กระดุม 3 เม็ด กับการสู้วิกฤตโควิด-19/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

กระดุม 3 เม็ด

กับการสู้วิกฤตโควิด-19

 

พอเอกชนเห็นว่ารัฐบาลกำลังเพลี่ยงพล้ำโควิด-19 และความเสียหายจะกว้างไกลกระทบทั้งประเทศ เราจึงเห็นการอาสาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำสงครามกับโรคระบาดครั้งนี้

วันก่อนผมมีโอกาสเสวนากับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่กำลังเฝ้ามองสถานการณ์เรื่องนี้ด้วยความกังวลและพยายามจะหาทางออกให้กับสังคมไทย จึงได้แลกเปลี่ยนกันในหลายมิติ

ดร.กอบศักดิ์เคยเป็นหนึ่งใน “4 กุมารสยาม” ที่ช่วยงานด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา

วันนี้กลับมานั่งเป็นรองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ

 

ผมถามว่าดีใจไหมที่ไม่ได้นั่งอยู่ในทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่กำลังเผชิญกับวิกฤตทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่หนักหนาสากรรจ์อย่างยิ่ง

ดร.กอบศักดิ์ยิ้ม และพยักหน้าแทนคำตอบ

จับประเด็นของแนวทางการวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 กับทางออกที่ประเมินจาก “ของจริง” วันนี้ในการแลกเปลี่ยนวันนั้นมีประเด็นน่าสนใจคือ

1. ความท้าทายล่าสุดจากโควิด-19 ระดับโลก

– แม้จะมีวัคซีนแล้ว โควิดจะอยู่กับเราไปอีก 1-2 ปี ยังไม่จบง่าย โดยสำหรับทั้งโลก โควิดดีขึ้นเพียง 6 สัปดาห์ในช่วงต้นปีเท่านั้น หลังจากนั้น ก็เริ่มกลับมามีปัญหาอีกรอบ ล่าสุด เริ่มมีผู้ป่วยรายใหม่ทั้งโลกมากกว่า 8 แสนคนต่อวันอีกรอบ

– ในช่วงต้นปีที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ก็เพราะประเทศที่เข้าถึงวัคซีน และเร่งฉีด เช่น อิสราเอล อังกฤษ อเมริกา ได้ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ป่วย ทำให้เกิดความหวังว่า จะสามารถก้าวข้ามปัญหาเรื่องโควิดได้

– แต่หลังจากดีขึ้นได้เพียง 6 สัปดาห์ สถานการณ์ก็ได้แย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้รับวัคซีนเพียงพอ เช่น อินเดีย บราซิล ตุรกี กลับมีการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดียที่เชื้อมีการกลายพันธุ์ เป็น B1.617 และ B1.618 ทำให้ติดง่าย รุนแรง กระจายไปอย่างรวดเร็ว ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 400,000 คนต่อวัน

– แม้กระทั่งไทยเองก็กำลังประสบปัญหาจากโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ ที่กำลังกลายเป็นการระบาดระลอก 3 อยู่ในขณะนี้ ทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

– ซึ่งหมายความว่า ระยะต่อไป การต่อสู้กับโควิดจะแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือประเทศที่เข้าถึงวัคซีน (ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่น่าจะสามารถฉีดวัคซีนเสร็จภายในปีนี้) และประเทศที่เข้าไม่ถึง (ประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องใช้อีก 2 ปีถึงจะฉีดวัคซีนได้เยอะพอ)

ซึ่งหมายความว่า โควิดจะระบาดไปอีกระยะ และยิ่งระบาด ก็จะเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจจะดื้อต่อวัคซีน และท้ายสุดอาจจะกลับไประบาดในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ฉีดวัคซีนเรียบร้อยอีกครั้ง

 

2.การต่อสู้กับโควิดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจไทย

– หัวใจสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจไทยจากโควิด เราต้องมีกลยุทธ์ โดยดำเนินการไปใน 3 ขั้นตอน

กระดุมเม็ดแรก

คือ การที่จะฟื้นกำลังซื้อในประเทศ ซึ่งหมายความว่า เราต้องควบคุมการระบาดในประเทศให้ได้ เพราะจากข้อมูล 12 เดือนที่ผ่านมา ชี้ว่า เมื่อโควิดไม่ระบาด เศรษฐกิจในประเทศ

คือการบริโภค การผลิต การลงทุน การท่องเที่ยวในประเทศ ก็สามารถที่จะฟื้นตัวกลับมาได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการระบาดระลอก 2 ทุกอย่างก็จะฟุบลงไปอีกครั้ง

– ในช่วงปลายปี 2563 ดัชนีต่างๆ ในประเทศสามารถฟื้นตัวกลับไปที่จุดก่อนเกิดโควิดแล้ว บางดัชนี เช่น การส่งออก ได้ขยายตัวประมาณ 7% เทียบกับปีก่อนหน้า ถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจไปได้ คงต้องเริ่มจากการควบคุมโควิดในประเทศให้กลับเป็นปกติ คนจึงจะกล้าใช้ชีวิตตามปกติ

กระดุมเม็ดที่สอง

คือ การต้องหาวัคซีนและฉีดวัคซีน เพื่อฟื้นภาคท่องเที่ยว และเพื่อให้เป็นภูมิคุ้มกันภัยที่ยั่งยืน เพราะจะเห็นได้ว่า การรักษาสถานการณ์ในประเทศให้ปลอดโควิค โดยไม่มีวัคซีนนั้น เป็นไปได้ยาก เพราะสามารถเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้ตลอด จากคนที่เข้าประเทศ และจากพรมแดน

เมื่อมีวัคซีนแล้ว เราก็จะสามารถฟื้นภาคท่องเที่ยวที่มีขนาด 15% ของ GDP และมีการจ้างงานคนถึง 10 ล้านคนได้อย่างแท้จริง

– ในอาเซียน มีปัญหาการฟื้นตัว ถ้าเราต้องการฟื้นเศรษฐกิจ การฉีดวัคซีนเพื่อปกป้องประชาชน และการเริ่มเข้าสู่กระบวนการเปิดภาคท่องเที่ยว โดยใช้ Vaccine Passport โดยเริ่มที่ Phuket Model จะเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากท่องเที่ยวกลับมาไม่ได้ ก็ยากที่ไทยจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจได้

กระดุมเม็ดที่สาม

คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การลดกฎระเบียบ การ Transform ประเทศจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลังโควิค ในยุค New normal จะมีการแข่งขันกันระหว่างประเทศอย่างรุนแรงมากขึ้น เราต้องปรับตัว เพื่อให้เราสามารถมีที่ยืน และสามารถก้าวไปข้างหน้าได้

– การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนจะมีความสำคัญมาก เพราะต้องทำต่อเนื่อง อาจจะมีการกลายพันธุ์เป็นระยะๆ จึงจำเป็นต้องวางระบบไว้ต่อสู้ระยะยาว โดยเอกชนสามารถช่วยได้ทั้งใน 3 ด้าน คือ

– การดูแลให้โควิดไม่กระจาย และควบคุมได้ จากการดูแลพนักงานของตนเอง

– การช่วยหาและกระจายการฉีดวัคซีน ตามที่หอการค้าเสนอ

– การกระตุ้นฟื้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

การแก้ปัญหาต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน ในการปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ รวมไปถึงการ Transform ภาคธุรกิจเพื่อแข่งขันในยุค New Normal ต่อไป

 

4.ข้อแนะนำของ ดร.กอบศักดิ์สำหรับผู้ประกอบการ และอุตสาหกรรมต่างๆ

– การระบาดระลอกใหม่ในโลกและในไทยชี้ว่าโควิดคงยังไม่จากเราไปง่ายๆ

– หัวใจสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในช่วงระบาดรอบใหม่และในช่วงต่อไป คือการประคองตน

ทุกคนต้องพยายามอยู่รอดจนกระทั่งวัคซีนมาถึง ปีนี้ดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้เริ่มมีวัคซีนที่จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา

ก่อนที่จะมีการระบาดรอบ 3 ทางรัฐบาลและแบงก์ชาติได้ออกมาตรการ Special Loans และ Asset warehousing (พักทรัพย์, พักหนี้) มาประจวบเหมาะพอดี น่าจะช่วยทุกคนได้ระดับหนึ่ง

– มุมมองเกี่ยวกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ – วิกฤตรอบนี้ มีทั้งวิกฤตและโอกาส บางอุตสาหกรรมไปได้ บางอุตสาหกรรมต้องปรับตัวมาก

– ภาคส่งออก – ล่าสุดขยายตัว 8% เป็นภาคเศรษฐกิจที่จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป บางอุตสาหกรรมได้รับประโยชน์มากจากวิกฤตรอบนี้ เช่น ยางพารา

– ภาคเกษตร – ช่วงที่ผ่านมา ราคาสินค้าเกษตรดี และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงช่วงนี้ จะช่วยให้ภาคเกษตรได้รับประโยชน์

– ภาคยานยนต์ – เริ่มกลับมาขยายตัวช่วงปลายปี และงาน Motor Show 2021 ที่ผ่านมา ยอดดีอย่างน่าพอใจ

– ภาคท่องเที่ยว – ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดระลอกใหม่ โดยไทยเที่ยวไทย ลดลงในช่วงนี้ ต้องพยายามหาสายป่าน ระยะสั้น และเร่งดำเนินการ Phuket Model ในช่วงครึ่งหลังของปีให้สำเร็จ

– มุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม การที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นได้นั้น ต้องค่อยๆ เดินไปตามกระดุม 3-4 เม็ดข้างต้น โดยต้องเริ่มจาก

– การจัดการควบคุมการระบาดระลอก 3 ให้ได้ และเอาจริงที่จะไม่ให้เชื้อที่กลายพันธุ์จากอินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้เข้ามา โดยเข้มงวดเรื่อง ASQ เพื่อซื้อเวลา 2-3 เดือน ก่อนที่วัคซีนจะมาถึง

– พยายามเร่งหาวัคซีนให้เพียงพอ และเตรียมการเรื่องการกระจายและฉีดวัคซีน เพราะว่าระลอก 4 5 6 รออยู่ข้างหน้า

ถ้าเราไม่มีวัคซีน ไม่ฉีด เราก็จะอ่อนไหวต่อการระบาดรอบถัดไป และทำให้เศรษฐกิจติดๆ ดับๆ ไม่สามารถฟื้นได้อย่างแท้จริง

– เตรียมเรื่องการเปิดภาคท่องเที่ยว ให้กับคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งในส่วนนี้ อีก 3-4 เดือนให้หลัง ก็จะมีภาพที่ชัดเจนว่าจะจัดการอย่างไรจากตัวอย่างในต่างประเทศ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจ

เพราะภาคท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 15% ของ GDP ถ้ากลับมาไม่ได้ เศรษฐกิจโดยรวมก็จะซึมๆ ต่อไป

– เมื่อควบคุมโควิดไว้ได้แล้ว เราคงต้องกลับไปเตรียมการเรื่องอนาคต เพื่อให้ไทยแข่งขันได้ โดยเฉพาะเร่งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน การลดอุปสรรคธุรกิจ การส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งหมดนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และทำให้เม็ดเงินในระบบหมุนอีกรอบ