มองบ้านมองเมือง/

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

น้ำท่วมกับผังเมือง

ตอนที่มีข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ หลายคนหมดหวังกับกรุงเทพฯ แต่ก็มีบางคนให้ความเห็นว่า ผังเมืองเป็นต้นเหตุทำให้น้ำท่วม ด้วยไม่มีการศึกษาทิศทางการระบายน้ำ และอีกหลายคนให้ความเห็นต่างๆ กันไป

แต่ไม่เห็นมีใครบอกว่า ที่ตั้งกรุงเทพฯ อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ไกลจากปากน้ำ และอยู่ในเขตมรสุม เหมือนกับบ้านเมืองอื่นที่อยู่ในที่ราบลุ่ม ในหุบเขาหรือริมทะเล

ปัญหาน้ำหลากน้ำท่วมในฤดูมรสุมจึงเป็นเรื่องปกติ ปัญหาจะมากจะน้อย ล้วนเป็นไปตามฤดูกาลและสภาพแวดล้อม

ปัญหาน้ำท่วมยังเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ละครั้งก็ไม่ยาวนาน และไม่รุนแรงมากนัก คนในชนบทที่มีอาชีพทางการเกษตรจะรู้ดี เพราะมีนางสงกรานต์แจ้งข่าวทุกปี

แต่ในปัจจุบัน แม้จะได้รับแจ้ง แต่ก็ยังขัดอกขัดใจ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมือง และคนที่อยู่ในชนบทไม่ทำการเกษตร

ขอยกตัวอย่างปัญหาน้ำท่วมระยอง ที่เคยเป็นข่าวอยู่สองสามวัน ก่อนที่จะเงียบหายไปนั้น ผู้เขียนเคยมองเรื่องนี้มาก่อนหลายเดือนในมติชนสุดสัปดาห์ว่า

…ผังเมืองระยองได้กำหนดพื้นที่รองรับการขยายตัวของชุมชนไปทางทิศตะวันตก เพราะทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกและทิศใต้นั้น เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมทุกปี…

แต่ระยองก็เหมือนเมืองอื่นทั่วประเทศ ที่การพัฒนาเมืองจะเป็นไปในทิศทางตรงข้ามกับ ที่ผังเมืองกำหนด จึงเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมทุกปี

ต้นเหตุเรื่องนี้อยู่ที่ เมื่อผังเมืองรวม กำหนดพื้นที่สีแดงและสีส้ม เพื่อรองรับการพัฒนาทางการค้า บริการ และอยู่อาศัย และสีเหลือง สำหรับพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้น จะส่งผลให้ราคาที่ดินพื้นที่ดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นทันที เพราะมีนักเก็งกำไรเข้าไปจับจองพื้นที่ไว้ก่อนบริษัทอสังหาริมทรัพย์นักพัฒนาที่ดินที่ไปทีหลัง จึงเจอะเจอกับปัญหาต้นทุนราคาที่ดินแพง จำต้องไปพัฒนาพื้นที่อื่นแทน

คือในพื้นที่ที่กำหนดไว้เป็นสีเขียว เพราะเป็นที่ลุ่ม มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการเกษตร หรือสีอื่นที่เป็นทางระบายน้ำหรือทางผ่านทางน้ำ ไม่เหมาะหรือไม่ให้พัฒนาเพื่อการค้าและบริการ หากยอมให้สร้างที่อยู่อาศัยใต้ถุนสูงแบบชนบทได้ ส่งผลให้ราคาที่ดินไม่แพง เพราะไม่มีการจับจองเก็งกำไร จึงเหมาะกับการลงทุนของนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยความรู้ความชำนาญและช่องว่างกฎหมาย รวมทั้งความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

กลายเป็นปรากฏการณ์การพัฒนาในพื้นที่ ที่ไม่เหมาะสมกับการพัฒนา

ขณะเดียวกัน กรมโยธาธิการและผังเมือง แม้จะมีหน้าที่วางผังเมือง แต่มิใช่ผู้ชี้นำในการพัฒนา หากเป็นกรมทางหลวงแผ่นดินและกรมทางหลวงชนบท ที่ได้รับงบประมาณมหาศาลในการตัดถนน ชี้นำความเจริญ หรือเปิดพื้นที่เพื่อการพัฒนา

ยิ่งเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงคอยอำนวยความสะดวกผ่อนผันการเชื่อมทาง ให้กับโครงการทุกรูปแบบ จนกลายเป็นปัญหาความวุ่นวายริมทางหลวง และเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ จนต้องของบประมาณสร้างทางหลวงอ้อมเมือง หรือทางต่างระดับต่อเนื่องอีกมหาศาลทุกปี

อีกทั้งวิศวกรกรมทางหลวงแผ่นดิน มีหน้าที่ออกแบบไม่ให้น้ำท่วมทางหลวง โดยใช้วิธียกระดับผิวจราจรให้สูง แต่เมื่อไม่ได้สังกัดกรมชลประทาน จึงไม่ต้องสนใจเรื่องทางน้ำธรรมชาติ และไม่ได้ออกแบบท่อน้ำทางระบายน้ำ ทางหลวงที่สวยงามสูงเด่น จึงกลายเป็นเขื่อนกักน้ำให้ท่วม หรือเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ระบายออก

ชาวบ้านยังพากันสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างทั้งสองฝั่งทางหลวง โดยมีการยกระดับดินให้เสมอหรือสูงกว่าทางหลวง เพื่อเอาตัวรอดพ้นจากน้ำท่วม อาคารและที่ดินก็กลายเป็นสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วม น้ำขังทั่วประเทศ

ดังนั้น ประโยคที่ว่า ผังเมืองไม่ได้สนใจทางน้ำธรรมชาติ เป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วม ไม่น่าจะถูกต้อง

แต่ประโยคที่ว่า ผังเมืองเป็นผู้ชี้นำให้เกิดน้ำท่วม น่าจะถูกต้องมากกว่า