สดุดี(คนอื่น)/กว่าจะมาเป็นถนนที่สวยที่สุด

สดุดี(คนอื่น)/https://www.facebook.com/momtau/

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์ (เรียบเรียง) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล (ตรวจ)

กว่าจะมาเป็นถนนที่สวยที่สุด (จบ)

ที่ต้อง “คิด” มากที่สุด

สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ เล่าถึงการออกแบบสะพานอย่างไรให้ลงตัวกับสิ่งแวดล้อม

เนื่องจากเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ทางสิ่งแวดล้อมตั้งเงื่อนไขว่า “ห้ามทำถนน” ไม่ให้เอาดินมาถม ก็ต้องเป็นสะพานหรือทางยกระดับ ขณะเดียวกัน ในทางคมนาคมควรให้มีที่พักรถ หรือที่หลบกรณีรถเสีย ถนน 2 เลน จะหลบกันไปด้วย จึงจะได้ประโยชน์หลายทาง

การทำให้เงื่อนไขเหล่านี้ลงตัวตอบโจทย์ทุกฝ่ายเป็นความท้าทายวิสัยทัศน์ทางด้านวิศวกรรมมาก

แนวคิดที่ออกแบบเส้นทางนี้ตั้งใจจะให้ความรู้สึกว่าเป็นถนน ไม่ใช่เป็นสะพานหรือทางยกระดับ เวลาวิ่งเรียดๆ ไปกับพื้นน้ำและทุ่งหญ้าด้านล่าง สองข้างทางเห็นป่า พืช เห็นน้ำ ไม่ให้ยกระดับสูง ไม่อย่างนั้นทัศนวิสัยจะไม่ดี เราอยากให้ถนนเส้นนี้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ขณะเดียวกัน ด้านล่างก็ให้น้ำไหลถึงกันได้เพื่อคงสภาพระบบนิเวศตามธรรมชาติไว้ เพราะนั่นคือเป้าประสงค์หลัก

สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์

ดังนั้น ตรงขอบสะพานจึงทำเป็นกำแพงเตี้ยๆ เหมือนคันหินฟุตปาธ ยกเว้นช่วงทางโค้ง เวลายืนตรงนี้ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่เหนือผืนดินเล็กน้อย เพราะมองลงไปก็เห็นพืชไม้ขึ้นมาจากน้ำ เหมือนถนนเส้นนี้เป็นคันถนนผ่านเข้าไปในร่องน้ำนี้ จะให้ feeling ของคนที่ผ่านไปไม่รู้สึกเหมือนสะพาน เหมือนถนน เพียงแต่ระดับของถนนช่วงที่วิ่งผ่านทะเลน้อยอาจสูงกว่าถนนบนดินเล็กน้อยเท่านั้น เหมือนรถวิ่งบนถนนผ่านทะเลน้อยไป

ส่วนถนนบนดิน เราก็ออกแบบไม่ให้น้ำท่วม

ขอบทางก็แค่กันรถไถล ขอบแข็งแรง แต่ไม่สูง เรื่องความปลอดภัยไม่ให้รถร่วงลงไป ความที่ไม่สูง ตกไปก็ไม่เสียหาย เหมือนถนนที่มองเห็นข้างทาง วิวก็สวย อยากให้คนไปเที่ยว เราจึงออกแบบจุดชมวิวให้ด้วย

นอกจากทำถนนเพื่อตอบโจทย์ด้านคมนาคมแล้ว การมีภูมิทัศน์ที่ดียังตอบโจทย์ด้านการท่องเที่ยวไปด้วย เราอยากให้คนไปเที่ยวชม จึงได้ออกแบบจุดชมวิวให้เป็นพิเศษถึง 16 จุด

และก็เป็นดังคาด เมื่อเปิดใช้จริง ปรากฏว่ามีคนไปเที่ยวมากมาย นักข่าวหลายสำนักก็ได้ทำข่าวแนะนำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างดี

“หิน” ที่สุด

กว่าจะผ่านเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ยากมาก ต้องใช้เวลา 1 ปีเต็มๆ โชคดีที่ถนนเส้นนี้มีความพยายามสร้างมาหลายครั้ง เหมือนมี “รุ่นพี่” เราจึงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูว่า การก่อสร้างที่ผ่านมามีจุดไหนที่ต้องระวังเป็นพิเศษ อะไรที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมให้ความสำคัญ แล้วนำความเห็นพวกนี้มาปรับปรุง

ช่วงเริ่มต้นเราต้องหาข้อมูลมากว่าจะทำอย่างไรไม่ไปทำให้สมดุลธรรมชาติเปลี่ยนไป

ระหว่างก่อสร้างต้องศึกษารายละเอียด และมีวิธีการป้องกันและเยียวยาควบคู่กันไป

ตอกเสาเข็มแล้วจะสะเทือนอย่างไร และจะแก้ไขป้องกันอย่างไร

ตอกเสาเข็มที่จุดไหนกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด พอดีมีแนวคันดินคั่นระหว่างทะเลน้อยกับทะเลสาบสงขลาก็ช่วยได้มาก เหมือนเป็นตัวนำร่องถนน

วางระบบลำเลียงอุปกรณ์อย่างไรไม่ให้มีเศษวัสดุตกลงไปในพื้นที่อนุรักษ์

เราต้องหาคนที่มีวิชาการด้านนี้มาช่วยทำ

ขณะเดียวกัน เจ้าของพื้นที่เขาก็ให้เราตรวจติดตามสิ่งแวดล้อม เขาก็พอใจวิธีการป้องกันที่เราทำนะ หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมพอใจ เขาถึงให้เราทำ

นอกจากนี้ ในเรื่องที่ดิน ปกติการทำถนนในชนบท ไม่มีการเวนคืน เมื่อไม่มีค่าเวนคืน ก็เท่ากับไปขอที่เขา มันจึงยาก และถนนเส้นนี้ก็ไม่มีค่าเวนคืนเช่นกัน เราต้องเจรจาขอที่ชาวบ้าน

บังเอิญเส้นทางนี้พระครูท่านขอไว้ก่อน แต่ระหว่างทำก็มีปัญหา ก็ต้องไปเจรจากันบ้างระหว่างปลายทางหัวป่า ก็มีชาวบ้านที่เคยอุทิศไว้ให้แล้ว แต่กลับบอกว่าไม่ใช่แนวนี้บ้าง เป็นต้น ก็ต้องเจรจา

ซึ่งตรงนี้ก็ต้องอาศัยผู้นำท้องถิ่นช่วยเจรจากับเจ้าของที่ ในที่สุดก็สำเร็จ

การดูแลถนนให้เกิดความยั่งยืน

สําคัญคือ ชวนชาวบ้านให้มีส่วนร่วมในการดูแลถนน

สมัยนั้น ผมจัดทำโครงการ อสทช. (อาสาสมัครทางหลวงชนบท) ขึ้น เราไปเชิญคนหนุ่มคนสาว และคนที่มีบ้านอยู่ริมทางมาเป็น อสทช. เพื่อเป็นผู้ช่วย คอยเป็นหูเป็นตา ช่วยนายช่างในการดูแลรักษาถนน

เริ่มต้นก็ให้ช่วยดูว่า มีถนนชำรุดเสียหายที่ใด แล้วส่งไปรษณียบัตรรายงานไปยังศูนย์ซ่อม การซ่อมก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความเสียหายไม่เกิดมากขึ้น เป็นการประหยัดเงินของแผ่นดินได้อย่างมาก

และยังจัดให้มีการอบรมและดูการซ่อมถนนในพื้นที่จริงไปพร้อมกับการปลูกจิตสำนึกให้รู้สึกว่า พวกเขาเป็นเจ้าของถนน และนี่คือสมบัติของชุมชนที่ควรหวงแหนด้วย

อสทช. นี้ก็จะพยายามทำให้มีทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ณ ปัจจุบันนี้ คิดว่าคงจะมีครบทั่วประเทศแล้ว และมีความยั่งยืนด้วย

ตอนนั้น จำได้ว่า ได้คุยกับน้องๆ ในกรมทางหลวงชนบท จะต้องหาสิ่งดึงดูดและผลตอบแทนให้กับอาสาสมัคร ซึ่งมีการหาทุนพาไปดูงานจังหวัดโน้นนี้บ้าง เขาก็รู้สึกเปิดหูเปิดตาทำกิจกรรมด้วยกัน สร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

เหมือนเป็นชุมชนของคนรักทางหลวง

สําหรับ คุณสุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ แล้ว การสร้างถนนไม่ใช่เพียงเพื่อการคมนาคม แต่ต้องใส่จิตวิญญาณของพื้นที่ ความต้องการของชุมชน สิ่งแวดล้อม ผนวกกับวิสัยทัศน์ทางด้านวิศวกรรม จึงจะสร้าง “มรดกทางด้านวิศวกรรม” ที่งดงามลงตัวให้กับประเทศได้

และเมื่อกล้าคิดก็ต้องกล้าสู้ให้สิ่งที่คิดเป็นจริง เมื่อมองย้อนกลับไปยิ่งเชื่อมั่นว่า สิ่งที่สู้มานั้นคุ้มค่า

ที่สำคัญ ท่านได้ปลูกฝังวัฒนธรรมการคิด การทำงาน วิสัยทัศน์ทางด้านวิศวกรรมควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและภูมิสถาปัตย์ให้กับเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงชนบทตั้งแต่ยุคก่อตั้ง

และทำให้กรมน้องใหม่นี้สร้างผลงานไว้ให้ประเทศมากมาย ไม่ว่าจะเป็นถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ถนนวงแหวนรอบกลาง) ที่พยายามรักษาภูมิทัศน์ของสถาปัตยกรรมล้านนาด้วยการทำทางลอดแยกถึง 7 แห่ง และเป็นต้นแบบการทำทางลอดแยกต่างๆ ของไทย

ถนนเข้าอุทยานหลวงราชพฤกษ์ (ถนนเข้างานพืชสวนโลก)

ถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ซึ่งเป็นถนนท่องเที่ยวเรียบทะเลตะวันออก, สะพานเทพสุดาหรือสะพานข้ามเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์, สะพานข้ามแม่น้ำประแสร์ จ.จันทบุรี, สะพานภูมิพล 1-2 และถนนวงแหวนอุตสาหกรรม, สะพานพระราม 4

และถนนเชื่อมต่อถนนชัยพฤกษ์ และราชพฤกษ์ ฯลฯ