เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / โลกาวินาศ วิบัติปัญญา

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

โลกาวินาศ วิบัติปัญญา

 

วิกฤตภัยโควิดกับวิกฤตภัยความเชื่อผิดๆ ในพุทธศาสนาดูจะร้ายกาจพอกันในวันนี้

จากข่าวพระอ้างตนเป็นเทพพาผู้ศรัทธาประกอบพิธีกรรมประหลาด ดีที่ถูกจับสึกไปแล้ว อีกข่าวคือที่หลงผิดถึงทำอัตวินิบาตกรรมตัดคอตัวเองอย่างน่าสยดสยอง กับอีกสารพัดเรื่องสารพัดข่าวโดยเฉพาะเกี่ยวกับ ‘พุทธพาณิชย์’ ดูจะมากสุด

เหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงสภาพวิกฤตภัยศรัทธาผิดๆ ในพุทธศาสนาทั้งสิ้น

สภาพวิกฤตภัยนี้เป็นส่วนผล

ในส่วนเหตุนั้นสะท้อนถึงสภาพของผู้คนในสังคมขาดที่พึ่งโดยเฉพาะที่พึ่งทางใจ

ทั้งที่พุทธศาสนาเองนับเป็นที่พึ่งทางใจวิเศษสุดด้วยมีหลักธรรมที่เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิต ดังคนในโลกหันมาปฏิบัติสมาธิภาวนากันมากขึ้น

แต่ไทยเราเองที่ภูมิใจว่าเป็นเมืองพุทธกลับมีวิถีที่ห่างพุทธออกไปจนหลงทางก็ยังหลับตาคลำทางหลงวิถีว่าเป็นพุทธกันอยู่นี่

จะโทษใครดี

ก็ต้องโทษองค์กรทั้งที่เป็นคณะสงฆ์และองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้องและดูแลคณะสงฆ์อยู่ แต่ปล่อยให้เกิดสภาพนี้ได้อย่างไร

 

ภาวะวิกฤตโควิดนี่แหละวิถีพุทธที่แท้จะช่วยกำหนด “วิถีปกติ” ใหม่ ดังภาษาฝรั่งว่า NEW NORMAL ได้จริง

คำว่า “ปกติ” โดยความหมายแล้วก็คือ “ศีล” นั่นเอง

คำว่า “ศีล” ประกอบกับคำว่า “ธรรม” ที่หมายถึง “สิ่ง” เป็น “ศีลธรรม” คำแปลก็คือ “สิ่งปกติ” หรือสิ่งอันเป็นปกติ

กว้างกว่านั้น “ศีลธรรม” หรือสิ่งปกตินั้น เป็นทั้งเหตุและผลอยู่ในตัว

เหตุ คือสิ่งที่ทำให้เป็นปกติ

ผล คือสิ่งที่เป็นปกติ

ศีลธรรมจึงเป็นทั้งเหตุและผลอยู่ในตัว

ดังนั้น “วิถีปกติ” จึงเป็นสัจธรรมสำคัญ ด้วยคำว่าวิถีนั้นคือหนทาง อันมีทั้งหนทางไปสู่ความเป็นปกติของทั้งกายและทางจิต

จำได้สมัยอยู่สวนโมกข์ วันจะลาจากเข้าไปกราบลาท่านอาจารย์พุทธทาสพร้อมขอคติธรรมจากท่าน ท่านบอกสั้นๆ

“ทำจิตให้เป็นปกติ”

เท่านี้เท่านั้น

จนถึงวันนี้ไม่เคยลืมคำนี้เลย คือ “ทำจิตให้เป็นปกติ”

 

ด้วยความหมายคำว่า “ทุกข์” นั้น โดยศัพท์หมายถึง “ทนได้ยาก” คือ “ทนเป็นปกติอยู่ได้ยาก”

เพราะฉะนั้น หาก “เป็นปกติ” อยู่ได้โดยไม่ต้องทน มันก็ไม่ทุกข์

ไม่ทุกข์ก็คือ “พ้นทุกข์” หรือ “ดับทุกข์”

ภาวะของความพ้นทุกข์หรือดับทุกข์นี้คือ “นิพพาน”

เป็นสัจธรรมหรือหลักธรรมสูงสุดในพุทธศาสนา

จึงว่าวิถีปกติใหม่ ก็คือวิถีพุทธที่แท้จะช่วยกำหนดวิถีปกติใหม่ คือ NEW NORMAL ได้จริง

โลกทั้งโลกนี่แหละที่จะต้องปรับวิถีใหม่สู่ความ “เป็นปกติ” ให้ได้

ความเป็น “ปกติ” นั้น ที่จริงไม่มี ใหม่-เก่าเพราะเป็นสภาพ หรือขณะนั้นๆ เอง

ปกติคือสมดุลหรือดุลยภาพของสรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกันหรืออาศัยกันและกันอยู่

 

เวลานี้โลกกำลังเสียดุลกับโควิด เป็นวิกฤตสูงสุด เป็นมหันตภัยที่มนุษยชาติต้องเอาชนะมันให้ได้ มาตรการหนึ่งนั้นคือการปรับ การดำเนินชีวิตใหม่ ดังเรียก “วิถีใหม่” นี้

วิถีใหม่สู่ความเป็นปกติ

ปรับรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่ ปรับวิถีเดิมที่ทำให้ไม่ “ปกติ” ไปสู่วิถีใหม่อันนำไปสู่ความเป็น “ปกติ”

ความเป็นปกติ ซึ่งคือ “ศีลธรรม”

ดังคำท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวไว้ว่า

“ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศ”

ดูภาพฟังข่าวการล้มตายของผู้คนเพราะโควิดแล้วสยองขวัญจริงๆ

นี่โลกกำลังวินาศจริงแล้วหรือ

 

คาถาบาลีอีกคาถาคือ

วินาศะกาโล วิปริต พุทเธ

แปลว่า เมื่อถึงกาลจะวินาศ ความรู้ที่แท้ที่เป็นปัญญาก็แปรปรวน

พุทธะคือพุทธธรรม คือความรู้ที่แท้ในพุทธศาสนา กำลังแปรปรวนในเวลานี้

ทุกศาสนานั้นมีสองภาคส่วนสำคัญ คือระบบความเชื่อกับหลักคิด ซึ่งส่วนใหญ่ศาสนิกชนทุกศาสนามักเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อมากกว่าหลักคิด ที่เป็น “หัวใจ” ของทุกศาสนา เช่น “คริสตธรรม” “อิสลามิกธรรม” “ฮินดูธรรม” “พุทธธรรม”

ระบบความเชื่อนั้นขึ้นกับวัฒนธรรม ค่านิยมและองค์กรของสังคมนั้นๆ เราจึงได้เห็นแต่ความแตกต่างของระบบความเชื่อแต่ละศาสนา เช่น พิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น

หลักคิดหรือหลักธรรมนั้น โดยข้อใหญ่ใจความก็จะตรงกันทุกศาสนา นั่นคือ

ไม่เห็นแก่ตัว และเห็นแก่ส่วนรวมเป็นสำคัญ

พวกไม่เข้าใจหลักคิดหรือหลักธรรมอันเป็น “หัวใจ” ของศาสนา ก็จะพานบิดผันไปตามความเชื่อผิดๆ คือผิดไปจากความรู้ที่แท้ ไปตามอำนาจของความไม่รู้

พุทธะ แปลว่า รู้ตื่น เบิกบานอยู่ด้วยธรรม คือรู้หลักคิด หรือหลักธรรม

ตรงข้ามกับพุทธะ คือ ไสยะ แปลว่า ไม่รู้ คือมืดดำ หลับใหล ไม่รู้ตื่น

ท่านพุทธทาสเคยตั้งข้อสังเกตไว้โดยทั่วไปว่า

ไสยศาสตร์นั้นมักมาก มีพิธีกรรม

พุทธธรรมนั้นมักจะมีแต่วิธีการ

ฤๅโลกาวินาศจะวินาศจริง