วิรัตน์ แสงทองคำ/กัลฟ์ (2) Japan Connection

วิรัตน์ แสงทองคำ/viratts.WordPress.com

กัลฟ์ (2) Japan Connection

 

ว่าด้วยโอกาส สายสัมพันธ์ และเทคโนโลยี ก่อเป็นพลังใหม่ๆ ทางธุรกิจ

หากจะกล่าวถึงกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี (Gulf Energy) โดยไม่กล่าวถึงสารัชถ์ รัตนาวะดี ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารก็คงไม่ได้

จุดตั้งต้นว่าด้วยบทบาทสำคัญของบุรุษผู้นี้เป็นเรื่องที่มีที่มาเชื่อมโยงกัน

เท่าที่มีในประวัติผู้บริหารที่แจ้งต่อสาธารณชน ผ่านรายงานประจำปี (บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จํากัด (มหาชน)) ข้อมูลที่ย้อนไปไกลที่สุด คือเขามีตำแหน่งเป็นกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กัลฟ์ อิเล็คตริก จํากัด (มหาชน) ในช่วงปี 2537-2559

กัลฟ์ อิเล็คตริก ตั้งขึ้นเมื่อปี 2537 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาธุรกิจการผลิตไฟฟ้า เข้ากับจังหวะเวลาตามแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจพลังงานไฟฟ้า (ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว) กับการก่อเกิดโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย (SPP)

กัลฟ์ อิเล็คตริก เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO (ก่อตั้งปี 2535 เข้าตลาดหุ้นปี 2538) บริษัทซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ Electric Power Development Co.,Ltd. แห่งญี่ปุ่น หรือเรียกกันว่า J-POWER และบริษัท มิตรพาวเวอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด กิจการในประเทศไทยของ Mitsui Group แห่งญี่ปุ่น ในสัดส่วน 50/49/1 ตามลำดับ

ในเวลานั้น ถือว่าสารัชถ์ รัตนาวะดี นักบริหารรุ่นใหม่ในวัยราวๆ 30 ปี เพิ่งมีประสบการณ์ทำงานไม่นาน ยังไม่มีใครรู้จักมากนัก หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Master of Science in Engineering, University of Southern California

จุดตั้งต้นสารัชถ์ รัตนาวะดี มาตั้งหลักที่กัลฟ์ อิเล็คตริก เป็นมาอย่างไรไม่แน่ชัด แต่ที่สำคัญมีความหมายอย่างมาก เป็นฐานแห่งสายสัมพันธ์ทางธุรกิจอันมั่นคงและต่อเนื่องในเวลาต่อมา ทั้งกับ กฟผ. J-POWER และ Mitsui

 

Electric Power Development Co., Ltd. หรือ J-POWER กิจการด้านพลังงานยักษ์ใหญ่แห่งญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2495 เข้ามามีบทบาทในประเทศไทย มีความสัมพันธ์กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ครั้งแรกในโครงการเขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี ในปี 2510 ต่อเนื่องมาจนถึงโครงการลำตะคอง นครราชสีมา ในปี 2533 (อ้างจาก https://www.jpower.co.jp/english/company_info/history/)

พัฒนาการเป็นไปอย่างซับซ้อนพอประมาณ จากกัลฟ์ อิเล็คตริก จนมาถึงกัลฟ์เจพาวเวอร์ (Gulf JP) ก่อตั้งขึ้นในปี 2550 เริ่มต้นเป็นกิจการย่อยซึ่งถือหุ้น 100% โดย J-POWER ก่อนมาเป็นกิจการร่วมทุนในสัดส่วน 60/40 กับกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ในปัจจุบัน

“ดําเนินโครงการโรงไฟฟ้า 9 โครงการ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่สระบุรี และโครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่อยุธยา และโครงการโรงไฟฟ้า SPP ก๊าซธรรมชาติ 7 โครงการตั้งอยู่ที่สระบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา ระยอง และปทุมธานี มีกําลังการผลิตไฟฟ้า ติดตั้งรวมทั้งสิ้น 4,236.6 เมกะวัตต์ โดยโครงการทั้งหมดเปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์แล้วระหว่างปี 2556-2558” (อ้างข้อมูลของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี)

ส่วน Mitsui เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งแห่งญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า keiretsu มีกิจการหลายแขนงในประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนรวมในแผนพัฒนาการโรงไฟฟ้าเอกชน โดยเฉพาะความร่วมมือกับ J-POWER และ กัลฟ์เอนเนอร์จี โดยรับผิดชอบออกแบบงานวิศวกรรม-จัดหา-ก่อสร้าง (Engineering-Procurement-Construction) อย่างโครงการโรงไฟฟ้ารายย่อย (SPP) ของ GulfJP ที่กล่าวถึงข้างต้น มี Mit-Power (Thailand) กิจการหนึ่งของ Mitsui ในประเทศไทยเป็น EPC Contractor ตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ Mit-Power (Thailand) โดยได้เลือกผู้รับเหมาก่อสร้างอีกทอดหนึ่ง เป็นกิจการเครือข่าย Toyo แห่งญี่ปุ่น อะไรทำนองนี้

ความสัมพันธ์ระหว่างกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี กับ Mitsui แห่งญี่ปุ่นพัฒนาต่อมาเป็นกิจการร่วมทุน ในนาม Gulf MP และ IPD ในสัดส่วน 70/30

Gulf MP “ดําเนินโครงการโรงไฟฟ้า SPP ก๊าซธรรมชาติ 12 โครงการตั้งอยู่ที่ระยอง ปราจีนบุรี อยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา มีกําลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,563.4 เมกะวัตต์ เปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์ระหวางปี 2560-2562” ส่วน IPD “ดําเนินโครงการโรงไฟฟ้า IPP ก๊าซธรรมชาติ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ชลบุรี และโครงการโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ระยอง มีกําลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 5,300.0 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเปิดดําเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2565-2567” (อ้างไว้แล้ว)

 

สารัชถ์ รัตนาวะดี มีภูมิหลังและประสบการณ์อย่างผสมผสาน มีส่วนผสมบางสิ่งบางอย่างที่ลงตัวและน่าสนใจ

หากพิจารณาในแง่กว้างๆ อย่างที่มักมองกัน เขามีพื้นฐานทางสังคมจากครอบครัวทหาร สะท้อนเครือข่ายสายสัมพันธ์อันมั่นคงของสังคมไทย ประสานกับอิทธิพลนักการเมือง (ฝ่ายภรรยา) จึงเชื่อกันว่าเป็นปัจจัยให้เข้าถึงและข้ามผ่านกลไกอำนาจรัฐในช่วงเปลี่ยนผ่านต่างๆ ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

จากประสบการณ์อ้างอิงข้างเคียง ช่วงเปลี่ยนผ่านธุรกิจพลังงาน จากดั้งเดิม (ธุรกิจเหมืองแร่ของครอบครัวภรรยา) สู่กระแสใหม่ๆ มองเห็นความเป็นไป แนวโน้ม และพัฒนาการทางเทคโนโลยี ด้วยประสบการณ์อันเข้มข้น ผ่านรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าอันทรงอิทธิพลของไทย จนถึงความเคลื่อนไหวเครือข่ายธุรกิจไฟฟ้าระดับโลกโดยเฉพาะบทเรียนจากญี่ปุ่น

สารัชถ์ รัตนาวะดี มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงไฟฟ้าในฐานะมืออาชีพเกือบๆ 2 ทศวรรษ ก่อนจะมาก่อตั้งกิจการตนเองอย่างจริงจังในปี 2550 กิจการซึ่งอ้างอิงกับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก พัฒนาการไปตามจังหวะก้าว จากกิจการร่วมทุนที่ถือหุ้นข้างน้อย (กรณี J-POWER) สู่กิจการซึ่งถือหุ้นข้างมาก (กรณี Mitsui) เพียงแค่นั้นได้สร้างรากฐานธุรกิจอย่างสำคัญให้ก้าวสู่เวทีเทียบเคียงกับผู้มีอิทธิพลและผู้มาก่อน (โปรดพิจารณาข้อมูลจำเพาะ)

จุดพลิกโฉมหน้าครั้งสำคัญ คือการนำกิจการเข้าตลาดหุ้นในปี 2560