คุยกับทูต เอฟรอน อักกุน ครบวาระสี่ปีที่ผูกพัน สานสัมพันธ์ไทย-ตุรกี (ตอน 1)

 

คุยกับทูต เอฟรอน อักกุน

ครบวาระสี่ปีที่ผูกพัน

สานสัมพันธ์ไทย-ตุรกี (ตอน 1)

นางเอฟเรน ดาเดเลน อักกุน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย กราบบังคมทูลลา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ในโอกาสที่จะพ้นจากตำแหน่งหน้าที่

“ประเทศไทยและกรุงเทพฯ จัดเป็นสถานที่พิเศษซึ่งประทับอยู่ในใจของผู้คนทั่วโลก ด้วยเพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีประเพณีและวัฒนธรรมหลากหลาย รวมถึงความมีน้ำใจของคนไทย ตลอดจนอาหารไทยที่เลื่องลือขึ้นชื่อ”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดงานออกร้านคณะภริยาทูตครั้งที่ 54

กล่าวโดยเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน (Her Excellency Mrs. Evren Dağdelen AkgÜn)

“เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.2017 ดิฉันได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งทูตครั้งแรก โดยเป็นเอกอัครราชทูตตุรกีประจำประเทศไทย และยังเป็นคนแรกที่เป็นผู้หญิง จึงทำให้ประเทศไทยและกรุงเทพฯ มีความสำคัญเป็นพิเศษยิ่งขึ้นสำหรับดิฉัน”

“ในระหว่างนี้ ดิฉันกำลังเตรียมตัวในการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ในกรุงเทพฯ จึงขอใช้โอกาสนี้เพื่ออำลา และกล่าวขอบคุณทุกคน ทั้งที่รู้จักกันผ่านการทำงานและรู้จักเป็นการส่วนตัว ซึ่งได้ให้การต้อนรับดิฉันอย่างอบอุ่นในประเทศที่สวยงามนี้ การจัดตั้งกรอบความร่วมมือและมิตรภาพที่เราได้สร้างขึ้น ล้วนแต่จะดำเนินและผลิบานอย่างรุ่งเรืองต่อไป”

นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน (Her Excellency Mrs. Evren Dağdelen AkgÜn)

“ประเทศตุรกีและไทยต่างมีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ เป็นสองประเทศที่มีความเหมือนกันมากกว่าที่มองเห็นทั่วไป เพราะต่างเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคของตน มีวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งและหลากหลาย รวมทั้งอาหารที่ยอดเยี่ยม อันสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมข้างต้น ทั้งสองประเทศต่างก็มีชื่อเสียงในด้านความสวยงามของสภาพแวดล้อมเชิงธรรมชาติ และเหนือสิ่งอื่นใดคือความมีน้ำใจไมตรีของผู้คนทั้งสองชนชาติ”

“ความสัมพันธ์ในปัจจุบันของเราประกอบไปด้วยความร่วมมือต่างๆ ซึ่งครอบคลุมไปหลายด้านแล้วในช่วง 63 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของเรา ซึ่งดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีแห่งความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเมื่อปี ค.ศ.2018 ซึ่งเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างกัน (Reciprocal Culture Year) ด้วย”

“ทุกวันนี้ตุรกีและไทยมีความใกล้ชิดซึ่งกันและกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีแผนความร่วมมือทางธุรกิจและวิชาการมากขึ้น และมีข้อตกลงที่ถูกบังคับใช้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งในช่วงก่อนที่ COVID-19 จะระบาดไปทั่วโลก จำนวนนักท่องเที่ยวของเราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

“สายการบินตุรกี (Turkish Airlines) ซึ่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสายการบินที่ดีที่สุดของโลก ได้ให้บริการเที่ยวบินมายังกรุงเทพฯ เป็นจำนวน 3 เที่ยวต่อวัน และ 1 เที่ยวบินไปยังภูเก็ต รวมเป็น 28 เที่ยวบินระหว่างตุรกีและไทย”

การส่งพลเมืองที่ตกค้างในไทยกลับประเทศตุรกี ช่วงการแพร่ระบาดโควิท-19

“ตุรกีเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ที่มีสถานที่ตั้งที่สะดวก เป็นประเทศสองทวีปที่มีดินแดนอยู่ทั้งในฝั่งตะวันออกคือทวีปเอเชียและตะวันตกคือทวีปยุโรป มีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่คุณค่าระดับโลก (Global value chains : GVCs) และได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์ COVID-19 ในฐานะซัพพลายเออร์ที่เชื่อถือได้ต่อเศรษฐกิจโลก ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของตุรกี อาทิ ความสามารถในการผลิตขั้นสูง สถานที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลาง และการมีเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรี เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่เอื้อต่อบริษัทข้ามชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศเพื่อกระจายและจัดเครือข่ายการจำหน่ายที่มั่นคง”

นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน (Her Excellency Mrs. Evren Dağdelen AkgÜn)

“อุตสาหกรรมการผลิตของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้เปลี่ยนไปสู่การผลิตขั้นสูงตามรายงานล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) ตุรกีมีความสามารถและข้อได้เปรียบด้านการผลิตที่มีเทคโนโลยีสูงหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเภสัชกรรม การบินและอวกาศ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงความมั่นคงแห่งชาติ และอุตสาหกรรมยานยนต์ และในความเป็นจริง การผลิตภาคอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นถึง 9% ในปี ค.ศ.2020 ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนธันวาคม”

เมืองโบราณเอฟิซัส (EPHESUS) จังหวัดอิชเมียร์ ตุรกี

“การลงทุนร่วมกันเป็นสิ่งที่เราอยากจะส่งเสริมกับประเทศไทยต่อไป ดิฉันรู้สึกยินดีเมื่อบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียง 3 บริษัทจากตุรกีมาเปิดดำเนินการตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทย ได้แก่ โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทคในวัสดุคอมโพสิตสำหรับชิ้นส่วนเครื่องบินและยางรถยนต์ รวมถึงตู้เย็นและเครื่องจักรขุดค้น นอกจากนี้ ยังมียาง เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์นม อันส่งผลต่อการส่งออกของไทย”

“ทั้งนี้ ฝ่ายที่ปรึกษาการค้าของสถานทูตตุรกี ตลอดจนสภาธุรกิจไทย-ตุรกี (Thailand-Turkey Business Council) และสภาธุรกิจภาคส่วนอื่นๆ ล้วนมีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าและธุรกิจระหว่างไทย-ตุรกีต่อไปในอนาคต”

ช่องแคบ Bosphorus ในเมืองอิสตันบูล

 

ประวัติ

นางเอฟรอน ดาเดเลน อักกุน

(Her Excellency Evren Dağdelen Akgün)

เกิด : ที่กรุงอังการา วันที่ 9 มีนาคม ค.ศ.1968

การศึกษา : ปริญญาตรีสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากวิทยาลัยแอกเนสสกอตต์ (Agnes Scott College) รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทจากวิทยาลัยแห่งยุโรป (College of Europe) เมืองบรูจจ์ (Brugge) ประเทศเบลเยียม

ประสบการณ์

1993-1995 : นักการทูต ฝ่ายวางแผนนโยบาย กระทรวงต่างประเทศตุรกี

1995-1998 : เลขานุการตรี คณะผู้แทนถาวรของคณะกรรมาธิการยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

1998-2000 : เลขานุการตรีและเลขานุการโท สถานเอกอัครราชทูตตุรกี ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน

2000-2001 : เลขานุการโท แผนกสหภาพยุโรป กระทรวงต่างประเทศตุรกี

2001-2003 : เลขานุการโท และเลขานุการเอก สถานเอกอัครราชทูตตุรกี ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

2004-2007 : เลขานุการเอก หัวหน้าแผนกแผนกสหภาพยุโรป

2007-2011 : ที่ปรึกษาคณะผู้แทนถาวรสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

2011-2013 : หัวหน้าแผนกแผนกสหภาพยุโรป กระทรวงต่างประเทศตุรกี

2013-2017 : อัครราชทูต รองอธิบดีฝ่ายวางแผนนโยบาย กระทรวงการต่างประเทศ ประเทศตุรกี

2017-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐตุรกีประจำประเทศไทย