ครม.ประยุทธ์ เทหมดหน้าตัก กู้เศรษฐกิจไทย-ขยายแผนวัคซีน รีดพิษโควิด-19 ยับยั้งเกิด ‘คลัสเตอร์’/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ครม.ประยุทธ์ เทหมดหน้าตัก

กู้เศรษฐกิจไทย-ขยายแผนวัคซีน

รีดพิษโควิด-19 ยับยั้งเกิด ‘คลัสเตอร์’

จากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เรียกว่า คลัสเตอร์ทองหล่อ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันประมาณ 2,000 คน จนถึงเดือนพฤษภาคม ยอดผู้ติดก็ยังไม่มีทีท่าลดลงเลย

พร้อมทั้งมาตรการควบคุมการระบาด ที่แม้จะไม่ประกาศล็อกดาวน์แบบในระลอกแรก แต่ก็สั่งปิดกิจการ และงดกิจกรรมแทบทุกอย่าง จนคล้ายกับการล็อกดาวน์เข้าไปทุกที

เหลือเพียงแค่การประกาศเคอร์ฟิว (การห้ามออกนอกเคหสถาน) และการตั้งด่านสกัดเท่านั้น

การระบาดได้กระจายเป็นวงกว้าง พบคนติดเชื้อจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบกับปัญหาเรื่องบริการด้านสาธารณสุขที่ทำให้เตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ ผู้ติดเชื้อต้องพักที่บ้าน ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดในครอบครัว และชุมชน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลก็ยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ดีเท่าที่ควร

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจก็ไม่น้อยเช่นกัน กิจการต้องปิดชั่วคราว คนหาเช้ากินค่ำก็ขาดแคลนรายได้ หนี้สินก็ยังค้างคา

 

รัฐบาลนั้นเฝ้าสังเกตการณ์อยู่นาน รอจนเมื่อปัญหาหนักขึ้น จึงตัดสินใจขยายมาตรการเยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ มาตรการเยียวยาระยะเพิ่มเติม โดยเพิ่มเงินคนละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวม 2,000 บาท โครงการเราชนะ จำนวน 32.9 ล้านคน และโครงการ ม.33 เรารักกัน 9.27 ล้านคน วงเงินรวม 8.55 หมื่นล้านบาท

ซึ่งนักวิชาการและหลายๆ ฝ่ายให้ความเห็นว่า ไม่เพียงพอต่อความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งไม่พอประทังชีวิตประชาชน เพราะเมื่อเทียบกับการระบาดระลอกแรก ได้คนละ 15,000 บาท และระลอกที่ 2 ได้คนละ 7,000 บาท

ส่วนมาตรการเยียวยาทางการเงิน โครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 รายละ 10,000 บาท และมาตรการพักชำระหนี้สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะช่วยทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 แต่ก็ไม่ได้ช่วยเจาะจงเฉพาะกลุ่มกิจการที่เดือดร้อนตามคำเรียกร้องของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ

นอกจากนี้ มีโครงการลดภาระค่าใช้จ่าย ด้านค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปา ในช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนมิถุนายน แต่ในขณะนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันว่า การคิดค่าไฟโดยยึดฐานจากเดือนเมษายน จะเป็นการช่วยลดภาระจริงหรือไม่ เมื่อเดือนเมษายนนั้น เป็นเดือนที่ค่าไฟจะสูงที่สุด รวมทั้งค่าน้ำที่ให้คืนในอัตรา 10% ก็เหมือนช่วยได้เพียงน้อยนิด เพราะส่วนใหญ่เฉลี่ยค่าใช้น้ำประมาณ 100-200 บาท

ดังนั้น จะได้คืนแค่ 10-20 บาทเท่านั้น

 

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ได้แก่ โครงการเพิ่มกำลังซื้อสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพิ่มกำลังซื้อสำหรับกลุ่มต้องการความช่วยเหลือพิเศษที่ใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชน โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 (เฟส 3) และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้

ที่ดูเหมือนโครงการจะเริ่มในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหลายเสียงก็ว่าจะช้าไปหรือไม่ รัฐบาลก็ได้อ้างถึงความปลอดภัยของประชาชน จึงยังไม่สนับสนุนให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยในตอนนี้ ที่โควิด-19 ยังระบาดอยู่

แต่ก็เป็นความหวังเดียวของรัฐบาลที่จะอัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้านบาท ช่วยเหลือได้ 51 ล้านคน ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ช่วยดันให้การเติบโตเศรษฐกิจเติบโตได้มากกว่า 1% จากที่ประมาณการไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ 2.3% ประกอบกับการเร่งรัดการลงทุนของรัฐบาล และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ จะช่วยพยุงให้การเติบของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับ 2.8% ได้ตามที่เคยประมาณการครั้งแรกของปีในเดือนมกราคม ซึ่งไม่อาจทราบได้ว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่

สำหรับโครงการทั้งหมดนั้น ได้ใช้งบประมาณรวม 235,880 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่เหลือประมาณ 240,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ารัฐบาลได้เทเงินออกใช้ทั้งหมดเท่าที่จะใช้ได้ ซึ่งยังยืนว่า นี่ยังไม่ใช่เงินก้อนสุดท้ายที่รัฐบาลมี เพราะยังมีเงินจากงบฯ กลางปี 2564 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายเพื่อการฉุกเฉินและจำเป็น วงเงิน 99,000 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 500 ล้านบาท หรือ 0.5%

และยังมีงบฯ สำหรับบรรเทาโควิด-19 อีก 40,000 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 3,200 ล้านบาท หรือ 8%

จึงยังมีเงินเพียงพอสำหรับนำมาใช้กับการแก้ไขปัญหาโควิด-19

ส่วนสถานะของหนี้สาธารณะนั้น หลังจากรวมกับวงเงินตาม พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ก็ยังไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ 60% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี)

 

สถานการณ์ตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า โควิด-19 ระลอกใหม่จะคลี่คลายได้หรือไม่ ก่อนที่การระบาดจะลุกลาม ก่อนที่ประชาชนจะอดอยาก หรือต้องตกงานเพราะธุรกิจไปต่อไม่ได้

รวมทั้งยังมีอีกมุมองที่ว่ารัฐบาลอาจจะต้องหาเงินกู้ก้อนใหม่ เพราะก้อนที่ผ่านมาใช้ไปหมดแล้ว แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งสะท้อนว่ามาจากปัญหาการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่กำลังกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคม โดยเฉพาะสังคมออนไลน์

ปัจจุบัน ได้เกิดกลุ่มในเฟสบุ๊กชื่อว่า ย้ายประเทศกันเถอะ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ภายใต้การควบคุมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เข้ารับตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2557 แต่หลายคนกลับวิจารณ์ว่าหลายสิ่งไม่ได้รับการพัฒนา หรือได้รับการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปีที่ผ่าน เมื่อเทียบกับการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศแล้วนั้น ไทยเราถือว่าช้ากว่า ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด หรือแผนเรื่องวัคซีนป้องกันโควิดที่ล่าช้า รวมทั้งปัญหาเรื่องยี่ห้อของวัคซีนซิโนแวค ที่ทำให้คนไม่มั่นใจที่จะรับการฉีดก็มีจำนวนน้อย

รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาวัคซีน โดยได้ขยายแผนการจัดซื้อและนำเข้าวัคซีนจากเดิม 100 ล้านโดส เป็น 200 ล้านโดส และขยายไปยังยี่ห้อไฟเซอร์ สปุตนิก วี และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ได้อนุญาตให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการนำเข้าเพื่อเป็นวัคซีนทางเลือก โดยต้องเป็นยี่ห้อที่ไม่ซ้ำกับทางภาครัฐ เช่น โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเป็นไปตามแผนดังกล่าว วัคซีนจะถูกกระจายไปสู่ประชาชนได้ตามเป้าหมายที่มากกว่า 70% ของประชากรไทย

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้กลายเป็นโจทย์สุดหินที่ท้าทายการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง และครั้งนี้รัฐจะฝ่าวิกฤตได้หรือไม่ หรือจะต้องยอมแพ้ไปเสียก่อน