ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต./ปมใหญ่ปัญหาเศรษฐกิจ

ก่อสร้างที่ดิน/นาย ต.

ปมใหญ่ปัญหาเศรษฐกิจ

 

ดูเหมือนว่าประเทศไทยเราจะอยู่คนละกลุ่มกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ในการรับมือกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 เพราะประเทศส่วนใหญ่เจอระลอกแรกแบบทุลักทุเลเพราะคาดไม่ถึง แต่ไทยเราระลอกแรกไม่หนักหนาสาหัสนัก

แต่มาถึงตอนนี้ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่เขากำลังเริ่มกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกัน

บางเมืองบางประเทศมีการแข่งขันฟุตบอล มีการจัดคอนเสิร์ตกัน

แต่ไทยเราต้องกลับมาลุ้นว่า จะรับมือได้ไหมกับระลอก 3 ที่เริ่มจากเลานจ์ไฮโซทองหล่อและกำลังบานปลายขยายใหญ่ตามชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ

กลางๆ เดือนมีนาคม การแพร่ระบาดในประเทศเริ่มซา ธุรกิจเอกชนเริ่มเตรียมงานฟื้นธุรกิจของตัวเอง รัฐบาลเองก็มีแผนฟื้นฟู ซึ่งที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง คือการออก พ.ร.ก.แก้ไขกฎหมายเดิมให้ต่างชาติซื้อที่อยู่อาศัยแนวราบราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปได้ 49% ของโครงการ ส่วนแนวสูงให้เพิ่มสัดส่วนจาก 49% เป็น 70-80% และเพิ่มระยะเวลาเช่าระยะยาวจากเดิม 30 ปีเป็น 50 ปี ต่อสัญญาได้อีก 40 ปี

เวลานั้นฟังดูก็เป็นความหวัง แม้ว่าการซื้อของชาวต่างชาติจะยังมีปัญหาเกี่ยวกับกฎระเบียบการโอนเงินอะไรต่างๆ อยู่อีก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีความริเริ่มอะไรใหม่ขึ้นมาเลย

 

ก่อนสงกรานต์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ให้สัมภาษณ์ว่า การรับมือกับวิกฤตโควิด-19 นั้น เรื่องสำคัญที่สุดคือการควบคุมโรค การควบคุมการแพร่ระบาดก่อน

ส่วนนโยบายการเงินนั้นแม้จะเติมเงินเข้าไปในระบบอย่างไร หากการแพร่ระบาดยังคงวนกลับมาก็ต้องเติมใหม่เป็นหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการฉีดวัคซีนให้คนไทยให้รวดเร็ว

หลังสงกรานต์ 40 ซีอีโอบริษัทใหญ่ๆ ของประเทศ ผ่านทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประชุมหารือกัน เสนอรัฐบาลให้ผ่อนคลายให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้เพื่อช่วยให้การฉีดวัคซีนคนไทยได้เร็วขึ้น พร้อมกับเสนอแผนปฏิบัติการช่วยรัฐด้านต่างๆ

เพราะเจ้าของและผู้บริหารธุรกิจใหญ่ๆ ต่างเห็นตรงกันว่า สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจประเทศผ่านหายนะจากวิกฤตแพร่ระบาดโควิด-19 ไปได้คือการฉีดวัคซีนให้คนไทยอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

แต่ถึงขณะนี้ รัฐบาลก็ยังยืนยันนโยบายการนำเข้าวัคซีนของไทยนั้น ต้องนำเข้าโดยหน่วยงานของรัฐบาล คือองค์การเภสัชกรรมเท่านั้น และยืนยันด้วยว่า รัฐบาลสามารถนำเข้าได้อย่างเพียงพอ เอกชนรายใดต้องการก็ให้แจ้งมาที่หน่วยงานของรัฐและดำเนินการตามระเบียบทางราชการ

ด้านปฏิบัติการ ทางราชการก็ตั้งทีมรับโทรศัพท์รับแจ้งเรื่องโควิด-19 ให้หน่วยงานราชการบางหน่วยเตรียมตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้นมารองรับ

แต่ที่ประชาชนประสบปัญหาโรคโควิด-19 ก็คือ โทร.ไปไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย จะไปโรงพยาบาลก็ไม่มีใบยืนยันว่าติดเชื้อโควิด หรือถ้ามีก็เจอปัญหาไม่มีเตียง โรงพยาบาลเอกชนก็ไม่กล้ารับตรวจเพราะระเบียบราชการบอกว่า ใครตรวจเจอหน่วยงานนั้นต้องรับเป็นคนไข้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จึงมีคนจำนวนหนึ่งนอนรอรับชะตากรรมแบบไม่มีคนรับสายให้คำปรึกษา ไม่มีใบผลตรวจหาเชื้อ ไม่มีรถพยาบาล ไม่มีเตียง

คลัสเตอร์ใหญ่ที่กำลังก่อตัวคือชุมชนแออัดหรือสลัม ตามที่หลายคนเคยคาดไว้ มีข่าวออกมาแล้วที่ชุมชนคลองเตย ชุมชนบ้านขิงบางแค และต่อไปใครรู้ไหมว่า กรุงเทพฯ มีชุมชนแออัดมากมาย มีคนอยู่อาศัยมหาศาล

ระบบราชการจะรับมือไหวไหม

 

ที่ว่ามาทั้งหมดเพื่อจะชี้ว่า ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาธุรกิจปากท้องอันเนื่องมาจากโควิดระบาด หนทางแก้ทางเดียวคือการควบคุมโรคให้ได้ การควบคุมโรคให้ได้คือต้องฉีดวัคซีนให้กับประชาชนส่วนใหญ่ให้รวดเร็ว

แต่ที่เผชิญอยู่ทุกวันนี้แบบ “เจ็บแต่ไม่จบ” ก็เพราะนโยบายรัฐการจัดซื้อวัคซีนผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น การบริหารจัดการด้วยระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ

เป็น 2 สิ่งที่เป็นปัญหาในการแก้โควิด-19 ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาของประเทศด้วย