ความคิดสร้างสรรค์ ในวัฒนธรรมตีมือ/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ความคิดสร้างสรรค์

ในวัฒนธรรมตีมือ

 

ต้องมีความผิดปกติทางวัฒนธรรมบางอย่างกำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยแน่ๆ ถึงทำให้เจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาลงทุนเดินทางไปหาเจ้าของร้านที่ทำ “อาลัวพระเครื่อง”

โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม

และอีกเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักพระพุทธศาสนาอีกชุดก็ถึงกับลงทุนเดินทางไปสั่งห้ามเจ้าของร้านอีกแห่งที่ทำ “เค้กพระเครื่อง”

โดยชี้ว่าการทำแบบนี้กระทบจิตใจชาวพุทธ

หากใครยังไม่รู้สึกถึงความแปลก ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูอีกข่าวก่อนหน้านั้นที่มีภาพรองเท้ายี่ห้อหนึ่งโฆษณาในโลกออนไลน์โดยที่บนรองเท้ามีลวดหลายธงชาติไทยพร้อมรูปสัญลักษณ์ครุฑปรากฏอยู่

ภาพดังกล่าวกลายเป็นกระแสจนถึงขนาดรองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาแสดงความเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

หรือเมื่อราวสองปีก่อน ภาพเขียน “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ได้ถูกโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการลบหลู่พระพุทธศาสนา จนนักศึกษาที่เขียนภาพนั้นต้องออกมาขอโทษต่อสังคม

ยังครับ ยังไม่หมด เมื่อหลายปีก่อน เกิดดราม่าร้อนแรงจากทั้งกระทรวงวัฒนธรรมและศิลปินโขนที่ออกมาวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของมิวสิกวิดีโอโปรโมตการท่องเที่ยว เพลง “เที่ยวไทยมีเฮ” ที่มีการให้นักแสดงแต่งชุดทศกัณฐ์ไปหยอดขนมครก นั่งรถสองแถว และขับโกคาร์ด ว่าเป็นการไม่สมควรและทำให้ทศกัณฐ์และโขนซึ่งเป็นของสูงและศักดิ์สิทธิ์เสื่อมเสียเกียรติ ถือเป็นการทำลายวัฒนธรรมของชาติ จนท้ายสุดต้องมีการปรับแก้มิวสิกวิดีโอกันเป็นพัลวัน

ปรากฏการณ์ทั้งหมดซึ่งผมยกมาเพียงแค่เล็กน้อยจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากมายมหาศาล คือความผิดปกติอันเกิดขึ้นจาก “วัฒนธรรมตีมือ” ที่ฝังรากลึกในสังคมไทยซึ่งคอยบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์ของผู้คนในสังคมอย่างน่าหดหู่ยิ่ง

 

ความคิดสร้างสรรค์คืออะไร

และอะไรจึงถือว่าเป็นการสร้างสรรค์

แม้ยังเป็นที่ถกเถียงกันในรายละเอียดไม่รู้จบจนปัจจุบัน แต่หากให้นิยามลักษณะร่วมกันอย่างกว้างที่สุดตามมาตรฐานที่สำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Patent Office) ใช้ในการพิจารณาเพื่อจดสิทธิบัตรต่างๆ ก็อาจพูดได้ว่ามีเงื่อนไขในการนิยามที่สำคัญอยู่ 3 ข้อ คือ ความแปลกใหม่ (novelty), ความมีประโยชน์ (utility) และ ความน่าประหลาดใจที่คาดไม่ถึง (surprise)

โดยหากขาดซึ่งองค์ประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไป ก็ไม่สามารถนิยามว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ (หากสนใจรายละเอียด ดูเพิ่มได้ใน Dean Keith Simonton, “Taking the U.S. Patent Office Criteria Seriously : A Quantitative Three-Criterion Creativity Definition and Its Implications,” Creativity Research Journal 24, 2-3 (2012) : 97-106)

ผมคงไม่ลงรายละเอียดในกฎเกณฑ์ต่างๆ นะครับ เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า เงื่อนไขสำคัญ 2 ใน 3 ข้อของความคิดสร้างสรรค์นั้นตั้งอยู่บนการพิจารณาว่าสิ่งนั้นมี “ความแปลกใหม่” และ “ความน่าประหลาดใจที่คาดไม่ถึง” หรือไม่

หรือพูดให้ชัดๆ ง่ายๆ ก็คือ ต้องเป็นสิ่งที่มีลักษณะทะลุกรอบทะลายกรง (out of the Box) ขยายเพดานและก้าวข้ามทยานออกไปจากความคุ้นชินของสังคมแบบเดิม

ลักษณะดังกล่าวนี้จะผุดบังเกิดขึ้นได้อย่างไรในความคิดของนักสร้างสรรค์ หากถามคนส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะในสังคมไทย) คงโยนสิ่งนี้ไปที่คำว่าพรสวรรค์ แต่ผมคิดว่าไม่จริง

แน่นอน ไม่ปฏิเสธพรสวรรค์นะครับ เพียงแต่พรสวรรค์อย่างเดียวไม่ตอบคำถามอะไรแก่เรามากนัก มันมีค่าไม่ต่างอะไรเลยกับการพูดว่ามันคือสิ่งที่เกิดตามบุญตามกรรม

ผมอยากชี้ให้เห็นเงื่อนไขที่สำคัญมากกว่า นั่นก็คือ วัฒนธรรมที่แวดล้อมนักสร้างสรรค์เหล่านั้นว่าส่งเสริมหรือเอื้อให้คนสามารถคิดสร้างสรรค์ได้มากน้อยแค่ไหน

 

ไม่มีทางเลยนะครับที่สังคมซึ่งคอยตีมือนักสร้างสรรค์ และตะโกนใส่หูเราอยู่ตลอดว่า สิ่งนี้ไม่เหมาะสม สิ่งนั้นทำออกมาแล้วคือการลบหลู่ สิ่งนู้นสร้างความเสื่อมเสียและทำลายชาติ สิ่งโน้นคือของสูงและศักดิ์สิทธิ์ห้ามเอามาทำอะไรแบบนี้เด็ดขาด

จะสามารถสร้างคนที่คิดทะลุกรอบทะลายกรงได้ โอเค อาจจะสร้างได้บ้างแต่ก็คงสร้างได้น้อยเกินกว่าที่ควรจะสร้างได้จริงหลายเท่าตัว

วัฒนธรรมตีมือในสังคมไทยฝังตัวเองอยู่ในระดับลึกที่สุดภายในระบบการศึกษา

ครูอาจารย์คือนักตีมือตัวยง พวกเขาคือคนที่ประสาทวิชาและให้ความรู้ นี่คือประโยคที่เราได้ยินเสมอตั้งแต่เด็ก

แต่สิ่งที่ครูอาจารย์ไม่ได้บอกหรือไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอยู่ก็คือ ครูอาจารย์ (ส่วนมาก) คือคนที่ประสาทวิชาความรู้เฉพาะเรื่องที่อยู่ภายในกรอบและภายในกรงเท่านั้น

นักเรียนคนไหนคิดต่างและกำลังจะก้าวออกนอกกรอบที่การศึกษาไทยขีดไว้ ครูอาจารย์จะเข้ามาทำหน้าที่ตีมือและดึงกลับเข้ามากรงอยู่เสมอ

ไม่เว้นแม่แต่โรงเรียนที่สอนด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ หรือจริงๆ ในอีกแง่หนึ่ง โรงเรียนศิลปะและสร้างสรรค์ทั้งหลายนี่แหละคือสถานที่บ่มเพาะวัฒนธรรมตีมือที่เข้มแข็งที่สุด

เพราะโรงเรียนเหล่านี้ถูกห่มคลุมด้วยเปลือกของสถานที่สร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ โดยไม่ตระหนักว่าเนื้อแท้ของสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ภายใต้กรงขังทางความคิดที่ลึกที่สุด

 

เราคงได้ยินกันบ่อยๆ นะครับ

ศิลปะต้องบริสุทธิ์

ศิลปะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง

ศิลปะต้องไม่รับใช้ทุนนิยม

ศิลปะ (วัฒนธรรมไทย) เป็นของสูงไม่ควรเอามาทำเล่นๆ ในลักษณะคล้ายการดูถูก ฯลฯ

ไม่ยุ่งนั่น ไม่ยุ่งนี่ จนศิลปะไม่ต้องยุ่งกับอะไรเลยนอกจากอีโก้ของตัวเอง

ทัศนะแบบนี้แหละคือกรงขังความคิดสร้างสรรค์ที่ใหญ่ที่สุดในโรงเรียนศิลปะของไทย

นักเรียนศิลปะโดยส่วนใหญ่ (ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ ผลผลิตจากโรงเรียนศิลปะที่ดีๆ มีอยู่ไม่น้อย แต่ก็น้อยเกินไปหากเทียบกับศิลปินในกรงขัง) คือคนที่ถูกครูบาอาจารย์ตีมืออย่างหนักที่สุดจนกลายเป็นมนุษย์ที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์ที่สุด

และน่าเศร้าที่คนเหล่านี้กลับได้รับใบปริญญาที่ประกาศว่าคือคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่สุด

ออกตัวไว้ก่อนนะครับ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า ทุกสิ่งอย่างที่ “แปลกใหม่” และสร้างความ “น่าประหลาดใจที่คาดไม่ถึง” จะเท่ากับ “ความคิดสร้างสรรค์” เสมอไป แต่สิ่งที่ผมจะบอกคือ เราไม่สามารถเรียกสิ่งไหนว่าสร้างสรรค์ได้หากปราศจากซึ่งคุณลักษณะที่ “แปลกใหม่” และ “น่าประหลาดใจที่คาดไม่ถึง” ต่างหาก

พูดอีกแง่ก็คือ หากขาดซึ่งลักษณะทะลวงกรอบทลายกรงเสียแล้วย่อมขาดคุณสมบัติขั้นต้นที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์ที่แท้จริง

 

ย้อนกลับไปที่ตัวอย่างต้นบทความ ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่า อะลัวพระเครื่อง, เค้กพระเครื่อง, พระพุทธรูปอุลต้าแมน และทศกัณฐ์หยอดขนมครก คือการสร้างสรรค์นะครับ (ใช่หรือไม่ใช่ ไม่ได้เป็นประเด็นที่ผมอยากอธิบายในที่นี้)

สิ่งที่ต้องการจะบอก คือการเข้าไปใช้อำนาจขู่บังคับสั่งห้าม อ้างเรื่องทำลายวัฒนธรรมของชาติ หรือลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น คือการที่สังคมไทยกำลังสร้างวัฒนธรรมตีมือที่มากจนล้นเกิน จนขยายกลายเป็นการสร้างบรรยากาศของความหวาดกลัวที่ขัดขวางเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดของการสร้างสรรค์

การลดวัฒนธรรมตีมือลง ไม่ได้แปลว่างานทุกอย่างที่แปลกใหม่และน่าประหลาดใจจะเป็นงานที่ดีหรือสร้างสรรค์นะครับ

แต่มันคือการสร้างเงื่อนไขให้คนกล้าที่จะคิดนอกกรอบ ออกจากกรง ขยายเพดานความคิด จนนำไปสู่การสร้างสรรค์ได้ในที่สุด

การลดวัฒนธรรมตีมือลง อาจทำให้เกิดงานที่สักแต่จะขอแปลกแหวกขนบแต่ไร้ซึ่งการสร้างสรรค์ออกมาหลายพันชิ้นโดยมีงานสร้างสรรค์ที่แท้จริงเพียงชิ้นเดียวก็เป็นได้

แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาเลย เพราะการปรากฏขึ้นของงานสร้างสรรค์ที่แท้จริงแม้เพียงหนึ่งชิ้นก็มีคุณค่ามากมหาศาลยิ่งแล้ว

 

ส่วนงานที่ไม่ดีก็ไม่ต้องไปห่วงมากหรอกครับ สังคมไทยมีปัญญามากพอที่จะตัดสินเองได้ว่างานไหนดีหรือไม่ดี ไม่ต้องอาศัยนักตีมือจากกระทรวงวัฒนธรรม สำนักพุทธศาสนา และครูบาอาจารย์ที่ไหนมาบอกหรอกนะครับ งานที่ไม่ดีจะสูญหายตายไปเองตามธรรมชาติ

ตลกร้ายที่สุดคือ ยิ่งบ่มเพาะวัฒนธรรมตีมือมากเท่าไร

กลับจะยิ่งเป็นการส่งเสริมให้งานที่ในความเป็นจริงแล้วอาจจะเป็นเพียงสิ่งธรรมดาทั่วไปให้กลายมาเป็นได้รับความนิยมที่มากเกินจริง

การสั่งห้าม “อะลัวพระเครื่อง” คือตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดท้ายก็แปลงกายมาเป็น “อะลัวคุณไสย” ซึ่งสะท้อนให้เห็นนัยยะ (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) ของการต่อสู้ขัดขืนกับอำนาจที่ไร้ความชอบธรรมดังกล่าว

ระวังนะครับ ตีมือคนรุ่นใหม่มากๆ เขาอาจจะไม่กลัวเหมือนคนรุ่นก่อน แต่จะชกคืนกลับมา

เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่ามาร้องว่าเขาก้าวร้าวละกัน