คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์ ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอนจบ)

 

คุยกับทูต ฌอง พอล เชนนิงเกอร์

ลักเซมเบิร์ก ประเทศแห่งความหลากหลาย (ตอนจบ)

 

“เราไม่อาจพูดว่า ในปีที่ผ่านมา เราได้สูญเสียเวลาไปทั้งปี เพราะเรายังสามารถทำธุรกิจได้หลากหลายวิธีในประเทศไทย”

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว มีการใส่หน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกบ้าน ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) การประชุมด้วยแอพพลิเคชั่น ทางโทรศัพท์และวิดีโอ เพื่อพูดคุยกับผู้คน หรือการทำงานที่บ้าน (Work from Home)

“ตลอดทั้งปีเราอาจเสียเวลาไปบ้าง หรือสูญเสียพลังบางอย่างไป แต่เราสามารถตามทันและทำให้ดีขึ้นสำหรับเวลาที่เสียไป ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่ไม่เคยรู้หรือมีเวลาทำมาก่อน ทั้งหมดนี้กลายเป็นชีวิตปกติใหม่ ที่เราคุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ”

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์ (H.E. Mr. Jean-Paul Senninger) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก (The Grand Duchy of Luxembourg) ชี้แจง

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์ (H.E. Mr. Jean-Paul Senninger) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก (The Grand Duchy of Luxembourg)

หากพูดถึงประเทศไทย อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคงเป็นแหล่งรายได้หลัก

แต่สำหรับลักเซมเบิร์ก อุตสาหกรรมหลัก คือการให้บริการทางด้านการเงินและธนาคาร

ท่านทูตตอบคำถามถึงสิ่งที่ทำให้ลักเซมเบิร์กน่าสนใจในฐานะจุดหมายปลายทางการลงทุน

“เป็นเรื่องของคุณภาพในการบริการเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เมื่อบริษัทในลักเซมเบิร์กต้องการประสบความสำเร็จ ก็ไม่ควรพึ่งพาตลาดในประเทศลักเซมเบิร์กเพราะจะไม่สามารถเติบโตได้ นั่นหมายถึงคนล้านคนหรือล้านคนครึ่งในประเทศไม่เพียงพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จ”

ลักเซมเบิร์กเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรหกแสนกว่าคน แต่สามารถสร้างรายได้ต่อหัวอย่างมหาศาล

คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงประเทศสิงคโปร์ แต่แท้จริงแล้ว ในโลกของเรายังมีอีกประเทศหนึ่งที่มีขนาดเพียงกรุงเทพมหานครรวมกับนนทบุรี แต่สามารถสร้างรายได้ต่อหัวเป็นอันดับ 1 ในโลก ประเทศนั้นคือ ลักเซมเบิร์ก

“ธุรกิจในลักเซมเบิร์กเริ่มต้นโดยมีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจระดับโลกที่ใหญ่ขึ้น เพราะหากต้องการประสบความสำเร็จในระดับโลก นั่นหมายความว่า ต้องดำเนินธุรกิจในตลาดของประเทศอื่น และต้องดีกว่าคู่แข่ง เมื่อบริษัทลักเซมเบิร์กประสบความสำเร็จ ก็หมายความว่าสามารถตอบสนองความต้องการและความปรารถนาของลูกค้าทั่วโลก”

“และนี่คือสิ่งที่ทำให้บริการทางการเงินของเราน่าสนใจ เพราะได้รับการออกแบบมาสำหรับลูกค้าทั่วโลกที่มีความต้องการที่นอกเหนือไปจากธุรกิจในท้องถิ่น ดังนั้น แนวทางระดับโลกจึงทำให้ลักเซมเบิร์กเป็นที่น่าดึงดูดเสมอในการลงทุน”

โมเซลล์วัลเลย์ (Mosel Valley)แหล่งผลิตไวน์ขาวอันดับหนึ่ง และและปราสาทโคเคห์ม

“ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากเราอยู่ในศูนย์กลางของยุโรป แน่นอนที่เรามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาเยือนและเพลิดเพลินกับสภาพแวดล้อมที่หลากหลายทางวัฒนธรรม ธรรมชาติที่สวยงามทางตอนเหนือของลักเซมเบิร์ก ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก แต่เป็นเพียง 1.5% ของเศรษฐกิจของเรา ดังนั้น การท่องเที่ยวจึงไม่ได้มีความสำคัญมากอย่างเช่นประเทศไทย”

“หากได้ไปเยือนประเทศลักเซมเบิร์ก ก็ควรไปเยี่ยมชมเมืองลักเซมเบิร์ก ซึ่งเป็นส่วนผสมของยุโรปทั้งหมด เพราะประชากร 50% ที่อาศัยอยู่ในลักเซมเบิร์กไม่ได้เกิดในลักเซมเบิร์ก เมืองนี้จึงมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะได้ค้นพบแง่มุมของวัฒนธรรมยุโรปทั้งหมดในประเทศเดียว”

“หลายคนที่เลือกไปทางเหนือ เพราะจะได้ชมปราสาท และความเขียวขจีของป่าไม้และภูมิทัศน์ที่สวยงาม ส่วนแถบโมเซล (Moselle) ซึ่งเป็นหนึ่งในหุบเขาที่สวยงามที่สุดของลักเซมเบิร์ก มีชื่อเสียงในด้านโรงบ่มไวน์ และการทำอาหารเลิศรสอันเป็นส่วนผสมของอาหารลักเซมเบิร์ก ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาลี และโปรตุเกส”

เมื่อพูดถึงอาหารของลักเซมเบิร์ก ก็ต้องนึกถึงไวน์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วยุโรปซึ่งทำจากองุ่นในหุบเขาโมเซล และไม่ต้องสงสัยเลยว่าอิทธิพลของประเพณีการทำอาหารฝรั่งเศสและเยอรมันมีอยู่ในอาหารลักเซมเบิร์ก แต่อาหารของราชรัฐยังมีสูตรอาหารอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากมายที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ด้วยคุณสมบัติทางธรรมชาติที่ยอดเยี่ยม ทำให้ที่นี่มีการปรุงอาหารโดยใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นที่คัดสรรมาแล้วโดยอาหารประเภทเนื้อสัตว์มาเป็นอันดับแรก

ลักเซมเบิร์กยังมีชื่อเสียงในด้านอาหารประเภทปลา และกั้งจากแม่น้ำในท้องถิ่น ขนมอบและคุกกี้หลายชนิด ในบรรดาเครื่องดื่มที่มีชื่อเสียง ได้แก่ เหล้าแบล็กเคอแรนต์ (Blackcurrant whiskey) ของลักเซมเบิร์กซึ่งปรุงตามสูตรเก่าๆ และมีร้านอาหารรสเลิศระดับมิชลินสตาร์จำนวนมากที่สุด

นอกจากนี้ ลักเซมเบิร์กยังเป็นผู้ก่อตั้ง Expogast Culinary World Cup Luxemburg ซึ่งจัดขึ้นทุกๆ สี่ปีเหมือนกับการแข่งขันโอลิมปิกด้านอาหาร

ท่านทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตเพลิดเพลินกับการเรียนประกอบอาหาร

“ผมมีความสุขและสนุกกับชีวิตประจำวันในประเทศไทย เพราะได้ทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและลักเซมเบิร์ก”

“เรามักจะออกไปค้นพบทุกแง่มุมทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ดังนั้น จึงเดินทางกันค่อนข้างมาก ได้ไปอีสาน และทางเหนือคือ เชียงใหม่ เชียงราย ปาย แม่ฮ่องสอน แม่สอด ไปทะเลก็หลายแห่ง รวมทั้งภูเก็ตและสมุย”

“ผมประทับใจเชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองเก่าที่น่าสนใจ มีชีวิตในเมืองที่ดี มีสีเขียวโดยรอบ ทำให้ผมนึกถึงลักเซมเบิร์ก และเรายังได้ไปเยี่ยมชาวเขาด้วย”

“ส่วนอาหารไทย ยำส้มโอเป็นหนึ่งในรายการโปรดของผม ที่นึกชื่อออกตอนนี้คือ ต้มข่าไก่ ปลาย่าง และแน่นอนแกงกะทิทุกชนิด โดยเฉพาะแกงมัสมั่น และข้าวซอย”

“ในกรุงเทพฯ ผมชอบไปเดินที่ไชน่าทาวน์ เพราะเต็มไปด้วยชีวิตชีวาทั้งเสียงและกลิ่น และยังสามารถค้นพบอาหารริมทาง (Street Food) ที่หลากหลายได้เช่นกัน”

“ซึ่งการเดินเที่ยวในเมืองเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ”

ท่านทูตและมาดาม

ที่ผ่านมา สตรีตฟู้ดของไทยโด่งดังไปทั่วโลก โดยได้รับการจัดอันดับจากสถาบันระดับโลกติดอันดับโลกระดับต้นๆ ทุกปี และเมื่อปี ค.ศ.2016 สำนักข่าว CNN ยกให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีอาหารข้างทาง หรือสตรีตฟู้ดที่ดีที่สุดในโลก ในจำนวน 23 เมือง แซงกรุงโตเกียว ที่ได้อันดับ 2 แม้แต่กรุงปารีสยังอยู่อันดับ 8 เพราะมีรสชาติอร่อย หลากหลาย และมีชื่อเสียง นักท่องเที่ยวสามารถเสาะหาอาหารได้ตลอดทั้งวันทุกพื้นที่ ในราคาย่อมเยา

การท่องเที่ยว เชิงอาหารริมทาง (Street food) ในประเทศไทย เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากอาหารไทยได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งประเทศที่มีนักท่องเที่ยวนิยมท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือสตรีตฟู้ด (Street food) ในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา จึงเห็นได้ว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จะเป็นส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศได้

“ตอนนี้เราก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะดีขึ้น เพราะเราอยากให้ลูกทั้งสองคนสามารถเดินทางมาประเทศไทยเพื่อเยี่ยมเยียนพ่อ-แม่ของพวกเขาได้ภายในสิ้นปีนี้”

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์ (H.E. Mr. Jean-Paul Senninger) เอกอัครราชทูตราชรัฐลักเซมเบิร์ก (The Grand Duchy of Luxembourg)
ประวัติ

นายฌอง พอล เชนนิงเกอร์

เกิด : วันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1959

สมรส : กับนางหลุยส์ อาเคอบลอม (Louise Åkerblom) มีบุตร-ธิดา สองคน (Joseph และ Julia)

ภาษา : ลักเซมเบิร์ก เยอรมัน ฝรั่งเศส อังกฤษ สเปน และสวีเดน

การศึกษา : 1979 -1983

– ปริญญาตรีศิลปศาสตร์สาขารัฐศาสตร์และวรรณคดี มหาวิทยาลัยฟรีดริช-วิลเฮล์ม (Friedrich-Wilhelms-Universit?t) เมืองไฟร์บูร์ก (Freiburg im Breisgau) ประเทศเยอรมนี

– ปริญญาโทสาขายุโรปศึกษา วิทยาลัยแห่งยุโรป (Collège d’Europe) เมืองบรูจส์ (Bruges) ประเทศเบลเยียม

ประสบการณ์

2019-ปัจจุบัน : เอกอัครราชทูตประจำราชอาณาจักรไทย เขตอาณาครอบคลุมประเทศสิงคโปร์ เมียนมา สปป.ลาว มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และอาเซียน

2013-2018 : เลขาธิการรัฐบาลในสมัยนายกรัฐมนตรีซาเวียร์ เบ็ตเทล (Xavier Bettel)

2012-2018 : เอกอัครราชทูตมิได้มีถิ่นพำนักอยู่ในสันตะสำนัก (Holy See)

2012-2013 : เลขาธิการกระทรวงต่างประเทศและยุโรป

2008-2012 : เอกอัครราชทูตประจำประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และแคนาดา

2007-2012 : เอกอัครราชทูตมิได้มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศนิการากัว และเอล ซัลวาดอร์

2004-2008 : เอกอัครราชทูตประจำประเทศสเปน

2002-2007 : เอกอัครราชทูตมิได้มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศตุรกี

1999-2004 : ประธานที่ปรึกษา กระทรวงต่างประเทศ ความร่วมมือและการป้องกันประเทศ ลักเซมเบิร์ก

1994-1999 : เจ้าหน้าที่อาวุโส หัวหน้าแผนก ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป (ลักเซมเบิร์ก)

1988-1994 : ผู้ช่วยสำนักงานนายกเทศมนตรี ลักเซมเบิร์ก

1985-1988 : อาจารย์ภาษาและวรรณคดีเยอรมัน Athénée de Luxembourg