โฟกัสพระเครื่อง : มงคลเหรียญปั๊มรุ่น 25 หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร

(ซ้าย) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร (ขวา) เหรียญหลวงปู่ฝั้น รุ่น 25 หน้าและหลัง

โฟกัสพระเครื่อง–(สุรินทร์ สรรพคุณ)

โคมคำ / [email protected]

 

มงคลเหรียญปั๊มรุ่น 25

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร

 

“หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” หรือ “พระอาจารย์ฝั้น” วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร พระเกจิสายวิปัสสนากัมมัฏฐานภาคอีสาน เป็นที่เคารพศรัทธาและมีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั่วทุกสารทิศ

เป็นศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมสายวัดป่า และยังเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่ฝั้น เป็นสุดยอดปรารถนา ไม่เพียงแต่เหรียญรุ่นแรกเท่านั้น

ยังมีอีกเหรียญที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ “เหรียญพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร รุ่น 25” จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2515 โดยกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้าสกลนคร ในโอกาสถวายซุ้มประตูเข้าวัดป่าอุดมสมพร

ลักษณะเหรียญรุ่นนี้ เป็นเหรียญปั๊มรูปพระอาจารย์ฝั้น มีหูในตัว

ด้านหน้า ตรงกลางเป็นรูปพระอาจารย์ฝั้นครึ่งองค์ หันข้าง เขียนข้อความว่า “พระอาจารย์ ฝั้น อาจาโร”

ด้านหลัง ขอบเหรียญทั้งสองข้างมีพระคาถาพญายูงทอง ตรงกลางเป็นเครื่องอัฐบริขาร ด้านล่างใต้รูปเครื่องอัฐบริขารมีคาถานะโมพุทธายะ ส่วนขอบโค้งด้านล่างเขียนคำว่า “อุดมสมพร”

ปัจจุบันมีราคาแพงมาก และมีเลียนแบบจำนวนมากของปลอมทำได้ใกล้เคียงกับของจริง ต้องพิจารณาเป็นอย่างมาก

 

มีนามเดิม ฝั้น สุวรรณรงค์ เกิดวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่ ต.พรรณานิคม อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

เบื้องต้นเริ่มศึกษาที่วัดโพธิชัย บ้านม่วงไข่ มีครูหุ่น ไชยชมภู และพระอาจารย์ต้น วุฒิสาร เป็นผู้สอน หลังเรียนจบมีความตั้งใจที่จะเข้ารับราชการ จึงไปอยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ พี่เขย ผู้เป็นปลัดขวาอยู่ที่เมืองขอนแก่น ฝึกเป็นเสมียนอำเภอ

ครั้งนั้นได้เห็นเหตุการณ์สับสนวุ่นวายของข้าราชการและบ้านเมือง เห็นการปราบปรามผู้ร้าย การฆ่าฟัน นักโทษถูกประหารชีวิต

ภาพเหล่านั้นติดตาตรึงใจตลอดมา จนเกิดความรู้สึกปลง มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิตทางโลก

ทำให้ตัดสินใจไม่รับราชการ หันหน้าเข้าวัดทันที

 

บรรพชาที่วัดโพนทอง ถัดมาอีกหนึ่งปี อุปสมบทที่วัดสิทธิบังคม ต.บ้านไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระครูป้อง (ป้อง นนตะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สังข์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์แล้ว ไปฝึกอบรมทางปฏิบัติกัมมัฏฐานกับพระครูสกลสมณกิจ เจ้าคณะจังหวัดสกลนคร หรือ “ท่านอาญาครูธรรม” ที่วัดโพนทอง

ปลายปี พ.ศ.2462 มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งจาริกไปแสดงธรรมและเข้าพักปักกลดอยู่ในป่าช้าใกล้บ้านม่วงไข่

ด้วยมีใจเลื่อมใสศรัทธา จึงชวนพระอาญาครูดี และพระภิกษุกู่ ธัมมทินโน ออกไปฟังธรรมเทศนา อบรมธรรมปฏิบัติจากพระอาจารย์ใหญ่

ธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่น ปลุกให้ท่านและสหธรรมิกทั้งสองมีจิตศรัทธาแรงกล้า จนถวายตัวเป็นศิษย์และออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นไป และได้พบหลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ จึงได้ศึกษาวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้น

จากนั้นก็เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ก่อนกลับมาหาพระอาจารย์มั่นอีกครั้ง

พระอาจารย์มั่นชี้ทางปฏิบัติให้เป็นผู้ตั้งใจ ปรารถนาความเพียรแรงกล้าเด็ดเดี่ยวไปลำพังรูปเดียว อย่าได้คลุกคลี ให้ยินดีต่อความสงบ อย่ามักมาก ยินดีในความมักน้อย เป็นผู้ยินดีในความสันโดษ

ต่อมาหลวงปู่ฝั้นออกธุดงค์ไปตามป่าเขาโดยลำพัง ครั้นธุดงค์ถึงวาริชภูมิ บ้านหนองแส ท่านอาพาธเป็นไข้หวัดใหญ่ อาการหนักมาก เกิดวุ่นวายในจิต จึงออกเดินธุดงค์ต่อทั้งๆ ที่ยังไม่ทุเลา จึงได้คิดภาวนาจนบำบัดไข้ด้วยธรรมโอสถ

หลังจากโรคภัยไข้เจ็บหายแล้ว เปลี่ยนญัตติเป็นคณะธรรมยุต มีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์รถเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มุกเป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี

 

ช่วงระหว่างปี พ.ศ.2497-2505 ไปจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำขาม ซึ่งชอบมากที่สุด เพราะสบายแก่การประพฤติพรหมจรรย์

เป็นที่รักของพระเถระผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์อย่างมาก เนื่องจากอ่อนน้อมถ่อมตน กายวาจาใจบริสุทธิ์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย และมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด

ขณะเดียวกันท่านจาริกไปตามสถานที่ต่างๆ ได้สร้างวัด สร้างกุศลคุณงามความดีให้กับทุกพื้นที่ เมตตาบารมีธรรมแผ่ไพศาล จนชาวอีสานยกให้ท่านเปรียบดัง “เทพเจ้าทางธรรม”

วัตรปฏิบัติเคร่งครัดไม่ต่างจากพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ใหญ่ เคร่งครัดสมฐานะของพระป่ากัมมัฏฐานที่ดำรงตนอยู่ด้วยความสันโดษเรียบง่าย

พระภิกษุ-สามเณรที่อยู่ด้วย ต้องปฏิบัติให้เคร่งครัดเหมือนกับท่าน ไม่ว่าจะในเรื่องการเจริญสมาธิ ฉันหนเดียว ปัดกวาดบริเวณ เดินจงกรม การอยู่ถ้ำอยู่ป่า

ลูกศิษย์ลูกหาต่างหวั่นเกรงในความเคร่ง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ใคร่เอาจริงเอาจังในการปฏิบัติ พวกประพฤติตนเป็นคนเหลวไหล ไร้สาระ จะถูกขับไล่อย่างไม่เกรงใจ ไม่พะเน้าพะนอ

จุดมุ่งหมายเพื่อให้ศิษย์มีความดีติดตัวตลอดไป ชีวิตการปฏิบัติธรรมของท่านมีความวิริยะเป็นพื้นฐาน

วันที่ 4 มกราคม 2520 มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุ 78 ปี พรรษา 58