พื้นที่ ออนไลน์ การสร้าง ‘ชุมชน’ ใหม่ ชุมชน ประท้วง/ กรองกระแส

กรองกระแส

 

พื้นที่ ออนไลน์

การสร้าง ‘ชุมชน’ ใหม่

ชุมชน ประท้วง

 

การที่เพียง 3 วัน #ย้ายประเทศกันเถอะ สามารถ “ดูด” คนเป็นจำนวนกว่า 5.5 แสนคนเข้ามาร่วมเสพเสวนาเพื่อหาหนทางให้ได้ตาม “ความฝัน”

นี่เท่ากับเป็น “ชุมชน” ขนาดใหญ่

เหมือนกับการระดมรายชื่อกว่า 2.2 แสนคนเข้ามาของกลุ่ม “หมอไม่ทน” อันเป็นเงาสะท้อนความรู้สึกต่อการดำรงอยู่ในฐานะรัฐมนตรีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล

นี่เท่ากับเป็น “เสียง” อันดัง “กึกก้อง”

กึกก้องเหมือนที่กลุ่ม “ไอ-ลอว์” รณรงค์ในการเสาะหาผู้มีความต้องการร่วมที่จะแก้ไข “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” อย่างชนิด “ยกเครื่อง”

ได้มากว่า 1 แสนรายชื่อ

แม้ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 จะถูกพรรคพลังประชารัฐสมคบกับ 250 ส.ว.ตีให้ตกไปด้วยเวลาอันรวดเร็ว

แต่มีหรือที่รายชื่อกว่า 1 แสนจะงอก่องอขิง

 

เคยมีผู้สรุปไว้อย่างรวบรัดและแหลมคมว่า การที่บุคคลบางคนเปิดเฟซบุ๊กและมีจำนวน “ฟอลโลเวอร์” หรือ “ผู้ติดตาม” เป็นจำนวนนับล้าน

“ผู้ติดตาม” นั่นแหละเท่ากับ “พลานุภาพ”

ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตามในฐานะแฟนเพจของโทนี่ วูดซัม ไม่ว่าจะเป็นผู้ติดตามในฐานะแฟนเพจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นั่นหมายถึงความเป็น “ป๊อปปูลาร์” ในทางการเมือง

เพราะว่าการเข้าร่วมใน #ย้ายประเทศกันเถอะ ก็ดี เพราะว่าการเข้าร่วมในการเคลื่อนไหว #หมอไม่ทน ก็ดี เป็นการเข้าร่วมอย่างสมัครใจ

มิได้มีใครเอา “ปืน” จึ้อยู่กลาง “หลัง”

ทั้งยังเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 1 แสน ทั้งยังเป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 2 แสน ทั้งยังเป็นจำนวนที่ทะยานจากเพียงไม่กี่สิบทะลุไปยัง 5 แสนกว่า

นี่ย่อมเท่ากับเป็น “การชุมนุม” ครั้งใหญ่ ครั้งสำคัญ

 

ต้องยอมรับว่า #หมอไม่ทน มีแรงจูงใจในทางการเมือง เพราะเป็น 2 แสนกว่าคนที่อึดอัดต่อการดำรงอยู่ของนายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะ “รัฐมนตรี”

เช่นเดียวกับกรณี #ย้ายประเทศกันเถอะ

แม้ในเบื้องต้นจะมาจากความต้องการที่จะคลี่คลายในเชิง “เศรษฐกิจ” แต่ก็ต้องยอมรับว่าความต้องการนี้มีรากฐานมาจากปมทาง “การเมือง”

เป็นการเมืองที่ไม่มี “ทางออก” คับแคบ ตีบตัน

เป็นการเมืองที่ก่อรูปตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 กระทั่งต่อเนื่องมายังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ยิ่งประสบกับสถานการณ์ “โควิด” ยิ่ง “อับจน”

เมื่อมีแพลตฟอร์มอย่าง “เฟซบุ๊ก” ประสานเข้ากับแพลตฟอร์มอย่าง “คลับเฮาส์” ชุมชนในโลกฮอนไลน์จึงได้เกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เท่ากับเป็นการ “ประท้วง” ในโลก “โซเชียล”

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ในความเป็นจริงคือ พัฒนาการและการต่อยอดจาก “เยาวชนปลดแอก” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 มาเป็น #ย้ายประเทศกันเถอะ

เปลี่ยนจาก “บนถนนราชดำเนิน” มาเป็นบนพื้นที่ “คลับเฮาส์”

อาจจะถูกเยาะเย้ยหยามหยันจากคนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ภายในการไยไพนั้นก็มีแววแห่งความหวาดหวั่นพรั่นพรึงเกิดขึ้นและดำรงอยู่

เพราะ “พื้นที่” นี้มีแต่จะขยายตัว เติบใหญ่และซึมลึก