เครื่องเคียงข้างจอ : โคลอี้ เจา กับความเป็นเอเชีย / วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

 

 

โคลอี้ เจา กับความเป็นเอเชีย

 

น่าเสียดายที่การประกาศผลรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 ที่เพิ่งผ่านไปนี้ถูกจัดขึ้นในวงแคบแบบ New Normal ด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั่นเอง

ที่เสียดายเพราะการตัดสินครั้งนี้ได้มอบรางวัลให้กับคนเอเชียและคนผิวสีมากกว่า 92 ครั้งที่ผ่านมา

เรื่องดีๆ อย่างนี้สมควรได้รับการถ่ายทอดสู่สายตาผู้ชมมากกว่านี้ แม้ว่ายอดรวมของผู้ชมการประกาศผลรางวัลออสการ์จะน้อยลงทุกปีก็ตาม

ยิ่งเป็นการประกาศผลท่ามกลางความตึงเครียดของโควิด-19 ทำให้การรับรู้ และกระแสที่จะเกิดตามมาเลยพลอยเฉาๆ ไปด้วย

อย่างไรก็ดี หลายคนก็ดีใจที่มีเรื่องดีๆ อย่างนี้เกิดขึ้นในเวทีออสการ์ (เสียที)

ไฮไลต์การแจกรางวัลออสการ์ครั้งนี้อยู่ที่ผู้กำกับฯ หญิงเชื้อสายจีน โคลอี้ เจา คว้ารางวัลผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยมมาครองจากภาพยนตร์เรื่อง “Nomadland” เอาชนะคู่แข่งสำคัญๆ ลงได้

แม้แต่นักแสดงและผู้กำกับฯ หญิงอย่างบาIร์บรา สไตรแซนด์ ที่รณรงค์เรื่องสิทธิสตรีมานานยังโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กของเธอ แสดงความยินดีกับโคลอี้ เจา ด้วย โดยบอกว่า ถึงเวลาเสียที

 

การประกาศรางวัลออสการ์ครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับคนผิวสีและคนเอเชีย มากกว่าเดิม

จำนวนนักแสดงที่ได้รับการเสนอชื่อในหมวดของนักแสดง มีคนผิวสีและคนเอเชียอยู่ถึง 9 ใน 20 คน และสามารถคว้ารางวัลมาได้ 2 รางวัล คือ นักแสดงสมทบชาย มอบให้แก่ แดเนียล คาลูยา คว้าไปครองจาก ‘Jedas and the Black Messiah’

และนักแสดงสมทบหญิง เป็นของนักแสดงหญิงวัย 73 ปี ยุนยอจอง จาก ‘Minari’ และกลายเป็นนักแสดงหญิงชาวเกาหลีใต้คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์

เช่นเดียวกับนักแสดงร่วมเรื่องเดียวกันคือ สตีเฟ่น ยอน นักแสดงอเมริกันเชื้อสายเกาหลีใต้ ก็ถือว่าเป็นนักแสดงชายชาวเอเชียคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายแม้จะพลาดไปก็ตาม

 

โคลอี้ เจา สร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้กำกับฯ หญิงชาวเอเชียคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปครอง ต่อจากปีที่แล้วที่ บงจุนโฮ ผู้กำกับฯ ชาวเกาหลีใต้ทำได้จากเรื่อง Parasite นับว่าชาวเอเชียได้แสดงศักยภาพและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงการอุตสาหกรรมบันเทิงของอเมริกาและโลกตะวันตก

อีกทางหนึ่งแสดงความเห็นว่า นี่เป็นการ “ไถ่บาป” หรือ “แก้ตัว” ของออสการ์ที่เคยทำเหมือนรังเกียจ และไม่เห็นค่ากับคนผิวสีมาแล้วจากการประกาศผลเมื่อปี 2014 และ 2015 ที่ผู้ได้รับรางวัลจากสาขานักแสดงทั้ง 20 รางวัลเป็นคนผิวขาวทั้งนั้น จนได้รับการประชดว่าเป็น Oscars SoWhite

การที่หนังอย่าง Parasite คว้ารางวัลสำคัญๆ มาครองได้ในปีที่แล้ว เป็นเหมือนประตูที่เปิดเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกได้อย่างดี แม้ลึกๆ แล้วอาจจะมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ก็ตาม

มันปรากฏตัวขึ้นมาท่ามกลางกับกระแสการเกลียดชังชาวเอเชีย ที่ฝังอยู่ในความคิดของคนอเมริกันส่วนหนึ่ง

ประกายไฟที่ทำให้เรื่องนี้ลุกลามขึ้นในวงกว้างและรุนแรงก็มาจากนโยบาย “Great American” ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ยกคนอเมริกันสูงลิ่วและจงใจกดคนต่างด้าว โดยเฉพาะคนจีนให้เป็นผู้ต่ำต้อย

คงจำได้ว่าในช่วงแรกของการระบาดของโควิด-19 ทรัมป์ตั้งใจเรียกเจ้าไวรัสนี้ว่า ChinaVirus แทนที่จะเรียกว่า CoronaVirus เป็นการจงใจชี้นิ้วกล่าวโทษประเทศจีนที่กำลังเติบโตเป็นคู่แข่งคนสำคัญให้กลายเป็นแพะรับบาป

และเมื่อโรคลุกลามจนมีคนติดเชื้อจำนวนมากและเสียชีวิตในจำนวนที่น่าตกใจ คนอเมริกันที่มีอคติกับคนเอเชียอยู่แล้วก็ยิ่งเกลียดและฝังใจยิ่งขึ้น

ต่อมาเราจึงได้เห็นข่าว เห็นคลิป ที่เกิดการทำร้ายคนเอเชียมากขึ้น ทั้งการทำร้ายด้วยวาจา ด้วยการใช้พละกำลัง จนไปถึงขั้นกราดยิงก็มี

คงจำกันได้ที่มีข่าวคนไทยในสหรัฐอเมริกาถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต นั่นคือ คุณวิชา รัตนภักดี วัย 84 ปี อาศัยอยู่ในนครซานฟรานซิสโก ได้สร้างความสั่นคลอนให้กับความรู้สึกของคนเอเชียในอเมริกาอย่างมาก

รวมทั้งที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย หญิงชาวอเมริกันเชื้อสายเวียดนาม วัย 64 ปี ถูกทำร้ายร่างกายชิงทรัพย์ไปเป็นเงินกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ที่นิวยอร์ก หญิงอเมริกันเชื้อสายฟิลิปปินส์ วัย 61 ปี ถูกทำร้ายร่างกายบนรถไฟใต้ดินและที่เมืองโอ๊กแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย และชายเชื้อสายจีน วัย 91 ปี ถูกทำร้ายร่างกายที่ย่านไชน่าทาวน์ กรณีทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากการที่เหยื่อเหล่านี้ถูกคิดว่าเป็นคนจีน ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนานั่นเอง

 

ในประวัติศาสตร์ของการอยู่ร่วมกันของคนหลายพ่อพันแม่ของอเมริกาที่เรียกว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและโอกาสนั้น ในความเป็นจริงพบว่าคนเอเชียที่เดินทางไปทำงาน ไปอาศัยอยู่ที่นั่นส่วนใหญ่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน จนเหมือนไปแย่งงานและแย่งโอกาสกับพวกเขาที่เป็นเจ้าของประเทศ

ทำไมความรู้สึกนี้ไม่เกิดกับคนต่างด้าวแบบชาวละตินหรืออเมริกาใต้ เพราะคนเหล่านี้ลำพังแค่ดิ้นรนเอาตัวรอดยังทั้งยาก ถ้าจะแย่งงานก็เป็นงานในระดับล่าง ผิดกับคนเอเชียที่ได้รับการยอมรับในความขยัน อดทน ความเก่งและมีความสามารถสูง มักถูกมอบหมายให้รับผิดชอบในตำแหน่งสูงๆ มากกว่า หลายคนมีรายได้ดี มีหน้ามีตาในสังคม

เกิดเป็นความรู้สึกอิจฉาลึกๆ อยู่ในใจ

เมื่อมาเจอกับปัญหาโควิดเข้าไปอีก จึงกระตุ้นให้เกิดเป็นปัญหา “เฮตไครม์” (hate crime) โดยเฉพาะกรณีของชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกานั้น พบว่ามีสถิติถูกทำร้ายเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างชัดเจนดังที่เล่าไปแล้ว

 

การประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นยาช่วยระบายความอึดอัด ความกดดันของความเป็น “คนเอเชีย” ลงได้ แต่ก็เป็นแค่ชั่วคราว เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ถูกฝังรากลึกมานานแล้ว

เหมือนการที่นายตำรวจผิวขาวที่ทำร้าย จอร์จ ฟลอยด์ จนเสียชีวิตคาเข่าที่กดอยู่ ถูกศาลพิพากษาให้มีความผิดและต้องติดคุกหลายสิบปี ก็ช่วยให้สถานการณ์ของคนขาวกับคนผิวสีผ่อนคลายขึ้นได้บ้าง

แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้กล่าวให้โลกมีความหวังว่า ต่อไปนี้คนทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในสหรัฐคือชาวอเมริกันเหมือนกัน ทุกคนต้องได้รับคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน แต่ในโลกของความเป็นจริงยังคงห่างไกลอยู่มาก

เผลอๆ ตัวท่านไบเดนเสียอีก ที่อาจจะเกลียดขี้หน้าประเทศจีนมากขึ้น จากการที่สองประเทศได้ส่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรกที่รัฐแอลาสก้าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา งานนั้นสหรัฐโดนจีนตอกหน้าหงายแบบหมอไม่รับเย็บ

จีนได้แสดงออกอย่างชัดแจ้งว่าจะไม่ยอมหงอต่ออเมริกาอีกต่อไปแล้ว จะไม่เล่นบทสุภาพบุรุษที่คอยให้อีกฝ่ายชี้นิ้วกล่าวประณามเหมือนที่ผ่านมา และพร้อมจะตอบโต้กลับไป

ไม่ว่าในโลกของการเมืองหรือโลกของอุตสาหกรรมบันเทิง ล้วนมีความแตกต่างกันของผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเป็นธรรมดา ทั้งต่างในเรื่องความคิด เชื้อชาติ ความเชื่อ และประวัติศาสตร์ของแต่ละคน แต่หากเรามีทัศนคติที่เป็นบวกต่อกัน ช่องว่างตรงที่เคยเป็นปัญหาก็จะได้รับการถมให้แคบลงได้

เพียงแต่คิดว่า เรากับเขา พวกเดียวกัน เพียงนี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว