E-DUANG : จาก ธรรมนัส มายัง เพนกวิน คนละคดี คนละเรื่อง เดียวกัน

เหมือนกับกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับกรณีการจำขังโดยไม่ให้ประกันตัวของ นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ จะเป็นคนละเรื่อง คนละกรณี

เพราะกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นเรื่องของยาเสพติด ขณะที่กรณีของ นายอานนท์ นำภาและเพื่อนเป็นเรื่องของ 112

แต่หากจับกระแสจากอารมณ์และความรู้สึก “ร่วม”ในทางสังคมอันปรากฏผ่านสื่อโซเชียล มีเดียในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

กลายเป็นเรื่องเดียวกันเพราะไม่ว่ากรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กรณีของ นายอานนท์ นำภาและคณะ ล้วนรวมศูนย์ไปยังรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เพราะ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คือรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะติดคุกออสเตรเลีย

ขณะที่กรณีของ นายอานนท์ นำภาและคณะก็มีรากฐานมาจากตะโกน”ออกไป ออกไป”ที่ในที่สุดก็บานปลายกลายเป็น 112

 

การบรรจบพบกันของกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับกรณีของ นายอานนท์ นำภา อาจจะต่างกันตรงที่กรณีแรกไปยังศาลรัฐธรรม นูญ กรณีหลังไปยังศาลอาญา

แต่ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าศาลอาญาล้วนอยู่ภายใต้กระบวนการยุติธรรม ล้วนเป็นเรื่องของการตีความทางกฎหมาย

ด้านหนึ่ง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 ต่อ 0 วินิจฉัยว่าการติดคุกจากคำพิพากษาของศาลออสเตรเลียของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่เป็นปัญหาต่อการดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน ด้านหนึ่ง คำสั่งของศาลอาญาไม่ยอมให้ประกัน นายอานนท์ นำภา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ก็เกิดขึ้นทั้งๆที่คดีของพวกเขายังมิได้มีการพิจารณาตามรัฐธรรมนูญต้องถือว่าบริสุทธิ์

สายตาจึงมองไปยัง”คำวินิจฉัย”ของศาลด้วยบทสรุปนานา

 

ในที่สุด ในกรณีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในกรณีของ นายอานนท์ นำภาและคณะ สังคมจึงมองไปยัง 2 จุด

1 คำวินิจฉัยของตุลาการ 1 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เป็นปัญหาในเรื่องการตีความทางกฎหมาย เป็นปัญหาในเรื่องดุลพินิจ เป็นปัญหาในเรื่องความยุติธรรม จริยธรรม

และโยงสายยาวไปยังปมแห่ง “ความน่าเชื่อถือ”จากสังคม