หลังเลนส์ในดงลึก : คนแปลกหน้า

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ปีพ.ศ.2540 ถึง พ.ศ.2543

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในป่าทางตอนใต้ของลำน้ำขาแข้งเพื่อทำงานชิ้นหนึ่ง ผมมีโอกาสได้อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าไปตามเวลาที่ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง จากร้อนสู่ฝนและหนาว ได้เห็นการปรับเปลี่ยนสภาพร่างกายเพื่อให้อยู่ร่วมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งพืชและสัตว์

เวลา 3 ปีผมได้งานมาชิ้นหนึ่งเป็นงานที่ได้อย่างที่ตั้งใจ

ทว่า ในความเป็นมนุษย์ผมได้รับสิ่งที่มีค่ามากกว่านั้น

มีสิ่งหนึ่งซึ่งผมต้องยอมรับอย่างไม่มีข้อแม้ คือไม่ว่าจะพยายามสักเท่าไหร่ ในความสัมพันธ์ระหว่างผมกับสัตว์ป่า

พวกมันทำให้ผมเป็นได้แค่ “คนแปลกหน้า” ที่พวกมันไม่เคยไว้วางใจ

 

ตลอดเวลาที่ทำงานกับสัตว์ป่ามาในระยะเวลาอันเนิ่นนานพอสมควร ภาพที่บันทึกได้ ส่วนใหญ่ได้มาจากการเฝ้ารออยู่ในซุ้มบังไพร หรือที่ในหมู่คนถ่ายรูปเรียกสั้นๆ ว่า BLIND จนถึงวันนี้มีคนถ่ายรูปสัตว์ป่ามากมายอุปกรณ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับการทำงานก็พัฒนามากขึ้น

“เวลาทำซุ้มบังไพรต้องดูด้วยว่าลมพัดไปทางไหน และด่านเข้า-ออกของพวกมันอยู่ช่องไหน”

ช่วงที่ผมเริ่มเข้าไปทำงานแรกๆ ลุงสังวาลย์ ผู้ซึ่งทุกวันนี้เกษียณไปนานแล้ว ทำหน้าที่คล้ายเป็นพี่เลี้ยง เขาเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าผู้เคยเป็น “ลูกป่า” ผู้ใช้ชีวิตอยู่ในป่าห้วยขาแข้งมาตั้งแต่เกิด

“สัตว์ป่าเชื่อจมูกมากกว่าสายตา” ลุงสังวาลย์บอก และผมก็พบว่าเป็นความจริง

ว่ากันตามจริงวิธีการที่คนล่าสัตว์ใช้ได้ผลดีเมื่อนำมาใช้ในงานถ่ายภาพสัตว์ป่า ผ่านมาเนิ่นนานแล้วผมก็ยังใช้วิธีการแบบเดิมๆ ที่เหล่าคนในป่าใช้

ต่างกันก็เพียงเครื่องมือที่เราถืออยู่ในมือ

 

ในสมัยเริ่มต้น ซุ้มบังไพรของผมคือซุ้มบังไพรง่ายๆ อย่างที่คนล่าสัตว์ใช้เวลาซุ่มยิงสัตว์ใกล้ๆ ต้นไม้ที่มีลูกสุก เช่น ส้าน มะขามป้อม มะกอก รวมทั้งต้นไทร

นำเอากิ่งไม้ที่มีใบโตๆ มาบังเสริมกับพุ่มไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ หลังคาไม่มี หากฝนตกก็คลุมตัวและกล้องด้วยเสื้อกันฝนซึ่งเรียกว่าผ้าปันโจ ผมรู้ว่านั่นคือการคิดผิด เมื่อนกยูงร่วมสิบตัวทรุดตัวลงหมอบและหันหลังวิ่งเข้าป่าเพราะได้รับสัญญาณเตือนจากนกจาบคาเคราสีน้ำเงินที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้มองผมอยู่ตลอด นั่นคือครั้งแรกที่ผมได้รับบทเรียนจากการอยู่ร่วมกันของสัตว์ป่า

ต่อมาผมพัฒนาขึ้นโดยใช้บังไพรสำเร็จรูปที่สั่งให้ร้านอุปกรณ์เดินป่าแถวตลาดนัดจตุจักรตัดให้ เป็นซุ้มบังไพรสี่เหลี่ยมทำจากผ้าสีลายพราง มีช่องหน้าต่างเปิดปิดได้ ด้านบนมีห่วงสี่มุม เวลาทำงานผมใช้ห่วงนี้ยึดไว้กับกิ่งไม้ ส่วนด้านนอกผมจะหากิ่งไม้ใบไม้มาปิดทับไว้อีกชั้นหนึ่ง ด้านบนคลุมทับด้วยผ้ายางกันฝน เป็นบังไพรอันค่อนข้างแนบเนียนไม่เป็นที่สังเกต

สัตว์หลายชนิด แม้แต่เสือดาว และนกยูงเดินเข้ามาใกล้ๆ อย่างชนิดเอื้อมมือถึงหลายครั้ง

 

แต่นั่นแหละหากกระแสลมไม่เป็นใจ พัดจากบังไพรไปทางโป่ง หรือต้นไม้ที่ออกลูกสุก ทิศทางที่สัตว์ป่าอยู่ ก็จะพบกับสภาพซึ่งต้องเฝ้ารออยู่กับความว่างเปล่า เพราะสัตว์ป่าสัมผัสได้กับกลิ่นกายของผม

หลายวิธีการที่ผมพยายามลดกลิ่นกาย ไม่ว่าจะเอาขี้สัตว์ป่า เช่น ขี้กระทิง วัวแดง และขี้ช้างมาผสมน้ำพรมรอบๆ ปิดช่องทุกช่องทนกับความร้อนอบอ้าว หากอยู่เหนือลม วิธีการพวกนี้ก็ไร้ผล จมูกของสัตว์ป่ามีประสิทธิภาพมากพอที่จะแยกกลิ่นมนุษย์ออกจากกลิ่นอื่นๆ ได้

ผมใช้เวลาในบังไพรวันละไม่ต่ำกว่า 9-10 ชั่วโมง บังไพรแคบๆ ไม่ได้ทำให้อุดอู้หรืออึดอัด แต่รู้ได้ชัดเจนว่าเมื่อซุกตัวอยู่ในผืนป่าใหญ่เช่นนี้ ดูคล้ายจะเป็นบังไพรที่เล็กมากๆ จนแทบมองไม่เห็น

เวลา 3 ปี ในป่าห้วยขาแข้ง ซุ้มบังไพรเป็นเครื่องมือ ไม่เพียงจะทำให้รู้ว่า “โลก” ข้างนอกที่เฝ้ามองอยู่ยิ่งใหญ่เพียงไร

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นความจริง คือสัตว์ป่าไม่ยินดีต้อนรับให้ผมเป็นพวกมัน

 

กับงานถ่ายภาพสัตว์ป่านั้น นอกจากการเฝ้ารออันไม่แนบเนียน กระแสลมเปลี่ยนทิศทาง อันเป็นสิ่งที่ทำให้สัตว์ป่ารู้ตัวแล้ว ฤดูกาลก็เป็นสิ่งสำคัญ

การเฝ้ารออยู่กับความว่างเปล่า นานนับสัปดาห์ ช่วยให้เรียนรู้ว่าการคิดแบบเดียวกับสัตว์ป่าอาจจำเป็น พวกมันได้รับการเรียนรู้สืบทอดต่อๆ กันมาว่าช่วงเวลาใหนฤดูกาลใดต้องไปที่ใด

การสังเกตหรือศึกษาจากช้างทำได้ง่ายเพราะพวกมันทิ้งร่องรอยไว้เยอะ ฤดูร้อนช้างไม่ไปไหนไกลลำห้วย ช้างมีเส้นทางหากินประจำคล้ายวงรอบ ช้างตัวเมียหรือป้าผู้นำฝูงรู้ดีและชำนาญอย่างยิ่งว่าจะไปหาอาหารจากที่ใดเวลาใด ส่วนใหญ่พวกมันจะไปยังที่ต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกันของทุกปี

สัตว์อื่นๆ เช่น กระทิง ใช้วิธีเดินหากินตามรอยช้าง ไม่เพียงแต่จะไปอยู่ในสถานที่เหมาะสม ถูกที่ถูกเวลา การเดินตามรอยช้างมีผลมากมาย ทางเดินสะดวก ได้กินยอดไม้สูงๆ ที่ช้างดึงลงมากองไว้

ในโป่งช้างมักขุดเอาดินข้างล่างขึ้นมาสัตว์อื่นๆ ก็ได้กินสะดวกขึ้น

ฤดูแล้งจัดๆ ช้างจะขุดหลุมเล็กๆ ริมๆ ห้วยให้น้ำซึมขึ้นมา ทรายช่วยกรองน้ำให้ใสสะอาด

ตามเส้นทางหากินของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ทำให้รู้ว่า แม้ว่าป่าดูคล้ายจะกว้างใหญ่ แต่ไม่มีที่ให้สัตว์ป่าไปมากมายนัก

ผมเริ่มเข้าใจถึงเรื่องที่ชีวิตถูกควบคุมไว้ด้วยปัจจัยบางสิ่ง

ปีกไม่ได้ทำให้นกบินไปได้ทั่วอย่างที่ใจนึก ปีกคือเครื่องมืออันทำให้มันเดินทางไปถึงแหล่งอาหารได้

เช่นเดียวกับตีนของสัตว์ป่าก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งเช่นกัน

 

ถึงวันนี้ ผมยังคงใช้ชีวิตเช่นเดิม ยังใช้ซุ้มบังไพรเป็นเครื่องมือ แต่ก็เป็นซุ้มบังไพรที่พัฒนาขึ้นมาก กันฝน กันน้ำ กันลม ปิดมิดชิด แมลงต่างๆ และยุงเข้าไม่ได้ รวมทั้งสัตว์เลื้อยคลานอย่างงู

มีน้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายง่าย สะดวกในการใช้งาน ไม่ว่าจะกางบนพื้นหรือห้างบนต้นไม้สูงๆ แต่ที่ซุ้มบังไพรทำไม่ได้เลยคือ ป้องกันไม่ให้กลิ่นกายลอยไปจนสัตว์ป่าสัมผัสได้

ในสังคมของสัตว์ป่าพวกมันไม่ต้อนรับคน เมื่อเหยี่ยวบินมา กระรอกส่งเสียงเตือน ไม่ได้เตือนพวกเดียวกันอย่างเดียว แต่เตือนนกเล็กๆ ชนิดอื่นๆ ด้วย เก้งไม่สนใจเพราะเหยี่ยวไม่ทำร้ายเก้ง เช่นกันถ้าเสือมา นกบนต้นไม้ก็ไม่ต้องบินหนี เก้ง กวาง ต้องระวังตัว

แต่หากคนโผล่เข้ามา ทุกอย่างแตกตื่นหนีหมด

 

ปีพ.ศ.2559

คนจำนวนไม่น้อยมุ่งหน้าเข้าป่า ทำความรู้จักกับสัตว์ป่า พร้อมกับเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ดีที่เหมาะสม

สิ่งหนึ่งที่ทุกคนยอมรับอย่างไม่มีข้อแม้ คือป่าเป็นสังคมของสัตว์ป่า มีชีวิตมากมายอาศัยอยู่ในนั้น และพวกมันก็เห็นเราเป็นเพียง “คนแปลกหน้า”

คนแปลกหน้าที่พยายามแนะนำตัวทำความรู้จัก แต่ดูเหมือนเป็นความพยายามที่ไร้ผล