เมื่อ ‘3 ป.’ ขับเคี่ยว ‘ปชป.-ภท.’ พร้อมข่าวลือ ตั้ง ‘พรรคสำรอง’ รับศึกเลือกตั้ง!/เปลี่ยนผ่าน ปรัชญา นงนุช

เปลี่ยนผ่าน

ปรัชญา นงนุช

 

เมื่อ ‘3 ป.’ ขับเคี่ยว ‘ปชป.-ภท.’

พร้อมข่าวลือ ตั้ง ‘พรรคสำรอง’

รับศึกเลือกตั้ง!

กลายเป็นศึก 3 พรรคร่วมรัฐบาล ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ท่ามกลางกระแสข่าวยุบสภา และความเคลื่อนไหวตั้งพรรคสำรองของฝั่ง “3 ป.”

โดยเฉพาะก้าวย่างของ “ปลัดฉิ่ง-ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ปลัดมหาดไทย ซึ่งจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2564 และ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตรฯ

สัญญาณนี้เด่นชัดขึ้น หลัง “บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกคำสั่งที่ 85/2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบพื้นที่ต่างๆ ตามแนวคิด “ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน”

ทว่าในคำสั่งกลับมีการ “ข้ามไลน์” และ “โยกข้ามภาค” เป็นสูตรพิสดาร จนทำให้พรรคร่วมรัฐบาลอย่างประชาธิปัตย์ต้องออกโรงแสดงความไม่พอใจ

โดยเฉพาะกรณี ร.อ.ธรรมนัส ซึ่งมีอีกสถานภาพหนึ่งเป็น ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ แต่กลับได้ลงใต้มารับผิดชอบพื้นที่ จ.สงขลา จ.นครศรีธรรมราช และ จ.ภูเก็ต หลัง รมช.เกษตรฯ มีผลงานนำผู้สมัครพลังประชารัฐชนะศึกเลือกตั้งซ่อม จ.นครศรีธรรมราช เขต 3

พร้อมโยก “สินิตย์ เลิศไกร” รมช.พาณิชย์ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ไปภาคอีสาน รับผิดชอบ จ.หนองบัวลำภู และ จ.ร้อยเอ็ด แล้วสลับให้ “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.มหาดไทย ที่มีฐานเสียงอยู่ จ.สงขลา และเคยดูแลพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ด้วย ไปรับผิดชอบ จ.ตรัง และ จ.สตูล

กระทั่ง “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมาระบุชัดๆ ว่าพรรคไม่พอใจคำสั่งดังกล่าว และได้มีการหารือกันขอให้รัฐบาลทบทวนคำสั่งใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องบานปลายโดยไม่จำเป็น

สุดท้าย บิ๊กตู่ต้องยอมฟังเสียงทักท้วง ในสถานการณ์ “รัฐบาลขาลง” เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีเรื่องบานปลายตามที่จุรินทร์เตือนไว้ ซึ่งนั่นหมายความว่าประชาธิปัตย์พร้อม “บวก” กับนายกฯ และพลังประชารัฐ

โดยมอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ไปพูดคุยกับพรรคประชาธิปัตย์ นำมาสู่การออกคำสั่งยกเลิกคำสั่งนายกฯ ที่ 85/2564

อันเปรียบเป็นการ “หย่าศึกชั่วคราว”

 

มากันที่ฝั่งพรรคภูมิใจไทย หลัง “เสี่ยโอ๋-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรค ติดเชื้อโควิด พร้อมโดนกระแสสังคมกดดันให้เปิดเผยไทม์ไลน์ จนเกิดคำครหาตามมาว่ารัฐมนตรีไปเที่ยวสถานบันเทิงย่านทองหล่อมาหรือไม่?

แม้เจ้าตัวจะยืนกรานและเปิดไทม์ไลน์ว่า “ไม่ได้ไป” ทว่างานนี้กลับกระทบชิ่งมาถึง “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรค ที่ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบ รมว.สาธารณสุข เพราะเป็นรัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่องโควิดโดยตรง

จากกรณี “กลุ่มหมอไม่ทน” ล่ารายชื่อขับไล่ให้พ้นตำแหน่ง ด้วยข้อหาแก้ปัญหาโควิดล้มเหลว แต่อีกด้านก็มีฝั่งสนับสนุนออกแคมเปญ “Save อนุทิน”

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ตัวเลขทะลุหลักสองพันคนต่อวัน ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องทำการ “รวบอำนาจ” หลัง ครม.ไฟเขียวให้อำนาจนายกฯ ชั่วคราว ในการบังคับใช้พระราชบัญญัติ 31 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาโควิด

ย้อนกลับไปที่ปัญหาเรื่อง “วัคซีนโควิด” ซึ่งรัฐบาลถูกวิจารณ์หนัก จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาการจัดหาวัคซีน โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการ ทว่ากลับไร้ชื่อ รมว.สาธารณสุขเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้

ทั้งหมดนี้ทำให้สถานการณ์ในพรรคร่วมรัฐบาลดูคุกรุ่นมากขึ้น และถูกตอกย้ำหลังมีรายงานข่าวอ้างคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ช่วงท้ายการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ขู่ไปถึงรัฐมนตรีบางคนที่แอบนินทานายกฯ พร้อมส่งคำเตือนระวังจะถูกริบเก้าอี้คืน

“มีรัฐมนตรีบางคนพูดจาไม่ดีและนินทาผมในที่ประชุมบางวง ให้ระวังตัวไว้ด้วย ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเข้ามาทำงาน จะชอบหรือไม่ชอบผม อย่านินทาให้ผมได้ยิน ถ้าผมได้ยินอีก ผมจำเป็นต้องปรับออก จะริบโควต้านั้นมาเป็นของผมเอง ระวังตัวไว้ด้วยละกัน

“ผมไม่เคยทำให้ท่านเสียหาย ผมมีทีมงานคอยดูเฟซบุ๊กทุกท่าน ผมไม่วางใจและไม่สบายใจ ใครก็ตามที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง ทุจริต ถ้ามีปัญหาผมจะพิจารณาเอาออก ผมจะไม่ให้โควต้าพรรค จะดึงมาเป็นโควต้าผม” นี่คือคำพูด พล.อ.ประยุทธ์ที่ปรากฏในรายงานข่าว

ก่อให้เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ ในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยที่บาดแผลกำลังสด-ระบม

 

หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกเพ่งเป้าก็คืออนุทิน เพราะมีเรื่องค้างคาใจกับท่านผู้นำมาตั้งแต่เมื่อครั้งไปตรวจโรงพยาบาลสนาม ย่านหนองจอก เมื่อวันที่ 21 เมษายน โดยนายกฯ ได้ตำหนิกรณีสายด่วน 1668-1669 ที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รับสาย กลางวงประชุม

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องออกมาเคลียร์ว่าตนเองไม่มีอะไรขัดแย้งกับรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข

ขณะที่ข้อความทางเฟซบุ๊กของอนุทินที่ระบุว่า “บางท่านทั้งให้กำลังใจ และห่วงใยว่ามีการยึดอำนาจ แย่งอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ผมได้แต่ตอบไปว่า รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุด และเป็นผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว

“ผมมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบาย และคำสั่งท่านนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด”

ก็ถูกตีความโดยสื่อบางสำนักว่าอาจเป็นการปัดความรับผิดชอบไปให้ผู้นำรัฐบาลแบบเนียนๆ

ในที่สุด อนุทินจึงต้องมาออกมาเคลียร์ข้อกล่าวหาเรื่อง “รัฐมนตรีนินทานายกฯ” แบบชัดๆ เมื่อวันที่ 29 เมษายน ว่า

“ผมกับท่านนายกฯ ยังมีการคุยด้วยความเคารพ และผมยังเคารพนายกฯ ตลอดเวลา คุยกันมาตลอด เมื่อวานซืนก็คุย เมื่อวานก็คุย หลังประชุม ครม.ก็คุย เช้านี้ประชุม ทั้งเช้า ทั้งบ่าย กลับมาท่านยังโทรศัพท์มาสั่งงาน ไม่เคยมีความขุ่นข้องหมองใจอะไร”

 

ท่ามกลางมรสุมภายในที่รุมเร้ารัฐนาวาประยุทธ์ จู่ๆ ก็เกิดกระแสข่าวทำนองว่านายกฯ อาจ “เท” พรรคภูมิใจไทย แล้วหันไปดึงพรรคเพื่อไทยมาร่วมรัฐบาล

โดยบิ๊กตู่จะดึงเก้าอี้ รมว.สาธารณสุขกลับมาเป็นโควต้าของตัวเอง ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ก็จัดสรรให้แก่ฝั่งเพื่อไทย

ข่าวลือนี้ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยต้องรีบออกมาปฏิเสธทันควัน พร้อมทั้งชี้ว่าน่าจะเป็นข่าวปล่อยอันเกิดจากรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาลมากกว่า

จุดนี้ยิ่งตอกย้ำกระแสข่าวยุบสภาและการตั้ง “พรรคใหม่” ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งความเคลื่อนไหวต่างๆ จะยิ่งเด่นชัดในปลายปี 2564 หลังงบประมาณปี 2565 ผ่านสภา และหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกสนาม

“พรรคใหม่” ตามเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ถูกมองว่าเป็น “พรรคสำรอง” ของ “3 ป.” โดยบุคคลที่ถูกจับตาว่าจะไปเป็นแกนนำพรรค ก็คือ “ปลัดฉิ่ง” และ “ร.อ.ธรรมนัส” ซึ่งต่างเปล่งรัศมีของตนเองออกมา

โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยเคยไปเป็นประธานงานวันเกิดของ “เตือนใจ จรัสเสถียร” มารดา “โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ซึ่งมี ส.ส.เพื่อไทยคนอื่นๆ ไปร่วมงานด้วย จนได้ฉายาว่า “ฉิ่งหวานเจี๊ยบ”

ส่วน ร.อ.ธรรมนัส นอกจากผลงานในสนามเลือกตั้งซ่อมแล้ว ยังเคยแสดงอิทธิฤทธิ์ไว้เมื่อครั้งการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจหนล่าสุด ที่มี ส.ส.ฝ่ายค้านปันใจ-ลงคะแนนให้

ทำให้คนจับตาไปยัง “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ซึ่งมีบุคคลในรัฐบาลดูแลอยู่ และมีชื่อพ้องกับม็อตโต้ของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกพรรคคือ “พรรคเศรษฐกิจไทย” ที่ถูกมองว่าอาจถูกฝั่งผู้มีอำนาจเทกโอเวอร์ด้วยหรือไม่?

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองใหม่ๆ เช่น “พรรคพลัง” ซึ่งถูกมองว่าอาจเป็นถ้ำใหม่ของ “ส.ส.ฝากเลี้ยง” พรรคเพื่อไทยหรือเปล่า?

หากดูจากประวัติคนมาร่วมทัพ เช่น “มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ” ประธานที่ปรึกษาพรรค ซึ่งเคยเป็นอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช. รวมถึง “ชินวัฒน์ หาบุญพาด” รองหัวหน้าพรรคภาคตะวันออก อดีตแกนนำเสื้อแดงและเป็นผู้ก่อตั้งวิทยุชุมชนแท็กซี่คนรักทักษิณ

ไม่นับโลโก้และคำขวัญพรรคที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับพรรคเพื่อไทยเหลือเกิน

ทั้งหมดนี้สะท้อนว่าในยาม “ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย” เพลี่ยงพล้ำ คณะ “3 ป.” แห่งเครือข่าย “พลังประชารัฐ” ก็กำลังรีบตั้งหลัก-เร่งโกยแต้ม เพื่อโอกาสในการกระชับอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งขึ้น

หรือเกมนี้ “3 ป.” จะมาเหนือกว่าสองพรรคร่วมรัฐบาล?