เมื่อปรีดีหนุ่มก่อการที่ฝรั่งเศส

เรื่องราวของปรีดี พนมยงค์ เป็นที่รู้จักกันดีมากแล้วในสังคมไทย หลังการกลับสู่เมืองไทยอีกครั้งในฐานะ “พ่อปรีดี”

ชีวิตและผลงานของปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกตีพิมพ์อย่างแพร่หลายขึ้นมาก จนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

โดยมากคนส่วนใหญ่มักรู้จักปรีดี พนมยงค์ จากบทบาทสมาชิกคณะราษฎร ในฐานะผู้นำสายพลเรือนหรือเป็นมันสมองของคณะราษฎร

แต่เรื่องของนายปรีดี พนมยงค์ ในวัยหนุ่ม ก่อนทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 กลับไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากนัก

อาจเนื่องด้วยมิได้มีเรื่องราวโลดโผนเท่ากับบทบาทในช่วงเป็นผู้ก่อการและหลังจากนั้น

แต่ไม่ว่าอย่างไร วีรกรรมของปรีดีหนุ่มที่กล้ายืนประจันหน้ากับตัวแทนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ฝรั่งเศส ก็ยังเป็นเรื่องราวที่สมควรได้รับการกล่าวถึงในฐานะจุดเริ่มต้นการปฏิวัติของนักปฏิวัติคนสำคัญผู้นี้

 

เด็กชายปรีดี พนมยงค์
จากนักเรียนบ้านนอก
สู่นักเรียนนอก

คงเป็นที่ทราบกันดีอยู่ในหมู่ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองว่า ปรีดี พนมยงค์ เป็นเด็กบ้านนอก เกิดในครอบครัวของนายเสียงและนางลูกจันทร์ พนมยงค์ วิ่งเล่นและเติบโตอยู่แถวท่าวาสุกรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หัดอ่านเขียนเรียนหนังสือที่บ้านครูแสง แล้วไปเรียนต่อกับหลวงปราณีฯ (เปี่ยม) ก่อนจะเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำอำเภอ แล้วไปสำเร็จการศึกษาระดับสูงที่โรงเรียนตัวอย่างในชั้นมัธยม 6 จึงเก็บกระเป๋าเข้ากรุง ไปเรียนต่อที่สวนกุหลาบอีก 6 เดือน

ครั้นเป็นหนุ่มใหญ่ได้ที่ ก็หอบตำรับตำรา มอบตัวแก่ครูบาอาจารย์ที่โรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ใน พ.ศ.2460 ก่อนจะใช้เวลา 2 ปี สอบไล่วิชากฎหมายชั้นเนติบัณฑิตได้ในอายุเพียง 19 ปี

และต่อมาใน พ.ศ.2463 เขาก็มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้เป็นสมาชิกสามัญแห่งเนติบัณฑิตยสภา

จนกระทั่งเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ปรีดีหนุ่มก็ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปศึกษาต่อวิชากฎหมาย ณ ประเทศฝรั่งเศส ในวัย 20 ปีเท่านั้น

 

ปรีดีหนุ่ม กับสมาคม S.I.A.M.

หลังจากที่ปรีดีหนุ่ม เดินทางถึงประเทศฝรั่งเศสและได้เข้าศึกษาตามทุนที่ได้รับจากกระทรวงยุติธรรมแล้ว

ในระหว่าง พ.ศ.2466-2467 นี่เอง ปรีดีหนุ่มได้ก่อตั้งสมาคม S.I.A.M. หรือ สามัคยานุเคราะห์ ร่วมกับนักเรียนทุนไทยในยุโรป เพื่อดูแลชีวิตความเป็นอยู่และรักษาผลประโยชน์ของนักเรียนทุนไทยในยุโรปทั้งหมด

กิจกรรมที่สำคัญสมาคม S.I.A.M นอกจากจะเป็นการดูแลความเป็นอยู่ของนักเรียนทุนในยุโรปแล้ว ยังได้จัดกิจกรรมพบปะพูดคุย จัดงานเลี้ยง เล่นกีฬา ฝึกซ้อมอาวุธต่างๆ ร่วมไปถึงการปาฐกถาโต้วาที และการแสดงละครเสียดสีการเมืองด้วย

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากสมาชิกสมาคม

เผชิญหน้ากับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ครั้งแรก

ใน พ.ศ.2468 ปรีดีหนุ่มเป็นเลขาธิการสมาคม เขาได้จัดการประชุมระหว่างหยุดฤดูร้อน โดยเขาได้เสนอในที่ประชุมถึงการทำงานของพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร อัครราชทูตไทยประจำฝรั่งเศสและมีหน้าที่ดูแลนักเรียนทุนไทย (ผู้เป็นตัวแทนของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์) ว่า มีความไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และดูแลเงินค่าใช้จ่ายของนักเรียนทุนไทยในฝรั่งเศสไม่ถูกต้อง เนื่องจากค่าเงินตกต่ำลงอยู่เรื่อยๆ และเงินทุนที่นักเรียนทุนได้รับในทุกๆ วัน ก็ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย จึงสมควรที่นักเรียนทุนไทยจะทำหนังสือเสนอต่อพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์ให้เพิ่มเติมเงินค่าใช้จ่ายต่อนักเรียนที่มีเงินไม่พอใช้

เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พระองค์เจ้าจรูญหาทางกำจัดปรีดีหนุ่ม จึงโทรเลขกลับไปฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ว่าปรีดีหนุ่มทำตัวเหมือนหัวหน้าสหภาพแรงงาน โดยยุยงให้นักเรียนเรียกร้องเงินเดือนเพิ่มเติม และขัดคำสั่งอัครราชทูต

แต่ปรีดีหนุ่มและสมาชิกสมาคมได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่า การกระทำของปรีดีหนุ่มมีความผิด เพราะก่อการยุยงให้กระด้างกระเดื่องต่ออัครราชทูต จึงให้มีการเรียกนายปรีดี พนมยงค์ กลับประเทศทันทีโดยไม่ต้องรอให้ศึกษาจนจบหลักสูตร

แต่ทว่าในระหว่างนั้น บิดาของนายปรีดีได้ทูลเกล้าฯ ฎีกาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ให้อนุญาตให้ปรีดีหนุ่มศึกษาต่อจนจบแล้วจึงค่อยเรียกตัวกลับ

ในเวลาต่อมาพระองค์จึงทรงกลับพระบรมราชวินิจฉัย โดยอนุญาตให้นายปรีดีเรียนต่อให้จบ และต้องทำหนังสือขอประทานโทษต่อพระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรในการที่ได้ขัดขืนคำสั่งของอัครราชทูต

การก่อการเรียกร้องของนายปรีดีในครั้งนี้ ได้ส่งผลดีต่อนักเรียนทุนไทยในฝรั่งเศส เพราะได้ทำให้พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรต้องเพิ่มเงินเดือนให้แก่นักเรียนทุนไทยให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น

ทัณฑ์บนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พันธนาการได้แต่เพียงร่างกายเท่านั้น แต่มิอาจล่ามตรวนจิตใจและสติปัญญาของนักปฏิวัติหนุ่มได้ นายปรีดีผู้ใฝ่ประชาธิปไตยและมิตรสหาย ได้เปิดการประชุมที่บ้านพักเลขที่ 9 ถนนซอเมอราร์ ณ กรุงปารีส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2469

และนั่นคือแรกกำเนิดของคณะราษฎรและประชาธิปไตย…