หลังเลนส์ในดงลึก : กิโลเมตรที่ 1

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

ก่อนที่จะใช้วิธีแบบ “ฝังตัว” อยู่กับป่าผืนใดผืนหนึ่งเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 3 ปี ผมใช้เวลากับการเดินทางมาก โดยเฉพาะครั้งเมื่อสมาธิอันค่อนข้างกระจัดกระจาย พยายามตามหาสัตว์ป่าหรือนกหายาก ระยะทางนับพันกิโลเมตรไม่ใช่อุปสรรคในการเดินทาง ทันทีที่ได้ข่าวการพบเห็นสัตว์ป่าหายากที่ไหน

ทั้งๆ ที่การขับรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อซึ่งดัดแปลงให้เหมาะสมกับเส้นทางทุรกันดารนั้นจะไม่เหมาะและไม่สบายเอาเสียเลยบนเส้นทางอันราบเรียบ

แต่อีกนั่นแหละ ถ้าผมไม่ทำเช่นนั้นก็ยังคงไม่รู้ว่า หากจะไล่ตามสิ่งที่คล้ายจะสูญเสียไปแล้ว เป็นสิ่งอันยากลำบากกว่าที่จะหยุดอยู่นิ่งๆ ทำความรู้จักกับชีวิตที่พบเห็นได้ง่ายๆ ให้ลึกซึ้งดูคล้ายจะเป็นหนทางที่ดีกว่า วิ่งไล่ตามเงาคงไม่ทัน

เรามักมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ ไปเสมอ

เหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นถ้อยคำที่เราได้ยินพูดต่อๆ กันมา “ได้ยิน” แต่ไม่ง่ายนักที่จะ “รู้”

 

โอกาสดีในชีวิตเริ่มต้นทำงานของผม ช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างที่ผมบอกใครๆ เสมอว่า คือช่วงเวลาที่ได้ร่วมงานกับนิตยสาร อ.ส.ท.

ไม่เพียงจะได้ร่วมงานกับนักเขียนและช่างภาพสารคดีผู้มีฝีมือมากมาย อ.ส.ท. ในยุคนั้นพูดได้ว่าเป็นที่รวมของช่างภาพและนักเขียนในสายสารคดีหลายคนเริ่มต้นจากที่นี่

นอกจากจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากพวกเขาแล้ว สิ่งที่ดีอีกอย่างคือได้เดินทางไปทั่วทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ

การเดินทางทำให้ได้รู้จัก ได้พบผู้คนมาก หลายคนพบเพียงครั้งเดียวแล้วก็จากไปไม่เคยพบกันอีก หลายคนเป็นเพื่อน เช่นเดียวกับสถานที่ เมือง ป่า หลายแห่งผมก็ไม่เคยย้อนกลับไปอีก

กระนั้นก็เถอะ มีหลายป่า หลายเมืองเมื่อผ่านมาอีกครั้งความทรงจำก็หวนกลับมา

 

หลายวันก่อน ปรีดา เทียนส่งรัศมี แห่งโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ส่วนภาคใต้ แจ้งข่าวให้โลกรู้ว่าลูกนกเงือกหัวแรด โพรงหมายเลข 29 ถูกคนปีนขึ้นไปล้วงออกจากโพรงเพื่อนำไปขายแล้ว

ปรีดาดูแลโครงการอยู่ที่เทือกเขาบูโดอันเป็นแหล่งอาศัยอันเหมาะสมของนกเงือก การล้วงลูกนกเงือกจากโพรงเพื่อนำไปขายคือสิ่งที่ผู้คนแถบนั้นทำมาเนิ่นนาน

อาจารย์พิไล พูลสวัสดิ์ นำทีมไปพูดคุยกับคนที่นั่นให้เปลี่ยนวิถีจากที่เคยล้วงลูกนกมาเป็นช่วยดูแลลูกนกแทน แบมุ ผู้กว้างขวาง รับฟัง

“ทีแรกเราก็ไม่รู้หรอก แต่พออาจารย์บอกว่าถ้าเป็นเรากลับมาบ้านและลูกถูกขโมยไปไม่อยู่แล้วเราจะรู้สึกอย่างไร เราก็คิดได้” แบมุ เล่าให้ฟัง

มีชาวบ้านจำนวนมากให้ความร่วมมือ พวกเขาช่วยดูแลนก แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จะรุนแรง การปกป้องดูแลแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าบนภูเขาทำได้ยาก ขบวนการตัดไม้นับวันจะเติบโต

โครงการได้จัดให้มี พ่อ-แม่อุปถัมภ์ จึงมีรายได้มาแบ่งปันให้คนผู้พบรังนกและทำหน้าที่ดูแลจนกระทั่งนกออกจากโพรง

ข่าวจากปรีดาทำให้ผมคิดถึงช่วงเวลาร่วม 4 ปีที่อยู่บริเวณเทือกเขาบูโด นึกถึงโพรงนกเงือกหัวแรดซึ่ง อูมา เป็นคนดูแล เขาจะเป็นผู้พาผมไปเฝ้ารังนก

อูมาผู้เคร่งครัดเขาไม่เคยละเว้นการละหมาด เมื่อถึงเวลาไม่ว่าจะอยู่ในแคมป์ หรือในซุ้มที่เรากำลังเฝ้าดูพ่อนกนำอาหารมาป้อนลูกและเมียในโพรง

ข่าวของปรีดาได้รับความสนใจ เจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับผู้ต้องหาที่ปีนขึ้นไปขโมยลูกนกได้

ลูกนกได้รับการนำมาไว้ที่โพรง แต่พ่อและแม่นกไม่เข้าป้อน พวกเขาจึงขึ้นไปนำลูกนกมาดูแลและนำส่งสถานีเพาะเลี้ยงเพื่อดูแลต่อไป

มีหลายสาเหตุซึ่งพ่อแม่นกไม่เข้าป้อน พวกมันอาจตกใจกลัวหรือลูกนกตัวนั้นอาจไม่ใช่ลูกของมัน

และเป็นไปได้ว่าพวกมันตัดสินใจที่จะเริ่มต้นใหม่ สำหรับนกหรือสัตว์ป่า การสูญเสียหรือล้มเหลวเป็นเรื่องเศร้าระทม แต่พวกมันไม่ฟูมฟาย เริ่มต้นใหม่คือสิ่งที่พวกมันเลือกทำ

หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือปัตตานี ชื่อ สรยุทธ ไชยเขียว หรือไก่ ช่วงที่เขาศึกษาปริญญาโทเรื่องนกเงือกอยู่ป่าห้วยขาแข้งในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ เราอยู่บ้านเดียวกัน

ผมนึกถึงบุคลิกอันสนุกสนานเฮฮาของเขา และความทรหดในการเดินป่ารวมทั้งแบกอุปกรณ์หนักๆ หลายค่ำคืนที่บ้านเรามักทำเสียงดัง ก็มักจะโดนปรามจากหัวหน้าสถานี “ไม่ต้องกลัว” ไก่พูดขำๆ

จากข่าวลูกนกถูกขโมย ไม่เพียงผมจะได้เห็นและนึกถึงเพื่อนๆ แต่ได้เห็นว่ามีคนมากมายพร้อมช่วยเหลือและส่งกำลังใจให้ลูกนก รวมถึงทำงานเพื่อปกป้องพวกมัน ท่ามกลางสถานการณ์ซึ่งสัตว์ป่าจะดำเนินชีวิตไปตามวิถีอย่างยากลำบาก

แม้ว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังชื่นชมหรือคิดว่าวิธีแสดงความรักต่อสัตว์ป่าคือนำพวกมันมาขัง แต่ผมเชื่อเสมอๆ ว่าพวกมันยังมีความหวัง

 

กลางเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2559 ผมกับยิ่งบุญเดินทางจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออกมุ่งสู่จังหวัดเชียงราย เพื่อพบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง เรามีเวลาหลายวัน ผมลัดเลาะไปตามเส้นทางซึ่งขนานไปกับแม่น้ำโขง ชื่อของผาตั้ง ภูชี้ฟ้า เชียงของ เชียงแสน หนองบงคาย ผ่านเข้ามาในความทรงจำ

ในวันอันหนาวเหน็บของฤดูหนาว ผมใช้เวลาร่วมสองสัปดาห์ริมทะเลสาบเพื่อเฝ้าดักถ่ายลูกนกน้ำเป็นการทำงานให้ อ.ส.ท. ชื่อของผาตั้ง ภูชี้ฟ้า ทำให้นึกถึงเวลาซึ่งเดินฝ่าความมืดมิดขึ้นไปรอดวงอาทิตย์สาดแสงมาให้เห็นทะเลหมอกอันงดงาม

“เดี๋ยวนี้ไม่ต้องเดินหรอก รถขึ้นไปเกือบถึงแล้ว” วัชระ หลิ่วพงศ์สวัสดิ์ เจ้าของบ้าน “ตำมิละ” บอก วัชระเป็น “คนนอก” รุ่นแรกๆ ที่มาฝังตัวอยู่เชียงของ บ้านตำมิละของเขาเป็นที่รู้จักดีของเหล่าคนแบกเป้จากทั่วโลก

หลายปีแล้วที่เขาเอาจริงกับการขี่จักรยาน เดินทางไปประเทศรอบๆ อย่าง ลาว พม่า รวมทั้งจีน สวนริมแม่น้ำโขงของเขา ปลูกผลไม้ไว้หลายชนิด เขาทำสวนแบบสวน “คนขี้เกียจ” ไม่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้ชีวิตดูแลกันเอง

บ้านริมแม่น้ำโขงในสวน เขาสร้างไว้สำหรับเพื่อนๆ ที่เดินทางผ่าน หรือใครที่อยากมานั่งทำงานเงียบๆ ป่าต้นสักและต้นมะค่าอายุกว่า 20 ปี

“ตอนผมมาน่ะที่มี่เป็นที่โล่งๆ นะครับ” วัชระเล่า เช่นเดียวกับเมืองเชียงของ ที่พักเล็กๆ หลายแห่งเริ่มทรุดโทรม โรงแรมขนาดใหญ่เข้ามาแทนที่

“เป็นแบบนี้ทั้งประเทศแหละ ทุนใหญ่เข้ามาโดยไม่สนใจรูปแบบหรือวิถีชีวิตเดิมๆ คนก็มาแบบฉาบฉวย ถ่ายรูปแล้วก็ไป เห็นแม่น้ำโขงสวยงามแต่ไม่เห็นว่าแม่น้ำถูกกระทำอย่างไร ไม่เห็นว่าปลาบึก ยักษ์ใหญ่แห่งแม่น้ำรวมทั้งคนผู้มีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับมัน ได้สูญหายไปแล้ว” วัชระพูดเรื่อยๆ

“ไปภูชี้ฟ้าไหม” เขาถาม

“ก็ใครล่ะทำให้เป็นแบบนี้” วัชระถามยิ้มๆ

“ภูเขาอยู่ดีๆ ก็ไปทำให้คนมากมายรู้จัก เขียนเรื่อง ถ่ายรูปสวยๆ” ผมพยักหน้าอย่างยอมรับ

หลายสถานที่ซึ่งเราเดินทางไป เปลี่ยนแปลง หลายแห่งจุดเริ่มต้นมาจากภาพถ่ายสวยงาม การเดินทางไปช่วยให้ได้รู้ได้เห็น เมื่อเวลาผ่านไปได้ย้อนกลับมาทางเส้นเดิม ดูเหมือนจะได้รู้มากขึ้น

ในสถานการณ์ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติมีบาดแผลเกินกว่าจะเยียวยา เราคงต้องย้อนกลับไปเริ่มต้นเดินทางกันที่หลักกิโลเมตรที่หนึ่งใหม่

นั่นคือเริ่มต้นแก้ไขที่ตัวเราเอง