นิธิ เอียวศรีวงศ์ : ความทรงจำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นักจิตวิทยารู้มานานแล้วว่า การลืมเป็นกระบวนการ ไม่ใช่การตอบสนองของสมองต่อกาลเวลา ดังเช่นการตอบสนองของโพรงจมูกต่อพริกคั่วด้วยการจาม

และด้วยเหตุดังนั้น การจำจึงเป็นกระบวนการเหมือนกัน พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราเลือก (อย่างรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) ว่าจะลืมอะไรและจะจำอะไร (จำตามความเป็นจริงหรือจำอย่างเบี้ยวๆ ก็ตาม) ความทรงจำจึงเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นจากเงื่อนไขของปัจจุบันเพื่อให้คำตอบแก่ชีวิตของเราเอง ทำให้เรารู้ว่าเราทำอะไรได้แค่ไหน (หรือรู้ possibility) และทำอะไรไม่ได้แค่ไหน (หรือรู้ limitation) ของชีวิตเราเอง

ความทรงจำของบุคคลเป็นฉันใด ความทรงจำของสังคมก็เป็นฉันนั้น จะต่างกันก็ตรงที่ ความทรงจำของสังคมไม่ใช่สิ่งสร้างของทุกคน แต่เป็นสิ่งสร้างของผู้มีอำนาจ เพราะผู้มีอำนาจมีกลไกกำกับควบคุมกระบวนการลืมและจำของสังคมได้สูงมาก เช่น การศึกษาหรือสื่อ ฉะนั้น แม้ความจำหรือลืมของบุคคล เขาก็ไม่ได้ทำเองทั้งหมด แต่ถูกคนอื่นกำหนดให้จำและลืมอะไรอยู่ด้วย

แม้กระนั้น ในทุกสังคม ย่อมมีกระแสต้านความทรงจำที่ชนชั้นนำสร้างไว้เสมอ ต้านว่าไม่จริงบ้าง ต้านด้วยการสร้างความทรงจำขึ้นแข่งบ้าง ต้านด้วยการให้ความหมายอีกอย่างหนึ่งแก่ความทรงจำนั้นๆ บ้าง (เช่น แทนที่จะนับดินแดนที่เป็นข้าขอบขัณฑสีมาของสมเด็จพระนเรศวร ก็ไปนับจำนวนชีวิตผู้คนที่ต้องสูญเสียไปในการสงคราม เป็นต้น)

แต่ก็นั่นแหละครับ ความทรงจำของสังคมถูกบ่อนเซาะได้ยาก ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะอำนาจของผู้มีอำนาจรักษาปกป้องไว้นะครับ แต่เพราะตราบเท่าที่เงื่อนไขของปัจจุบันไม่เปลี่ยน ความทรงจำใหม่ที่ยังไม่ให้คำตอบแก่ชีวิตเพื่อให้รู้ความเป็นไปได้และข้อจำกัดของสังคม ย่อมไม่อาจเป็นที่รับรู้และจดจำกันอย่างแพร่หลายได้

ผมอยากพูดถึงความทรงจำของสังคมไทยในแง่นี้ ผมหมายถึงความทรงจำซึ่งคนไทยรับรู้และจดจำกันอย่างแพร่หลายผ่านการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ว่ามันทำให้คนไทยรู้ความเป็นไปได้และข้อจำกัดของตนเองอย่างไร โดยนำมันไปเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านของเราในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทำไมต้องเปรียบเทียบ ก็เพราะการเปรียบเทียบช่วยเปิดประเด็นที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อนให้ได้เห็นหลายเรื่องและชัดขึ้นด้วย

วัดพระศรีสรรเพชญ์ (อยุธยา) เชื่อกันว่าสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสถาปนา และน่าจะเป็นสถานที่แห่งแรกใช้สวดมหาชาติคำหลวง [ภาพถ่ายจากเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลียมส์-ฮันท์ (Peter Williams- Hunt) ในปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เพื่อสำรวจพื้นที่ในการคำนวณค่าปฏิกรรมสงคราม หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2]
1.เมื่อเปรียบเทียบกับเวียดนาม, พม่า และอินโดนีเซีย ไทยไม่มีความทรงจำว่าเราเคยต่อสู้กับอำนาจอันยิ่งใหญ่ของมหาอำนาจเลย ไม่ว่าสู้แล้วแพ้หรือชนะก็ตาม

ความทรงจำของเวียดนามนั้นเต็มไปด้วยเรื่องเหล่านี้ ถูกจีนรุกรานมาตั้งแต่ก่อนคริสต์กาล ในที่สุดสู้ไม่ได้ต้องถูกจีนยึดครองและผนวกไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอยู่หนึ่งพันปี แต่เวียดนามก็ลุกขึ้นสู้ตลอดมา จนในที่สุดสามารถสู้จนเอาชนะจนได้ จักรพรรดิจีนต้องยอมรับความเป็นรัฐอิสระของเวียดนาม และถึงแม้เคยยกทัพลงมายึดครองอีกในสมัยราชวงศ์หมิง ก็ถูกชาวเวียดนามร่วมมือกับชนชาติอื่นๆ ต่อต้านจนจีนต้องถอยทัพกลับไป

และแน่นอนที่เด่นชัดในความทรงจำของชาวเวียดนามในปัจจุบันก็คือ ชัยชนะที่ได้จากมหาอำนาจฝรั่งเศสและอเมริกัน

ในความทรงจำของชาวพม่า ศัตรูที่ร้ายกาจและน่ากลัวที่สุดของเขามาจากทางเหนือ (ไม่ใช่ตะวันออกอย่างอยุธยา) อาณาจักรพุกามล่มสลายลงเพราะถูกกองทัพมองโกลยึดครอง และนับจากที่พม่าสามารถรวบรวมบ้านเมืองตั้งขึ้นเป็นราชอาณาจักรได้ใหม่ พม่าก็ต้องเผชิญภัยคุกคามจากจีนหลายครั้ง บางครั้งก็ต้องยอมทำตามข้อเรียกร้องของจีน บางครั้งก็ใช้กำลังทัพรบต่อต้านแล้วก็เอาชนะได้หลายหน

และแน่นอนว่า เอกราชที่ได้คืนจากอังกฤษนั้น ไม่ใช่เพราะอังกฤษไม่มีพลังจะรักษาพม่าไว้ได้ต่อไปเท่านั้น แต่ที่ไม่มีพลังก็เพราะการต่อสู้อันทรหดอดทนของกองกำลังกู้ชาติที่ได้ผ่านการสู้รบกับอังกฤษร่วมกับญี่ปุ่นมาแล้ว เมื่อหันมาสู้กับญี่ปุ่นก็ทำอันตรายแก่กองทัพที่กำลังเพลี่ยงพล้ำของญี่ปุ่นอย่างหนัก ถ้าอังกฤษต้องรบกับกองทัพนี้ต่อไป ก็คงจะสูญเสียอย่างมากและไม่แน่ว่าจะเอาชนะได้ด้วย

ชวาก็เคยถูกมองโกลรุกราน จะว่าพ่ายแพ้แก่มองโกลก็แพ้ไม่ขาด จะว่าชนะก็ไม่ได้ชนะขาดอีกเหมือนกัน แต่ที่แน่นอนคือไม่ได้รีบส่งทูตไปจิ้มก้องทันทีที่ทูตจีนขึ้นบกมาทวงบรรณาการ

อย่างไรก็ตาม ที่เด่นชัดในความทรงจำของชาวอินโดนีเซียคือการต่อสู้อย่างทรหดของนักกู้ชาติเพื่อต่อต้านการกลับคืนอำนาจของฮอลันดาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แม้แต่ต้องเสี้ยมไม้ไผ่สู้กับปืนกลก็ทำมาแล้ว

ไทยก็เคยทำสงครามขนาดใหญ่ (สำหรับเรา) กับเพื่อนบ้านมาเหมือนกัน แต่ไม่มีสงครามขนาดใหญ่กับมหาอำนาจระดับโลกในความทรงจำ และที่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สงครามขนาดใหญ่ที่เวียดนาม, พม่า และอินโดนีเซียทำกับมหาอำนาจ ล้วนมีบทบาทการรบของประชาชนหลากหลายกลุ่มในความทรงจำ ทั้งผู้หญิง, ผู้ชาย, เจ้า, สามัญชน, นักเรียนนอก, ชาวบ้านที่อ่านหนังสือไม่ออก, คนค้าขาย, ชาวนา, นักบวช, หมอผี ฯลฯ เหลือจะพรรณนาได้ถ้วนทั่ว (ที่จริงก็ควรรวมฟิลิปปินส์ด้วย)

รบกับมหาอำนาจชนะแล้ว ยังมีประชาชนร่วมกันเป็นพระเอกอีกด้วย ความทรงจำอย่างนี้ไม่มีในสังคมไทยครับ

2.ในความทรงจำของเพื่อนบ้านเราหลายประเทศ รัฐของเขาเคยเป็นรัฐที่กดขี่โหดร้าย และเคยเป็นรัฐที่ทรงคุณเมตตา ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะเขาเคยตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก เพราะรัฐอาณานิคมย่อมเป็นรัฐที่กดขี่โหดร้ายเท่านั้น แม้ก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคม ก็มีรัฐทั้งสองอย่างในความทรงจำของเขา ผู้ปกครองพื้นเมืองที่ดีก็มี ที่เลวก็มี ที่ทั้งดีและเลวปนๆ กันก็แยะ

และด้วยเหตุดังนั้น ทั้งรัฐและผู้ปกครองจึงไม่น่าไว้วางใจทั้งนั้น ผมคิดว่าน่าสนใจนะครับที่ระบอบเผด็จการหรือกึ่งเผด็จการของเพื่อนบ้านเราจำนวนมากไม่ตั้งอยู่บนตัวบุคคล แต่มีลักษณะเป็นระบอบหรือเป็นสถาบันมากกว่า จึงสืบเนื่องได้

ระบอบซูการ์โนนั้นขึ้นอยู่กับซูการ์โน เพราะไม่มีใครมาแทนซูการ์โนได้ แต่ระบอบซูฮาร์โตไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวซูฮาร์โตเพียงอย่างเดียว แม้เขาตกจากอำนาจไปแล้ว แต่ระบอบซูฮาร์โตก็ยังสืบทอดต่อมาในระบอบที่ได้ปฏิรูปไปในทางประชาธิปไตยมากแล้วสืบต่อมาอีกนาน บางคนเชื่อว่าชัยชนะของโจโกวีจึงเป็นจุดจบอันแท้จริงของระบอบซูฮาร์โต

ระบอบ “เนวิน” สืบทอดในพม่ามาจนถึงทุกวันนี้ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่

ในฟิลิปปินส์ ระบอบประชาธิปไตยของเจ้าพ่อ (cacique) ดำรงสืบมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี และไม่ว่าประธานาธิบดีจะมาจากการเลือกตั้งหรืออำนาจพิเศษ

เวียดนามนั้นไม่ต้องพูดถึง พรรคคอมมิวนิสต์นั้นยืนยงยิ่งกว่าท่านโฮจิมินห์

ในเมืองไทย เผด็จการทหารที่ปกครองประเทศอย่างยาวนานหลายช่วง ไม่เคยพัฒนาขึ้นมาให้พ้นตัวบุคคลได้เลย ใน “สามปอ” ที่เป็นฐานของ คสช.นั้น ไม่มีใครแทนประยุทธ์ได้สักคน ถ้าไม่เอาประยุทธ์ คสช.ก็อยู่ไม่ได้ จะมีเผด็จการทหารต่อไปก็ต้องเป็นระบอบอื่นไปเลย

ในความทรงจำของไทย รัฐที่ทรงคุณเมตตานั้นแวดล้อมอยู่ที่ตัวบุคคล เผด็จการไทยจึงแยกไม่ออกจากลัทธิบูชาบุคคล ผู้นำไทยเสียเวลาไปกับการสร้าง “ภาพพจน์” ให้แก่บุคลิกของตนเองเสียจนแทบไม่เหลือเวลาไปทำอย่างอื่น

 

3.ในความทรงจำทางสังคมที่ชนชั้นนำไทยปลูกฝังไว้แก่ประชาชน ไม่มีหรือแทบไม่มีผู้นำท้องถิ่นเลย (หากไม่นับบทบาทของราชวงศ์ท้องถิ่น เช่น สุพรรณบุรี, ลพบุรี, พระร่วง, และศรีธรรมาโศกราช) รัฐส่วนกลางมีบทบาทลงไปถึงท้องถิ่นระดับล่างสุด

แต่นี่เป็นภาพที่เป็นไปไม่ได้ในรัฐโบราณทั้งโลก รัฐทั้งหลายยกเว้นจีนมีอำนาจน้อยและเบาบางมาก ใน “เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม” ที่เจมส์ สก๊อต พูดถึงชาวนาในเกษตรยังชีพมีชีวิตอยู่ปริ่มๆ ระหว่างความอิ่มและความอด กลไกที่จะคุ้มครองมิให้ปีที่ต้องอดนำไปสู่การล่มสลายจึงเป็นกลไกที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น รัฐส่วนกลาง เช่น รัฐไทยไม่เคยเคลื่อนย้ายข้าวจากแหล่งอิ่มไปสู่แหล่งอดเลย และการทำเช่นนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้สมัยที่มีรถไฟแล้ว ดังที่ชาวนาอินเดียตายเป็นเบือภายใต้อังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อเกิดทุพภิกขภัยขึ้นบางส่วนของอนุทวีป

รัฐโบราณที่ประกันความอิ่มอย่างได้ผลมีอยู่รัฐเดียวคือจีน ซึ่งรัฐบาลจักรพรรดิบังคับให้ทุกตำบล-อำเภอต้องบริหารยุ้งฉางท้องถิ่นให้มีข้าวเต็มไว้เสมอ เพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนในยามเกิดทุพภิกขภัย ระบบนี้มาล่มสลายลงเมื่อรัฐบาลกลางถูกมหาอำนาจตะวันตกเบียดเบียนจนไม่อาจบริหารหัวเมืองได้อีกต่อไป

ในความเป็นจริง กลไกประกันความอิ่มใน “เศรษฐกิจเชิงศีลธรรม” นั้นมีในท้องถิ่น และมีหลายรูปแบบกว่าที่เจมส์ สก๊อตกล่าวถึงเสียอีก แต่ประเด็นของผมในที่นี้คือกลไกเหล่านี้ทำงานได้เพราะผู้นำท้องถิ่น ซึ่งอาจมีหลายกลุ่มนับตั้งแต่พระ, ตระกูลเก่า, พ่อค้าใหญ่, นายบ้าน, นักเลง หรือแม้แต่ “ไอ้เสือ” ฯลฯ คนเหล่านี้ต่างหากที่หายไปในความทรงจำของสังคมไทย

เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านหลายประเทศแล้ว ต่างกันลิบลับ เช่น เราแทบจะพูดถึงประวัติศาสตร์พม่าไม่ได้เลย ถ้าไม่พูดถึงเจ้าที่ดิน, สมภาร และหัวหน้าที่สืบตระกูลกันมาหลายชั่วคนในแต่ละท้องถิ่น (เช่น อองไซยะหรือกษัตริย์อลองพญา) เช่นเดียวกับใน “รัฐ” ต่างๆ ของอินโดนีเซีย หรือแม้แต่ในฟิลิปปินส์ แต่ท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่นไทยไม่มีบทบาทอะไรในความทรงจำเลย เพราะความทรงจำที่ถูกสร้างขึ้นนับตั้งแต่ ร.5 ลงมา พยายามจะเน้นความเป็น “รัฐรวมศูนย์” เพื่อประโยชน์ทางการเมืองระหว่างประเทศและในประเทศ

ความทรงจำที่ “รวมศูนย์” ของไทย ทำให้อำนาจต่อรองของท้องถิ่นยิ่งถดถอยลงในรัฐสมัยใหม่ ผู้นำท้องถิ่นในปัจจุบัน ล้วนสัมพันธ์กับอำนาจรัฐผ่านเครือข่ายทางการเมือง, การค้า หรือสินบนทั้งสิ้น จึงไม่อาจเป็นผู้นำในการต่อรองกับรัฐส่วนกลางได้ เหลือแต่ชาวบ้านด้วยกันเองเท่านั้นที่จะจัดองค์กรเข้ามาต่อรองกับรัฐในรูปของความเคลื่อนไหวมวลชน ซึ่งไม่เคยมีรากในความทรงจำของสังคมไทย จึงง่ายที่จะถูกทำให้กลายเป็น “ผู้ไม่หวังดี”, “ผู้ก่อจลาจล” หรือแม้แต่ “กบฏ” ในสายตาของคนทั่วไป

 

ดังที่กล่าวแล้วนะครับว่า ความทรงจำเป็นเครื่องส่องทางให้เรารู้ว่า เราทำอะไรได้แค่ไหน และทำอะไรไม่ได้แค่ไหน ดังนั้น ความทรงจำจึงมีส่วนกำหนดนโยบายของบ้านเมืองตลอดมา

เมื่อพระจอมเกล้าฯ และขุนนางฝ่ายพระองค์ตัดสินใจยอมเปิดประเทศ เพราะรู้ว่าอย่างไรก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของมหาอำนาจตะวันตกได้ แต่เจ้านายและขุนนางฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ก็หาได้ลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้านอย่างจริงจังอะไรไม่ แม้ว่าไม่นานต่อมา ไทยต้องสูญเสียอิทธิพลที่มีอยู่ในกัมพูชาแก่ฝรั่งเศสไปก็ตาม (ซึ่งในความทรงจำฉบับทางการเรียกว่า “เสีย” กัมพูชาแก่ฝรั่งเศสไป)

ลองเปรียบเทียบกับจักรพรรดิตือดึ๊กแห่งเวียดนามดูสิครับ ด้วยนโยบายเดียวกันคือยอมถอยให้แก่การกดดันของฝรั่งเศส และยอมสูญเสียดินแดนแม่น้ำโขงตอนล่างไป (ซึ่งถึงอย่างไรก็เป็นดินแดนที่เวียดนามเพิ่งได้มาใหม่ และที่จริงเคยเป็นของกัมพูชามาก่อน) ในทัศนะของขุนนางเวียดนามที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของตือดึ๊ก องค์จักรพรรดิได้สูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองไปจนสิ้นเชิง เกิดการแข็งข้อขึ้นหลายครั้งในหลายส่วนของประเทศ

เช่นเดียวกับ “การปฏิรูป” ในสมัย ร.5 แม้ว่าได้เปลี่ยนโฉมประเทศไปไม่น้อย แต่ที่จริงแล้วก็เป็นการปฏิรูปที่จำกัดมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการปฏิรูปเมจิของญี่ปุ่น เพราะฐานคิดของเราไม่ถึงกับที่จะสร้างประเทศให้เข้มแข็งพอจะสู้กับมหาอำนาจได้อย่างญี่ปุ่น เราเพียงแต่พยายามขจัดเหตุที่อาจนำให้ตะวันตกต้องยึดราชอาณาจักรเป็นอาณานิคมลงให้หมดเท่านั้น

ความทรงจำบอกเราว่า เราทำอะไรได้แค่นี้เท่านั้นแหละ

ในขณะเดียวกัน ความทรงจำก็บอกเราว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ปลอดภัยต้องประกอบด้วยความสืบเนื่องอย่างสูงเท่านั้น เพราะทุกความเปลี่ยนแปลงในความทรงจำฉบับทางการของเรา ล้วนมีความสืบเนื่องเป็นแกนกลางเสมอ ดังนั้น สังคมไทยจึงระแวงระวังกับความเปลี่ยนแปลงด้วยความอ่อนไหวอย่างมาก สมัยหนึ่งปัญญาชนไทยถึงกับเชื่อว่า ถึงประเทศไทยจะเปลี่ยนเป็นคอมมิวนิสต์ ก็จะยังเป็นคอมมิวนิสต์แบบไทยหรือไทยๆ “แบบไทยหรือไทยๆ” นี่แหละคือความสืบเนื่องซึ่งสำคัญกว่าความเปลี่ยนแปลงเสมอ