ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ไหอีสานไม่ได้มีแต่ไหทองคำ เพราะยังมีไหลายสีแดง ในวัฒนธรรมบ้านเชียงด้วย

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นอกจากภาคอีสานจะมี “ไหทองคำ” ของน้องลำไยแล้ว ก็ยังมีทั้งหม้อ ทั้งไห ซึ่งรวมๆ แล้วก็คือภาชนะดินเผาที่เขียนด้วยลวดลายสีแดง อย่างที่เจออยู่ในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี อยู่อีกให้เพียบ

แต่ภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงนี้เจอเฉพาะในหลุมฝังศพครับ

ซ้ำยังเป็นหลุมฝังศพในยุคเหล็กเสียด้วย

แปลว่าชุมชนที่อาศัยอยู่ที่บ้านเชียงที่มีมาตั้งแต่สมัยหินใหม่ เรื่อยมาจนถึงสำริด ไม่มีการใช้ ถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ ที่เขียนด้วยสีแดงแบบนี้

และเจ้าภาชนะดินเผาประเภทนี้ก็มีใช้อยู่ที่บ้านเชียงเมื่อราว 2,300 ปีมาแล้วเท่านั้น ไม่ได้เก่าแก่เท่าอายุสมัยทั้งหมดของบ้านเชียงเสียหน่อย

การขุดค้นของนักโบราณคดีที่บ้านเชียง มีทั้งที่พบเป็นบริเวณแหล่งฝังศพ และบริเวณที่อยู่อาศัย ในพื้นที่อยู่อาศัยไม่มีการค้นพบหม้อที่มีลายเขียนสีอย่างนี้เลย

หมายความว่าเจ้าหม้อที่มีลวดลายเขียนสีฉูดฉาดบาดตาที่บ้านเชียงเป็นสิ่งของที่ใช้ในงานพิธีกรรมเป็นการเฉพาะ

 

ที่จริงแล้วบรรดานักโบราณคดีต่างก็รู้กันดีอยู่ว่า หม้อลายเขียนสีเหล่านี้ไม่ได้พบเฉพาะที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเท่านั้น แต่ยังพบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ ที่ร่วมสมัยอยู่ในยุคเดียวกันรอบๆ บ้านเชียงอีกด้วย

ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะแหล่งโบราณคดีใน จ.อุดรธานี อย่างเดียว แต่หมายรวมถึงแหล่งโบราณคดีที่ร่วมอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมหนองหานน้อยทั้งหมด ซึ่งหมายรวมถึงเขตพื้นที่ใกล้เคียงอย่างหนองคาย และอีกฟากของฝั่งโขงคือ ประเทศลาว บริเวณเมืองเวียงจันทน์ และปริมณฑลด้วย

ลวดลายเขียนสีแดงอย่างนี้ไม่ได้มีเฉพาะอยู่บนหม้อที่ฝังร่วมกับศพเท่านั้น แต่ยังพบอยู่บนเพิงผา หินใหญ่ ผนังหิน ต่างๆ ที่เราเรียกว่า “ภาพเขียนสี” อีกด้วย

ภาพเขียนสีพวกนี้ก็ไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเล่นๆ แต่เขียนขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรมบางอย่างตามลัทธิความเชื่อพื้นเมือง

และสีที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็น “สีแดง” ไม่ต่างอะไรไปจากสีที่เพ้นต์อยู่บนหม้อในวัฒนธรรมบ้านเชียง

 

ตัวอย่างการประกอบพิธีกรรมด้วยการเขียนสีลงบนหินอาจเปรียบเทียบได้กับพิธีกรรมของพวกอะบอริจิ้น ในออสเตรเลีย ที่ให้สมาชิกเขียนสีลงบนก้อนหินใหญ่ เพิงผา หรือถ้ำที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อเป็นการประกาศถึงการมีส่วนร่วมในพิธีกรรม

และหลายครั้งการเขียนสีลงบนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็เป็นการเซ่นสรวงบูชาอำนาจเหนือธรรมชาติโดยตรงอีกด้วย

การเขียนสีลงบนผนังถ้ำหรือเพิงผาของความเชื่อพื้นเมืองอุษาคเนย์อาจจะมีลำดับพิธีการ หรือคติความเชื่อไม่เหมือนกับพวกอะบอริจิ้นเสียทีเดียว แต่อย่างน้อยก็เป็นตัวเปรียบเทียบให้เราเห็นภาพได้ว่าภาพเขียนสีพวกนี้ถูกใช้ในฐานะอะไร?

แหล่งแร่ธาตุที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุในการสร้าง “สี” ก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน พวกอะบอริจิ้นแต่ละเผ่าจะเก็บเป็นความลับเฉพาะของตน และไม่ยอมให้คนภายนอกล่วงล้ำเข้าไปในแหล่งแร่ของพวกเขาเป็นอันขาด

ที่สำคัญคือแหล่งแร่เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในชุมชนของเขานะครับ เป็นสถานที่ที่อยู่ห่างออกไป และคนในเผ่าเองก็ใช่ว่าจะเป็นทุกคนที่มีสิทธิ์ในการรับรู้ว่าแหล่งแร่ที่ว่านั้นอยู่ที่ไหน ต้องเป็นผู้เฒ่า หมอผี หรือคนชั้นสูง แล้วแต่ธรรมเนียมของแต่ละเผ่า

ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันเรายังไม่สามารถสร้างสีที่สามารถติดแน่นทนทานได้เป็นพันๆ ปีเท่ากับศาสตร์ที่พวกอะบอริจิ้นหวงแหนไว้ ธรรมเนียมการหวงวิชาการสร้างสีแบบนี้อุษาคเนย์ก็เป็นเช่นกัน (ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่เราไม่รู้ว่าคนโบราณท่านสร้างสีติดหนึบทนนานขนาดนี้ได้อย่างไร? เพราะท่านไม่บอกจนกระทั่งลูกหลานเหลนโหลนอย่างเราผลิตสีคุณภาพดีขนาดนี้ไม่ได้อีกแล้ว)

ควรจะสังเกตด้วยว่าสีที่พบอยู่บนเพิงผา ผนังถ้ำ (รวมถึงบนหม้อที่บ้านเชียง) มักเป็น “สีแดง”

นักวิชาการหลายท่านได้อธิบายไว้อย่างใกล้เคียงกันว่า “สีแดง” เป็นสัญลักษณ์ของ “เลือด” และก็ไม่ใช่เลือดธรรมดาด้วย แต่เหมายถึง “ระดู” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ชีวิต”

ก็ผู้หญิงยังไม่สามารถ “ท้อง” ได้ ถ้า “ประจำเดือน” ยังไม่มาใช่ไหมล่ะครับ?

 

การที่หม้อสำหรับใช้ในพิธีกรรมฝัง “ศพ” ที่บ้านเชียงเขียนด้วยสีแดง ซึ่งหมายถึง “ชีวิต” จึงมีนัยยะบางประการที่น่าสนใจอยู่ทีเดียว

แหล่งโบราณคดีถ้ำองบะ จ.กาญจนบุรี ก็เป็นแหล่งฝังศพ มีการค้นพบโลงไม้อยู่ในถ้ำ แต่ที่น่าพูดถึงในที่นี้นั้นคือ นักโบราณคดีที่ขุดค้นท่านพบว่าเหนือโครงกระดูกของผู้ตายมีการโรยดินเทศเอาไว้ด้วย

“ดินเทศ” เป็นดิน “สีแดง” นะครับ นักโบราณคดีท่านก็เลยสันนิษฐานว่า ดินเทศที่เจอเป็นสัญลักษณ์ของ “เลือด” หรือ “ชีวิต” ด้วยเช่นกัน แต่จะมีคติเรื่องการกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อย่างการทำมัมมี่ของอียิปต์หรือไม่นั้น คงไม่อาจสืบทราบได้

ไม่ไกลจากบ้านเชียง มีแหล่งภาพเขียนสีขนาดใหญ่อยู่อีกแห่งหนึ่งคือที่ภูพระบาท ซึ่งตั้งอยู่ในเขต จ.อุดรธานี เหมือนกัน

ในยุคก่อนที่จะรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ภูพระบาท ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย แต่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใช้สำหรับประกอบพิธีกรรมเป็นการเฉพาะ เพราะที่ภูพระบาทเป็นเนินสูงขึ้นมาจากปริมณฑลรอบข้างในกลุ่มวัฒนธรรมหนองหานน้อย ซ้ำยังมีก้อนหินใหญ่รูปทรงแปลกตาอีกเป็นจำนวนมาก

หินใหญ่เหล่านี้หลายก้อนถูกเขียนด้วยสีแดง

 

ผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมหนองหานน้อยใช้ภูพระบาทเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัย ลักษณะอย่างนี้ไม่ต่างจากกรณีของพวกอะบอริจิ้น และถ้าจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นก็อาจนึกถึงการแสวงบุญที่เมกกะของชาวมุสลิม ต่อมาเมื่อกลุ่มวัฒนธรรมหนองหานน้อยยอมรับนับถือเอาศาสนาพุทธจากอินเดียเข้ามาแล้วภูพระบาทก็กลายเป็นสถานที่สำคัญสำหรับสายพระป่าไปในภายหลัง

แปลว่าผู้คนที่บ้านเชียงสมัยโน้น เขาไปประกอบพิธีกันที่ภูพระบาท ลวดลายเขียนสีทั้งบนหม้อของบ้านเชียง และบนเพิงผาโดยรอบภูพระบาท จึงควรจัดอยู่ในระบบสัญลักษณ์เดียวกัน เพราะเป็นคนที่อยู่ในวัฒนธรรม และระบบสัญลักษณ์เดียวกัน ไม่ต่างไปจากที่คนไทยปัจจุบัน เห็นพระพุทธรูปแล้วแยกออกว่านี่คือพระพุทธชินราช นั่นคือพระแก้วมรกต ทางด้านโน้นเป็นหลวงพ่อโสธร

ลวดลายบนเพิงผาและปริมณฑลโดยรอบที่ภูพระบาท ก็มีลายยึกยือ “คนนอก” วัฒนธรรมหนองหานน้อยรุ่นนู้นอย่างเราๆ ท่านๆ ดูไม่ออก เข้าใจไม่ได้ ไม่ต่างอะไรกับลวดลายบนหม้อบ้านเชียงในวัฒนธรรมเดียวกัน

แต่อย่างน้อยก็เข้าใจได้ว่าคนโบราณท่านไม่ได้ขีดเขียนออกมาเล่นๆ อย่างไม่มีความหมาย อย่างน้อย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ เจ้าของคอลัมน์หน้าข้างๆ ผมนี่เอง ก็ได้เสนอไว้อย่างน่าสนใจว่า ลวดลายพวกนี้ก็หมายถึง “ขวัญ” ตามความเชื่อของคนไทยนั่นเอง