ฐากูร บุนปาน : อนาคตสังคมไทย ใครควรกำหนดแนวทางประเทศให้”เดินหน้า” หรือว่า”ถอยหลัง” ?

ของดีมีอยู่
วันก่อนไปอ่านเรื่องรัฐมนตรีเอสโตเนีย และการสร้างชาติให้เป็นดิจิตอลในเฟซบุ๊กของอาจารย์ปกป้อง จันวิทย์

นอกจากเรื่องการพัฒนา E-Government ที่ประสบความสำเร็จเป็นจริงแล้ว

ที่น่าสนใจมากอีกประเด็นก็คือนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งของเขาในช่วงหลังจากแยกตัวจากโซเวียตแล้ว

กว่าครึ่งอายุไม่ถึง 40

ไปคอมเมนต์เอาไว้ว่า ถ้าอยากเห็นสภาพเช่นนี้เกิดขึ้นในเมืองไทยบ้าง

จะต้องทำอย่างไรถึงจะทำให้เกิดเงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดภาวะเช่นนั้น

ยังไม่รู้

แต่รู้อย่างเดียวว่า

ไม่ใช่ด้วยวิธีการและกติกาที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน

ส่วนรายละเอียดเรื่องเอสโตเนีย ถ้าสนใจเข้าไปดูที่เฟซบุ๊ก Pokpong Junvith ครับ

รัฐธรรมนูญปัจจุบัน กฎหมายประกอบอื่นๆ กฎระเบียบที่รัฐบาลประกาศใช้

รวมไปถึงท่าทีและทัศนคติของท่านผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ที่ผลัดกันแสดงออก

สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าคนรุ่น 60 กว่าไปถึง 70 (และบางคนบางท่านอาจจะมากกว่านั้น) อยากดึงสังคมไทยให้กลับไปอยู่ในแบบ ในภาวะ ในสถานการณ์ที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์และมีความสบายใจ

ซึ่งถ้าท่านไหนได้ไปร่วมฟังที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อธิบายต้นตออัตราเร่งของการเปลี่ยนแปลง ในงานสัมมนาเรื่องอนาคตของ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเดือนที่แล้ว

หรือดูเอาจากคลิปของมติชน-ประชาชาติธุรกิจในยูทูบ ซึ่งมีผู้รับชมไปมากกว่า 320,000 รายแล้ว

ก็จะรู้-เข้าใจได้ทันทีว่า ความหวัง-ความพยายาม-แรงฉุดกระชากจากท่านเหล่านั้น

ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้

เว้นแต่จะเอาเมืองไทยและคนไทยทั้งประเทศ จับไปยัดอยู่ใต้กะลา เก็บซ่อนไว้ในถ้ำลึก ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน

ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้อีก

และตามความเห็นส่วนตัว ขออนุญาตย้ำนะครับว่าส่วนตัวจริงๆ

ถ้าจะมีความขัดแย้งใหญ่ครั้งใหม่ในสังคมไทย

ปมประเด็นของความขัดแย้งก็คงจะอยู่ตรงเรื่องการกำหนดแนวทางประเทศ ว่าจะเดินหน้าหรือถอยหลังนี่แหละเป็นหลัก

ประเภทหุ้มเปลือกว่าอยากจะทันสมัย

แต่ลึกลงไปก็ “กลัว”

กลัวความเปลี่ยนแปลง (ที่ตัวเอง-พวกพ้องจะควบคุมไม่ได้)

กลัวในสิ่งที่ไม่คุ้นชินไม่มีประสบการณ์

จึงพยายามใช้อำนาจที่มีอยู่ จัดตั้งโครงสร้าง-ระบบที่ขัดกับความเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าของโลก

นอกจากไม่ได้ผลแล้วยังมีโอกาสจะเพิ่มความโกลาหลขึ้นอีกในอนาคตอันไม่ไกล

ถ้าไม่เชื่อ ไปดูตรงที่ ดร.ชัชชาติเขาพูดถึง Moore”s Law หรือกฎของ Moore อีกที

พอดีกันกับที่วันที่อาจารย์ปกป้องเขาเขียนเรื่องเอสโตเนีย ก็มีปาฐกถาของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล

ซึ่งเรียกปฏิกิริยา (ส่วนใหญ่จากคนที่คิดคล้ายๆ กันหรือเรียกเหมารวมว่ายืนฝั่งเดียวกัน) ได้อย่างอื้ออึง

ไปคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กของมิตรสหายบางท่าน ว่า

อย่าฝากความหวังความฝันเอาไว้กับใครเลย

ปัญหาของ (รุ่น) ใคร ก็เป็นเรื่องคน (รุ่น) นั้นที่จะจัดการ

ทีนี้พอมาบวกกับเรื่องของอาจารย์ปกป้องเข้าให้

เลยอยากจะเติมเข้าไปอีกหน่อยว่า

ทุกวันนี้คนรุ่น 40-50-60 (ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนโยบาย ทั้งภาครัฐและเอกชน) ในเมืองไทย จะแบกประเทศไหวหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้

เพราะโลกไปเร็ว ไปไวกว่าที่เราคิดมากนัก

จะใช้ประโยชน์จากคนรุ่น 20-30 ที่เป็น Digital Citizen อย่างไร

เพราะลำพัง Digital Tourist ทั้งหลาย หมุนตามโลกไปสักสองสามรอบ

ก็ตาลาย หงายหลังตึงแล้ว

คําถามคือ แล้วเราเตรียมอะไรให้ Digital Citizen ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมแบกรับอนาคตของชาติของสังคม (หรือจริงๆ ก็คือตัวของเขาเอง) บ้างหรือยัง

หรือย้อนกลับไปตั้งต้นด้วยคำถามดึกดำบรรพ์ว่า

เราอยากให้ประเทศชาติหรือสังคมของเราหน้าตาอย่างไหน

และเรามีโอกาสได้เลือก ได้ร่วมแสดงความคิดความเห็นหรือไม่

คำตอบจากความเป็นจริงก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า

ไม่

ดูแล้วใครไม่กังวลบ้างยกมือขึ้น (ไม่ฮา)

แต่อนาคตจะเป็นอย่างที่กังวลหรือไม่

ไม่ใช่เรื่องพรหมลิขิตขีดเส้นเอาไว้

แต่อยู่ที่เราๆ ท่านๆ ทุกคนนี่แหละครับ

บันดาลด้วยมือเราได้