บทเรียน 6 ตุลา 2519 สู้…ชิงประเทศ หรือย้ายประเทศ/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

บทเรียน 6 ตุลา 2519

สู้…ชิงประเทศ

หรือย้ายประเทศ

 

การประท้วงในพม่าวันนี้ ประชาชนอยากจะชิงประเทศคืน

เมื่อถูกปราบด้วยอาวุธ ก็ต้องจับอาวุธต่อสู้ คล้ายกับการเมืองไทยสมัยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่นักศึกษาต้องหนีเข้าป่า จับอาวุธทำสงครามจรยุทธ์ ต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลเป็นเวลาหลายปี

บางคนก็ย้ายประเทศไปลี้ภัยเมืองนอก และไม่กลับมา

แนวรบอีกแนวที่มีผลต่อการ…อยู่ หรือย้าย…คือการต่อสู้ที่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม

ลองศึกษาประวัติศาสตร์ยุค 6 ตุลาคม 2519 ดู

 

คดี 6 ตุลาคม 2519

…ประกันตัว 20,000 บาท

ครูบาอาจารย์ก็ประกันตัวลูกศิษย์ได้

6 ตุลาคม 2519 กำลังกลุ่มขวาจัด ทั้งกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้านบางกลุ่ม ตชด.จากค่ายนเรศวร ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วย SWAT เข้าปิดล้อมและโจมตีผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้ามืด มีการยิงเข้าใส่ด้วยปืนกล ระเบิด ปืนยิงรถถัง มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 45 คน บาดเจ็บจำนวนมาก มีผู้ถูกจับไปขัง 3,000 กว่าคน

ต่อมาก็มีการไล่จับแบบกวาดล้างตามมหาวิทยาลัย ได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีกรวมทั้งหมด 3,154 คน

ส่วนที่รอดไปได้ ก็หนีเข้าป่าหรือไปต่างประเทศ

ด้วยแรงกดดันต่างๆ จึงมีการให้ประกันผู้ที่ถูกจับกุมโดยใช้เงิน 20,000 บาท ภายหลังก็ให้ประกันง่ายขึ้น โดยอาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็เป็นนายประกันได้ ในชั้นสอบสวนมีผู้ได้รับการประกันตัว 2,579 คน ส่วนใหญ่หลังจากออกมาก็หนีเข้าป่า

ถึงเดือนธันวาคม 2519 ยังมีผู้ถูกขังอยู่อีก 300 กว่าคน ในเดือนมีนาคม 2520 ได้สั่งปล่อยผู้ต้องหาส่วนใหญ่ (ไม่ต้องประกัน)

อัยการสรุปว่าผู้ต้องหาทั้งหมด 3,154 คน หลักฐานไม่พอฟ้อง 3,080 คน (แสดงว่าที่ไปฆ่า ไปล้อมยิง จับถอดเสื้อ เอาไปขัง เป็นการเข้าใจผิด) มีการพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 จำนวน 74 คน ในกลุ่มนี้ถูกตั้งข้อหาคอมมิวนิสต์เพิ่มขึ้น แต่ได้รับการประกันตัวไป 51 คน (ซึ่งสุดท้ายก็ไม่สั่งฟ้อง) เหลือถูกคุมขังอยู่ 23 คน

ต่อมาเห็นสมควรให้ปล่อยตัว 5 คน สั่งฟ้องเพียง 18 คน

 

ไม่ผิดแล้วหนีทำไม?…

(ขืนอยู่ก็ติดคุกฟรี)

ผู้ที่ถูกจับกุมในวันที่ 6 ตุลาคม และส่งฟ้อง 18 คน อยู่ในคุกทั้งหมด เช่น นายสุธรรม แสงประทุม นายสุรชาติ บำรุงสุข นายธงชัย วินิจจะกูล นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ

นอกจากนี้ มีการตั้งข้อหาร้ายแรงให้กับผู้นำนักศึกษา และแกนนำพรรคการเมือง ที่ไม่ได้ถูกจับในธรรมศาสตร์ จำนวน 32 คน เช่น 1.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2.นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ 3.นายสงวน นิตยารัมพงศ์ 4.นายธีรยุทธ บุญมี 5.นายตา เพียรอภิธรรม. 6.นายพินิจ จารุสมบัติ 7.นายเหวง โตจิราการ 8.นายพลากร จิระโสภณ 9.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ฯลฯ ทั้งหมดหลบหนีได้

พวกที่ไม่มีหมายจับแต่ก็หนี เช่น หมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และภูมิธรรม เวชยชัย จากเพื่อไทย หรือชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และวิทยา แก้วภราดัย จาก ปชป. พิเชษ พัฒนโชติ และมาลีรัตน์ แก้วก่า จากวุฒิสภา จรัล ดิษฐาอภิชัย จาตุรนต์ ฉายแสง ยังมีอีกมากมายหลายร้อยคน

ไม่ฟ้องก็ไม่ได้… มีการฆ่าคนกลางเมือง ต้องหาแพะ

เดือนตุลาคม 2520 รัฐบาลอำมาตย์ถูกรัฐประหารอีกครั้งโดยกลุ่มทหาร คราวนี้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ขึ้นเป็นนายกฯ เอง นำคดี 6 ตุลาคม เข้าสู่ศาลทหาร ตั้งแต่มกราคม 2521

คำบรรยายฟ้องโดยสรุปคือตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้ง 18 คนกับพวกที่หลบหนียังจับไม่ได้ (32 คน) บังอาจตั้งกลุ่มโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะ

ทำการเป็นคอมมิวนิสต์

ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์

มีการกระทำอันเป็นกบฏ

ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ

สรุปว่าทั้งหมดมีโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ความจริงเกือบจะถูกเปิดกลางศาล

แก้ด้วยนิรโทษกรรม

แต่พอสืบพยานของฝ่ายรัฐบาลเองไปได้ 7-8 ปากก็เป็นเรื่อง

ความจริงถูกเปิดเผยออกมาต่อหน้าชาวไทยและต่างประเทศ

ใครมาจากหน่วยไหน? ใช้อาวุธอะไร? มาล้อมฆ่านักศึกษา

จากนายสิบ สืบรู้ว่าใครสั่งมา มีชื่อและยศ ตั้งแต่นายร้อย นายพัน

พอถึงปากที่สืบพยานโจทก์ ฝ่ายรัฐบาลก็หลุดชื่อพลตำรวจตรี พลตำรวจโท ออกมา ผู้เกี่ยวข้องคิดว่า ถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาแน่ ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลังจึงรีบตัดตอน…

15 กันยายน 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี ก็ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คดี 6 ตุลา ลงมติในสภา 3 วาระรวดในวันเดียว ค่ำวันนั้น พล.อ.เกรียงศักดิ์ก็บินไปยังพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทูลเกล้าฯ ถวายให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

16 กันยายน 2521 ผู้ต้องหา 18 คน ได้รับนิรโทษกรรมก็ได้รับการปล่อยตัวให้เป็นอิสระ ติดคุกฟรีมาเกือบ 2 ปี ขาดไป 20 วัน แต่ห้ามสืบคดีต่อ ก็เลยกลายเป็นนิรโทษฆาตกร

ผู้ต้องหา 3,154 คนพ้นคุกหมดแล้ว แต่ที่อยู่ในป่าก็ยังรบกันต่อไป จนมีการใช้นโยบาย 66/23 มีผลให้การสู้รบยุติลงในปี 2524 และพวกที่อยู่ป่าก็คืนเมืองเกือบหมดในปี 2525

 

การยึดอำนาจยุคใหม่

มีการใช้กระบวนการยุติธรรมเล่นงาน

30-40 ปีต่อมา ก็ยังเกิดการยึดอำนาจด้วยการรัฐประหารแบบเก่า ตามซ้ำด้วยการยึดอำนาจแบบใหม่ คือตุลาการภิวัฒน์ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ถึงตอนนี้ประเทศคล้ายจะเปลี่ยนเป็นระบอบอำมาตยาธิปไตย

ความเหมือนและแตกต่างของยุครัฐประหาร 2519 และรัฐประหาร 2557

ในทางการเมืองมีความพยายามจะสืบทอดอำนาจและรัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ โดยใช้ ส.ว.แต่งตั้งเหมือนกัน ในการบริหารความขัดแย้ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการปรองดองและจะต้องการสืบทอดอำนาจ

เมื่อเปรียบเทียบกับหลังรัฐประหาร 2557 มีความมุ่งหวังที่จะสืบทอดอำนาจและขยายขอบข่ายอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้สร้างความขัดแย้งกับประชาชนขยายมากขึ้น

จนถึงปัจจุบันความขัดแย้งขยายและลงลึกถึงระดับขัดแย้งกับเด็กที่เป็นนักศึกษาและนักเรียนแล้ว

แต่รัฐยังใช้วิธีตั้งข้อหาและจับไปขัง ไม่เพียง ม.112 และ 116 แต่ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร พ.ร.บ.ความสะอาด ฯลฯ ล้วนเอามากดดันฝ่ายต่อต้าน แถมตามถึงบ้าน

ถ้ามีแต่ความอยุติธรรม ไม่รบกัน ก็ต้องย้าย

 

ที่ยกตัวอย่างมาก็เห็นแล้วว่าสมัย 6 ตุลาคม 2519 มีการประกันตัวได้แม้จะเป็นคดีร้ายแรงอยู่ในระดับข้อหากบฏและใช้อาวุธล้มล้างรัฐบาล ด้วยเงินจำนวนไม่สูงและครูบาอาจารย์ก็มาประกันลูกศิษย์ได้ เพราะได้คำนึงถึงผลการเมือง

แต่ปัจจุบันในคดีที่เกิดจากการชุมนุมการปราศรัยกลับมีความพยายามที่จะจับคนที่มีความเห็นขัดแย้งไปขังคุก เพราะคิดว่าจะทำให้การชุมนุมยุติลง แต่การชุมนุมยังมีอยู่เรื่อยๆ และเป็นการสร้างความขัดแย้งที่หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับเยาวชน นี่เป็นธรรมชาติของเยาวชนที่รักความเป็นธรรม

รมต.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ไม่ควรทำหนังสือไปสอบถามมหาวิทยาลัยต่างๆ ว่าจะสอบสวนเรื่องจริยธรรมของอาจารย์ที่ไปประกันตัวลูกศิษย์ที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือไม่

เพราะเคยเป็นผู้นำนักศึกษาที่ต้องหนีหมายจับเข้าป่า ทำไมจะไม่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกและการต่อสู้ของเด็กๆ ยุคนี้ ตอนอยู่ป่าก็เป็นลูกที่ดีของพรรค มีความแตกฉานทฤษฎีการเมือง

กรณีเพนกวิน, รุ้ง, มายน์ ฯลฯ คือเยาวชนก้าวหน้าคล้ายตัวเขาในอดีต อย่าบอกว่าเยาวชนเหล่านี้แรงกว่า พวกที่จับปืนสู้กับอำนาจรัฐแรงมากอยู่แล้ว มีมาตั้งแต่สมัยจิตร ภูมิศักดิ์ มันเกิดขึ้นก็เพราะถูกบีบบังคับจนทนไม่ไหวทั้งนั้น

สิ่งที่ รมต.ควรทำมากกว่าใครใน ครม.นี้…คือคิดนโยบายที่จะทำให้เกิดการปรองดอง เพราะเด็กที่ก้าวหน้าในยุคนี้ล้วนเป็นเด็กเก่ง เหมือนยุค 6 ตุลา แต่ความอยุติธรรมในวันนี้ทำให้พวกเขามองชนชั้นปกครองอย่ารังเกียจเหยียดหยาม

และคิดว่าพวกเขาจะอยู่ในประเทศนี้ต่อไปอย่างไร เริ่มด้วยปฏิรูป ถ้าถูกบีบคั้นหนักก็อาจกลายเป็นปฏิวัติ ถ้าเปลี่ยนไม่ไหวก็เป็นธรรมดาที่จะคิดไปสู้ที่อื่น

 

5พฤษภาคมปีนี้ครบรอบ 55 ปีการเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์

ทำให้นึกถึงเส้นทางเดินของพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) ที่ยังยืนหยัดสู้กับระบบอำมาตย์ และระบบอยุติธรรม แม้พริษฐ์ ชิวารักษ์ จะไม่ใช่จิตร ภูมิศักดิ์ แต่ก็มีความสามารถในการประพันธ์บทกวีที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่น…ผ่านภาษาที่เข้มแข็งและงดงาม…

…คืนนี้แน่คืนยาก ดังใจพรากพลัดจากกาย

ความเป็นคนมลาย พายุห้ำกระพือโหม

เธออาจจะหวาดหวั่น เมื่อฟ้าลั่นประจัญโจม

หากฟ้าที่ถาโถม ย่อมวัดมาตรขนาดใจ

เหล็กกล้าที่แกร่งดี ต้องถูกตีและผ่านไฟ

คนกล้ายิ่งกว่าใคร ต้องผ่านภัยใจจึงทน

มีสู้ย่อมมีเจ็บ และหนาวเหน็บในบางหน

แต่เพื่อประชาชน จงทนทุกข์อย่างทนทาน…

(คารวะมายัง…นักสู้ทุกรุ่น ทุกคน)