คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : โพธิจิตอันประเสริฐ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

มีคลิปอันหนึ่งเผยแพร่ในโลกอินเตอร์เน็ตชื่อ “The Dalai Lama I Crying while Teaching About Bodhicitta” แปลว่า “องค์ทะไลลามะร้องไห้ขณะสอนเรื่องโพธิจิต” บันทึกเหตุการณ์ ขณะที่องค์ทะไลลามะ ประมุขของพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตกำลังเทศน์สอนอยู่

จู่ๆ เมื่อตรัสถึงประโยคที่แปลได้ว่า “เป็นโชคดีของเหล่าลามะทั้งหลายที่ได้มีโอกาสสอนเรื่อง “โพธิจิต” และเป็นโชคดีของท่าน ศิษย์ทั้งหลายที่ได้มีโอกาสเรียนเรื่องโพธิจิต…จิตอันเมตตากรุณาและทำประโยชน์แก่ผู้อื่น” จากนั้นการเทศน์ก็ชะงักลงเพราะองค์ท่านร้องไห้ออกมาอย่างมากมาย

เหตุใดองค์ทะไลลามะจึงร้องไห้ด้วยความสะเทือนใจขณะที่กล่าวถึง “โพธิจิต” สิ่งนี้คืออะไร

“โพธิจิต” แปลว่า “จิตแห่งการตรัสรู้” แต่กระนั้นก็ไม่มีนิยามที่ตายตัวเกี่ยวกับโพธิจิต เพราะโพธิจิตเกี่ยวพันกับ “หัวใจ” และ “ความรู้สึก” ที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง อันสัมพันธ์อยู่กับคำสอนเรื่องศูนยตาหรือความว่าง และความกรุณาอันไพศาล

ในทางประวัติศาสตร์ โพธิจิตเป็นคำสอนของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยาน พัฒนาขึ้นในฐานะรากฐานของการปฏิบัติธรรมทั้งหมด

โพธิจิตเป็นคำสอนเพื่อนำคนเข้าสู่ความเป็นพระโพธิสัตว์ และในวัชรยานถึงกับถือว่า ปราศจากโพธิจิตเป็นรากฐานการปฏิบัติก็ล้วนไร้ผล หรือนำไปสู่ความลวงหลอกทางจิตใจของผู้ปฏิบัติเอง

แม้โพธิจิตจะเป็นคำสอนที่ฝ่ายมหายานพัฒนาขึ้น แต่โพธิจิตไม่ใช่สมบัติของใคร ไม่ใช่แม้แต่สมบัติของพุทธศาสนา เพราะโพธิจิตเป็นศักยภาพหรือเมล็ดพันธุ์ที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว จึงเป็นสมบัติของมนุษย์ทุกคน

เพราะเรามีหัวใจไงละครับ และเรามีศักยภาพที่จะ “รัก”

โพธิจิตจึงไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อน เป็นศักยภาพของหัวใจเราที่จะรัก และรู้สึกถึงความทุกข์ของผู้อื่นหรือ “สรรพสัตว์”

เวลาใช้คำว่า “สรรพสัตว์” เราไม่เลือกนะครับ ทั้งผมและคุณประยุทธ์ก็เป็นสรรพสัตว์เสมอกัน และที่สำคัญเราก็ไม่อาจรู้จักหน้าค่าตาสรรพสัตว์ทั้งหมดด้วย

โพธิจิตจึงยิ่งใหญ่ เพราะเราสามารถรู้สึก “ร่วมทุกข์” กับสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างเท่าเทียม แม้จะไม่รู้จักกันเลย

โพธิจิตถูกเชื่อมโยงกับคำสอนเรื่อง “ศูนยตา” หรือ “ความว่าง” ในวัชรปรัชญาหฤทัยสูตร หรือพระสูตร “หัวใจ” อวโลกิเตศวรหรือพระโพธิสัตว์แห่งความกรุณาเทศน์เรื่องความว่างแทนพุทธองค์

น่าสังเกตว่าพระสูตรนี้เทศน์โดย พระโพธิสัตว์แห่งความกรุณานะครับ มันช่างเหมาะเจาะดีงามที่ตัวแทนความกรุณาของพระพุทธเจ้าทั้งหลายพูดเรื่องความว่าง ซึ่งเป็นเรื่อง ปรัชญาปารมิตา หรือ ปัญญาบารมี

เพราะมันงอกเงยออกมาจากผืนดินแห่งใจเดียวกัน สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

รูปคือความว่าง ความว่างคือรูป แม้แต่ขันธ์ห้าก็ว่าง ไม่มีทั้งนิพพานและสังสารวัฏ ไม่มีการปฏิบัติและการไม่ปฏิบัติ

มันแปลว่าอะไรกันหนอ ทำไมอวโลกิเตศวรบอกว่าทุกสิ่งมันว่าง แล้วเราจะไปทางไหน เราจะทำยังไง

มิตรรักของผม คือ วิจักษณ์ พานิช ตีความสิ่งที่อวโลกิเตศวรพูดว่า ความว่างในที่นี้หมายถึงความว่างจากการเข้าไปนิยามกำหนดความหมายไว้ล่วงหน้า

นิพพานจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ดี-ชั่วต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ สุดท้ายทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่เรากะเกณฑ์เอาไว้ล่วงหน้าทั้งสิ้น แต่พระสูตรนี้เรียกร้องให้เราย้อนทวนกระแส เปิดพื้นที่ “ว่าง” และกลับมาใช้ “หัวใจ” ของเรา

พระสูตรนี้จึงชื่อ “หฤทัยสูตร” ไม่ใช่เพียงเพราะมันเป็นพระสูตรย่อ (ในธรรมเนียมแขกการเรียกว่า หัวใจ หมายถึงเน้นแต่ใจความสำคัญ) แต่เพราะมันเรียกร้องเราให้กลับไปใช้ “หัวใจ” ด้วย

โพธิจิตงอกเงยออกจากการไม่กำหนดไว้ล่วงหน้า เราแค่ “รู้สึก” ร่วมกับความทุกข์ ความอยุติธรรม การเบียดเบียนที่ผู้คนทั้งหลายกำลังเผชิญ

โพธิจิต จึงเปิดโอกาสให้เราเข้าไปสู่โลกนี้ ไปเกลือกกลั้วกับสังสารวัฏ ไม่รังเกียจสิ่งที่ “คนดี” รังเกียจ หรือคิดว่ามันไม่บริสุทธิ์สูงส่ง เช่น เรื่องการเมือง เรื่องสังคม เราไม่ผลักไสสิ่งเหล่านี้ออกไปจากวิถีการ “ปฏิบัติธรรม” ของเรา

เราไม่กลายเป็นศาสนิกชนผู้เย็นชาต่อความอำมหิต ที่เอาแต่พร่ำบ่นแผ่เมตตาโดยเป็นเพียงรูปแบบของพิธีกรรมที่ไร้ความรู้สึก

โพธิจิตจึงเปิดโอกาสให้เรา “รู้สึก” ได้ เราจึงเศร้าได้ โกรธได้ รักได้ แต่ในขณะเดียวกันก็คอยปกป้องเราจากความเกลียดชังเคืองแค้น

ด้วยเหตุนั้นโพธิจิตจึงดึงเราออกจากการปกป้องตนเอง หลายครั้งนำเราไปสู่ความสับสน อ่อนไหวและเปราะบาง

แต่ไม่มีสิ่งใดจะงดงามกว่านี้แล้วครับ แล้วเมื่อมีโพธิจิตแล้ว โพธิจิตจะนำทางเราเองว่าเราจะต้องทำอะไรต่อ

โพธิจิตจึงเป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดในพุทธศาสนา เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด เป็นสิ่งควรทำให้งอกเงย เป็นสิ่งควรภาวนาถึงและรักษาไว้

ปราศจากโพธิจิต การปฏิบัติทางศาสนาและการภาวนาทั้งหลายก็อาจนำเราไปสู่วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ คือการนำรูปแบบการปฏิบัติ พิธีกรรม เพื่อส่งเสริมอัตตาของเรา เป็นกลเกมของอัตตาที่แยบยล ศีลธรรมกลายเป็นอาภรณ์ประดับตัวตน

ปราศจากโพธิจิต เราก็อาจกลายเป็นนักภาวนาผู้อำมหิต ขณะที่พร่ำพูดเรื่องบุญกุศลและความเมตตา เราก็ละเลยเมินเฉยต่อความทุกข์ยาก

เรารังเกียจกิจกรรมทางการเมืองและคนทางการเมืองเพียงเพราะมันไม่ “บริสุทธิ์” เราปล่อยให้ความโหดร้ายดำเนินต่อไป ในขณะที่ใจเราร่มเย็นเป็นพอ

และที่น่าเศร้ากว่านั้น หลายครั้งเรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของความอำมหิตนั้นเสียเองด้วย

ผมมิได้หมายความว่า เราจะต้องกลายไปเป็นกิจกรรมเพื่อสังคมไปทั้งหมดนะครับ อยากที่เขียนไว้ว่า อย่างน้อยเราควร “รู้สึก” และไม่นิ่งเฉย จากนั้นก็เป็นวิธีการที่แต่ละคนจะทำได้ในเงื่อนไขของตนเอง

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ หลายคนเริ่มหันหลังให้โลก เข้าสู่การปฏิบัติธรรมที่แยกออกไป

แต่สถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้กลับเป็นห้วงเวลาที่แหลมคมอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสของการปฏิบัติธรรมที่พิเศษสุด

เราจะฝึกใจในภาวะที่เราต้องเผชิญความทุกข์ของผู้คนและตนเองอย่างไร เราจะฝึกจิตใจต่อกระแสท่วมท้นของความเกลียดชังอย่างไร เราจะรู้สึกต่อความอยุติธรรมที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร

ถ้านี่ไม่ใช่โอกาสในการฝึกฝนปฏิบัติใจ แล้วเมื่อไหร่คือโอกาส

ผมเพิ่งไปเยี่ยมเจ็ด “นักโทษประชามติ” กับกลุ่มคณาจารย์ ซึ่งน้องๆ เหล่านี้ล้วนแต่คนหนุ่มสาว ทำเพียงแค่การรณรงค์ภายใต้กรอบเกณฑ์ของกฎหมาย โดยเฉพาะในมาตรา 61

แต่ทำไมเขาถึงถูกจับทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำผิดข้อกฎหมายประชามติ คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร ออกมาบอกเองว่า ไม่ผิดกฎหมายประชามติ ก็ให้ระวังกฎหมายอื่นของ คสช. เช่น กฎหมายห้ามชุมนุมเกินห้าคน หรือมาตราครอบจักรวาลอย่างมาตรา 44

เขาเพียงแค่รณรงค์ให้คนไปลงประชามติอย่างสันติ ไม่บิดเบือน ไม่ก้าวร้าวรุนแรง หรือยุยง จึงไม่ขอประกันตัวและทนอยู่ในคุก

ผมมองใบหน้าน้องเหล่านั้น นั่นคือใบหน้าของประเทศชาติเราในอนาคต

แต่เป็นอนาคตของประเทศเรากำลังถูกกักขังในคุกอย่างไม่สมควรเลย

ภายใต้สภาพการณ์เช่นนี้ ภายในบรรยากาศแบบนี้

เราจะเปิดที่ว่างแห่งใจ เพื่อให้โพธิจิตของเรางอกเงยขึ้นมาได้อย่างไร