ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
ทวีศักดิ์ บุตรตัน / [email protected]
คนรุ่นใหม่ไม่ทน?
ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในบ้านเรา ยังเพิ่มไม่หยุด จากเลขตัวเดียวก็เป็นหลักสิบ คนติดเชื้อพุ่งขึ้นไม่หยุดเหมือนกัน อัตราเฉลี่ยวันละ 2 พันคน ถ้าสกัดไม่อยู่ เพียง 1 เดือนคนจะติดเชื้อปาเข้าไป 6 หมื่นคน
ระบบการแพทย์พยาบาลเข้าสู่ภาวะปั่นป่วนสาหัสสากรรจ์
การจัดการบริหารรัฐบาลยุค “โควิด-19” เทียบกับสิงคโปร์เพื่อนบ้านแล้ว คนละชั้นกันเลย
สิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ปีที่แล้ว มีคนติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 932 คน เฉลี่ย 7 วันติด 718 คน
ล่าสุดต้นเดือนนี้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละแค่ 30 คนเท่านั้น เสียชีวิต 1 คน
เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว บ้านเรามีคนติดเชื้อรายใหม่แค่หลักสิบ แถมไม่มีผู้เสียชีวิตเลย มาล่าสุดวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติทะลุ 31 คน คนติดเชื้อพุ่งกว่า 2,000 คน
ทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดการบริหารห่วยลง ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์กลับบริหารดีขึ้น?
เชื่อว่าคนไทยทั่วประเทศรู้คำตอบดีอยู่แล้ว เพราะเห็นตำตา เชื้อระบาดมาจากแหล่งไหน ทั้งด่านชายแดน แหล่งซ่องสุมแรงงานเถื่อน บ่อนการพนัน ย่านบันเทิงของกลุ่มไฮโซ
แต่ที่สำคัญสุดก็คือ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวในการจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
หลังเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อโควิดในสิงคโปร์เมื่อปีแล้ว รัฐบาลนายลี เซียน หลุง สั่งล็อกดาวน์เข้มงวด
จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามคนได้รับเชื้อเข้ามารักษาพยาบาลจนกระทั่งตัวเลขผู้ติดเชื้อลดวูบ
ขณะเดียวกันใช้มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมๆ กับเร่งสั่งวัคซีนมาฉีดให้ประชาชนตั้งแต่ปลายปี
ราวๆ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้รับการยกย่องจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่าเป็นประเทศที่ฟื้นตัวจากวิกฤต “โควิด-19” เร็วที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลก แซงหน้านิวซีแลนด์เรียบร้อยแล้ว
กว่า 20 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในสิงคโปร์ได้รับการฉีดวัคซีน
การเดินทางไปไหนมาไหนอิสระเสรี มีเงื่อนไขเพียงแค่ใส่หน้ากากเท่านั้น จะเข้าโรงหนัง กินอาหารในภัตตาคาร ไปออกกำลังกายที่สนามกีฬาหรือเดินเล่นในสวนสาธารณะทำได้หมด ส่วนโรงเรียน มหาวิทยาลัย ก็เปิดแล้วเช่นกัน
ชาวสิงคโปร์กำลังกลับสู่ภาวะการใช้ชีวิตเป็นปกติ แถมยังได้รับการส่งเสริมให้เดินทางท่องเที่ยวฮ่องกงได้แล้วเพราะรัฐบาลสิงคโปร์กับผู้บริหารฮ่องกงร่วมทำข้อตกลงเดินทางข้ามแดนระหว่างกันไม่ต้องกักตัวปลายเดือนพฤษภาคมนี้
ประมาณเดือนกันยายนปีนี้ ชาวสิงคโปร์จะได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสทุกคน
แม้มีคนแย้งว่า ประชากรสิงคโปร์มีเพียง 5.7 ล้านคน การบริหารจัดการทำง่ายกว่าประเทศไทยที่มีประชากรกว่า 60 ล้านคน
แต่ประเด็นไม่ใช่จำนวนประชากร อยู่ที่วิธีคิดของผู้นำต่างหากว่าจะทำอย่างไรจึงจัดหาวัคซีนมาฉีดให้คนปลอดภัยจากโควิด-19 ได้เร็วที่สุด
หันมาดูคนไทยตอนนี้เผชิญกับมาตรการคุมเข้ม ไม่ต่างไปจากการล็อกดาวน์
เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วยิ่งแย่หนักไปอีก การแพร่ระบาดลามไปทั่วประเทศ คนตายเพราะโควิดยังไม่หยุด การจัดหาวัคซีนยังอลหม่าน
ไทยจะเปิดประเทศให้คนกลับมาท่องเที่ยว ลงทุน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจในปีหน้าเป็นไปได้สักกี่เปอร์เซ็นต์?
ถ้าประมวลภาพรวมของประเทศไทยทั้งในแง่การบริหารจัดการของรัฐบาล บรรยากาศการค้า การเมือง การศึกษา สิ่งแวดล้อมและความเท่าเทียมเป็นธรรมในสังคมแล้ว น่าจะย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี
ฉะนั้น อย่าไปโทษคนรุ่นใหม่ที่แสดงปฏิกิริยา “ไม่ทน” เพราะพวกเขาได้เรียนรู้ข้อมูลความเป็นไปของประเทศ ความเป็นไปของโลกใบนี้ผ่านเทคโนโลยีดิจิตอลได้ลึกซึ้งและเข้าใจ
บทความในเว็บไซต์ “ไฟแนนเชียลไทม์ส” ของอังกฤษ พูดถึงคนรุ่นใหม่ของโลกว่ากำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ และการทำลายสิ่งแวดล้อม
แตกต่างกับคนรุ่นพ่อ-แม่หลายล้านคนที่ใช้ชีวิตอย่างเสพสุขเพราะผลพวงการเติบโตทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 5 ทศวรรษ พุ่งขึ้นถึง 5 เท่าตัว และจำนวนประชากรขยายเพิ่มเป็นเท่าตัว
ไฟแนนเซียลไทม์สบอกว่า ผู้คนทั่วโลกพากันขุดคุ้ยตักตวงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากขึ้นเป็น 3 เท่าตัว เป็นแรงขับดันให้เศรษฐกิจโลกเติบโต 5 เท่าตัว
แต่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างอีลุ่ยฉุยแฉกได้สร้างกรรมเวรให้กับลูก-หลานของตัวเองในเวลานี้
คนรุ่นใหม่ทั่วโลกใช้ชีวิตอยู่ในท่ามกลางอากาศเสีย น้ำในแม่น้ำ ทะเลปนเปื้อนไปด้วยสารพิษตกค้าง ขยะพลาสติก ป่าที่ถูกโค่นทำลายทิ้งเหลือแต่ดินแตกระแหง
สหประชาชาติเปิดตัวเลขความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ป่าและพันธุ์พืชซึ่งเคยมีมากถึง 8 ล้านสายพันธุ์ บัดนี้ชาวโลกคุกคามทำลายจนเหลืออยู่เพียง 7 ล้านสายพันธุ์
ช่วง 50 ปี ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกเจอน้ำมือมนุษย์บดขยี้สูญพันธุ์ไปแล้ว 1 ล้านสายพันธุ์
การทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายสภาพป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนี่แหละ ทำให้โรคอุบัติใหม่ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่น โคโรนาไวรัส ซาร์ส หรืออีโบลา
การเติบโตทางเศรษฐกิจ เร่งให้ผู้คนใช้ชีวิตอย่างหรูหราสุขสบาย แต่ละบ้านมีเครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ ขณะที่โรงงานผลิตสินค้า โรงไฟฟ้า ผุดโผล่ไปทั่วโลก
ปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลกมีระดับความเข้มข้นมากพอที่ทำให้สภาวะภูมิอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง อุณหภูมิพุ่งสูง สภาพอากาศที่เคยอยู่กันอย่างสบายๆ กลับเปลี่ยนเป็นร้อนจัด หนาวจัด มีฝนตกหนัก น้ำท่วม แห้งแล้งติดต่อกันนานเป็นเดือนๆ
ขั้วโลกที่มีน้ำแข็งปกคลุมหนามาเจอกับภาวะโลกร้อน แผ่นน้ำแข็งละลาย น้ำทะเลเพิ่มสูงเอ่อท่วมเกาะแก่งและชายฝั่ง
คนรุ่นใหม่เจอวิกฤตภัยจากภาวะโลกร้อน จากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติมาหลายปีแล้ว ไหนยังมาเจอกับวิกฤตภัยจากเชื้อโรคโควิด-19 กระหน่ำซ้ำอีกกระทอก
ประเทศที่มีผู้นำแข็งแกร่ง วิสัยทัศน์ก้าวไกล มองเห็นประชาชนคือ “นาย” ต้องดูแลเอาใจใส่ ส่งผลต่อความรู้สึกอบอุ่นและมั่นใจ ส่งพลังไปยังคนรุ่นใหม่เกิดความคิดสร้างสรรค์สานต่อความคิดดีๆ ให้กับบ้านเมือง
คนรุ่นใหม่หลายประเทศลุกขึ้นมาปลุกพลังผู้คนช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มีจำนวนไม่น้อยริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้โลกใบนี้มีอากาศสะอาด บริสุทธิ์ มีน้ำทะเลสดใส และสร้างบ้านสร้างเมืองให้น่าอยู่
คนรุ่นใหม่ของบ้านเราเจอวิกฤตสิ่งแวดล้อมยังไม่พอ กลับมาเจอผู้นำบริหารประเทศห่วยๆ เศรษฐกิจทรุดพัง มองหาอนาคตตัวเองไม่เจอ ระบบความยุติธรรมความเท่าเทียมในสังคมตกต่ำ ความเหลืออดเหลือทนจึงปะทุขึ้น
ถ้าผู้นำประเทศไม่เข้าใจความรู้สึกคนรุ่นใหม่ บ้านเมืองนี้อาจจะเจอวิกฤตยิ่งกว่าที่ปรากฏ