หรือเราถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้เหยียดคนอื่น? | นิ้วกลม

นิ้วกลมfacebook.com/Roundfinger.BOOK

มิตรสหายเล่มหนึ่ง

นิ้วกลม

[email protected]

 

หรือเราถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้เหยียดคนอื่น?

 

เป็นเรื่องแปลกไหมที่เราจะเข้าข้างพวกเดียวกันเอง?

เป็นคำถามที่น่าคิด

แล้วอะไรคือนิยามของคำว่า ‘พวกเรา’ ล่ะ เหตุไฉนคนเหล่านี้จึงได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในเส้นรอบวงที่เราขีดขึ้นและให้การยอมรับว่าพวกเขาไม่ใช่ ‘คนอื่น’

นักมานุษยวิทยาชื่อ ‘โดนัลด์ บราวน์’ ตอบคำถามนี้ว่า อคติเข้าข้างกลุ่มและแนวคิดถือชาติพันธุ์ของตัวเองเป็นใหญ่นั้นมีอยู่ในทุกวัฒนธรรม

เราแต่ละคนอยู่ตรงกลางของกลุ่มวงสังคมซึ่งมีจุดศูนย์กลางร่วมกัน

วงใกล้ตัวที่สุดคือญาติและเพื่อน

วงห่างออกไปหน่อยคือญาติไม่สนิทและคนรู้จัก

ถัดจากนั้นจึงเป็นวงของคนแปลกหน้า แต่เราก็สัมพันธ์กันผ่านการเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆ เช่น คนชุมชนเดียวกัน เผ่าเดียวกัน จังหวัดเดียวกัน ประเทศเดียวกัน ศาสนาเดียวกัน นิกายเดียวกัน อุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โรงเรียนเดียวกัน ชนชั้นเดียวกัน หรือเชียร์บอลทีมเดียวกัน กระทั่ง…เกลียดคนคนเดียวกัน

มีวงกลมแบบนี้ซ้อนกันอยู่มากมายในชีวิตของเราและคนที่สัมพันธ์ด้วย

เราแต่ละคนมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะขีดเส้นแบ่งว่าใครอยู่ตรงไหนในจักรวาลของฉัน และมีแนวโน้มเข้าข้างคนที่ใกล้เคียงหรือใกล้ชิดกับเราที่สุด

โจชัวร์ ดี. กรีน ผู้เขียนหนังสือ Moral Tribes เรียกสิ่งนี้ว่า เผ่าพันธุ์นิยม หรือความรักพวกพ้อง

เส้นแบ่งเหล่านี้ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น เพราะมันเป็นตัวกำหนดปฏิกิริยาที่เราจะมีต่อผู้คนต่างๆ ในชีวิต เราอ่านผู้คนอยู่ตลอดเวลา พออ่านแล้วก็ปรับพฤติกรรมของตัวเองไปตามตำแหน่งที่เราวางคนคนนั้นเอาไว้ในใจ

ถ้าใกล้ชิดก็ทำดีด้วย ถ้าต่างมากก็ไม่ไว้ใจ ต่างสุดๆ ก็เกลียดกันไปเลย

ความแบ่งแยกเช่นนี้เกิดขึ้นตอนที่เราโตแล้วหรือมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด?

คำถามนี้น่าขบคิดยิ่งนัก

ในหนังสือ Moral Tribes พูดถึงการทดลองหนึ่งที่ให้เด็กทารกชาวอังกฤษกับฝรั่งเศสอายุ 6 เดือนลองอยู่ใกล้คนที่พูดด้วย

ปรากฏว่าทารกทั้งหลายชอบมองคนที่พูดโดยไม่มีสำเนียงต่างชาติมากกว่า

ทารกวัย 10 เดือนชอบรับของเล่นจากคนที่พูดภาษาดั้งเดิมของตัวเองมากกว่า

จึงดูเหมือนว่าสมองมนุษย์ใช้ภาษาในการแยกแยะระหว่าง ‘พวกเรา’ ที่ไว้ใจได้กับ ‘พวกเขา’ ที่ไว้ใจไม่ได้ตั้งแต่ก่อนมนุษย์คนนั้นจะพูดได้ด้วยซ้ำ

ซึ่งจะว่าไป ไม่ได้มีเสียงแบบไหนหรือภาษาไหนที่ ‘ถูกต้อง’ มันเพียง ‘แตกต่าง’ ไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคยเท่านั้นเอง

เช่นกันกับวัฒนธรรมอีกมากมายที่ต่างกันไปตามกลุ่ม ทั้งการแต่งตัว อาหารที่กิน มุขตลก การแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งกลายไปเป็นหลักเกณฑ์ทำให้เรารู้สึกว่าคนแปลกหน้า ‘ประหลาด’ และเป็นอุปกรณ์แบ่งแยก ‘พวกฉัน’ กับ ‘พวกแก’

สำหรับในโลกยุคใหม่ สิ่งที่แยกพวกฉัน-พวกแกได้มากที่สุดก็คือชาติพันธุ์

จากการทดลองเราก็เห็นว่าเด็ก 6 ขวบก็มีอคติทางชาติพันธุ์เหมือนผู้ใหญ่แล้ว

อคติเช่นนี้ยังสะท้อนผ่านสถิติของการเลือกคนเข้าทำงานด้วย

ใบสมัครงานที่แม้ไม่ระบุรูปถ่าย แต่ปรากฏว่า คนที่มีชื่อแบบคนผิวขาว (เอมิลี, เกร็ก) ได้รับการติดต่อให้มาสัมภาษณ์งานมากกว่าใบสมัครแบบเดียวกันเป๊ะที่มีชื่อแบบคนผิวดำ (ลาคิชา, จามาล)

ไม่เพียงเท่านั้น บันทึกของศาลสหรัฐยังแสดงว่า คดีที่เหยื่อเป็นคนผิวขาว ผู้กระทำผิดผิวดำจะได้รับโทษประหารมากกว่าผู้กระทำผิดผิวขาวอีกด้วย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตั้งชื่อบทความนี้ว่า ‘หรือเราถูกตั้งโปรแกรมไว้ให้เหยียดคนอื่น?’

โจชัวร์ ดี. กรีน ชวนให้นึกย้อนไปถึงยุคบรรพบุรุษที่ยังเก็บของป่าล่าสัตว์ มองไปทางไหนก็มีแต่คนรูปลักษณ์ละม้ายคล้ายคลึงกัน

ฉะนั้น ชาติพันธุ์จึงไม่น่าจะเป็นตัวจุดชนวนความเกลียดชังหรือแบ่งแยกมาแต่ครั้งโบราณกาล

แต่อาจแบ่งแยกจากภาษาหรือเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางวัฒนธรรมมากกว่า

นอกจากนั้น ในหนังสือเล่มนี้ยังบอกด้วยว่า เราพร้อมจะแบ่งประเภทคนโดย ‘ไม้บรรทัด’ ที่เรายกขึ้นมาเองในการคัดสมาชิกกลุ่มทางวัฒนธรรม

เช่น คนเชียร์บอลทีมเดียวกัน คนนับถือศาสนาเดียวกัน พี่-น้องร่วมโรงเรียนเดียวกัน พอเป็นกลุ่มเดียวกันแล้วเราก็จะเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกกลุ่มมากกว่า ‘คนอื่น’

ดังที่มีการทดลองซึ่งเห็นผลว่าคนที่เพิ่งถูกแบ่งกลุ่มเข้าด้วยกัน (ทั้งที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน) ก็ยินดีให้เงินกับคนในกลุ่มเดียวกันมากกว่าคนในกลุ่มอื่น

แปลว่าชาติพันธุ์ไม่มีผลขนาดนั้น

อีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยอธิบายเรื่องนี้ได้คือสารเคมีในสมอง ‘ออกซิโทซิน’ หรือฮอร์โมนแห่งความผูกพันซึ่งสร้างนิสัยแบ่งพรรคแบ่งพวกให้เรา

ออกซิโทซินจะหลั่งออกมาเมื่อเราแนบชิดหรือกอดคนที่คุ้นเคยส่งผลให้รู้สึกอบอุ่นผูกพัน

มีการทดลองพ่นออกซิโทซินเข้าจมูก พบว่าทำให้ผู้ชายมีความร่วมมือกันในกลุ่มมากขึ้น

แต่กลับไม่มีผลต่อสมาชิกนอกกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกที่ชายผู้นั้นมีความรู้สึกกลัว

สมองของเราจึงเหมือนถูกจัดเตรียมมาให้มีแนวคิดแบบกลุ่มก้อนนิยม การแบ่งพวกฉัน-พวกแกเหมือนเป็นสัญชาตญาณ อคติและความลำเอียงก็เป็นเรื่องธรรมชาติ เราทำสิ่งนี้ตั้งแต่ยังเป็นทารกและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเกณฑ์หลากหลายขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

ที่ต้องเป็นเช่นนี้ก็เพราะเราจำเป็นต้องขีดเส้นแบ่ง ‘คนที่ไว้ใจได้’ กับ ‘คนที่ไว้ใจไม่ได้’ ตลอดเวลา

นี่คือวิธีเอาตัวรอดแบบหนึ่งสำหรับสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันเป็นกลุ่มใหญ่

หากไม่มีการแบ่งแยกเช่นนี้เราอาจตกอยู่ในอันตรายได้ถ้าไปไว้ใจคนผิด!

กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าเราถูกโปรแกรมมาให้เหยียดและเกลียดชังคนอื่น สมองของเราอาจจัดระบบใหม่ได้ผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์ที่หลากหลาย

 

กลไกสังคมอย่างหนึ่งที่ช่วยให้เราสกรีนคนไว้ใจได้กับไว้ใจไม่ได้ก็คือการนินทา ไม่มีใครชอบการถูกนินทา แต่ทุกคนล้วนแล้วแต่ชอบนินทาคนอื่นด้วยกันทั้งนั้น (ถ้าคุณพูดถึงใครลับหลัง นั่นล่ะ นินทาแล้ว) นักมานุษยวิทยาชื่อโรบิน ดันบาร์ บอกว่ามนุษย์ใช้เวลาประมาณ 65% ของบทสนทนาพูดถึงข้อดีข้อเสียของคนอื่น (65% เองเหรอ) ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการนินทาเป็นเรื่องสำคัญ มันคือกลไกเพื่อควบคุมสังคม และบังคับให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้คน การที่ตระหนักอยู่เสมอว่า ‘ถ้าชาวบ้านรู้กันฉันจะซวย’ ทำให้เราไม่ทำสิ่งชั่วร้ายตั้งแต่ต้น

นิสัยชอบจับผิดคนอื่นเหมือนจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้นก็คือ เราเป็นนักจับผิดกันตั้งแต่เด็กๆ แล้ว

มีการทดลองที่ทำกับเด็กอายุ 6 เดือนและ 10 เดือน โดยให้ดูภาพเคลื่อนไหวของวัตถุเรขาคณิตซึ่งติดลูกตาไว้เหมือนเป็นตัวละคร

ในภาพหนึ่ง ทารกจะเห็นว่าวงกลมพยายามจะปีนขึ้นเขา แต่ขึ้นไปเองไม่ได้ จากนั้นสามเหลี่ยมผู้มีน้ำใจก็ไต่ขึ้นมาจากด้านล่างและช่วยดันวงกลมให้ขึ้นไปถึงยอดเขา

ส่วนในอีกภาพ วงกลมพยายามปีนขึ้นเขา แต่ไปถึงยอดไม่ได้เพราะสี่เหลี่ยมวายร้ายขวางทางอยู่และผลักวงกลมให้กลิ้งลงไปข้างล่าง

บรรดาทารกดูการเคลื่อนไหวทั้งสองแบบนี้หลายรอบ

จากนั้น ผู้ทำการทดลองนำถาดของเล่นมาให้เด็กน้อยดู ด้านหนึ่งมีรูปสามเหลี่ยมใจดี อีกด้านเป็นสี่เหลี่ยมใจร้าย

ปรากฏว่าเด็กๆ เอื้อมมือไปหยิบของเล่นสามเหลี่ยม ‘ผู้มีน้ำใจ’ กันเกือบทั้งหมด

นี่คือผลการทดลองที่น่าทึ่งมาก

หมายความว่า เด็กทารกสามารถจับผิดและแยกแยะได้ว่าใครดี-ใครชั่ว

เป็นการตัดสินจากโปรแกรมที่ฝังมาในตัวของพวกเขา

ทั้

งหมดที่เล่ามานั้นชวนให้คิดว่า ความสามารถอันน่าทึ่งของมนุษย์ที่แยกแยะดี-เลวได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยนั้นดูเหมือนจะเป็นธรรมชาติที่จำเป็นต่อการมีชีวิตรอดของเราทุกคน

แต่เมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เราค่อยๆ กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใส่คุณค่าดี-เลวลงไปให้กับสิ่งต่างๆ และผู้คนต่างๆ ตามที่ถูกปลูกฝังและคุ้นเคย เราจึงตัดสินคนอย่างรวดเร็ว (เพราะมีความสามารถนี้อยู่แล้ว)

แบ่งแยกคนที่ต่างจากเราอย่างรวดเร็ว

แปะป้ายให้กันอย่างง่ายดาย

โดยดูตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม สีผิว ชาติพันธุ์ ศาสนา ความเชื่อ อุดมการณ์ การกิน การอยู่ ค่านิยม ไล่ไปถึงทีมฟุตบอลที่เชียร์ ฯลฯ อีกมากมาย

ซึ่งมาถึงจุดนี้เรากำลังแบ่งแยกดี-ชั่วด้วยคุณค่าที่เราเชื่อถือ มิใช่ความอันตรายในความหมายว่าใครคนนั้นจะกระทำอันตรายต่อเราจริงๆ

เราตรวจจับ ‘ความแตกต่าง’ ได้เร็วมาก จึงกลัวและเกลียดชังอย่างง่ายดาย

สัญชาตญาณแบ่งแยกพวกมันออกจากพวกเรานั้นมีความจำเป็น

แต่คำถามสำคัญก็คือ เรารู้ได้ยังไงว่า ‘พวกมัน’ อันตรายต่อ ‘พวกเรา’ จริงๆ

และเป็นไปได้ไหมว่าในบางแง่มุม ‘พวกมัน’ ก็คือ ‘พวกเรา’ นั่นแหละ

อยู่ที่ว่าจะใช้ ‘ไม้บรรทัด’ แบบไหนไปวางทาบแล้วตีเส้นแบ่ง (บางคนสีผิวต่างกันแต่นับถือศาสนาเดียวกัน, อุดมการณ์การเมืองไม่เหมือนกันแต่เชื้อชาติเดียวกัน, ฯลฯ)

‘ไม้บรรทัด’ ที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมมนุษย์ที่แตกต่างกันช่างสลับซับซ้อนเหมือนเส้นรอบวงที่ขีดทับกันไปมามากกว่าจะเป็นวงแหวนที่ขยายออกอย่างสม่ำเสมอโดยวัดจากความใกล้ชิดและห่างเหินเท่านั้น

และ ‘ไม้บรรทัด’ ก็มักเจือปนไปด้วยอคติแห่งความคุ้นเคยของเรา

หากการแบ่งแยกเกิดขึ้นจากสัญชาตญาณที่รวดเร็ว

เราอาจจำเป็นต้องช้าลงสักนิดเพื่อตรวจสอบ ‘ไม้บรรทัด’ ที่ใช้วางทาบคนอื่น