จรัญ มะลูลีม : ทรัมป์กับมุสลิม (18)

จรัญ มะลูลีม

ในการเยือนซาอุดีอาระเบีย สำนักข่าว AP รายงานว่าทรัมป์เรียกร้องให้ประเทศมุสลิม รวมตัวกันต่อต้านความสุดโต่งที่เกิดขึ้นในโลกมุสลิม

โดยเรียกการต่อสู้ดังกล่าวว่า “เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว” (battle between good and evil) และเรียกร้องให้บรรดาผู้นำอาหรับ ขับผู้ก่อการร้ายออกไปจากสถานที่แห่งการเคารพภักดีของพวกเขาเสีย

ทรัมป์พยายามหลีกเลี่ยงโวหารต่อต้านชาวมุสลิมอย่างรุนแรงสมัยที่เขาหาเสียงเพื่อเป็นประธานาธิบดี

แต่เขาจะพูดถึงความเป็นพันธมิตรที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานในตะวันออกกลางเสียใหม่ พร้อมไปกับการละเลยที่จะไม่พูดถึงประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ผู้นำอาหรับได้รับการวิพากษ์ในเรื่องนี้

ดังที่เขาพูดว่า “เรามาที่นี่มิใช่เพื่อจะมาบรรยายหรือบอกคนอื่นๆ ว่าจะมีชีวิตอยู่อย่างไร จะต้องทำอะไรหรือจะทำกับใคร แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรามาที่นี่เพื่อเป็นผู้ร่วมงานในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับพวกเราทุกคน”

การเดินทางของทรัมป์เป็นเหมือนการทดสอบสำคัญถึงทักษะทางการทูตของทรัมป์

รวมทั้งโอกาสที่จะเพิ่มเติมเนื้อหาของนโยบายต่างประเทศที่เขากล่าวอย่างกว้างๆ ว่า “อเมริกามาก่อน”

 

ดังได้กล่าวมาแล้ว การรณรงค์เพื่อการเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาเป็นโวหารต่อต้านอิสลาม (anti-Islamic rhetoric) มาตลอดและฝ่ายบริหารของเขาก็พยายามถึงสองครั้งที่จะแบนประเทศที่มีชาวมุสลิมเป็นคนส่วนใหญ่ให้เข้ามาสหรัฐดังที่เขาพูดว่า “ผมคิดว่าอิสลามเกลียดชังเรา” (I think Islam hates us)

ในช่วงการหาเสียงดังกล่าวเขาจะพูดเสมอถึงผู้ก่อการร้ายสุดโต่งที่นับถือศาสนาอิสลาม (Radical Islamic terrorism) อันเป็นวลีที่ทรัมป์วิจารณ์ทั้งฮิลลารีและโอบามาว่าไม่กล้าเอ่ยวลีนี้ออกมา เขามองว่าการขยายตัวของลัทธิก่อการร้ายกลายเป็นปัญหาที่เกาะกุมทุกๆ คนที่รักสันติ

“นี่มิได้เป็นการต่อสู้ระหว่างศาสนาที่แตกต่างกัน สำนักคิดที่แตกต่างกันหรืออารยธรรมที่แตกต่างกันนี้เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้ที่พยายามจะทำลายชีวิตมนุษย์และผู้ที่แสวงหาการปกป้องชีวิตมนุษย์” “นี่เป็นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่ว”

อย่างที่รับทราบกันดีอยู่แล้ว แค่เพียงหนึ่งสัปดาห์ที่เข้าสู่ตำแหน่ง เขาออกคำสั่งบริหารให้แบนผู้เดินทางเข้าสหรัฐจาก 7 ประเทศ ได้แก่ อิรัก อิหร่าน ซีเรีย ซูดาน ลิเบีย โซมาเลียและเยเมน

คำสั่งดังกล่าวเกิดการต่อต้านไปทั่วสนามบินในสหรัฐและมีการเดินขบวนที่หน้าทำเนียบขาว

การห้ามดังกล่าวถูกสกัดโดยศาลสหพันธ์ ทำให้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ต้องลงนามในคำสั่งที่ 2

ในคำสั่งที่สองมีการตัดเอาอิรักออกจากประเทศที่ถูกแบน อย่างไรก็ตาม คำสั่งบริหารครั้งที่สองก็ถูกสกัดอีกครั้งในศาล แม้ว่าทรัมป์จะบอกว่ามาตรการดังกล่าวมีความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติก็ตาม

ช่วงหาเสียงเช่นกันเขาเรียกร้องให้ปิดตายมิให้ชาวมุสลิมเข้ามาสหรัฐจนกว่าตัวแทนของประเทศเราสามารถบอกได้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น

พร้อมกับย้ำเตือนว่าจำนวนหนึ่งของประชากรมุสลิมมีความเกลียดชังชาวอเมริกัน

 

ทรัมป์มุ่งที่จะประณาม บาชัรอัล-อะสัด ผู้นำซีเรียที่ได้ “ก่ออาชญากรรมเพื่อต่อต้านมนุษยชาติอย่างไม่เปิดเผย และอิหร่านที่มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในซีเรีย” ดังที่เขาบอกว่า

ทุกชาติที่มีสำนึกในตะวันออกกลางต้องทำงานร่วมกันที่จะกลับมาทำให้อิทธิพลของอิหร่านเกิดความไร้เสถียรภาพ ฟื้นฟูสมดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคให้มากขึ้น และสวดขอให้มีวันที่ประชาชนชาวอิหร่านมีความยุติธรรมและมีรัฐบาลที่รับผิดชอบอย่างที่ควรจะเป็น

ในการเชิญชวนผู้นำโลกมุสลิมมาร่วมพบปะกับทรัมป์ แน่นอนว่าอิหร่านและซีเรียย่อมไม่ได้รับเชิญ โดยทั้งสองประเทศมิได้เป็นพันธมิตรทางทหารที่ซาอุฯ สร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย

ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศสนับสนุนความพยายามที่จะโค่นรัฐบาลซีเรีย

ทั้งนี้ อิหร่านและรัสเซียถูกมองว่าเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของซีเรีย

เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกล่าวว่าพวกเขาพิจารณาการเยือนซาอุดีอาระเบียของทรัมป์ รวมทั้งการกล่าวปราศรัยนำว่าเป็นการถ่วงดุลกับโอบามาที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกในกรุงไคโรเมื่อปี 2009

ในครั้งนั้นโอบามาได้เรียกร้องให้มีความเข้าใจและยอมรับก้าวเดินที่พลาดพลั้งของสหรัฐในภูมิภาค

ทั้งนี้ การกล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวได้รับการตำหนิและการวิพากษ์จากสมาชิกหลายคนของพรรครีพับลิกันและพันธมิตรของสหรัฐในตะวันออกกลาง

รวมทั้งอิสราเอลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้โอบามาต้องขออภัยประเทศตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยโอบามายังคงปกป้องโอบามาตลอดมา

 

การตัดสินใจเริ่มต้นการเยือนต่างประเทศที่ไปเริ่มต้นที่ซาอุดีอาระเบียได้ส่งสารที่มีพลังให้กับซาอุดีอาระเบียซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับโอบามาว่าความตึงเครียดดังกล่าวจะหมดไป

ทรัมป์ไม่เหมือนฝ่ายบริหารของโอบามา ที่พยายามเอาตัวเองออกห่างจากบรรดาผู้นำที่เป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ และในหลายกรณีได้เข้าไปต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ทรัมป์ให้ความสนใจอยู่แต่เรื่องการซื้อขาย นอกจากในกรณีอิหร่านที่เขากล่าวสนับสนุนผู้คน “ที่ทุกข์ทรมานมาช้านาน” ผู้ตกอยู่ภายใต้ผู้นำของพวกเขาที่พยายามจะมีอิทธิพลเหนือเพื่อนบ้าน

ในทางกลับกัน ทรัมป์ได้พูดถึงความเป็นมิตรกับซาอุดีอาระเบียซึ่งสามารถย้อนกลับไปได้หลายทศวรรษและครอบคลุมหลายแง่มุม อันเป็นคำพูดที่ต่างไปจากถ้อยคำที่ตัวเขาทวีตในช่วงหาเสียงที่เขาบอกว่า “ซาอุดีอาระเบียและอีกหลายประเทศได้มอบเงินจำนวนมากให้กับมูลนิธิคลินตัน โดยต้องการให้ผู้หญิงเป็นทาสและฆ่าพวกเกย์”

กล่าวกันว่าการมาเยือนซาอุดีอาระเบียนั้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาในบ้านที่เริ่มก่อตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การมาเยือนครั้งนี้ได้มีการลงนามว่าด้วยการซื้อขายอาวุธและยุทโธปกรณ์ รวมถึงข้อตกลงเรื่องความมั่นคงไปเป็นจำนวน 350 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 270 พันล้านปอนด์กับประเทศนี้ ซึ่งเขาเดินทางออกนอกประเทศเป็นครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดี

เฉพาะข้อตกลงในเรื่องอาวุธก็สูงถึง 110 พันล้านซึ่งทางทำเนียบขาวก็ออกมากล่าวแล้วว่าเป็นการซื้อครั้งเดียวที่มากที่สุดในประวัติศาสตร์

ในการเดินทางครั้งนี้ Melania ภรรยาของเขาได้รับการต้อนรับจากกษัตริย์สัลมานอย่างอบอุ่น

 

การเดินทาง 8 วันนี้เกิดขึ้นหลังจากมีความไม่พอใจในสหรัฐเป็นอย่างมากเมื่อทรัมป์ปลด James Comey ผู้อำนวยการ FBI ออกจากตำแหน่ง

หลังจากซาอุดีอาระเบียเขาได้ไปเยือนดินแดนปาเลสไตน์ กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม สำนักวาติกันและเมืองซิซิลีของอิตาลี

Rex Tillersm กล่าวว่า ข้อตกลงเรื่องอาวุธเป็นความมุ่งหวังที่จะตอบโต้อิทธิพลของที่เป็น “อันตราย” ของอิหร่าน

เขาบอกในห้องประชุมนักข่าวว่า “ยุทโธปกรณ์ด้านกลาโหมและการให้การบริการเป็นการส่งเสริมความมั่นคงระยะยาวของซาอุดีอาระเบียและดินแดนแถบอ่าวทั้งหมด”

ทรัมป์เดินทางมาครั้งนี้พร้อมกับบุตรสาว Ivanka ที่ปรึกษาทำเนียบขาวที่ไม่ได้เงินเดือน และสามีของเธอ Jared Kushner ที่เป็นหนึ่งในฝ่ายบริหารคนสำคัญเชื้อสายยิวของทรัมป์

เหมือนกับ Theresa May ผู้นำอังกฤษ Angela Merkel ผู้นำเยอรมนี ที่มาเยือนซาอุดีอาระเบีย ภรรยาของทรัมป์และบุตรสาวมิได้สวมผ้าคลุมศีรษะแต่อย่างใด

ในเดือนมกราคมปี 2015 ทรัมป์เคยวิพากษ์สตรีหมายเลขหนึ่ง Michelle Obama ที่มิได้สวมผ้าคลุมศีรษะเช่นเดียวกัน โดยทรัมป์ทวีตว่านางโอบามา “ดูหมิ่น” เจ้าภาพ

 

ที่น่าสนใจคือการประชุมสุดยอดอาหรับอิสลามอเมริกัน (Arab Islamic American Summit) ในเมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับ “ความหวังในมโนทัศน์ความสันติของอิสลาม” ผู้ช่วยของทรัมป์กล่าวว่าตัวของประธานาธิบดีหวังว่าการกล่าวสุนทรพจน์ของเขาจะมีผลทั่วโลกและแสดงถึงมโนทัศน์ด้านสันติภาพ ความก้าวหน้าและความรุ่งเรือง

เป็นที่รับทราบกันเป็นอย่างดีแล้วว่าในการหาเสียงของเขา เขาเรียกร้องให้แบนการเข้ามาของชาวมุสลิมอันเป็นปัญหาความมั่นคง การนิติบัญญัติที่มุ่งจะสกัดการเดินทางของชาวมุสลิมที่เป็นคนส่วนใหญ่ใน 6 ประเทศซึ่งเรื่องนี้ยังคงไปติดอยู่ที่ศาลของสหรัฐ

การประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับบรรดาผู้นำมุสลิมมุ่งไปที่การต่อสู้กับนักต่อสู้กลุ่มต่างๆ ที่ใช้ความรุนแรงและอิทธิพลที่เติบโตขึ้นในภูมิภาคของอิหร่าน

ทรัมป์เป็นนักวิพากษ์อิหร่านในเรื่องข้อตกลงระดับระหว่างประเทศว่าด้วยการมีอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งทำให้อิหร่านพ้นไปจากการคว่ำบาตรไปเรียบร้อยแล้ว แต่เขาอยากเอาเรื่องนี้มาปัดฝุ่นใหม่

ความสัมพันธ์สหรัฐ-ซาอุดีอาระเบียถูกทำให้แน่นแฟ้นขึ้นด้วยการลงนาม “มโนทัศน์ยุทธศาสตร์” ที่เป็นการซื้ออาวุธ 110 พันล้าน และการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งจะนำเอางานนับพันๆ รายการมาให้ “มันเป็นวันอันยิ่งใหญ่” ทรัมป์กล่าว สำหรับ “การลงทุนอย่างมโหฬารในสหรัฐ และงาน งาน งาน”