คำ ผกา : เกิดเป็นไทย ใจอยากย้ายประเทศ

คำ ผกา

มีปัจจัยอะไรที่ทำให้คนเราอยากย้ายไปอยู่ต่างประเทศ?

สำหรับคนจากประเทศโลกที่หนึ่ง คนในวัยเกษียณอยากย้ายมาอยู่ในประเทศโลกที่สามที่มีสาธารณูปโภคค่อนข้างได้มาตรฐาน

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะค่าครองชีพในประเทศโลกที่สามนั้นถูกกว่ามาก เราจึงเห็นปรากฏการณ์คนวัยเกษียณจากญี่ปุ่น จากยุโรปย้ายมาตั้งรกรากในเมืองไทย ด้วยเงินจำนวนที่เท่ากัน ถ้าอยู่ญี่ปุ่นไม่สามารถจ้างแม่บ้าน พยาบาลส่วนตัว หรือสามารถออกไปตีกอล์ฟได้ทุกสัปดาห์เหมือนอยู่เมืองไทยได้

หรืออย่างที่เห็นว่าชายวัยเกษียณจากยุโรปจำนวนมาก เดินมาเมืองไทยด้วยเงินก้อนหนึ่งแล้วไปอยู่ต่างจังหวัด ซื้อบ้าน หาภรรยาคนไทย แล้วใช้ชีวิตบั้นปลายได้ดั่งราชา

คนหนุ่ม-สาวจากประเทศโลกที่หนึ่งจำนวนไม่น้อยผันตัวเองมาเป็น digital nomad พาตัวเองมาอยู่ในประเทศโลกที่สาม ที่ค่าครองชีพถูก และทำงานผ่านทางออนไลน์

บ้างก็ประสบความสำเร็จ บ้างก็ล้มเหลว

มีภาพแฟนตาซีว่ามาขอวีซ่าท่องเที่ยวอยู่เชียงใหม่ อยู่ภูเก็ต แล้วชีวิตจะเหมือน vacation ทุกวัน ได้อยู่ในประเทศที่มีแสงแดดอบอุ่นตลอดปี อาหารอร่อย ราคาถูก ผู้คนเป็นมิตร มีทะเล มีภูเขา มีกัญชา

แต่หลายๆ คนก็พบว่าการมาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศโลกที่สาม ไม่ได้ง่ายอย่างที่แฟนตาซีเอาไว้

แค่เจออุปสรรคระบบราชการต่างๆ ก็อ้วกแล้ว ไม่นับว่าส่วนใหญ่ก็ไม่อาจทำมาหาเงินในฐานะ digital nomad ได้จริงๆ

คนหนุ่ม-สาวหรือวัยกลางคนญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งก็ย้ายมาอยู่เชียงใหม่กันเยอะ ด้วยภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้าง “ตึงเครียด” ก็อาจทำให้มีหนุ่ม-สาว ศิลปินจำนวนมาก มาแสวงหาโอกาสตั้งรกรากในเมืองที่ “วัฒนธรรมการกิน-อยู่แบบญี่ปุ่น” ขายได้

เช่น มาทำเครื่องปั้นดินเผา มาทำงานผ้า มาเปิดร้านอาหาร

คนไทยจำนวนไม่น้อยก็มีช่วงเวลาแห่งการอพยพเป็นโรบินฮู้ดไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริการะลอกใหญ่มาแล้ว

หรือมีคนไทยไปขายแรงงานทั้งถูกกฎหมาย ผิดกฎหมายอยู่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ไต้หวัน

สำหรับฉันในอดีต การย้ายประเทศของคนไทยมีสองแบบ คือ

หนึ่ง แบบคนรวย เช่น พ่อ-แม่ส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่เด็ก เรียนจบ มีงานทำ แต่งงาน ตั้งรกรากอยู่ที่นั่น

หรือคนที่เรียนเมืองนอกตอนโตก็ไปได้งาน ไปแต่งงาน มีชีวิตดีๆ ก็ตั้งรกรากอยู่ต่างประเทศไปเลย

หรือมีครอบครัวลงหลักปักฐานอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว มีบ้านหลังที่สอง หลังที่สาม เป็นชนชั้นนำ อยู่เมืองนอกสลับกับเมืองไทย ไม่มีความลำบากใดๆ ทั้งสิ้น

สอง แบบโรบินฮู้ดไปแบบไม่มีอะไรจะเสีย ไปตายเอาดาบหน้า และพบว่าประเทศที่คนเสมอหน้ากันต่อหน้ากฎหมายไม่มี “มาเฟีย” ขาใหญ่คอยรีดไถเรียกค่าคุ้มครอง คนสามารถประสบความสำเร็จได้โดยความรู้ ความสามารถ ความขยันของตนเองได้

คนเหล่านี้ก็ย้ายไปตั้งรกรากอยู่ต่างประเทศ เมื่อฐานะมั่นคง ก็พาญาติ พี่-น้อง ลูก-หลานไปอยู่ ไปเรียน ไปทำงานกันต่อไป

 

แต่ที่ไม่ค่อยพบสำหรับกรณีเมืองไทยคือ ชนชั้นกลางระดับบน ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นที่ค่อนข้างมีอภิสิทธิ์ในสังคมอยู่แล้ว การอยู่ในประเทศไทยย่อมหมายถึงการเป็นกระฎุมพีน้อยๆ มีอภิสิทธิ์นิดๆ สามารถมีงานดีๆ ทำแบบไม่ต้องแข่งขันกันสูง ในประเทศที่คนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำแค่ร้อยละห้า คนจบจากต่างประเทศจากสถาบันได้มาตรฐานมีสักร้อยละสาม คนมีเงินในบัญชีเงินฝากเกินห้าล้านนั้นนับหัวได้หลักหมื่นคนทั่วประเทศ – การเป็นชนชั้นกลางค่อนข้างบนในประเทศนี้จึงหรูหราวีไอพี บินบิสิเนสคลาส นอนโรงแรมห้าดาวได้ ส่งลูกเรียนโรงเรียนอินเตอร์ได้ แถมยังมีสินค้า อาหาร บริการ ราคาถูกให้เลือกบริโภคไม่อั้น

และคนเหล่านี้หากไปอยู่ประเทศโลกที่หนึ่ง สิ่งที่ได้คือมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมประชาธิปไตย

แต่จะไม่ได้เป็น “ซัมวัน ซัมติง” ท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ ยากจน แบบที่อยู่เมืองไทย

ดังนั้น หากเลือกได้ คนกลุ่มนี้น่าจะเป็นคนกลุ่มสุดท้ายที่อยากย้ายประเทศ

(ไม่พูดถึงสลิ่มคลั่งกะลาที่ยังบริกรรมคาถาบ๊องๆ แบบที่คิดสูงสุดของการเป็นคนไทยคือได้เกิดบนแผ่นดินนี้ ตายในแผ่นดินนี้ ที่ไหนก็ไม่ดีเท่าบ้านเรา อีพวกต้องไปตายเมืองนอก ไม่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนคือพวกบาปหนัก ทำเวรทำกรรมไว้เยอะ – คนกลุ่มนี้ สิ่งเดียวที่เราทำให้เขาได้คือแผ่เมตตา เกิดชาติหน้าฉันใดขอให้ในหัวมีเนื้อสมองอยู่บ้าง)

 

แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีการตั้งกลุ่มคนอยากย้ายประเทศ แล้วภายในสองวันมีคนไปกดติดตามถึงห้าแสนคน มันสะท้อนให้เห็นว่า ตอนนี้แม้แต่สำหรับกลุ่มคนที่ค่อนข้างมี “อภิสิทธิ์” ยังรู้สึกว่าประเทศนี้ไม่ใช่ที่ที่เหมาะสมสำหรับการอยู่อาศัยอีกต่อไป

ถามว่า การที่เราเป็นพลเมืองของประเทศประเทศหนึ่ง มันหมายถึงอะไร?

มันเป็นความหมายแบบที่เพลงปลุกใจบอกเราว่า “เกิดเป็นไทย ตายเพื่อไทย”

หรือมันหมายถึงความสัมพันธ์ของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่สัมพันธ์กับ “รัฐ” ในฐานะที่เราเป็น “เจ้าของประเทศ” ความเป็นเจ้าของประเทศ เท่ากับ “การเป็นเจ้าของอำนาจในการบริหารจัดการประเทศ”

สิ่งที่เราทำคือเสียภาษี จากนั้น เราใช้สิทธิในการเป็นเจ้าของประเทศร่วมกับพลเมืองคนอื่นๆ ในการเลือกรัฐบาลที่จะไปออกกฎหมาย ออกแบบนโยบายต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของเราในฐานะเจ้าของประเทศ

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องดีเลิศ ไร้ที่ติ ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ดีงาม ไร้ที่ติ

แต่การมีชีวิตอยู่ในสังคมการเมืองหนึ่งที่เรียกว่า “รัฐ” มันก็หมายถึงการเติบโต เรียนรู้ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข ร่วมรับผิดการตัดสินใจของเพื่อนร่วมชาติในฐานะที่เราแชร์อำนาจแห่งความเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน มันก็แค่นั้นเอง

ถามว่า ระหว่าง “เชื้อชาติ” กับ “สัญชาติ” อะไรที่มีความหมายที่จับต้องได้มากกว่ากัน

คำตอบคือ “สัญชาติ” เพราะมันยืนยันจากการได้เป็น “เจ้าของอำนาจ” ในสังคมการเมืองที่เรียกว่ารัฐ หรือชาตินั้น

ปรากฏการณ์ย้ายประเทศ มันไม่ใช่อะไรเลย นอกจากเป็นการยืนยันในข้อเท็จจริงที่ว่า หากในสังคมการเมืองหนึ่งไม่อนุญาตให้เราได้ร่วมเป็นเจ้าของประเทศ ความรู้สึกอยากย้ายไปสังกัดประเทศอื่นๆ ก็ย่อมเกิดขึ้น

ผนวกกับที่หลายประเทศในโลกนี้ต่างก็อยากได้พลเมืองที่มีคุณภาพมาสังกัดไว้เป็นพลเมืองของตน ในยามที่โลกเผชิญกับภาวะขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ และคนวัยทำงาน ประเทศที่เจริญแล้วจึงแข่งกันหาพลเมืองคุณภาพจากทั่วโลกมาไว้เป็นพลเมืองของประเทศตนเอง

และปรากฏการณ์นี้มันไม่ใช่แค่การย้ายถิ่นหนีความยากจน แต่เป็นการย้ายถิ่นไปแสวงหาดินแดนในพันธสัญญาในมิติแห่งศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ยืนยันได้ด้วยหลักการเดียวคือหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย

คนรุ่นใหม่จึงพร้อมใจกันมองว่าเกิดเป็นไทยไม่จำเป็นต้องตายอย่างไทย