ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | มุมมุสลิม |
เผยแพร่ |
มุมมุสลิม
จรัญ มะลูลีม
การใช้กฎหมายอิสลาม
ในประเทศไทยและโลกมุสลิม (1)
การบังคับใช้กฎหมายอิสลามในประเทศไทยมีมาตั้งแต่สมัยของสุโขทัย อยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ในสมัยดังกล่าวนโยบายด้านการปกครองที่มีต่อบริเวณที่เรียกว่าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นรูปแบบหัวเมืองประเทศราช
กฎหมายอิสลามในสมัยนั้นจึงมีฐานะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ของประชากรในหัวเมืองเหล่านั้น โดยที่รัฐบาลกลางไม่ได้นำเอาหลักกฎหมายแพ่งที่ใช้อยู่ทั่วไปๆ มาบังคับใช้ในหัวเมืองเหล่านี้
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้ว่าการใช้กฎหมายอิสลามยังคงมีอยู่ แต่ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงแนวทางการปกครองหัวเมืองเหล่านี้ใหม่ กระนั้น รัฐบาลก็คงให้ใช้กฎหมายอิสลามอยู่เช่นเดิม ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นรากฐานที่สำคัญของการใช้กฎหมายอิสลามจนถึงปัจจุบัน
การใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ได้ดำเนินมาจนถึงปี 2486 ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างนั้นรัฐบาลโดยจอมพลแปลก (ป.) พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ประกาศใช้นโยบายรัฐนิยมและชาตินิยม จึงได้ยกเลิกการใช้กฎหมายอิสลามในเขต 4 จังหวัดดังกล่าว
ส่งผลทำให้บทบัญญัติบรรพ 5 และบรรพ 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ถูกบังคับใช้ครอบคลุมไปถึงจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลด้วย
นับตั้งแต่นั้นมาประชาชนชาวมุสลิมทุกคนต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเช่นเดียวกับประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ ของประเทศ
(เด่น โต๊ะมีนา, ศาลศาสนา เอกสารสำหรับการนำเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540)
การยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนพลเมืองผู้นับถือศาสนาอิสลามที่อยู่ในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูลเป็นอย่างมาก
เนื่องจากเนื้อหาของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับหลักกฎหมายอิสลาม
ประกอบกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้หมดอำนาจลงเมื่อสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลใหม่ของนายกรัฐมนตรี พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จึงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามอีกครั้ง
ในสามจังหวัดภาคใต้มีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์หรือกฎหมายอิสลาม โดยเฉพาะกฎหมายที่ว่าด้วยครอบครัวหรือมรดก (Personal Law) โดยในแต่ละจังหวัดจะมีดะโต๊ะยุติธรรม จังหวัดละ 2 คน ยะลามีเพิ่มมาอีก 1 คนในอำเภอเบตง รวมทั้งสามจังหวัดจะมีดะโต๊ะ 9 คน
ดะโต๊ะจะทำงานอยู่ที่ศาลจังหวัดและศาลเยาวชนและครอบครัว
ผู้ที่เป็นดะโต๊ะยุติธรรมเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายทั่วไปและกฎหมายอิสลามโดยการสอบคัดเลือก ถือเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการของกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ สำหรับภาคใต้ในกรณีที่โจทย์และจำเลยเป็นมุสลิม ต้องใช้กฎหมายอิสลาม จะใช้กฎหมายแพ่งไม่ได้
แต่ถ้าอีกฝ่ายไม่ได้เป็นมุสลิมก็ต้องใช้กฎหมายของแผ่นดิน
เนื่องจากการใช้ดะโต๊ะยุติธรรมตัดสินคดีต้องมีค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้โจทย์และจำเลยส่วนใหญ่จึงหันไปใช้บริการของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหรือมัจญ์ลิส
แต่ที่ก่อให้เกิดความยากลำบากก็คือมัจญ์ลิสหรือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีอำนาจบังคับคดี
ในประเทศไทยมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดอยู่ 36 จังหวัด แต่กฎหมายอิสลามจะใช้ในสี่จังหวัดเท่านั้น คือปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีมัสญิดสามแห่งขึ้นไปสามารถมีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้
สําหรับการเรียนการสอนกฎหมายอิสลามจะมีอยู่ในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในภาคใต้ของไทย เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่มีสอนเป็นวิชาเฉพาะอยู่ในสาขาสังคมศาสตร์ก็มีอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยของไทย อย่างเช่น ในมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น และในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในภาคใต้
อย่างเช่น ที่มหาวิทยาลัยฟาฏอนีจะมีหลักสูตรการเรียนการสอนห้าปี เป็นหลักสูตรนิติศาสตร์ 4 ปี ถ้าจะเรียนกฎหมายอิสลามก็เรียนเพิ่มเติมอีกหนึ่งปี
โดยเรียนก่อนหลักสูตร 4 ปีหรือหลังหลักสูตร 4 ปีก็ได้ จะได้ double degree
ประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มักใช้กฎหมายอิสลาม (ชะรีอะฮ์) ว่าด้วยครอบครัวและมรดกเป็นด้านหลัก ส่วนกฎหมายอื่นๆ ก็มักปฏิบัติตามแนวทางกฎหมายสากลโดยทั่วไปหรือกฎหมายที่มีจุดกำเนิดมาจากเจ้าอาณานิคมเดิมเช่นกฎหมายที่มีกำเนิดมาจากอังกฤษถูกใช้ในอียิปต์ และมาเลเซีย ส่วนกฎหมายที่มีกำเนิดมาจากฝรั่งเศสจะถูกใช้ในแอลจีเรีย (อัลญีเรีย)
ในกรณีของประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูอยู่ร้อยละ 14 นั้นพบว่าเมื่อสิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 1965 สิงคโปร์ยังคงใช้นโยบายเดิมในการบูรณาการกฎหมายอิสลามกับกฎหมายบ้านเมืองเพื่อบังคับใช้กับพลเมืองที่เป็นมุสลิมอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ได้มีการพัฒนาในการกำหนดเกี่ยวกับกิจการของมุสลิมและกฎหมายครอบครัวในลักษณะที่เหมาะสมกับบริบทของสิงคโปร์ มาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญแห่งสิงคโปร์ได้บัญญัติว่า “สภานิติบัญญัติอาจออกบทบัญญัติแห่งกฎหมายเพื่อกำหนดกิจการศาสนาของมุสลิมและกำหนดให้มีสภาศาสนาเพื่อเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีในเรื่องที่เกี่ยวกับกิจการของศาสนาอิสลาม”
กฎหมายฉบับนี้ได้วางโครงสร้างระบบกฎหมายอิสลามในสิงคโปร์โดยกำหนดให้มีองค์กรสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายอิสลาม ได้แก่ สภาศาสนาอิสลาม (Islamic Religious Council) สำนักงานจดทะเบียนสมรสและการหย่าสำหรับชาวมุสลิมซึ่งทำหน้าที่บริหารการสมรสและการหย่าตามกฎหมายอิสลาม และศาลชะรีอะฮ์ (Syariah Court)
ในกรณีของบรูไนทันทีที่สุลต่าน ฮัสซานัล โบลกียะฮ์ แห่งบรูไน ประกาศใช้ชะรีอะฮ์เป็นกฎหมายอาญาปกครองประเทศ ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาทำนองว่า บรูไนกำลังถอยหลังเข้าคลอง เพราะกลับไปใช้กฎหมายเก่าแก่ เป็นกฎหมายที่อาจมีผลกระทบต่อหลักสิทธิมนุษยชน
แต่ในอีกด้านหนึ่งเสียงจากประชาชนบรูไนกลับมองว่า กฎหมายชะรีอะฮ์ต่างหากที่จะช่วยหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหน สิ่งสำคัญลำดับแรกสุดคือ การทำความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับหลักชะรีอะฮ์ และแนวโน้มของการใช้ชะรีอะฮ์ในกลุ่มประเทศมุสลิมโลก
ในทางภาษาศาสตร์แล้ว ชะรีอะฮ์หมายถึง “ทางโล่งที่จะเดินไป”
แต่ในทางวิชาการหมายถึง “บทบัญญัติแห่งกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทุกๆ มิติ”
ด้วยเหตุนี้ อิทธิพลของหลักชะรีอะฮ์จึงมีอยู่ให้เห็นเสมอในพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของชาวมุสลิมตั้งแต่เกิดจนตาย โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งใช้
เนื่องด้วยชะรีอะฮ์คือบทบัญญัติทางกฎหมายที่มาจากพระเจ้า แหล่งที่มาของบทบัญญัติจึงมาจาก
1. อัล-กุรอาน ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รวบรวมวจนะและคำบัญชาของพระเจ้า
2. หะดีษและซุนนะฮ์ หรือคำสอนและแบบอย่างการปฏิบัติของท่านศาสดามุฮัมมัดในฐานะที่เป็นผู้มีอำนาจในการอธิบายรายละเอียดคำบัญชาของพระเจ้า
ทั้งสองแหล่งที่มานี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามกาลเวลาได้
คำถามคือ หลังจากที่ท่านศาสดาจากไป มีกิจกรรมมากมายของมนุษย์เกิดขึ้น ซึ่งหลายกรณีเป็นกิจกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและไม่มีปรากฏในอัล-กุรอานและซุนนะฮ์
ดังนั้น ประชาคมมุสลิมจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือในการตัดสินกิจกรรมต่างๆ เหล่านั้น?
คำตอบก็คือ นอกจากแหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดของหลักชะรีอะฮ์ข้างต้นแล้ว ก็ยังมี อิจญ์มาอ์ หรือความเห็นเป็นเอกฉันท์ของปวงปราชญ์ทางกฎหมายอิสลามที่ไม่ขัดต่อแหล่งที่มา และอิจญ์ติฮาด หรือการใช้วิจารณญาณในการนำประเด็นปัญหามาตัดสินให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอิสลาม
ดังนั้น แหล่งที่มาของกฎหมายอิสลามจึงอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
คือแหล่งที่มาที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการไม่ได้
กับแหล่งที่มาที่เป็นการตีความจากแหล่งที่มาประเภทแรก ซึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
อันสะท้อนให้เห็นถึงการมีพลวัตของชะรีอะฮ์ที่ไม่ได้หยุดนิ่งตายตัวเสียทีเดียว
หากจะแบ่งกลุ่มประเทศมุสลิมตามระบบทางกฎหมาย ก็คงแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทกว้างๆ คือ กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลัก กลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามผสมกับระบบกฎหมายอื่น และกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้กฎหมายอิสลามเลย
ประเทศที่ใช้กฎหมายอิสลามเป็นหลัก (อันครอบคลุมถึงกฎหมายครอบครัว กฎหมายอาญา และบางกรณีก็รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับความเชื่อส่วนบุคคล) กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้แก่ อียิปต์ มอริตาเนีย ซูดาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน อิรัก มัลดีฟส์ ปากีสถาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย เยเมน และบางพื้นที่ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไนจีเรีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กลุ่มที่ 2 คือประเทศมุสลิมที่ใช้กฎหมายแบบผสมผสาน คือใช้ชะรีอะฮ์ในกฎหมายครอบครัวและมรดกเท่านั้น แต่ในกรณีอื่นๆ จะมีการใช้กฎหมายสากลทั่วไป กลุ่มประเทศประเภทนี้มีมากที่สุด อันประกอบไปด้วย แอลจีเรีย คอโมโรส จิบูตี แกมเบีย ลิเบีย (กำลังอยู่ในการเปลี่ยนไปใช้ชะรีอะฮ์) โมร็อกโก โซมาเลีย บาห์เรน บังกลาเทศ กาซา จอร์แดน คูเวต เลบานอน มาเลเซีย โอมาน และซีเรีย
นอกจากนี้ บางประเทศยังยินยอมให้ใช้ชะรีอะฮ์ในกฎหมายครอบครัวและมรดกสำหรับมุสลิมชนกลุ่มน้อย เช่น อินเดีย สิงคโปร์ อังกฤษ ศรีลังกา ไทย เป็นต้น
ส่วนกลุ่มประเทศที่ไม่ใช้ชะรีอะฮ์เลยคือ บูร์กินาฟาโซ ชาด กินีบิสเซา มาลี ไนเจอร์ เซเนกัล ตูนิเซีย (กำลังอยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลง) อาเซอร์ไบจาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ตุรกี แอลเบเนีย และโคโซโว
วันนี้บรูไนกำลังจะถูกเพิ่มเข้าไปในรายชื่อกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมายชะรีอะฮ์เป็นหลัก และมีแนวโน้มว่าจะมีประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่พร้อมจะใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ในการปกครองประเทศ
(ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ในศราวุฒิ อารีย์, บรูไน : อีกหนึ่งประเทศภายใต้ชะรีอะฮ์ คมชัดลึก, 1 พฤศจิกายน 2556)