หนุ่มเมืองจันท์วิเคราะห์ “ท่าไม้ตาย” ของ “ลุงตู่”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ

หนุ่มเมืองจันท์ / www.facebook.com/boycitychanFC

 

ท่าไม้ ‘ตาย’

 

พอเห็นข่าวคณะรัฐมนตรีโอนอำนาจรัฐมนตรีภายใต้กฎหมาย 32 ฉบับให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว

เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19

ผมก็อุทานในใจ

“เอาอีกแล้ววววว”

คนเราทุกคนล้วนมี “ท่าไม้ตาย” ประจำตัว

คำว่า “ท่าไม้ตาย” หมายถึงกระบวนท่าที่เราเชี่ยวชาญที่สุด

หรือถ้าใช้ภาษา “ธนินท์ เจียรวนนท์” คือเป็น “ทีเด็ด” ของเรา

ในเกมกีฬาเราจะเห็นเป็นประจำ เป็นท่าจำที่ผู้ชมคุ้นเคย

“โรนัลโด้” ท่าไม้ตายของเขา คือสับขาหลอก

“ซีดาน” คือท่าพลิกตัวดึงบอลหลอกคู่ต่อสู้

“ปลื้มจิตต์” คือเล่นลูกสั้น ตบเร็ว

หรือนักธุรกิจแต่ละคนก็เหมือนกัน

อย่างที่ผมชอบยกตัวอย่างบ่อยๆ คือเรื่องคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี คุณอนันต์ อัศวโภคิน หรือคุณธนินท์ เจียรวนนท์

แต่ละคนก็มี “ท่าไม้ตาย” ไม่เหมือนกัน

คุณเจริญ คือซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า

ซื้อแล้วมาพัฒนาต่อ

ไม่ชอบสร้างใหม่

คุณธนินท์ ท่าไม้ตายคือ “ครบวงจร”

เชื่อมั่นว่าถ้าควบคุมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตถึงการจัดจำหน่าย

ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

คุณภาพสินค้าจะดี และต้นทุนต่ำ

ส่วนคุณอนันต์คิดคนละแบบเลย

เขาไม่ชอบ “ครบวงจร”

ชอบ outsource เพราะตรวจสอบคุณภาพงานได้ดีกว่าทำเองทั้งหมด

ผมสังเกตว่า “ท่าไม้ตาย” ของคนเราจะนำมาใช้ใน 2 ช่วงเวลา

ตอนเริ่มต้น

และตอนคับขัน

นักธุรกิจนั้นมักใช้ “ท่าไม้ตาย” ของตัวเองตอนเริ่มต้น

เริ่มทำอะไรก็จะนับ 1-2-3 แบบเดิมที่เคยชิน

“ท่าไม้ตาย” ของเขาคล้ายๆ กับ “ความเคยชิน”

เคยทำแบบไหนสำเร็จก็จะเริ่มต้นแบบนั้น

ส่วน “ท่าไม้ตาย” ที่ใช้ตอนคับขันมักเป็นกระบวนท่าที่ไม่ค่อยปกตินัก

สัญชาตญาณจะผุดโผล่ตอนนี้

อย่างเช่น “ไมก์ ไทสัน” ที่เกิดในสลัมที่บรุกลิน นิวยอร์ก

เป็นเด็กที่ชกต่อยข้างถนนเป็นประจำ

เป็น “สตรีตไฟเตอร์”

เด็กที่ต้องดิ้นรนตั้งแต่เล็ก เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอด

กติกาของเขา คือเอาตัวให้รอด

มีคนบอกว่าตอนที่ “ไทสัน” หักแขนคู่ชกตอนกอดกัน

หรือกัดหู “อีแวนเดอร์ โฮลีฟิลด์”

เป็นช่วงเวลาที่เขารู้ตัวว่าสู้ไม่ได้

แต่ใจที่อยากเอาชนะ ทำให้เขาไม่สนใจว่าสิ่งที่ทำนั้นนอกกติกาหรือไม่

เล่ามาตั้งนาน แล้วมันเกี่ยวข้องกับเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์อย่างไร

เกี่ยวสิครับ

เพราะการโอนอำนาจจากกฎหมาย 31 ฉบับมาอยู่กับตัวเอง

นั่นคือ “ท่าไม้ตาย” ของ “ลุงตู่”

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นใคร

เขาเป็นนายทหารมาทั้งชีวิต คุ้นเคยกับการบังคับบัญชาแบบเด็ดขาด

ทั้งสั่งลูกน้อง และรับคำสั่งหัวหน้า

การระดมความคิดเห็นแบบ Design Thinking ที่ “คนเท่ากัน”

“ลุงตู่” ไม่เข้าใจ

เขาเป็นข้าราชการมาตลอด ทำให้คุ้นเคยกับการบริหารแบบระบบราชการ

คุ้นเคยเรื่องการใช้งบประมาณ

มีคณะกรรมการเยอะๆ

สั่งการไปแล้ว คืองานเสร็จแล้ว

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557

“ลุงตู่” กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็ม

มี “มาตรา 44” เป็น “อาวุธลับ”

อำนาจในมือตอนนั้นถือว่าใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน

จะทำอะไรก็ได้

มีสภาเหมือนระบอบประชาธิปไตย

แต่คนในสภา เขาเป็นคนเซ็นแต่งตั้ง

คล้ายๆ วุฒิสมาชิก 250 คน ที่มีสิทธิเลือกนายกฯ

พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นคนเซ็นแต่งตั้งมากับมือ

นี่คือระบบที่เขาคุ้นเคย

จนมีการเลือกตั้ง และ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

แต่ครั้งนี้เขาต้องอยู่ในระบบรัฐสภา มี ส.ส. มีฝ่ายค้าน

และมีพรรคร่วมรัฐบาล

ช่วงแรกๆ พล.อ.ประยุทธ์ไม่คุ้นกับการทำงานกับนักการเมือง

ทำอะไรก็ยักตื้นติดกึกไปหมด

ไม่คล่องตัวเหมือนกับช่วงตอนเป็นนายกฯ จากรัฐประหาร

พอเจอวิกฤตไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563

เป็นสงครามรูปแบบใหม่ที่เขาไม่รู้จักมาก่อน

“ข้าศึก” ไม่ใช่ “คน”

แต่เป็น “ไวรัส” ที่มองไม่เห็น

 

ตอนแรก พล.อ.ประยุทธ์ทำอะไรไม่ถูกเลย

เจอทั้งปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน และปัญหามากมาย

พอเจอสถานการณ์คับขัน “ลุงตู่” ก็เลือกใช้ “ท่าไม้ตาย” ที่เขาเคยชินที่สุด

นั่นคือการยึดอำนาจ

ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ชุดหนึ่งเป็น “ข้าราชการ” ส่วนใหญ่

รวมศูนย์การตัดสินใจ

ใช้ระบบที่คุ้นชิน กับคนที่คุ้นเคย

ยกแรกของสงครามโควิด-19 เขาเชื่อ “หมอ” อย่างเดียว

ยกแรกเขาชนะ

เจอระลอกสองที่สมุทรสาคร ก็ยังเอาอยู่

แต่พอเจอระลอกสาม

รัฐบาลเอาไม่อยู่

เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นกระแสความโกรธที่รุนแรงที่สุดของสังคมไทย

ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน การฉีดวัคซีน

และระบบการจัดการที่ทำให้คนเสียชีวิตเพราะไม่มีรถรับไปหาหมอ

จนภาคเอกชนลุกขึ้นมาบอกรัฐบาลว่า ถ้าทำไม่ได้ เขาขอทำเอง

นั่นคือที่มาของ “การยึดอำนาจ” ครั้งที่สองในรัฐบาลชุดนี้

แค่อำนาจจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่พอ

คราวนี้ดึงอำนาจจากรัฐมนตรี นายกฯ สั่งการตรงได้เลย

สามารถดึงสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานมาสู้โควิด-19 ได้

พล.อ.ประยุทธ์คงรู้แล้วว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

เดิมพันด้วยเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

เขาจึงตัดสินใจใช้ “ท่าไม้ตาย” ที่คุ้นชินอีกครั้งหนึ่ง

หวังว่าครั้งนี้คงจะชนะศึก

แต่โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

เมื่อมี “รายรับ” ก็ต้องมี “รายจ่าย”

เพราะการยึดอำนาจครั้งนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่มี “กันชน” แล้ว

จะอ้างใครหรืออะไรไม่ได้เลย

เขาต้องรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นแต่เพียงผู้เดียว

และถ้าผลที่ออกมาเป็นลบ

รับรองได้ว่าการเมืองในสภาจะร้อนแรงมาก

เพราะเจอการยึดอำนาจแบบนี้

พรรคร่วมรัฐบาลไม่พอใจอย่างแน่นอน

เมื่อ “สนิม” เกิดแต่เนื้อในตน

“ตู่ทานิก” ก็อับปางได้เช่นกัน