จาก “เด็กติดเกม” สู่ “เคาน์เตอร์สไตรก์มือโปร” ครอบครัวเลี้ยงลูกอย่างไร? ให้โตเป็น “แชมป์ อี-สปอร์ต”

“เกมออนไลน์” มักถูกมองว่าเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงและผ่อนคลายในยามว่าง หรือกระทั่งเป็นเรื่องเสียเวลา มอมเมา ไร้สาระ ฯลฯ

แต่แล้ววันหนึ่ง “การเล่นเกม” ก็ “ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” อีกต่อไป เมื่อมีการแข่งขันระดับทัวร์นาเมนต์ ชิงรางวัล มีการสร้างทีม สร้างสโมสร ดึงตัว ซื้อตัวผู้เล่น มีการสร้างรายได้เป็นระบบขึ้นมา

ชมคลิปรายการเป็นเรื่อง

ล่าสุด “อี-สปอร์ต” หรือการแข่งขันวิดีโอเกม ทั้งประเภทเดี่ยวและทีม ที่เคยถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเวลาว่ามีสถานะเป็น “กีฬา” หรือไม่? ก็ถูกยอมรับเป็น “กีฬา” อย่างเป็นทางการ

โดยจะได้รับการบรรจุให้มีการแข่งขันจริงในมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ปี 2022 ที่ประเทศจีน

ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่าเมื่อปี 2016 อุตสาหกรรมกีฬา “อี-สปอร์ต” สามารถสร้างรายได้รวม 493 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท

มีผู้ชมที่ไปร่วมเชียร์ข้างเวทีการแข่งขันและรับชมผ่านออนไลน์รวมกว่า 320 ล้านคนทั่วโลก

คาดการณ์ว่าในปี 2017 “กีฬาใหม่” ดังกล่าว จะสามารถสร้างรายได้มากถึง 696 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท

ในบ้านเรา มีผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับกีฬา “อี-สปอร์ต”

โดยมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กลุ่มนักศึกษาจากเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และเครือข่ายผู้ปกครอง-ครอบครัว ได้เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนถึงคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ชะลอการส่งเสริม “อี-สปอร์ต” หลังมีข่าวการกีฬาแห่งประเทศไทยเตรียมบรรจุการแข่งขันประเภทนี้เป็น “กีฬา” ชนิดหนึ่ง

เครือข่ายดังกล่าวมองว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ค่อนข้างมาก ทั้งเรื่องการเสพติดเกม เสพติดอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตราย เยาวชนยังขาดทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ จึงเห็นว่ายังไม่ใช่เวลาเหมาะสมที่จะส่งเสริม “อี-สปอร์ต”

เพราะอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหา อันเนื่องมาจากการขาดนโยบายจัดการดูแลที่มีประสิทธิภาพ

เร็วๆ นี้ ทีมงานรายการ “เป็นเรื่อง!” (รายการทอล์กเจาะลึก ออกอากาศสดทาง “เพจเฟซบุ๊กข่าวสด” ทุกวันพุธ เวลา 21.00 น.) มีโอกาสเจาะประเด็นดังกล่าว พร้อมตามติดวิถีชีวิต-ความคิดของ “น้องพี” หรือ “พีรัช อิงคุทานนท์” เจ้าของนามแฝง “โอลิเวีย” ในโลกออนไลน์

น้องพีคือเยาวชนอายุย่าง 20 ปี หนึ่งในผู้เล่นเกมเคาน์เตอร์สไตรก์ระดับ “มืออาชีพ” ซึ่งคว้าแชมป์มาแล้วหลายรายการ

น่าสนใจว่าจากเกมที่ใครๆ เคยเล่นกันเพื่อความสนุกสนาน น้องพีสามารถเข้าแข่งขันเกมเคาน์เตอร์สไตรก์จน “มีรายได้ มีเงินเดือน” ได้อย่างไร?

น้องพีเล่าว่า ตัวเองเริ่มเล่นเคาน์เตอร์สไตรก์จริงจังและใช้เวลาซ้อมมา 2 ปีกว่า

ในช่วงแรกเริ่ม ตนได้ซ้อมและฝึกฝนกับเพื่อนชาวไทยและต่างชาตินานถึง 10-12 ชั่วโมง/วัน เพราะเชื่อว่าหากเริ่มต้นเล่นให้เยอะที่สุด ฝึกฝนมากที่สุด แพ้เยอะที่สุด ก็จะยิ่งได้รับชัยชนะมากขึ้นๆ ในภายภาคหน้า

จนถึงปัจจุบัน การเล่นเกมเคาน์เตอร์สไตรก์ได้กลายมาเป็น “งาน” สำหรับน้องพี โดยเขาจะทุ่มเทเวลาฝึกฝนอย่างเต็มที่ 4 วัน/สัปดาห์ ก่อนจะพักผ่อนหรือเข้าร่วมการแข่งขันในช่วงเสาร์-อาทิตย์

น้องพียอมรับว่า เมื่อ “เกม” กลายเป็น “อาชีพ” ก็ส่งผลให้ความสนุกในการเล่นลดลงจนแทบไม่เหลือเลย และบางครั้ง ยังกลายเป็นภาวะตึงเครียด

“จากที่เมื่อก่อนเล่นกันขำๆ แต่มาตอนนี้เราต้องชนะ หากอยากเก่งขึ้น ก็ต้องเครียดและต้องคิดมากขึ้น ทำให้ต้องมีการจัดแบ่งเวลาเพื่อการพักผ่อนอย่างจริงจัง หมายถึงการออกจากหน้าจอ ไปออกกำลังกาย เที่ยวเล่น ดูหนังฟังเพลงกับเพื่อน เพื่อความผ่อนคลาย ก่อนจะกลับมาฝึกซ้อมต่อ” เจ้าของนามแฝง “โอลิเวีย” ระบุ

สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยทั้ง “พรสวรรค์” “พรแสวง” และ “วินัยในการแบ่งเวลา” ซึ่งจะมีช่วงที่ต้องอยู่กับตัวเองเพื่อใช้สมาธิและวางแผนในการเล่นเกม

ทุกวันนี้ น้องพีกลายเป็นที่ยอมรับในวงการ และกำลังถูกดึง-แย่งตัวจากหลายทีม

นักเล่นเกมเคาน์เตอร์สไตรก์ระดับโปรเล่าว่ารายได้ที่เขาได้รับนั้นใกล้เคียงกับ “คนทำงาน” ทั่วไป นอกจากนี้ ทางต้นสังกัดจะเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าอุปกรณ์ ค่าเดินทาง และพ็อกเก็ตมันนี่ทั้งหมด

แต่กว่าจะฟันฝ่ามาถึงจุดนี้ได้ น้องพีต้องพิสูจน์ตนเองให้ครอบครัวเห็น ว่าเขาไม่ใช่ “เด็กติดเกม” แต่เป็นวัยรุ่นที่มี “เป้าหมาย” ในการดำเนินชีวิต

สําหรับการเลี้ยงดูลูกในยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีสภาพสังคมแตกต่างจากเมื่อก่อน เพราะความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและหลากหลาย บางครอบครัวอาจใช้วิธีการเดิมๆ มาอบรมสั่งสอนลูก

แต่ “คุณวิรัช-คุณเนตรลัคน์ อิงคุทานนท์” บิดามารดาน้องพี กลับ “คิดต่าง” และ “เปิดกว้าง” ไม่จำกัดกรอบหรือวางหมากชีวิต บังคับให้ลูกต้องทำอย่างนั้น-เป็นอย่างนี้ อย่างเช่นที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม

คุณพ่อคุณแม่ยอมรับว่า แรกๆ เคยมีปัญหากับลูกชายบ้าง บางทีก็เห็นว่าใช้เวลาหน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไป บางครั้งโมโหจนอยากจะทำลายคอมพิวเตอร์ทิ้ง แต่พอได้พูดคุยกับลูก และมั่นใจว่าตัวเขาอยากเดินบน “ทางสายนี้” แน่นอน

ก็ต้องมากำหนดกติการ่วมกันว่าลูกชายพึงมีความรับผิดชอบในการเรียน ทำการบ้านต่างๆ ให้เสร็จเรียบร้อย “จัดสรรเวลา” ให้ได้

นอกจากนี้ ทางฝ่ายคุณพ่อเองก็เริ่มศึกษาและทำความเข้าใจ จนมองเห็น “กรณีตัวอย่าง” ที่ประสบความสำเร็จบนสังเวียน “อี-สปอร์ต” ในต่างประเทศ จึงเชื่อว่าลูกน่าจะประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน

ตามทัศนะของครอบครัว คุณพ่อคุณแม่ของน้องพีมองว่า “เกม” ทำให้ลูกชายรู้จักและรักษากฎกติกามารยาท รวมทั้งได้ฝึกทักษะการวางแผนในทีมว่าจะใช้วิธีใดเอาชนะคู่แข่ง

สิ่งเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงไปสู่ประสบการณ์ในการทำงานทั้งสิ้น เพราะหากมีทีมเวิร์กที่ดี ย่อมทำให้องค์กรพุ่งทะยานไปถึงจุดหมาย

และแม้ไม่รู้ว่าถึงที่สุดแล้ว ลูกชายจะขับเคลื่อนตัวเองไปถึงไหนตรงปลายทางของนักเล่นเกมมืออาชีพ แต่คุณพ่อวิรัชเห็นว่า อนาคตของ “อี-สปอร์ต” จะบูมมากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น ถ้ายังมีช่องทางที่จะประสบความสำเร็จ และลูกยังชอบที่เดินบนทางเส้นนี้ ก็จะให้เขาเดินทางต่อไป

ส่วนผู้ปกครองที่มองว่าเกมเป็น “เรื่องเสียเวลา” คุณพ่อคิดว่านั่นเป็น “เรื่องระหว่างทาง” มากกว่า ว่าคุณจะให้ลูกทำกิจกรรมอะไรบ้างใน “ระหว่างทาง” นั้น เพราะเราก็ให้ลูกแบ่งเวลาไปออกกำลังกาย ไม่ทิ้งการเรียน ที่สำคัญ สิ่งที่เขาจะได้รับจากเกมคือ “ประสบการณ์ชีวิตอย่างหนึ่ง”

ส่วนกรณีที่มีกลุ่มคนไปยื่นเรื่องกับ สนช. เพื่อคัดค้านการบรรจุ “อี-สปอร์ต” เป็น “กีฬา” นั้น คุณพ่อเคารพในความเห็นที่แตกต่าง แต่ก็อยากให้ผู้ที่เรียกร้องประเด็นดังกล่าวเคารพความคิดเห็นของอีกฝ่ายเช่นกัน

ทั้งนี้ ตนเห็นว่ากรณีของ “ครอบครัวอิงคุทานนท์” ยังไม่อาจเป็น “ตัวอย่าง” ให้ใครได้ เพียงแต่อยากให้ทุกครอบครัวหันกลับไปพูดคุยกับลูกที่บ้านว่าเขาชอบอะไร ต้องการอะไร คุณต้องเข้าใจเขา ใช้ชีวิตกับเขา

“นั่นอยู่ที่คุณแล้ว อยากจะโยนลูกคุณเข้าห้องที่มีเกม ห้องที่มีมีด มีระเบิด อยู่ที่คุณ หากพูดคุยกันก็ใช้เวลาอธิบายกันว่า “มีด” จะมีประโยชน์อย่างนี้ “เกม” สามารถฝึกอย่างนี้ได้นะ มีหนทางยังไง

“ไม่ใช่ไปวางกรอบบังคับลูก ต้องเป็นนั่นทำนี่ หรือโยนความต้องการของตัวเองให้ลูก มันอันตราย กลายเป็นความห่าง ถึงอย่างนั้น อย่าไปโทษเกม ให้โทษตัวเองซะ” คุณพ่อวิรัช กล่าว

ปิดท้ายด้วยความฝันและมุมมองของน้องพี ซึ่งเขามองว่าการที่ “อี-สปอร์ต” ถูกบรรจุในเอเชี่ยนเกมส์ปี 2022 นับเป็นโอกาสที่ดีมาก ที่เรา (นักเล่มเกมชาวไทย) จะได้แสดงศักยภาพ

โดยในวงการเกมตอนนี้ ประเทศจีนถือว่าอยู่อันดับหนึ่งของเอเชีย ส่วนไทยจะอยู่ในช่วงระหว่างลำดับที่ 6-10

อย่างไรก็ตาม น้องพีมั่นใจว่าถ้าได้ไปแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ตนและเพื่อนๆ ทีมชาติไทยจะสามารถต่อกรกับคู่แข่งจากชาติอื่นๆ ได้

โดยระหว่างนี้ หนุ่มนักเล่นเกมเคาน์เตอร์สไตรก์เจ้าของนามแฝง “โอลิเวีย” ได้ตั้งเป้าหมายชีวิตเอาไว้ว่า ภายใน 2 ปี เขาจะต้องไป “เล่นอาชีพ” ที่ยุโรปให้ได้

และเขาจะมุ่งมั่นลงแข่งขันในสนามกีฬาประเภทนี้ต่อไป จนกว่าจะสู้ใครไม่ไหวแล้ว!