ย้ายประเทศและย้ายชาติ : นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ย้ายประเทศและย้ายชาติ

มีผู้เตือนสติผู้ก่นประณามผู้สมัครใจย้ายประเทศว่า อย่าลืมคุณก๋งของตนเองไปเสียสิ เพราะท่านก็เพิ่งย้ายประเทศมาตั้งตัวจนร่ำรวยในเมืองไทยไม่นานมานี้เอง

แม้ข้อทักท้วงนี้ฟังดูสะใจดี แต่ผมไม่แน่ใจว่าส่วนใหญ่ของผู้ประกาศความพอใจจะย้ายประเทศในครั้งนี้ ต้องการลี้ภัยทางเศรษฐกิจดังคุณก๋ง และส่วนใหญ่ของชาวจีนที่พากันหลั่งไหลหนีความอดอยากออกนอกประเทศในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20

หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจเฟซบุ๊กชวน “ย้ายประเทศกันเถอะ” ให้สัมภาษณ์แก่ BBC ว่า การปฏิเสธให้ประกันแก่แกนนำ “ราษฎร”, ความล้มเหลวในการจัดหาวัคซีน และ ฯลฯ มีส่วนอย่างมากที่ทำให้เขาคิดเรื่องย้ายประเทศอย่างจริงจัง

ผู้ใช้นามว่า Anomy เขียนในทวิตเตอร์แปลเป็นไทยได้ว่า “ถ้าเราทั้งหมดย้ายไปอยู่ประเทศอื่น ปรสิตที่เกาะกินทรัพยากรของเรามาเป็นทศวรรษจะตายลง เพราะไม่มีเจ้าภาพให้เกาะกิน…พอพวกมันตายหมดแล้ว เราค่อยกลับมาเอาประเทศของเราคืนและจัดการนำไปสู่ยุคใหม่”

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าในโลกปัจจุบัน แรงผลักดันแก่การอพยพโยกย้ายของประชาชนมีความสลับซับซ้อนกว่าปัจจัยเพียงตัวเดียว ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือการเมืองหรือสังคม ปัจจัยเพียงตัวเดียวเสียอีกที่ทำให้ไม่ “ย้ายประเทศ” กันจริง เช่น แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ ด้วยความหวังว่าจะได้กลับบ้านสักวันหนึ่งข้างหน้า และเมื่อโอกาสนั้นเกิดขึ้นจริง ก็ย้ายกลับ

ผู้ที่แสดงความประสงค์จะย้ายประเทศในครั้งนี้จำนวนไม่น้อย คิดว่าค่าตอบแทน “ฝีมือ” ของแรงงานระดับเขาในต่างประเทศย่อมสูงกว่าในประเทศไทยอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่เศรษฐกิจก็ไม่ใช่แรงผลักดันเพียงอย่างเดียว เพราะค่าตอบแทนในโลกปัจจุบันนั้น ส่วนหนึ่งมาจากอำนาจต่อรองทางการเมืองด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ประเทศที่ปฏิเสธหรือกีดกันมิให้อำนาจต่อรองทางการเมืองได้กระจายไปยังคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ย่อมเป็นผลให้ค่าตอบแทนที่ต่ำนั้นดูไม่มีอนาคตเอาเสียเลย

อันที่จริงการอพยพเคลื่อนย้ายเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตของมนุษย์ (และสัตว์) มาแต่โบราณกาล ไม่เฉพาะแต่เมื่อมนุษย์เรายังเก็บของป่าล่าสัตว์อยู่เท่านั้น แม้แต่เมื่อทำเกษตรแล้ว ก็มีเหตุจำเป็นหรือโน้มน้าวให้มนุษย์อพยพโยกย้ายเสมอ เช่นประชากรล้นเกินที่ทำกิน, โรคระบาด, โดนรบกวนจากสัตว์, โจร, หรือรัฐ เกินไป ฯลฯ เป็นต้น

เมื่อครั้งที่อาจารย์ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ยังทำงานที่ ม.ขอนแก่น ท่านเคยให้นักศึกษาสำรวจประวัติของหมู่บ้านในภาคอีสาน ท่านกรุณาให้ผมได้อ่านรายงานเหล่านั้น และพบด้วยความประหลาดใจว่า แต่ละชุมชนที่นักศึกษาเข้าไปสัมภาษณ์ล้วนอพยพโยกย้ายมาจากที่อื่นทั้งนั้น ในช่วงเวลาที่ไม่นานเกินกว่าความทรงจำของหมู่บ้าน (ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมนานกว่าความทรงจำของบุคคล เพราะชุมชนย่อมเก็บความทรงจำไว้ในรูปต่างๆ ได้นานกว่าสมองของบุคคล)

และว่าที่จริง ทั่วทั้งประเทศไทยจะหาชุมชนใดที่มนุษย์ตั้งถิ่นฐานอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาตั้งแต่สองศตวรรษขึ้นไปได้ยาก เมืองบางเมืองอาจมีอายุตั้งพันปี แต่ประชากรของเมืองเปลี่ยนกลุ่มไปอยู่เสมอ แม้แต่กรุงเทพฯ เอง ส่วนใหญ่ของประชากรก็ไม่ใช่คนท้องถิ่นบางกอก ล้วนอพยพเข้ามาตั้งรกรากในช่วงแผนพัฒนาในต้นพุทธศตวรรษที่ 26 นี่เอง

การส่งออกข้าวและยางพาราในศตวรรษก่อน ทำให้เกิดการโยกย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่เพื่อผลิตสินค้าส่งออกกันทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตที่เรือกลไฟและรถไฟสามารถขนสินค้าออกสู่ตลาดได้สะดวก การอพยพเคลื่อนย้ายอย่างใหญ่นี้เกิดขึ้นในทุกภาคของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การอพยพเคลื่อนย้ายในสมัยโบราณก่อนจะเกิดรัฐชาติ (พร้อมกับทุนนิยมและการคลายตัวของความสัมพันธ์เชื่อมโยงตามประเพณี) ขึ้นนั้น แตกต่างจากเมื่อเกิดรัฐชาติขึ้นแล้วอย่างสำคัญ นั่นคือก่อนเกิดรัฐชาติ การอพยพเคลื่อนย้ายกระทำกันเป็นกลุ่ม เช่น ย้ายทั้งเผ่า, ชุมชน, เครือญาติ หรือกลุ่มเฉพาะอื่นๆ เช่น สาวกของนิกายศาสนา, พ่อค้าสินค้าบางอย่าง หรือ ฯลฯ แต่เมื่อเกิดรัฐชาติแล้ว ผู้อพยพมีแต่ปัจเจกเป็นแกน อาจมีญาติใกล้ชิดเช่นลูกเมียตามไปด้วยเท่านั้น

ในรายงานของนักศึกษา ม.ขอนแก่น เมื่อมีผู้ไปพบที่รกร้างว่างเปล่าซึ่ง “ดินดำน้ำชุ่ม” ก็อาจกลับไปยังชุมชนของตน ชักชวนญาติพี่น้องให้ย้ายไปตั้งทำกินในที่ใหม่ ในเรื่อง ลูกอีสาน เมื่อเกิดทุพภิกขภัย ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ย้ายไปยังแหล่งอาหารเพื่อหาปลา แต่ในตอนจบก็กลับมายังที่ตั้งชุมชนเดิมพร้อมอาหารที่เก็บมาล้นเหลือ ในชีวิตจริง คงมีบางกรณีที่กลับมาเพื่อย้ายไปหาแหล่งอาหารทั้งชุมชนแล้วไม่กลับมาอีกเลยด้วย

เล่ากันว่า มีประเพณี “ขอทานข้าว” ในภาคอีสานมาแต่โบราณ ชาวบ้านในแหล่งที่เกิดทุพภิกขภัยอาจออกเดินทางไปขอข้าวจากชุมชนอื่นที่ยังมีอุดมสมบูรณ์กว่า แล้วขนกลับมาเลี้ยงดูกันในครอบครัว กลายเป็นธรรมเนียมที่จะเจือจานข้าวให้แก่คนในชุมชนที่อดอยากเวียนกันไปเรื่อยๆ ตามแต่ชุมชนใดจะโชคดีโชคร้ายในแต่ละปีการผลิต นี่เป็นส่วนหนึ่งของ “เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม” ที่ประกันอาหารให้แก่เกษตรกรยังชีพ ซึ่งมีชีวิตอยู่ปริ่มๆ กับความอดและความอิ่ม

และในการเดินทางเพื่อ “ขอทานข้าว” ก็ทำให้ผู้คนได้เร่ร่อนไปพบที่ทำกินใหม่ เกิดการตั้งถิ่นฐานถาวรขึ้นในที่รกร้างว่างเปล่านั้น ซึ่งคงไม่ต่างจากคนที่พูดภาษาไท-ไตเมื่อกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ได้เคลื่อนย้ายในลักษณะเช่นนี้จากตะวันออกสุดของที่สูงกลางทวีป (Zomia) มาจนเกือบตะวันตกสุด

ผู้อพยพโบราณ ต่างก็แบกเอาสมบัติทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น ภาษา, การนับญาติ, ระบบคุณค่า ฯลฯ ติดตัวไปด้วย เพราะไปกันทั้งกลุ่มใหญ่ที่สัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง แต่ผู้อพยพสมัยใหม่ไปคนเดียว ถึงจะแบกสมบัติทางสังคมและวัฒนธรรมไปได้บ้าง ก็ไม่สู้มากและแข็งแรงนัก ความเป็นคนหัวเดียวกระเทียมลีบในสังคมใหม่ทำให้ต้องทิ้งสมบัตินั้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ขาดหรือหลุดไปจากสังคมเดิม

เอาเข้าจริงก็ไม่น่าเป็นไรนะครับ แต่รัฐชาติมาอ้างความเป็นเจ้าของสมบัติเหล่านั้นแทนสังคม และใช้สมบัติเหล่านั้นเป็นเครื่องมือในการผูกและพิสูจน์ความภักดีที่มีต่อชาติ ดังนั้น หากประชาชนพากันละทิ้งสมบัตินั้นไปอย่างง่ายๆ ด้วยการย้ายออก ก็พิสูจน์ในทางตรงกันข้ามว่ารัฐชาตินั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนความภักดีของพลเมือง ถึงไม่ใช่กบฏโดยตรง ก็น้องๆ ล่ะครับ

โดยเฉพาะพากันชักชวนเป็นกลุ่มเป็นก้อน จนมีผู้สนใจและแสดงความจำนงถึง 9 แสนคนในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว ซ้ำยังประกาศความสนใจและเจตน์จำนงนั้นในสื่อสาธารณะเสียด้วย จึงเป็นการตั้งคำถามมหึมาต่อความภักดีซึ่งชาติผูกขาดไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว

ความภักดีต่อชาตินั้นเป็นอารมณ์ความรู้สึกซึ่งเพิ่งถูกสร้างขึ้นสัก 200 ปีมานี้เอง ความภักดีดังกล่าวนี้ ในบางกรณีก็ผนวกเอาความภักดีอื่นๆ ที่มีมาก่อนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความภักดีต่อชาติ เช่น เผ่าพันธุ์, ภาษา, วัฒนธรรม, ศาสนา, ชะตากรรมร่วม ฯลฯ บางกรณีก็ต้องแย่งชิงความภักดีอื่นที่มีมาก่อน เช่น ในเมืองไทย เผ่าพันธุ์ที่เรียกร้องความภักดีของผู้คนในส่วนต่างๆ ของประเทศไม่ใช่ “ไทย” แต่เป็น “ยวน” ในภาคเหนือ “ลาว” ในภาคอีสาน และ “นายู” ในรัฐมลายู (ยังไม่พูดถึงจีน, จาม, ญวน, มอญ, เขมร, ทวาย, ลาว, แขก, ฝรั่ง ฯลฯ ในภาคกลาง)

แม้ว่าชาติกลายเป็นส่วนสำคัญของ “ไวยากรณ์” ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและระหว่างประชาชนไปเสียแล้ว แต่ความภักดีต่อชาติก็ยังต้องเผชิญการแข่งขันกับความภักดีใหม่ๆ ตลอดมา ความภักดีใหม่เหล่านี้แตกต่างจากความภักดีเก่าซึ่งถูกชาติผนวกหรือแย่งชิงไปได้ นั่นคือเป็นความภักดีต่ออะไรที่ใหญ่ข้ามชาติ เช่น ชนชั้น, อุดมการณ์นานาชนิดที่ประกาศความเป็นสากลของตนเอง เช่น สิทธิมนุษยชน, สันติภาพ, ประชาธิปไตย, โลกที่สาม, โลกของคนไม่มี, โลกของคนมี (เช่น จีเจ็ด), “ประชาชน” จนถึงที่สุด แม้แต่ “ชานม” ก็เป็นอุดมการณ์ข้ามชาติที่เรียกร้องความภักดีเหนือชาติได้สูงอย่างน่าอัศจรรย์

นอกจากนี้ ยังมี “ศีลธรรมข้ามชาติ” อีกหลายอย่างซึ่งข้ามพ้นอธิปไตยของรัฐชาติไปแล้ว เช่น ยาเสพติดร้ายแรง, การค้ามนุษย์, กามารมณ์กับเด็ก, การอุ้มหาย, ภัยต่อสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ชาติไม่สามารถผนวกหรือแย่งชิงความภักดีข้ามชาติเหล่านี้ได้สำเร็จสักเรื่องเดียว แม้ดูเผินๆ เหมือนกับว่าชาติช่วงชิงความภักดีมาไว้กับตัวได้สำเร็จเสมอในสนามฟุตบอล, ความตึงเครียดชายแดน, โรคระบาด และ ฯลฯ ก็ตาม แต่เพื่อเอาชนะความภักดีข้ามชาติเหล่านี้ ชาติต้อง “ลงทุน” สูงมาก จนไม่แน่ใจว่า “คุ้ม” หรือไม่ เช่น ในสงครามชายแดน ชาติต้องใช้การโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเต็มไปด้วยความเท็จ อันเป็นเครื่องบั่นรอนความภักดีต่อชาติในระยะยาว หรือร้ายไปกว่านั้นต้องลงโทษทางอาญาแก่พลเมืองของตนเองด้วยกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว เพื่อผดุงความภักดีต่อชาติเอาไว้ให้ได้

ถ้าชาติจะยังคงความสำคัญในการจัดระเบียบของโลกต่อไปข้างหน้า ชาติจะต้องอยู่ร่วมกับอุดมการณ์และศีลธรรมข้ามชาติให้ได้ โดยยอมรับว่า ความภักดีต่อชาติไม่ใช่ความภักดีเพียงอย่างเดียวที่คนในยุคปัจจุบันพึงมี ในหลายกรณีความภักดีอื่นๆ เหล่านี้อาจขัดแย้งกับชาติโดยตรง เช่น หากสิทธิมนุษยชนได้รับความเคารพจริงจัง ย่อมลดทอนอำนาจของชาติเหนือพลเมืองลง

แม้อำนาจอาจลดลง แต่ความภักดีอาจเพิ่มสูงขึ้น เพราะแทนที่ชาติจะเป็นฝ่ายเรียกร้องจากพลเมืองไม่สิ้นสุด ชาติกลับเป็นป้อมปราการที่ปกป้องสิทธิของพลเมืองอย่างแข็งแกร่ง ไม่ใช่ปกป้องจากข้าต่างด้าวท้าวต่างแดนเท่านั้น แต่ปกป้องจากอำนาจทุกชนิดภายในรัฐชาติเองว่า จะล่วงละเมิดสิทธิของพลเมืองไม่ได้

ที่เราต้องรักและหวงแหนชาติ ก็เพราะชาติมีอะไรจะให้แก่เรามากกว่าจะเรียกร้องเอาจากเราไป