถามหาอนาคต ถามหาความหวัง ใฝ่ทะยานตามความฝัน ถือ “เป็นภัยต่อความมั่นคง”