ยูนิฟอร์มสายตรวจโฉมใหม่ ทะมัดทะแมงจับโจรคล่อง ตร.ครวญซ้ำเติมเศรษฐกิจแย่/โล่เงิน

โล่เงิน

 

ยูนิฟอร์มสายตรวจโฉมใหม่

ทะมัดทะแมงจับโจรคล่อง

ตร.ครวญซ้ำเติมเศรษฐกิจแย่

 

นโยบายยกเครื่องชุดตำรวจสายตรวจของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. เพื่อพัฒนาศักยภาพของตำรวจฝ่ายป้องกันและปราบปรามให้ดีขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

3 พฤษภาคม 2563 พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. หัวหน้าคณะทำงานนโยบายการพัฒนางานป้องกันปราบปราม พร้อมด้วย พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พล.ต.ต.สมประสงค์ เย็นท้วม รอง ผบช.น. แถลงเปิดตัว “ชุดสนาม” แบบใหม่ สำหรับให้ตำรวจสายตรวจสวมใส่ออกปฏิบัติหน้าที่

พล.ต.อ.มนูบอกว่า เครื่องแบบใหม่ของตำรวจสายตรวจ เกิดจากแนวคิดและนโยบายของ ผบ.ตร.ต้องการให้มีเครื่องแบบที่ทันสมัย กระชับเหมาะสมกับภารกิจ

แต่ยูนิฟอร์มใหม่นี้ยังไม่ได้ข้อยุติ 100 เปอร์เซ็นต์ มีการตั้งคณะกรรมการที่ พล.ต.ท.รอย อิงคไพโรจน์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เป็นประธานคณะทำงาน ช่วยกันคิดและออกแบบใหม่เหมาะสม สนนราคาตกชุดละประมาณ 2,000 บาท

“ผบ.ตร.บอกว่าจะให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) นำร่องแต่งเครื่องแบบ ทดสอบและทดลองใช้ 3 สถานีตำรวจ แห่งละ 10 นาย ประกอบด้วย สน.จักรวรรดิ สน.บางยี่ขัน และ สน.บุคคโล เป็นเวลา 10 วัน เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่าเป็นเครื่องแบบใหม่ และจะมีการประเมินสอบถามความเห็นทั้งจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอย้ำว่าเครื่องแบบใหม่นี้ยังอยู่ระหว่างทดลอง เมื่อครบกำหนด 10 วัน คือวันที่ 13 พฤษภาคม คณะกรรมการจะสรุปเรื่องเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาต่อไป”

รอง ผบ.ตร.กล่าว

 

ขณะที่ พล.ต.ต.สมประสงค์เฉลยที่มาไอเดียชุดตำรวจสายตรวจใหม่ว่า คิดขึ้นมาหลังจากเก็บข้อมูลจากปัญหาและการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจสายตรวจ

พร้อมอธิบายคุณสมบัติพิเศษของเครื่องแบบใหม่อย่างละเอียดว่า เสื้อแขนยาว (พับแขนได้) แบ่งเป็น 2 ส่วน ด้านบนผ้าสีชุดตำรวจและผ้าแบบเดิม ด้านล่างทำจากผ้าไมโครไฟเบอร์ที่ระบายอากาศได้ดี เวลาใส่เสื้อเกราะกันกระสุนแล้วจะไม่ร้อน ใส่สบาย ซักแล้วแห้งง่าย เครื่องหมายใช้แบบผ้า แทนแบบเดิมที่เป็นโลหะ ลดการบาดเจ็บ ทั้งตัวเจ้าหน้าที่ และผู้ถูกจับกุม

กางเกงแท็กติคอล มีความยืดหยุ่น ลุกนั่งสะดวก คล่องตัวเวลาวิ่งไล่ล่า มีช่องกระเป๋าใส่อุปกรณ์หลายด้านที่ข้างขา รองเท้ายุทธวิธีหุ้มข้อ วิ่งสะดวกคล่องตัวและไม่เจ็บเท้า หมวกแก๊ปมีน้ำหนักเบากันการหลุดขณะวิ่ง และเข็มขัดด้ายถัก

พล.ต.ท.ภัคพงศ์ขยายความว่า หลักการของคณะทำงานอยากหาเครื่องแบบสนาม ซึ่งปกติตำรวจมีชุดสนามสีเขียว ของ ตชด. ชุดเวส ชุดลายพราง ของ ตชด. หรือหน่วยปฏิบัติการพิเศษ รวมไปถึงชุดน้ำเงินใช้ควบคุมฝูงชน

แต่เครื่องแบบทั้งหมดไม่ได้ใช้ในเมือง จึงมีแนวคิดทำชุดสนามสีกากี เพราะสีกากีเป็นสีพระราชทานจากพระเจ้าแผ่นดินให้เป็นสีของตำรวจ และสีกากีมีความหมายว่าสีของแผ่นดิน ซึ่งเครื่องแบบเดิมไม่ได้ยกเลิก จะใช้สำหรับตำรวจที่ทำหน้าที่สายตรวจเท่านั้น

สำหรับสาเหตุที่เลือก สน.จักรวรรดิ สน.บางยี่ขัน และ สน.บุคคโล เป็น สน.นำร่อง เนื่องจากมีความพร้อม มีพื้นที่พอเหมาะและมีประชากรหนาแน่น

ถ้าสรุปว่าจะใช้ชุดใหม่นี้ต้องออกระเบียบรองรับ ตามประมวลกฎหมายอาญาและ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ถ้ามีบุคคลใดแต่งกายลักษณะเลียนแบบตำรวจทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่าเป็นเครื่องแบบตำรวจ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียและเสียหายก็จะมีความผิด

 

ลองมาฟังความเห็นสายตรวจจาก 3 สน.ที่เป็นผู้สวมใส่เครื่องแบบใหม่บ้างว่าอย่างไร

ปรากฏว่าต่างให้ความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า เป็นเรื่องดีสำหรับผู้ปฏิบัติงาน เพราะชุดเดิมรัดรูปเกินไป เวลาทำงานที่ต้องพบเจอประชาชน หรือการเข้าระงับเหตุ มักไม่คล่องตัว ทั้งนี้ ชุดใหม่ดูมีความยืดหยุ่นคล่องตัว ลุกนั่งสบายมากกว่า

สำหรับสีของผ้าถือว่าลงตัวไม่ฉูดฉาด ส่วนรองเท้าดูใช้งานได้จริง ใส่สบาย และทะมัดทะแมง

ทั้งนี้ หากมีการนำชุดมาใช้งานจริง อาจจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการตัดชุด เพราะตอนนี้ยังไม่รู้ระเบียบว่าสายตรวจต้องแต่งเครื่องแบบใหม่ทุกวันหรือไม่ แม้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สนับสนุนค่าตัดชุดปีละประมาณ 2,000 บาท

แต่ถือว่ายังไม่เพียงพอ เพราะตามหลักความเป็นจริง เครื่องแบบสีกากีเดิมที่ใส่ปฏิบัติงานก็ตัดสำรองเพิ่มประมาณ 2-3 ชุดอยู่แล้ว ไม่ได้รอแค่งบฯ ของ ตร.เท่านั้น

ทว่านี่ไม่ใช้ครั้งแรกของการเพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนเครื่องแบบตำรวจ

 

ย้อนไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2550 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีต ผบ.ตร. มีแนวคิดเพิ่มชุดตำรวจแบบใหม่ หรือ “ชุดลำลอง” รุ่นลดปัญหาโลกร้อน ให้เข้ากับสภาพอากาศภูมิประเทศไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างปัญหาอุปสรรค เช่น ตำรวจจราจรใส่แขนยาว ใส่หมวกปฏิบัติหน้าที่ก็จะร้อน ทำให้มีปัญหาสุขภาพร่างกาย หรือเจ้าหน้าที่ธุรการทั่วไปใส่เครื่องแบบก็ร้อนไม่กระชับเวลาทำงาน เมื่อร้อนก็เปิดแอร์มาก ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน

ดังนั้น จึงช่วยกันพิจารณาชุดตำรวจแบบใหม่เพิ่มเข้ามา เป็นเสื้อแขนสั้น มีเนื้อผ้าบางๆ กางเกงเป็นสีดำหรือสีกากี สำหรับเครื่องหมายที่ติดบนเครื่องแบบ เป็นการปักติด หรือใช้ตีนตุ๊กแก ถอดเข้าออกได้ ส่วนหมวกใช้หมวกเบเรต์ ใช้รองเท้ายางเพื่อความคล่องตัว ขณะนั้นยังอยู่ในขั้นทดลอง เปิดรับข้อเสนอแนะติชม

แต่ต่อมาวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้สั่งเด้ง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้โครงการเครื่องแบบตำรวจลดโลกร้อนของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถูกพับเก็บไป

มาถึงตอนนี้โครงการเครื่องแบบใหม่จะอยู่ในช่วงทดลอง แต่ถือเป็นสัญญาณดีที่ตำรวจภาคสนามจะได้ใส่ชุดที่มีความคล่องตัวปฏิบัติหน้าที่

แต่การเปลี่ยน “ยูนิฟอร์มสายตรวจ” จะเป็นประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อไม่เป็นภาระซ้ำเติมภาระให้กับตำรวจชั้นผู้น้อย เสริมให้การทำงานสะดวกคล่องตัว พัฒนางานป้องกันปราบปราม ที่สำคัญไม่มีการทุจริตหากินกับเครื่องแบบใหม่นี้