กางรายงาน สปท. คลี่สูตรปฏิรูปแต่งตั้งสีกากี (1) เปิดปมโยกย้ายตำรวจฉาว?! : โล่เงิน

ปมร้อนเขย่าวงการสีกากีห้วงนี้ กับคำครหารุนแรง มีการ “ซื้อ-ขายตำแหน่ง” ในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งระดับสารวัตร (สว.) ถึงรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) วาระประจำปี 2559 ที่ “พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)” เป็นผู้มีอำนาจลงนามคำสั่งและใช้ดุลพินิจพิจารณา ตามที่ได้รับจากคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพิ่งออกคำสั่งไปเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ตีปี๊บประเด็น “ปฏิรูปตำรวจ” ขึ้นมาอีกครั้ง

“การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ” เป็นปมปัญหาหมักหมมในองค์กรสีกากีมานาน?!

กระทั่งถูกบรรจุเป็นหนึ่งในโรดแม็ป “ปฏิรูปประเทศ” เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

มาตรา 258 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ “ด้านกระบวนการยุติธรรม” ระบุให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อํานาจ และภารกิจของตํารวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตํารวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย และการพิจารณาบําเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคํานึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตํารวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ต่อเนื่องในมาตรา 260 ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้ง ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็นข้าราชการตํารวจมาก่อน เป็นประธาน องค์ประกอบกรรมการ 3 ส่วน คือ กลุ่มแรก ผบ.ตร. และผู้เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตํารวจ ตามจำนวนที่ (ครม.) กําหนด กลุ่มที่ 2 ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้ ความซื่อสัตย์สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นที่ประจักษ์และไม่เคยเป็นข้าราชการตํารวจมาก่อน จํานวนเท่ากับกลุ่มแรก กลุ่มที่ 3 กรรมการโดยตำแหน่ง ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสํานักงานศาลยุติธรรม และอัยการสูงสุด โดยให้คณะกรรมการชุดนี้ดําเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ (6 เมษายน 2560) หากครบกําหนดแล้วการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ ให้การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตํารวจดําเนินการตามหลักอาวุโส ตามหลักเกณฑ์ที่ ครม. กําหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผ่านมา 2 เดือนนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ล่าสุด “นายวิษณุ เครืองาม” ระบุว่า อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมการ เนื่องจากการสรรหาบุคคลที่เหมาะสมกับคุณสมบัติ และต้องรอการตอบรับของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งด้วย

คณะทำงานปฏิรูปตำรวจหลายต่อหลายชุด เสนอทางออกสางปัญหาแต่งตั้งตำรวจ ออกมาหลายสูตร “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ปรุงและชงเอง ออกกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2559 เมื่อกรกฎาคม 2559 ซึ่งจะบังคับใช้เต็มรูปแบบหลังสิ้นสุดการแต่งตั้งวาระปี 2559 ที่ยังเหลือการแต่งตั้งโยกย้ายในระดับ รองสารวัตร-ผู้บังคับหมู่ อยู่ในกระบวนการดำเนินการ

ตั้งแต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จนถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) “ดีไซน์” สูตรปฏิรูปตำรวจ โฟกัสที่การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ นำเสนอหลายมุม

“โล่เงิน” เปิดรายงานของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่อง “การวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ (ฉบับปรับปรุง)” จากที่นำเสนอเมื่อมิถุนายน 2559 เสนอต่อ ครม. ไปแล้ว ผลงานตกตะกอนความคิดของคณะกรรมาธิการ ที่มี นายวิรัช ชินวินิจกุล เป็นประธาน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา อดีตรอง ผบ.ตร. เป็นรองประธาน ระดมความคิด ความรู้ ประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้คลุกวงในแวดวงแต่งตั้งตำรวจ เขียนแผนปฏิรูป วางกรอบ ขีดกฎการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ

โดยศึกษาจากปัจจัยภายใต้กฎหมายปกติ ก่อนมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ออกมาคุมเกมการแต่งตั้ง อย่างน่าสนใจ

รายงานฉบับนี้ชี้สภาพปัญหาว่า อำนาจหน้าที่ของตำรวจทำให้ตำรวจเข้าไปมีบทบาทกับวิถีชีวิตประชาชนทุกระดับ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจที่อาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในด้านต่างๆ

“สาเหตุที่ทำให้เกิดการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ เพราะกฎเกณฑ์และวิธีการที่ใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายยังเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจสามารถเบี่ยงเบนไปจากหลักการเพื่อตอบสนองความต้องการตัวบุคคล ผู้มีอำนาจ ตลอดจนยังเปิดช่องทางให้สามารถใช้ดุลพินิจพิจารณาได้อย่างไม่เป็นธรรม เป็นช่องทางในการวิ่งเต้นได้ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขปัญหาในเรื่องการแต่งตั้งตำรวจ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ”

จากการศึกษาพบว่า กฎ ก.ตร. ที่ใช้อยู่ มีลักษณะการใช้ดุลพินิจสูง อีกทั้งผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งทั้งที่เป็นบุคคลและคณะบุคคล มีข้อจำกัดในการพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามกฎอย่างเที่ยงธรรม!!

“ดังนั้น เพื่อให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ลดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจทั้งภายในและภายนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อสร้างขวัญกำลังใจที่ดีต่อผู้ปฏิบัติงานด้วยความทุ่มเท ต้องปฏิรูปโดยปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้มีความเหมาะสม ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ เกิดความเป็นธรรม ลดการใช้ดุลพินิจในการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานของตำรวจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน”

รายงานฉบับนี้ ยังเขียนถึงวิธีการปฏิรูป วิธีการและขั้นตอนในการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น การใช้หลักอาวุโส สูตรคำนวณอาวุโสแบบใหม่สำหรับใช้ในการแต่งตั้ง หลักการโยกในระนาบ การจัดเกรดหน่วยงานเพื่อการแต่งตั้ง กฎการข้ามห้วย การแต่งตั้งในหน่วยปราบปราม อำนวยความยุติธรรม จะยึดโยงกับสูตรการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกิจการของตำรวจ ที่ศึกษาและออกแบบโดยคณะกรรมาธิการชุดเดียวกัน

ทั้งนี้ รายละเอียดในส่วนข้างต้น จะนำเสนอในตอนต่อไป ติดตามได้ในโล่เงินสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการให้เหตุผลว่า สูตรนี้จะตอบโจทย์สางปัญหาแต่งตั้งตำรวจได้ และเกิดประโยชน์กับการบริหารองค์กรตำรวจ การดูแลพัฒนากำลังพลในระยะยาว เป็นอีกหนึ่งคำตอบว่า จะปฏิรูปตำรวจ สางปัญหาที่ดังระงมอยู่ในทุกวันนี้อย่างไรดี?!