การศึกษา / ศธ.เลื่อนเปิดเทอมใหญ่ รับมือวิกฤต ‘โควิด’ ระลอกใหม่??

การศึกษา

ศธ.เลื่อนเปิดเทอมใหญ่

รับมือวิกฤต ‘โควิด’ ระลอกใหม่??

 

ป่วนตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย กำลังแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและหนักหน่วงขึ้นไปอีก เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อทะยานอยู่หลัก 1-2 พันกว่ารายแทบทุกวัน

เรื่องดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนมาก กังวลว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ. จะรับมือและจัดการเรียนการสอนท่ามกลางวิกฤตนี้ได้หรือไม่??

ล่าสุด น.ส.ตรีนุชระบุว่า ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รับทราบเรื่องการเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน เนื่องจากสถานการณ์โดยรวมของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่อาจรุนแรงมากขึ้น

“นอกจากนี้ ศบค.เห็นด้วยในหลักการตามที่ ศธ.ขอให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดพื้นที่สีแดงเป็นลำดับแรก ที่จะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพราะเมื่อเปิดเทอมแล้ว ครูและบุคลากรทางการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มของผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจากการปฏิบัติงาน หากติดเชื้อขึ้นมา ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปสู่นักเรียนและผู้ปกครองอีกเป็นจำนวนมาก การที่ครูและบุคลากรทางการศึกษามีสิทธิในการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึงนั้น จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันให้ครูมีความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ตลอดจนสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนให้กับนักเรียนได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ”

น.ส.ตรีนุชกล่าว

ตรีนุช เทียนทอง

 

แม้ระยะแรก รัฐมนตรีว่าการ ศธ.จะย้ำชัดเจนว่าจะเปิดภาคเรียนที่ 1/2564 ในวันที่ 17 พฤษภาคม แน่นอน เพราะไม่ต้องการกระทบการเรียนการสอนของครูและนักเรียน

แต่เมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้น จึงต้องจำใจปรับเปลี่ยนเพื่อให้ “นักเรียน” ปลอดภัยมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อ ศธ.เลื่อนเปิดภาคเรียนแล้ว ผลกระทบที่ตามมาคือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะต้องปรับปฏิทินการรับนักเรียนตามไปด้วย โดย สพฐ.ได้ปรับปรุงปฏิทินการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ฉบับใหม่ กรณีเปิดเทอมวันที่ 1 มิถุนายน โดยปรับตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยได้เลื่อนจากปฏิทินเดิมออกไป 2 สัปดาห์ ดังนี้

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เลื่อนการจับสลากและประกาศผล วันที่ 15 พฤษภาคม รายงานตัว-มอบตัววันที่ 16 พฤษภาคม

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สอบวันที่ 22 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พฤษภาคม จับสลากวันที่ 24 พฤษภาคม ประกาศผลภายในวันที่ 24 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 29 พฤษภาคม

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สอบวันที่ 23 พฤษภาคม คัดเลือกความสามารถพิเศษ วันที่ 19 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 25 พฤษภาคม รายงานตัวและมอบตัววันที่ 30 พฤษภาคม

สำหรับโรงเรียนที่มีลักษณะพิเศษ ที่จัดสอนสำหรับเด็กพิการ/ผู้ด้อยโอกาส รับสมัครวันที่ 24-30 เมษายน สอบคัดเลือกวันที่ 15-19 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 23 พฤษภาคม รายงานตัวและมอบตัวภายในวันที่ 29 พฤษภาคม

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีนักเรียนคนใดที่ยังไม่มีที่เรียน ยื่นความจำนงได้ในวันที่ 25-27 พฤษภาคม ประกาศผลวันที่ 29 พฤษภาคม และมอบตัววันที่ 30 พฤษภาคม

ส่วนการรับนักเรียน-นักศึกษาของวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ปีการศึกษา 2564 ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

โดยระหว่างวันที่ 1-16 พฤษภาคมนี้ สถานศึกษาในสังกัด สอศ.จะรับรายงานตัวของนักศึกษา การเตรียมความพร้อมในด้านการจัดการเรียนรู้ การประชุมผู้ปกครอง และการปฐมนิเทศนักศึกษา ซึ่งทั้งหมดจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์

ทำเอาหลายคนลุ้นกันว่าการเรียนการสอนต่อจากนี้ จะย้อนกลับมาเจอปัญหาเดิมเหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่??

 

จากมุมมองของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียนของ น.ส.ตรีนุช ดูเหมือนรอบคอบ แต่ไม่ได้มองปัญหาแบบรอบด้าน โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับการเปิดเทอมตามกำหนดเดิม เพราะแม้จะเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป แต่ถ้าไม่มีการจัดระบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพรองรับ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เป็นเพียงการชะลอสถานการณ์ และทำให้การศึกษาหยุดชะงัก

“การแก้ปัญหาด้วยการหยุดเรียนแบบซ้ำซ้อน และให้เด็กเรียนออนไลน์นั้น จะทำให้การศึกษาถดถอยไปถึง 40-50% และจากการเรียนออนไลน์ครั้งที่ผ่านๆ มานั้น เด็กส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเรียนไม่ค่อยรู้เรื่อง เรียนไม่ค่อยเข้าใจ การบ้านเยอะ อุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ตไม่เสถียร และส่งผลเสียทำให้สุขภาพจิตของเด็กเสื่อมลง ซึ่ง ศธ.เองก็ไม่ได้มีมาตรการเยียวยา หรือช่วยเหลือเด็กเลย” ศ.ดร.สมพงษ์กล่าว

เช่นเดียวกับกลุ่ม “นักเรียนเลว” ได้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ น.ส.ตรีนุชเช่นกัน โดยมองว่าเชื้อโควิด-19 ระบาดมาเกือบปีครึ่ง ยังไม่มีมาตรการอะไรรองรับ ปฏิบัติงานล้มเหลว ขายผ้าเอาหน้ารอดไปวันๆ พอเด็กบอกเรียนไม่ทัน ก็ไม่สน

อยากถามว่า เห็นหัวนักเรียนบ้างไหม ทำไมต้องผลักภาระให้ผู้เรียนตลอด บริหารงานห่วยๆ สุดท้ายเด็กรับกรรม!!

เพราะแม้ ศธ.จะเน้นย้ำชัดเจนว่าโรงเรียนไม่จำเป็นต้องสอนออนไลน์เพียงอย่างเดียว เพราะ สพฐ.จะออกรูปแบบการเรียนการสอน 5 รูปแบบไว้รองรับแล้ว ได้แก่ ระบบ ON-AIR, ONLINE, ON-DEMAND, ON-HAND และ ON-SITE ซึ่งโรงเรียนทุกแห่งสามารถนำรูปแบบเหล่านี้ไปจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบทของตนได้

แต่จะยืนยันได้อย่างไรว่า การจัดการศึกษาตาม 5 รูปแบบที่วางไว้ จะไม่สร้างปัญหาเหมือนปีที่ผ่านมา??

 

ทั้งนี้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในปีการศึกษา 2563 ทำให้ต้องเลื่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 และภาคเรียนที่ 2 ไม่เพียงกระทบการศึกษาในภาพรวมของประเทศเท่านั้น ยังกระทบถึงการปรับปฏิทินการสอบต่างๆ

โดยเฉพาะระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ทำให้ ทปอ.ถึงกับกุมขมับ เพราะต้องปรับปฏิทินการคัดเลือกทีแคส ปีการศึกษา 2564 ออกไป

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อ ศธ.ประกาศเลื่อนเปิดภาคเรียน 1/2564 จากวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ 1 มิถุนายน ปฏิทินการสอบทีแคสในปีการศึกษา 2564 จะต้อง “เลื่อน” ตามไปด้วยหรือไม่

ประเด็นนี้ นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส ให้คำตอบว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียนของ ศธ.ครั้งนี้ ไม่กระทบการปฏิทินทีแคส ปีการศึกษา 2564 แม้ว่า ศธ.จะเลื่อนเปิดเทอมเป็นวันที่ 1 มิถุนายน แต่ไม่ได้เลื่อนปิดภาคเรียนที่ 1/2564 และไม่ได้เลื่อนเปิดภาคเรียน 2/2564 ทำให้ ทปอ.ไม่จำเป็นต้องเลื่อน หรือปรับปฏิทินในส่วนนี้

ต้องจับตาดูต่อไปว่า ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ศธ.จะปรับปฏิทินเปิดเรียนอีกรอบหรือไม่!!

แต่อย่าลืมว่าการปรับเปลี่ยนต่างๆ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คงไม่พ้น “นักเรียน” ตาดำๆ!!