“ผีแห่งความแตกต่าง” ของ “อภิชาติพงศ์” จาก “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” ถึงปาฐกถา ณ “สถานทูตเนเธอร์แลนด์” : คนมองหนัง

คนมองหนัง

เมื่อหลายปีก่อน มีโอกาสได้อ่านบทความภาษาอังกฤษขนาดสั้นๆ ของ “ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช” ศิลปินไทยดีกรีระดับอินเตอร์ ที่เขียนถึง “ผี” ในหนังของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”

ฤกษ์ฤทธิ์อ้างอิงถึงประสบการณ์ของตนเองที่เติบโตมากับละครโทรทัศน์ไทยยุค 1970 โดยเขาได้เชื่อมโยงข่าว-สารคดีต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ของรัฐบาลฝ่ายขวาในยุคนั้น เข้ากับละครทีวีหลังข่าว ซึ่งมักจะเป็น “เรื่องผี”

“ผี” (และ/หรือคอมมิวนิสต์) ที่ฤกษ์ฤทธิ์เติบโตมาด้วย จึงหลอกหลอนผู้คนให้ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว บนพื้นฐานเรื่อง “ความแตกต่าง” (ทางการเมือง)

นอกจากนั้น “ผี” ยังเป็นกลไกของชนชั้นปกครองในการครอบงำให้ผู้คนตกอยู่ภายใต้อำนาจ (สื่อ) ที่ใช้สร้างความหวาดกลัวดังกล่าว และเป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ให้สามัญชนเชื่อฟัง-ยอมรับอำนาจแห่งความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคม

ตามมุมมองของฤกษ์ฤทธิ์ “ผี” ในหนังของอภิชาติพงศ์กลับมีความผิดแผกออกไปจากจารีตทำนองนั้น กล่าวคือ “ผี” ของอภิชาติพงศ์ไม่ได้หลอกหลอนคนผ่านสถานภาพอัน “แตกต่าง” ของพวกตน

ทว่า “ผี” เหล่านั้นกลับบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาวะที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับ “ความแตกต่าง” ได้อย่างปกติ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวใดๆ

จากการวิเคราะห์ของฤกษ์ฤทธิ์ หนังของอภิชาติพงศ์ชี้ให้เห็นว่าแม้ “ผี” จะยังคงดำรงอยู่ในจอโทรทัศน์/ภาพยนตร์ และสังคมไทย แต่ผู้คนร่วมสมัยไม่ได้กลัว “ผี” ที่ “แตกต่าง” จากตนเอง รวมทั้งเป็นกลไกการใช้อำนาจของชนชั้นปกครองอีกต่อไปแล้ว

เพราะพวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับ “ความแตกต่าง” ดังกล่าวได้อย่างปกติและด้วยความเข้าใจ

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยเพิ่งจัดพิธีเฉลิมฉลองให้แก่ให้แก่อภิชาติพงศ์ ในฐานะผู้ได้รับรางวัล The Principal Prince Claus Award ประจำปี 2016

ณ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ที่กรุงเทพมหานคร นักทำหนังชาวไทยได้แสดงปาฐกถา โดยระบุถึง “ผีอันแตกต่างหลากหลาย” อีกหนหนึ่ง

อภิชาติพงศ์ย้อนเล่าเรื่องราวสมัยที่ตนเองยังเป็นเด็กและใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น เวลานั้น เขาชอบใช้ไฟฉายส่องไปยังความมืดมิด เพื่อหวังจะมองหาสัตว์ประหลาดหรือภูตผีปีศาจ แม้ว่าลึกๆ แล้ว เขาจะหวาดกลัวสิ่งลึกลับเหล่านั้นก็ตาม

“ย้อนกลับไปตอนนั้น ความเชื่อเรื่องผี (ในสังคมไทย) มีอยู่อย่างแตกต่างหลากหลาย เช่น ผีหัวขาดที่เดินถือศีรษะตนเองไปมา ผี (เปรต) ที่ตัวสูงและผอมมากๆ ผี (โพง) จมูกเขียวที่มีร่างเรืองแสง และผี (กระสือ) ที่ลอยไปมาพร้อมอวัยวะภายใน”

อย่างไรก็ตาม เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำชาวไทยตั้งข้อสังเกตว่าในยุคสมัยต่อมา ลักษณะของภูตผีต่างๆ ในสังคมไทยกลับเปลี่ยนแปลงไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผีในหนังไทย” ซึ่งเริ่มกลายสภาพเป็น “ผีตลก” มากขึ้นเรื่อยๆ ผีเหล่านั้นทำได้แค่วิ่งไปวิ่งมา แถมยังถูกหลอกล่อโดยมนุษย์ ผีพวกนั้นปรากฏกายแม้กระทั่งตอนกลางวัน จนคนดูสามารถสังเกตเห็นว่าบรรดาผีทั้งหลาย คือ “ผีปลอมๆ” ที่ถูกสร้างขึ้น

“นี่กลายเป็นความโศกเศร้าสำหรับผม ที่ผีเหล่านี้ไม่ได้มีความน่าเชื่อถืออีกต่อไป พวกเขากลายเป็นแค่ตัวละครในนิยายเท่านั้น”

เจ้าของรางวัล The Principal Prince Claus Award 2016 กล่าวต่อว่า เราอาจจัดให้เรื่องราวของ “ลุงบุญมี” (จากภาพยนตร์ “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ของเขา) เป็น “นิยาย” หรือ “เรื่องแต่ง” ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เขาอยากจะคิดจินตนาการต่อว่า พวกเราทุกคนต่างดำรงชีวิตอยู่ในโลกอันมี “หลากมุมหลายมิติ” ดุจเดียวกับตัวละคร “ลุงบุญมี”

โดยในบางมิติของการดำรงชีวิต ภูตผีปีศาจอาจ “มีอยู่จริง” ขณะที่ในมิติอื่นๆ ความเชื่อว่าประเทศไทยเป็นชาติที่ร่ำรวยมั่งคั่ง เป็นแผ่นดินทอง ทั้งยังเต็มไปด้วยทหารกล้าจำนวนมาก ก็อาจถูกพิจารณาว่าเป็น “ความจริง” เช่นเดียวกัน

“ณ ที่แห่งนี้ มันคงเป็นการดีกว่า หากผมจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องมายาคติและโฆษณาชวนเชื่ออื่นๆ เพราะถ้าพูดจริง เราคงต้องใช้เวลากันนานหลายชั่วโมง

“ผมต้องการเพียงแค่จะสื่อว่าอัตลักษณ์และความเชื่อที่หลากหลายของพวกเรานั้นดำรงอยู่ภายในกระบวนการแห่งความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หรือบางทีนี่อาจอธิบายจากแง่มุมของความเชื่อทางพุทธศาสนาได้ว่าพวกเราต่างเวียนวนอยู่กับวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอันไร้จุดสิ้นสุด

“ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ ผมรู้สึกมีความสุขกับการเวียนว่ายตายเกิดเช่นนี้ ผมยังสนุกสนานที่ได้เล่นกับแสง และไฟฉายซึ่งอยู่ในมือผมตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย ก็ยังคงเสาะแสวงหาภูตผีอันแตกต่างหลากหลายต่อไปเรื่อยๆ”

อภิชาติพงศ์กล่าวปิดท้ายปาฐกถาที่แสดง ณ สถานเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยว่า เขาหวังว่าสังคมนี้จะเปิดโอกาสให้แก่ “เสียงที่หลากหลาย” มากขึ้น พร้อมๆ กับการมีความอดทนอดกลั้นและการมีเสรีภาพเพิ่มขึ้น

“แล้ววันหนึ่ง เราจะสามารถขจัดทิ้งซึ่งความหวาดกลัว เราต้องมาร่วมกันทำให้สิ่งดังกล่าวเป็นความจริง ด้วยแสงสว่างที่พวกเราพร้อมใจกันฉายส่องออกไป ขอบคุณมากๆ ครับ”

—–

เนื้อหาปาฐกถาจาก http://www.princeclausfund.org/en/news/apichatpong-weerasethakul-receives-prince-claus-award-in-bangkok.html

ภาพประกอบจาก https://www.facebook.com/netherlandsembassybangkok/