จาก LEGO Coffin ถึง ‘โลงศพแนวใหม่’ Trend น่าสนใจใน New Zealand/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

จาก LEGO Coffin ถึง ‘โลงศพแนวใหม่’

Trend น่าสนใจใน New Zealand

 

แฟนพันธุ์แท้ LEGO ทราบดีว่า ทุกวันนี้ LEGO ได้ยกระดับจากการเป็น “ตัวต่อของเล่น” ไต่ขึ้นไปสู่ชั้นของ “วัฒนธรรม” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไม่ว่าจะเป็น LEGO Mind Storms (หุ่นยนต์) LEGO Education (สถาบันการศึกษา) LEGO Land (สวนสนุก) ไปจนกระทั่งถึงการต่อยอดเป็น LEGO Movie (ภาพยนตร์) LEGO Master (รายการโทรทัศน์) LEGO วิดีโอเกม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ LEGO ได้ Co-Branding กับองค์กรธุรกิจอื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมบันเทิง หรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ขนมขบเคี้ยว (LEGO Jelly Block) ไปจนถึงการประกาศตัวเป็น “องค์กรสื่อ” ผลิต Content กระทั่งส่งเสริมการรวมกลุ่มกันในนาม “ชมรมคนรัก LEGO” ทั่วทุกมุมโลก

อีกทั้ง LEGO ยังร่วมมือกับโรงงานต่างๆ อีกมากมาย เช่น โคมไฟ นาฬิกาข้อมือ

โดยเฉพาะผู้ผลิตอุปกรณ์ไฮเทคสร้างสรรค์สินค้าที่แตก Line ออกมาจาก “ตัวต่อ” LEGO แบบดั้งเดิม ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า และ “บริการหลัก” ของ LEGO ไม่ว่าจะเป็นลำโพง LEGO iPod Stereo Dock รวมถึงกล้อง Digital กล้องถ่ายวิดีโอ Thump Drive หรือ USB Memory และเครื่องเล่น MP3 โทรศัพท์มือถือ Alcatel

รวมถึงการเปิดศูนย์ LEGO Certified Shop และ LEGO Architecture โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LEGO Serious Play หลักสูตรฝึกอบรม

ต้องยอมรับว่า ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ ถือเป็นการยกระดับ “ของเล่น” หรือ “ตัวต่อ” ธรรมดาแบบดั้งเดิมของ LEGO ขึ้นไปสู่การเป็น “วัฒนธรรมร่วมสมัย” ที่เป็นเพียงการแตก Line ออกไปเป็น Business Unit ใหม่ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะหลีกหนีจาก Red Ocean มุ่งหน้าสู่ Blue Ocean ของ LEGO

 

แต่ข่าวคราวต่อไปนี้ แม้ไม่เกี่ยวกับ LEGO โดยตรง เพราะ LEGO เป็นเพียง “แบบ” แบบหนึ่งของสินค้า

ทว่า เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า อิทธิพลของ LEGO ได้แผ่ขยาย และลงรากลึกไปถึงระดับ “วัฒนธรรม” แล้วจริงๆ

นั่นก็คือข่าวคราวของ “โลงศพแนวใหม่” ซึ่งกำลังเป็น Trend ที่น่าสนใจในประเทศ New Zealand ครับ!

ผมเคยเขียนถึงเรื่องราวในทำนองนี้มาแล้วหนหนึ่ง ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ของเราแห่งนี้ ชื่อตอนว่า “คาเฟ่คนทุกข์”

ศูนย์บรรเทาความเศร้าโศก สูญเสีย ให้ “คนทุกข์” ได้เข้ามาระบายความรู้สึก พบปะพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ประเด็น “โลงศพแนวใหม่” ใน New Zealand ก็ไม่ต่างกันครับ กับการเกิดขึ้นของ “บริษัทผลิตหีบศพ” ที่ชื่อ Dying Art

Ross Hall เจ้าของ Dying Art บอกว่า เขาไม่อยากให้บรรยากาศที่เกิดขึ้นในงานศพเต็มไปด้วยความโศกเศร้าจนเกินไป

“Dying Art ขอเสนอตัวช่วยสร้างบรรยากาศที่สดใสให้เกิดขึ้นในพิธีครั้งสุดท้ายของการไว้ทุกข์ไว้อาลัยแด่ผู้วายชนม์” Ross Hall กระชุ่น

แรกเริ่มเดิมที Ross Hall เป็นเจ้าของกิจการรับผลิตป้าย และทำธุรกิจงานด้าน Graphics ก่อนจะมาเปิดบริษัท Dying Art ดังกล่าว

บริษัท Dying Art ตั้งอยู่ที่เมือง Auckland ประเทศ New Zealand กำลังได้รับความสนใจไปทั่วไปประเทศในฐานะผู้ผลิตโลงศพสีสันฉูดฉาด

 

Ross Hall เผยว่า Dying Art ของเขา รับผลิตโลงศพแบบ “อาหารตามสั่ง”

“เรามีฝ่ายออกแบบ ซึ่งก็คือผมเอง ที่จะคอยให้คำแนะนำรูปแบบโลงศพที่เหมาะกับ Lifestyle ของลูกค้า และสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุด” Ross Hall กล่าว และว่า

ไม่ว่าจะเป็น “โลงศพเรือใบ” สำหรับ “นักโต้คลื่น” หรือจะเป็น “โลงศพรถดับเพลิง” ของ “ตำรวจดับเพลิง” หรือจะเป็น “โลงศพ Star Wars” สำหรับ “นักบินอวกาศ”

“อย่างโลงศพเรือใบ เราลงรายละเอียด และสร้างทุกอย่างให้เหมือนจริงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นใบเรือ กระดูกงูเรือ หางเสือ ราวลูกกรงรอบเรือ ห้องเคบิน ไปจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ อย่างลูกรอกชักใบเรือเป็นต้น” Ross Hall ชี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง LEGO Coffin หรือ “โลงศพตัวต่อ LEGO” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสาวก LEGO อยู่ใน New Zealand เป็นจำนวนมาก ไม่แพ้ปริมาณแฟนพันธุ์แท้ LEGO ทั่วทุกมุมโลก Ross Hall กล่าว และว่า

นอกจากนี้ Dying Art ยังมี “โลงศพช็อกโกแลตแท่ง” “โลงศพ The Matrix” ไปจนถึง “โลงศพชายทะเล” “โลงศพอัญมณี”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “โลงศพสีแดงมีคบเพลิงอยู่ด้านบน” ของ Ross Hall

 

สําหรับ “โลงศพสีแดงมีคบเพลิงอยู่ด้านบน” ใบนี้ Ross Hall เกิด idea ขึ้นระหว่างเขียนพินัยกรรม และกำลังคิดถึงการเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศพของเขาเอง

แต่โลงศพแรกที่ Dying Art รับทำ กลับเป็นของ Phil McLean ลูกพี่ลูกน้องของ Ross Hall เอง!

โดย Phil McLean สั่งเสียเอาไว้ก่อนตาย ว่าเขาต้องการ “โลงศพโดนัทไส้ครีม”

Debra McLean ภรรยาของ Phil เล่าว่าครอบครัวของเธอ คือ Phil และเธอ กับครอบครัวของ Ross Hall สนิทกันมาก นอกจากการเป็นลูกพี่ลูกน้องแล้ว ทั้งคู่เสมือนเป็นเพื่อนที่รักกันมาก

“พวกเราเคยใช้รถบ้านตระเวนเที่ยวไปทั่วประเทศ และ Phil มักตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญ “โดนัทไส้ครีม” เวลาออกเดินทาง” Debra McLean เผย

Phil มักเปรียบเทียบ “โดนัทไส้ครีม” ของเมืองต่างๆ ว่า ที่ไหนจะอร่อยกว่ากัน โดย “โดนัทไส้ครีม” แบบที่ Phil ชอบคือ “โดนัทไส้ครีม” ที่มีผิวสัมผัสด้านนอกบางกรอบ เนื้อในหนานุ่ม และต้องทำจากครีมสดเท่านั้น

“ดังนั้น หลังจากที่ Phil ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ เขาก็มีเวลาคิดถึงงานศพของเขา และมีแนวคิดทำโลงศพโดนัทไส้ครีม” Debra McLean กล่าว และว่า

ในวันพิธี ครอบครัวของเราได้ทำการสั่ง “โดนัทไส้ครีม” จำนวน 150 ชิ้น จากร้านโดนัทร้านโปรดของ Phil เพื่อนำมาเสิร์ฟแขกเหรื่อในงานศพ พร้อมเปิดตัว “โลงศพโดนัทไส้ครีม” ของ Phil McLean อย่างยิ่งใหญ่ Debra McLean ทิ้งท้าย

 

Ross Hall กลับมาคุยกับเราต่อ ถึงกระบวนการผลิตโลงศพของ Dying Art โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุที่ใช้

“Dying Art เริ่มจากเป็นโลงศพเปล่าธรรมดา หลังจากเรา Design รูปแบบโลงศพตามที่ลูกค้าต้องการแล้ว เราจะใช้แผ่นกระดานเสริมเส้นใย และไม้อัดตกแต่งรายละเอียดต่างๆ เพิ่มเติมเข้าไป”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องพิมพ์ Latex แบบ Digital ที่สามารถเชื่อมโยง File รูปโลงศพที่ออกแบบไว้ใน Computer ขึ้นรูปออกมาเป็นโลงศพแบบต่างๆ

“ความซับซ้อน ยากง่าย ก็จะแตกต่างกันไปตามแบบที่ลูกค้าต้องการ เช่น โลงศพเรือใบ ที่เหมือนกับการต้องผลิตทั้งโลงศพ 1 ลูก และเรือใบอีก 1 ลำ” Ross Hall สรุป

สำหรับสนนราคา “โลงศพแนวใหม่” นี้ เริ่มต้นที่ 2,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ไปจนถึง 6,000 เหรียญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัสดุทั้งหมด Dying Art เลือกใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ย่อยสลายเองได้ ซึ่งสามารถฝัง หรือเผาไปพร้อมกับศพได้ทุกชิ้น

 

อย่างไรก็ดี สำหรับโลงศพของ Ross Hall เองนั้น เขายกเลิกพินัยกรรมเดิมคือ “โลงศพสีแดงมีคบเพลิงอยู่ด้านบน”

โดยเปลี่ยนจินตนาการมาเป็น “โลงศพใส”

ซึ่ง Ross Hall ได้เขียนพินัยกรรมขึ้นใหม่ ผ่านทาง e-Mail ที่ส่งให้กับภรรยาและลูกๆ ของเขา

ระบุว่า “พ่อขอเป็นโลงศพใส และไม่ต้องสวมเสื้อผ้าอะไรให้พ่อ นอกเสียจากกางเกงใน G-String ลายเสือดาวเพียงตัวเดียว”

Ross Hall กล่าวแบบขำๆ ว่า ลูกๆ ของเขาบอกว่า หากต้องทำความปรารถนาครั้งสุดท้ายของคุณพ่อให้เป็นจริง

“คงจะไม่มีลูกมาร่วมงานศพของคุณพ่อแม้แต่คนเดียว” (ฮา)