สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร / ไททานิก-ตู่ทานิก

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

—————————

ไททานิก-ตู่ทานิก

————————–

เห็นความระส่ำระสาย ของรัฐนาวา TOOTANIC–ตู่ทานิก ที่ว่ากันว่า แข็งแกร่ง คงทน ด้วยถูกออกแบบมาอย่างดี จากการรัฐประหาร

ที่วางระบบปกป้อง ป้องกัน ให้การสืบทอดอำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น มั่นคง

แต่ตอนนี้ กำลังเผชิญวิกฤตหนัก

จนเกิดคำถามว่า”ไม่มีวันอัปปาง”จริงหรือ

TITANIC–ไททานิก ให้บทเรียนมาแล้ว

เข้าไปในวิกิพิเดีย ทบทวนความจำกับเรือลำนี้อีกครั้ง

น่าประหลาดใจ ตู่ทานิกและไททานิก มีอะไรที่เหมือนกันอย่างยิ่ง

อาทิ

ไททานิก จมลงสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเมื่อ 15 เมษายน ค.ศ. 1912

ขณะที่ “ตู่ทานิก”เผชิญความปั่นป่วน มาตั้งแต่หลังสงกรานต์ 13 เมษายน ค.ศ.2021

ไททานิก ชนภูเขาน้ำแข็งระหว่างเดินทางเที่ยวแรกจากเซาท์แทมป์ตัน สหราชอาณาจักร ไปนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

มีผู้เสียชีวิต 1,514 ศพ

เป็นภัยพิบัติทางทะเลครั้งใหญ่ของโลก

ส่วน ตู่ทานิก (กำลัง)ชนเข้ากับภูเขาโรคระบาด

ที่ถือเป็นภัยพิบัติที่ทำให้มีผู้ป่วยและตายครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกเช่นกัน

บนเรือไททานิกมีทั้งผู้โดยสารที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และคนจนกว่าพันคนที่ไปแสวงหาชีวิตใหม่ในทวีปอเมริกาเหนือ

เรือส่วนหนึ่งจึงได้รับการออกแบบให้หรูหราฟู่ฟ่า เพื่อคนรวย

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็อัดแน่นไปด้วยคนยากจน

จึงมากด้วยปัญหาชนชั้นและความเหลื่อมล้ำ

ซึ่ง ผู้โดยสารใน”ตู่ทานิก”ก็เคยถูกจัดอันดับให้มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลกเช่นกัน

อย่างที่บอก เรือไททานิก ยิ่งใหญ่ ทั้งขนาด ทั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่ก้าวหน้า ทันสมัย

เช่น ห้องกันน้ำและประตูกันน้ำที่ทำงานด้วยรีโมต เป็นต้น

จึงมั่นใจว่าโอกาสเรืออัปปางมีน้อยมากๆ

ทำให้ ละเลย สิ่งพื้นฐานไป

หนึ่งในนั้นคือ เรือชูชีพ

ที่จัดไว้เพียง1ใน3ของคนในเรือเท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่ไททานิกออกเดินทาง มีปัญหา”ภายใน”เกิดขึ้น

มีเหตุไฟไหม้ที่เก็บถ่านหิน บล็อก 5 และ 6 และไฟยังไหม้ต่อเนื่องตลอดการเดินทาง

ส่งผลให้ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ก่อนถึงห้องเครื่อง และ ส่วนที่เก็บถ่านหินนั้น ร้อนถึง 1,500 ฟาเรนไฮต์ จนผนังกั้นนํ้าบิด งอ

ลดการทนทานนํ้าไปกว่า 75%

แต่กัปตันเรือตัดสินใจให้ออกเรือตามกำหนด

แล้วหายนะก็บังเกิด

ขณะเรืออยู่ห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร ไททานิกไปชนภูเขาน้ำแข็ง

นํ้าทะลักเข้าไปในเรือ

แม้เทคโนโลยีอันทันสมัยจะปิดกั้นนํ้าได้ทั้งหมด

แต่ทว่า ผนังกั้นนํ้าชั้นที่ 4 ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ไม่สามารถทนทานแรงดันนํ้าได้

ที่สุดเรือก็แตก

และเพราะเรือชูชีพไม่เพียงพอและข้อปฏิบัติเผชิญภัยพิบัติไร้ประสิทธิภาพ

ทำให้มีผู้รอดชีวิตเพียง 710 คน ตาย 1,514 คน

โลกตกตะลึงและโกรธกับความสูญเสียนี้

นำไปสู่การไต่สวนสาธารณะในอังกฤษและสหรัฐ

นำมาซึ่งการจัดตั้งอนุสัญญาความปลอดภัยของชีวิตในทะเลระหว่างประเทศ ใน ค.ศ. 1914

ถือเป็นมรดกจากโศกนาฏกรรมนี้

พร้อมกับสิ่งที่เตือนใจ

สิ่งที่ดีที่สุด แข็งแกร่งที่สุด มีโอกาสอัปปางหรือพินาศ ลงได้

หากละเลยหรือมองข้ามสิ่งเล็กน้อย

นี้เอง ถึงอยากเตือน ถึง “ตู่ทานิก”

ที่แม้จะแข็งแกร่งเพียงใด

แต่หากปล่อยให้”ปัญหาภายใน”รัฐนาวามีปัญหา

ประกอบกับการตัดสินใจของกัปตันไม่ดี

หรือมั่นใจในบางสิ่งบางอย่างเกินไป

เช่น ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด การรวบอำนาจ และใช้อำนาจคนเดียว

อาจนำไปสู่ความผิดพลาดอันมหันต์ได้

โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับภัยพิบัติ”ภายนอก”อย่างโรคระบาดตอนนี้ซ้ำเติม

อาจทำให้ ตู่ทานิก ล่มได้